จากเมืองดอกบัวถึงหงสาวดี


“ในยุทธวิธีทั้งปวงสามารถสยบข้าศึกได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อถือว่าเป็นเลิศ การตีกองทัพข้าศึกให้แตกพ่ายถือว่าเป็นรอง ดังนั้น รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งก็จัดว่ายอดเยี่ยมอยู่ แต่ให้ข้าศึกยอมสยบโดยมิต้องรบมิยอดเยี่ยมยิ่งกว่าหรือ"

เห็นคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับคำสอนของหลวงพ่อชา หลวงปู่ชา แล้วได้ความชื่นใจหลายๆอย่าง ถ้าถามผมว่ารู้สึกอย่างไรต่อหลวงปู่? ก็ไม่รู้จะสรรหาคำใดมาตอบได้แต่บอกว่า “ปลื้มใจสุดประมาณจากการเห็น ได้ฟังเทปธรรม ได้อ่านหนังสือธรรมของท่าน” เป็นพระสายปฏิบัติอรัญญวาสี(ป่า) เป็นฝ่ายมหานิกายตามสมมุติในประเทศสยาม เกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี สิ่งที่ผมจะกล่าวด้วยความภูมิใจเป็นลายลักษ์อักษรก็คือพระเมืองอุบลส่วนมากล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เคยสดับตรับฟังไหมว่าหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นบุรพาจารย์ของฝ่ายธรรมยุติก็เป็นคนเมืองอุบล หลวงปู่มั่นเป็นชื่อที่ใครๆก็รู้จักถ้าท่านเป็นพุทธอยู่บ้าง โด่งดังเหมือนพลุแตก ตลบอบอวลแผ่พระธรรมฟุ้งกระจายตลอดไปทั่วแดนดินแห่งลุ่มแม่น้ำโขงกระนั้น ปฏิปทาของพระมหาเถระเหล่านี้แผ่ไปถึงยุโรป ตะวันตก ตะวันออกเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันวัดป่านานาชาติ สาขาวัดหนองป่าพง ของหลวงปู่ชาเป็นที่อาศัยศึกษาของพระต่างประเทศโดยมาก แต่น่าแปลกอยู่อย่างหนึ่งท่านทั้งหลายผมซึ่งเกิดอยู่แถวๆนั้นไม่เคยได้ไปคารวะเลย

ชีวิตของผมเป็นอะไรที่นึกถึงแล้วสับสนเหมือนกันไม่เข้าใจว่าเราซึ่งเป็นคนพื้นที่แต่ไม่เคยรู้ว่ามีของดีอยู่แค่กระพริบตา สายตาของผมมืดอยู่นานประมาณได้ว่ากว่า ๒๐ ปีผมถึงได้ยินได้รู้จักชื่อพระมหาเถระต่างๆ  เหมือนคำพังเพยที่ว่า “เส้นผมบังภูเขา ไก่ได้พลอย” สรูปก็คือตามืดหูหนักไม่เห็นของดีที่อยู่ใกล้ๆแค่เอื้อม มีเพื่อนๆเคยถามผมเกี่ยวกับประวัติหลวงปู่ชา วัดหนองป่าพงอยู่ที่ไหนอย่างไรผมก็ได้แต่อึ้งกิมกี่ไม่รู้จะบอกอย่างไร เป็นความผิดพลาดของผมหรือของใครหนอ หรือเป็นความผิดของเราที่บุญวาสนาแต่ปางก่อนไม่ช่วยหนุนให้ได้พบเจอหรืออย่างไร แต่ก็บุญญาวาสนายังพอเหลืออยู่บ้างที่มารู้ได้เห็น ได้ยิน หลังจากที่ท่านเหล่านั้นมรณภาพไปตั้งนาน

เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี มีปลาแซบหลาย หาดทรายแก่งหิน ถิ่นไทยนักปราชญ์ ทวยราชใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา ผาแต้มก่อนประวัติศาสตร์ฯ

เมืองดอกบัวภาษาพ่อแม่ท่านเรียกว่าดอกอุบล ดอกอุบลก็คือดอกบัวเรานั่นเองเหตุไฉนท่านเรียกว่าเมืองดอกบัวอันนี้ก็ต้องถามท่านผู้รู้ แต่ที่แน่สิ่งๆที่น่าสนใจสำหรับข้าน้อยที่เมืองดอกบัวก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง ๑) ก็คือ พระเจ้าใหญิ่อินแปลง....ที่อยู่วัดป่าใหญ่ หรือวัดมหาวนาราม ๒) ก็คือประเพณีแห่เทียนพรรษาโดยเฉพาะพึ่งผ่านมาเมื่อตอนเข้าพรรษานี่เองมีประจำทุกปี อันสุดท้ายก็คือวัดสำคัญต่างๆอันเป็นที่อุบัติขึ้นของเหล่าบูรพาจารย์มีหลวงปู่แห่งวัดหนองป่าพงเป็นต้น ส่วนสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆก็มีมากหลายประการแต่จัดเป็นการท่องเที่ยวไป เมืองอุบลเป็นหัวเมืองใหญ่ที่ติดกับลาวรู้สึกว่าจะมีไม่กี่เมืองมั้งที่ได้สร้อยว่าราชธานี แสดงว่าต้องมีอะไรเป็นสำคัญอยู่บ้าง ที่คำกล่าวขวัญถึงว่าถิ่นไทยนักปราชญ์ไม่ผิดนัก เพราะเมื่อก่อนการศึกษาทางคณะสงฆ์เฉพาะอย่างยิ่งภาษาบาลีเรียกในสมัยนั้นว่า “บาลีมูล” มีสำนักใหญ่สอนกันอยู่ไม่กี่แห่งที่โด่งดัง พระภิกษุมาจาทุกจังหวัดเพื่อมาเรียนบาลีมูลกัจจายนะ ที่ข้าพเจ้ารู้ก็เพราะว่าชอบเที่ยวไปหลายจังหวัดตั้งแต่บวชมา เมื่อไปที่แห่งใดญาติโยมมักเรียนถามถึงการมาที่อยู่ที่อาศัยว่าบ้านเกิดเมืองนอนอยู่ที่แห่งใด

เมื่อทราบว่าข้าพเจ้ามาจากเมืองอุบลเขามักถามต่อว่า ท่านเรียนจบอะไร? บวชกี่พรรษาแล้ว?ฯ คำถามต่อมาที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเรียนได้กี่ประโยคเป็นมหาหรือยัง?

 เมื่อถามถึงการศึกษาก็ต้องให้ได้ยินโยมเล่าเรื่องอดีตอันไกลโพ้น ดูเหมือนการเล่าถึงการศึกษาของพระสมัยก่อนของพ่อทิดพ่อจารทั้งหลายนั้นเล่าอย่างภาคภูมิใจ ว่าเมืองอุบลแต่ก่อนเป็นเมืองนักปราชญ์ถ้าพูดถึงการเรียนบาลีแล้วต้องที่เมืองอุบลเป็นตัวอย่าง สมัยก่อนเขาเรียนบาลีมูลอย่างนั้นอย่างนี้ บาลีสมัยนี้ไม่เท่าไหร่หรอก(อันนี้ก็ไม่แน่ใจต้องถามท่านมหาดู) ถ้าเปรียบบาลีสมัยนี้น่าจะได้ว่าเป็นบาลีน้อย ของเก่าเป็นบาลีใหญ่ บาลีมูลเขาเรียนกันเป็นผูกในใบลานประมาณว่าสัก ๑๐ ผูก ท่านองค์ไหนเรียนจบท่านยกให้เป็นสำเร็จชั้นอาจารย์ ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ต้องถามคนที่เคยบวชศึกษาในสมัยนั้นมีเยอะแยะไปเขาเรียกคนที่เคยบวชว่าทิด ฑิต จาร จาน แม้แต่ในจังหวัดนครราชมาก็ยังเคยไปเรียน ผมไปจำพรรษาที่ลำปางก็ยังมีคนถามหาสำนักเรียนบาลีมูลกัจจายนะ

ผมอดแปลกใจไม่ได้เมื่อตอนออกเสาะแสวงหาความรู้ตามที่ต่างๆเมื่อได้มารู้ว่าแต่ก่อนพระที่อื่นต้องเดินทางไปเรียนที่เมืองเรา แต่เดียวนี้เราต้องเดินทางไปเรียนที่อื่น พูดถึงเรื่องเรียนคัมภีร์ไวยากรณ์มูลกัจจายแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเล่าต่อว่า บาลีใหญ่หรือบาลีมูลเดียวนี้ก็ยังมีเรียนอยู่แต่ไม่ใช่ที่เมืองดอกบัวเหมือนอย่างเดิม ดอกบัวเมืองอุบลไปผลิดอกออกผลที่เมืองลำปาง วัดท่ามะโอแต่สำนักเรียนแห่งนี้สืบมาจากเมืองพม่า ไม่ได้สืบมาแต่เมืองอุบลแต่อย่างใด เป็นแต่ว่าภาษาบาลีที่ได้ศึกษาเล่าเรียนอยู่นั้นเป็นบาลีใหญ่ถึงจะไม่เหมือนของเดิมสักเท่าไหร่แต่ก็คงไม่ห่างกันนัก พูดถึงเรื่องการศึกษาของพระสงฆ์นั้นเมืองไทยเรายังด้อยกว่าเมืองพม่าอยู่นัก โดยเฉพาะแล้วคือพระไตรปิฎก พระอภิธรรมปิฎก เขากล่าวขานอยู่ว่า “เขมรหรือมอญเก่งพระวินัย ไทยเก่งพระสูตร พม่าเก่งพระอภิธรรม” ไม่รู้เหมือนกันว่าขนาดไหนมีท่านผู้รู้กล่าวให้ฟังว่า ผู้เรียนจบมหาบ้านเราฟังบาลีพม่าไม่ค่อยรู้แต่พระพม่าฟังบาลีบ้านเราได้ เวลาสนทนากันด้วยภาษาบาลีแล้วพระพม่าฟังเรารู้เรื่องแต่เราฟังเขาไม่รู้เรื่อง สำหรับเรื่องนี้ท่านที่เคยศึกษาต่อที่พม่าคงเข้าใจดี

อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะเล่าให้ฟังก็คือ พระพม่าเขาเรียนจากพระไตรปิฎกกัน คงเคยได้ยินว่าพระพม่าจำพระไตรปิฎกได้ทั้งหมดก็มี จำแต่ปิฎกใดหนึ่งก็มี เมื่อดูที่เมืองเราถามหาพระที่จำพระไตรปิฎกได้นั้นมีหรือเปล่า ให้จำแต่คำภีร์เดียวก็ยังหายากเพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่าพระเมืองเรายังด้อยกว่าพม่าอยู่ในเรื่องการศึกษา กล่าวอย่างนี้ก็คงไม่เกินจริงสักเท่าใด เขียนอย่างนี้กลัวท่านทั้งหลายจะเข้าใจผิด ขออธิบายสักหน่อยว่า เรียนเก่งกับปฏิบัติเก่งนั้นคนละเรื่องกันครับ

เขียนไปถึงเมืองพม่าได้ไงก็ไม่รู้ จากอุบลเผลอเดี๋ยวเดียวถึงเมืองหงสาวดีของพระเจ้าบุเรงนองซะแล้ว ดีนะครับที่ไม่ถึงปราสาทนครวัดนครธมของพระเจ้าชัยวรมัน หรือปราสาทเขาพระวิหารของสมเด็จฮุนเซนอันเป็นประเด็นตีชิงกันอยู่ระหว่างประเทศ การยอมกันไม่ได้แบบนี้ผมได้นึกไปถึงกษัตริย์พระญาติของพระพุทธเจ้าแย่งน้ำกัน พระพุทธองค์เลยตรัสให้สติว่า มหาราชน้ำที่แย่งกันอยู่นั้นมีค่าสักเท่าใดกัน กษัตริย์เหล่านั้นตอบว่า มีค่าน้อย พระองค์ถามต่อไปว่า แล้วกษัตริย์ละมีค่ามากหรือน้อย กษัตริย์ทั้งหลายตอบว่าหาค่าประมาณมิได้เมื่อเปรียบกับน้ำ พระองค์เลยเคาะ...ให้ว่าสมควรแล้วหรืออย่างไรที่จะประหัตประหารกันเหตุเพราะน้ำอันมีค่าน้อยนี้” กษัตริย์ทั้งหลายได้สติหูตาสว่างเหมือนโดนของหนักจึงทูลสดุดีพระพุทธเจ้าโดยอเนกปริยาย พระองค์จึงแถมให้ว่า ดีนะที่พระพุทธเจ้าเช่นเรามีมาไม่งั้นแม่น้ำคือเลือดจากลำคอของกษัตริย์อันหาค่าไม่อาจประมาณจะไหลนองแม่น้ำและแผ่นดินตรงนี้  

เขียนแบบนี้อีกแล้ว! ไม่ใช่ว่าหนับหนุนยกปราสาทให้สมเด็จฮุนเซนดอก เพียงแต่อยากบอกว่าจะทำอะไรก็ตามประเมินความเสียหายให้น้อยที่สุดละกัน ถ้าหากว่าจะรบจริงก็ให้ลองไปทบทวนตำราของซุนวูดูว่า “ในยุทธวิธีทั้งปวงสามารถสยบข้าศึกได้โดยไม่ต้องเสียเลือดเนื้อถือว่าเป็นเลิศ การตีกองทัพข้าศึกให้แตกพ่ายถือว่าเป็นรอง ดังนั้น รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้งก็จัดว่ายอดเยี่ยมอยู่ แต่ให้ข้าศึกยอมสยบโดยมิต้องรบมิยอดเยี่ยมยิ่งกว่าหรือ"

เขียนไปมาออกจะเละเทะว่าจะยกคำเทศสอนของหลวงปู่ชามาประกอบแต่เห็นว่ายาวเกินไป วันนี้ก็เลยวันพระมาหนึ่งวันที่จริงบันทึกนี้เขียนตั้งหลายวันกะว่าจะให้ทันวันพระแต่ก็ไม่ทัน ท่านทั้งหลายอย่าลืมทำความดีช่วงเข้าพรรษาละกัน จึงสำนึกสำรวมเสมอเถิดผลคือความดีจะอุบัติเองเมื่อถึงเวลา ข้าพเจ้าขออำลา เจริญธรรมฯฯฯ

หมายเลขบันทึก: 386086เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2010 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขออภัยท่านทั้งขอยืมหมวดหมู่นี้ใช้หน่อยแม้ว่าเนื้อหากว้างเกินไป สับสนเหมือนกันว่าจะลงหมวดไหนดี อีกอย่างเห็นว่าหมวดข้อคิดชีวิต ปรัชญานั้นแน่นมากแล้วขอยืมลงเป็นบางครั้งคงไม่เป็นไรนะ

กราบเรียนพระอาจารย์ครับ

หลวงพ่อชาเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวพุทธทุกคนครับผม

ขอนมัสการครับ

  • กราบนมัสการค่ะ ท่านปัญญาวโรP
  • จากเมืองอุบลถึงหงสาวดี  ทั้งสองเมืองล้วนมีประวัติศาสตร์
    ที่ควรศึกษาและเรียนรู้
  • บ่อยครั้งที่คนเรามักชินกับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวจนมองไม่เห็นคุณค่า
    ตรงกับสำนวนที่ว่า "ใกล้เกลือกินด่าง"
  • กราบขอบพระคุณที่แบ่งปันข้อมูลดี ๆ ค่ะ

คุณครู ขอบพระคุณที่แสดงความเห็นไว้เป็นรอยจารึกให้ได้นึกถึงกัน บล๊อกของท่านก็เป็นอีกบันทึกที่อาตมาติดตามอ่านบางทีอาจจะแสดงความเห็นแต่บางทีก็ไม่ได้แสดงไว้ บางที่ก็เห็นด้วยบางที่ก็มีเหตุผลที่แตกต่างหวังว่าคุณครูและหลายๆท่านที่อาตมาเข้าไปแสดงความเห็นคงไม่ว่ากระไร เข้าใจว่าเว็บ โกทูโน คือการแบ่งปันความรู้ความเห็น แลกเปลี่ยนความรู้กันและกันตามเหตุแลผล เป็นดังนี้จึงเห็นว่าสมาชิกเพิ่มทุกวันๆ

ด้วยเข้าใจดังนี้บางทีอาตมาก็คิดว่ากำลังคุยอยู่กับคนที่คุ้นเคยดังญาติสนิทมิตรสหาย บางทีก็เผลอเรื่องกฏ กติกา มารยาทในการแสดงออกไปบ้างหวังว่าท่านทั้งหลายคงไม่ถือ อนึ่งบล๊อกของอาตมาบันทึกใดๆก็ดีขอมวลหมู่สมาชิกได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เพราะความเห็นเหล่านั้นน่าจะเป็นประโยชน์ได้หลายแง่มุมอย่างแน่นอน เพราะฉะนี้ก็ขอความเห็นจากทุกท่านได้เสนอแนะด้วยจะเป็นการดีอย่างยิ่ง สาธุ

กราบนมัสการค่ะ

            ตาลายค่ะท่าน อ่านหนังสือตัวเล็กไปค่ะ

จากเมืองดอกบัวถึงหงสาวดี ได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ดีมากค่ะ              Krudala เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าว่า เจ้าอาวาส หรือตุ๊ลุง ของท่านเดินธุดงค์ไปจนถึงประเทศพม่า และไปศึกษาวิชาต่างๆทางพระพุทธศาสนา ท่านสามารถบอกวันที่จะเกิดจันทรุปราคา หรือสุริยุปราคาได้       แม้แต่ไม่นานมานี้ครูที่โรงเรียนก็มาเล่าให้ฟังว่า สามีเขาถูกให้ออกจากงานแล้วไปปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์    และติดตามพระอาจารย์ที่เดินธุดงค์เข้าไปในป่าเพื่อจะไปให้ถึงประเทศพม่า  ขณะที่พระอาจารย์เดินธุดงค์เข้าป่าไปสามีเขากลัวมากๆร้องไห้ไปตลอดทาง จนทนต่อไปไม่ไหวจึงกลับมา ปล่อยให้พระอาจารย์เดินธุดงค์ต่อไปตามลำพัง....

        กราบนมัสการท่านได้ขยายความเพื่อให้เข้าใจด้วยค่ะ 

                      ขอบพระคุณค่ะ

 

ตามที่คุณโยมKRUDALAได้นิมนต์ให้ขยายความ ไม่แน่ใจว่าอยากให้ขยายความในบันทึกของอาตมาหรือขยายเรื่องที่โยมเล่าหนา บอกได้ว่าอยากขยายอยู่เหมือนกันแต่เป็นเพราะเห็นว่าบันทึกแบบนี้เขียนให้ยาวไปคนไม่ค่อยจะอ่านกัน เลยเขียนแบบรวบลัดตัดความไปหน่อย จริงๆแล้วประวัติศาสตร์ย่อมเป็นของที่นักอ่าน-เขียนละเลยไม่ได้ ทางเหนือเป็นประวัติที่เกี่ยวกับเมืองพม่ามากดูได้จากศิลปกรรมต่างๆที่ยังเหลือร่องรอยไว้ให้ได้ชม

บันทึกตอนแรกๆอาตมาก็เขียนตัวใหญ่ๆนะคุณโยม แต่รู้สึกว่าทำให้เปลืองพื้นที่ไปหน่อยต่อมาก็เลยตัวเล็กๆอย่างที่เห็น อีกทั้งบันทึกส่วนมากในนี้เขานิยมเขียนตัวเล็กกัน ก็ขออภัยท่านผู้อ่านที่ต้องใช้ความพยายาม และขอบพระคุณที่มาอ่านเป็นกำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท