ของดีที่ถูกลืม


ซาไก

เงาะป่า อาจจะมีหลายเผ่าพันธุ์ แต่ที่คุ้นเคยกับคนในประเทศไทย โดยเฉพาะคนในภาคใต้ที่สุด คงจะเป็นเงาะป่า เผ่าพันธุ์  “ซาไก” ซึ่งปัจจุบันมีที่พักพิงที่ชัดเจนที่สุด อยู่ในพื้นที่ จ.พัทลุง ตรัง และ สตูล ซึ่งทั้งหมดต่างมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เช่น มีการคบหากับคนในพื้นราบ ทำงานขายแรงงาน หาของป่า สมุนไพรส่งขาย เพื่อนำเงินไปซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน บางกลุ่มส่งลูกเข้าเรียนหนังสือ เช่น ที่ อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล และแม้กระทั่งการอยู่กินฉันสามีภรรยา ระหว่างเงาะป่ากับคนในหมู่บ้าน ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว
   
สำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เงาะป่า เผ่าซาไก ที่คนรู้จักกันดีคือ เงาะซาไก ที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีนามสกุลใช้ มีทะเบียนบ้านถูกต้อง โดยทั้งหมดจะใช้นามสกุล “ศรีธารโต” ซึ่งเป็นนามสกุลพระราชทานจาก “สมเด็จย่า” และ เงาะป่าซาไก จากสกุล “ศรีธารโต” เป็นคนเผ่าแรก ที่ถูกนำไปถ่ายทอด ทาง “สื่อ” ต่าง ๆ เพื่อแสดงให้ผู้คนเห็น   ถึง วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ของชนเผ่า  จนทำให้ “หลุด ศรีธารโต” เป็น “ซาไก” คนแรก ๆ ที่มีคิวออกทีวีมากที่สุด ในขณะนั้น

แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ขณะนี้ เงาะซาไก ที่หมู่บ้านธารโต ได้อพยพ โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศมา เลเซีย จน หมดสิ้น เหลือเพียงครอบครัว เดียวที่กลายเป็นคนพื้นถิ่น ซึ่งยังอาศัยอยู่ในพื้นที่ ส่วนเหตุผลที่มีการอพยพโยกย้ายจาก อ.ธารโต ไปอยู่ในประเทศมาเลเซีย เป็นเพราะ มาเลเซีย ให้การดูแลที่ดีกว่า และมีความปลอดภัยกว่า
   
อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยถึงการพบ เงาะป่า เผ่าพันธุ์ซาไก ในป่าลึกเทือกเขาสันกาลาคีรี ในพื้นที่ ต.ช้างเผือก อ.จะแนะ จ.นราธิวาส จำนวน 3 กลุ่มด้วยกัน มีจำนวน 60 ชีวิต โดยเป็น ชาย 15 คน เป็น หญิง 16 คน เด็กชาย 10 คน เด็กหญิง 16 คน ชายชรา 1 คน และหญิงชรา 1 คน ซึ่งทั้งหมด ยังคงใช้ชีวิตเร่ร่อน ตามแบบของชนเผ่าซาไก โดยใน 3 กลุ่ม มีเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านในหมู่บ้าน กลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับชาวบ้านเป็นอย่างดี มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป คือ ใส่เสื้อผ้า แต่จะไม่ใส่รองเท้า ด้วยเหตุผลที่ว่าทำให้เดินไม่สะดวก โดยเงาะซาไกกลุ่มนี้ จะนำของป่า จำพวกผลไม้ป่า กล้วยไม้พันธุ์ต่าง ๆ เช่น นางช้าง นางคลี่ นางคลาย หางสิงห์ และอื่น ๆ รวมทั้ง ไม้พ้อ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านใช้ทำด้ามมีด ด้ามพร้า มาแลกเปลี่ยนข้าวสารอาหารแห้ง และ สิ่งจำเป็น  อื่น ๆ โดยเฉพาะ “ยาเส้น” ที่ชาวซาไกนิยม สูบกันทั้งกลุ่ม ส่วนสิ่งที่เงาะซาไกไม่ต้องการ ได้แก่ กะปิ ไข่ไก่ และเกลือผง สำหรับเงาะซาไก อีก 2 กลุ่ม ซึ่งไม่เคยมาติดต่อปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านในพื้นราบ ยังคงสร้างที่พักหรือ “ทับ” ในป่าลึก ไม่เคยพบปะผู้คนแปลกหน้า  ยังคงใช้ชีวิตตามแบบฉบับของ “ซาไก” ที่ยังชีพด้วยการขุดเผือกมัน ล่าสัตว์ด้วย “บอเลา” หรือลูกดอกอาบยาพิษ ที่ทำจากยางน่องหรือยางจากต้น “อีโป๊” และหาผลไม้ป่า โดยจะมีการย้ายที่อยู่หรือ “ทับ” ไปเรื่อย ๆ เมื่ออาหารในบริเวณที่ตั้งทับลดน้อยลง แต่ทั้งหมดต่างวนเวียนอยู่ในพื้นที่ ต.ช้างเผือก เนื่องจากเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเทือกเขากั้นระหว่างไทย-มาเลเซีย ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลหมากรากไม้และสัตว์เล็ก-ใหญ่ โดยกลุ่มเงาะซาไก ทั้ง 2 กลุ่ม เคยทิ้งทับ หลบหนีห่างไกลออกไปเมื่อครั้งที่กองกำลังของทหารลาดตระเวนเข้าไปในที่ตั้งทับ เพราะไม่ต้องการพบกับคนแปลกหน้า รวมทั้งหวาดกลัวอาวุธปืน เพราะเสียงปืน คือเสียงที่ เงาะซาไก กลัวที่สุด เช่นเดียวกับกลัวการถูกถ่ายภาพ โดยให้เหตุผลว่ากล้องถ่ายรูป เป็นเครื่องดูดวิญญาณของพวกตน
   
นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอจะแนะ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นนักปกครองคนแรก ที่ให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวของ เงาะซาไก ทั้ง 3 กลุ่ม กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายปกครองได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับ เงาะซาไกกลุ่มแรก ที่มีความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ด้วยดี โดยการนำสิ่งของที่เขาต้องการไปให้ และขั้นต่อไปคือการติดตามดูแลเรื่องสุขภาพ และสร้างที่อยู่ให้เป็นหลักแหล่ง สอนให้มีอาชีพในการเลี้ยงตนเอง ให้เหมือนกับที่ทางราชการเคยให้กับ เงาะซาไก ที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ส่วนที่เหลืออีก 2 กลุ่ม ก็จะให้เงาะซาไกกลุ่มแรกเป็น “สื่อ” ในการสร้างความสัมพันธ์ เพื่อที่ทางฝ่ายปกครองจะได้เข้าไปดูแลสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน แม้พวกเขาจะเป็น เพียง “ชนเผ่า” แต่เมื่ออยู่ในบ้านของเรา เราจะต้องให้ความดูแล เพื่อให้เขาพึงพอใจ และสามารถที่จะดำรงเผ่าพันธุ์ ตามวิถีทางที่เขาต้องการ เราไม่ได้เข้าไปก้าวก่าย เข้าไปเปลี่ยนแปลงความเชื่อ หรือวิถีชีวิตของพวกเขา แต่เราจะเข้าไปดูแลในส่วนที่เขาขาดแคลนเท่านั้น
   
“ซาไก” คือชนเผ่าพื้นเมืองเผ่าพันธุ์หนึ่ง ที่ยังหลงเหลืออยู่ในไม่กี่พื้นที่ของภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมา ทางราชการพยายามที่จะนำเอา “ซาไก” มาเป็นจุดขายของการท่องเที่ยว โดยขาดความคิดถึงความเป็น “มนุษย์” แต่มองเห็น “ชนเผ่า” เหล่านี้  เป็นเช่น “วัตถุ” สิ่งของ ที่ไม่มีจิตวิญญาณ สุดท้าย จึงกลายเป็นการ “ทำลาย” เผ่าพันธุ์ ของ  “ชนเผ่า” ให้สูญสิ้นไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นกับเงาะซาไก ที่ อ.ธารโต จ.ยะลา คือ “บทเรียน” ที่ทุกหน่วยงานพึงต้องศึกษา และใคร่ควร เพื่อที่จะไม่ให้ประวัติศาสตร์  ซ้ำรอยเดิม.

คำสำคัญ (Tags): #ซาไก
หมายเลขบันทึก: 386088เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2010 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนคุณยังครับ

เคยอ่านนักเขียนท่านหนึ่งเขียนไว้ว่า คนเห็นคนเป็นคนจึงเป็นคน คนเห็นคนใช่คน ใช่คนไม่ น่าจะใช้ได้กับเหตุการณ์นี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท