๑๐.UKM18 : สรุปบทเรียนและการสะท้อนความคิด พลังเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัยไทย


เวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ครั้งที่ ๑๘ ในวันที่สอง ได้จัดให้กลุ่มย่อยซึ่งเป็นกลุ่มเรียนรู้ตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ ๖ ฐานพร้อมกับใช้ฐานการเรียนรู้ในชุมชนนั่งเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างสมาชิกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง สมาชิกจากมหาวิทยาลัยต่างๆนั้น แต่ละมหาวิทยาลัยจะเลือกสรรกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรมเวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในแต่ละครั้งไม่เกินกลุ่มละ ๑๐ คน ผสมผสานไปด้วยกลุ่มบุคลากรที่หลากหลายสาขา ทั้งสายอาจารย์ ผู้บริหารระดับต่างๆ นักวิจัย และสายสนับสนุนวิชาการ

กลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมจากแต่ละมหาวิทยาลัยดังกล่าว จึงมีคุณลักษณะเป็นชุมชนผู้ปฏิบัติและกลุ่มการเรียนรู้แบบสหสาขา ที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายมิติทั้งระดับปัจเจก ภายในกลุ่ม และระหว่างความแตกต่างหลากหลายของกลุ่ม หากมีการบริหารจัดการเครือข่าย รวมทั้งเกิดการบริหารจัดการกลุ่ม CoP : Community of Practice ได้อย่างเหมาะสมแล้ว ก็จะทำให้เป็นการพัฒนาวิธีเรียนรู้เป็นกลุ่มของกลุ่มคนสหสาขา ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับพัฒนาชุมชนและกลุ่มประชาคมเรียนรู้ ที่มีพลังต่อการพัฒนาต่างๆต่อไปได้เป็นอย่างดียิ่ง

  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสังเคราะห์มวลประสบการณ์ระดับมหภาค 

เมื่อพัฒนาแนวคิดและได้ลงไปเรียนรู้จากชุมชนในฐานการเรียนรู้ต่างๆ ๖ ด้านในการประชุมวันแรกแล้ว การประชุมในวันที่สองซึ่งเป็นวันเสร็จสิ้นการประชุม กลุ่มเรียนรู้กลุ่มย่อยจากฐานการเรียนรู้ในชุมชนต่างๆ ก็ส่งตัวแทนนำเสนอบทเรียนทั้งจากการเรียนรู้ชุมชนและจากการสานเสวนาผ่านเรื่องเล่าเร้าพลัง เพื่อแลกเปลี่ยนเปลี่ยนเรียนรู้เป็นเวทีสาธารณะของผู้เข้าประชุมจากเครือข่ายทุกมหาวิทยาลัย จากนั้นก็อภิปรายและแลกเปลี่ยนทรรศนะกันอย่างทั่วไป

อาจกล่าวได้ว่า มิติความเป็นชุมชนและกลุ่มเรียนรู้ ที่จัดการให้เกิดขึ้นในลักษณะนี้ เมื่อพิจารณาในแง่การเป็นวิธีจัดการความรู้แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเป็นวิธีสนับสนุนให้มุ่งนำเอาทักษะของแต่ละคนและพลังในความเป็นกลุ่ม มาเป็นเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายมิติโดยการลงไปดูชุมชนและเปิดตนเองให้เกิดประสบการณ์เชิงสัมผัสจากฐานการเรียนรู้ที่เจ้าภาพและชุมชนจัดเตรียมไว้ ดึงศักยภาพอย่างบูรณาการของมนุษย์ออกมาใช้พร้อมกันไป ๓ ด้าน ทั้งความเป็นผู้กระทำปรากฏการณ์ผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ ความเป็นผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ และความเป็นเหตุการณ์และสิ่งที่ถูกสังเกตเพื่อเรียนรู้

ขณะเดียวกัน ก็เป็นกลไกในการวิพากษ์ สร้างความรู้และสร้างบทสรุปให้ออกมาในภาพรวมด้วยการปฏิสัมพันธ์กันบนประเด็นร่วมจากหลายจุดยืนและหลายทรรศนะของกลุ่ม (Cross-Communities Integrated Learning) สกัดความรู้ให้ปรากฏความเป็นส่วนรวม พร้อมกับสะท้อนเป็นความรู้จำเพาะตนต่อยอดขึ้นจากประสบการณ์ของแต่ละคน ได้กระบวนการที่ครอบคลุมทั้งมิติจุลภาคและมหภาคได้พอสมควร

                          ภาพที่ ๑  รำท่าสอยรังมดแดง : การสร้างความตื่นตัวและเสริมความเชื่อมั่นตนเองในการคิด แสดงออก และมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น ครูนกเอี้ยง (ซ้าย) ศิษย์เก่าของ มรภ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวและมีความสามารถจำเพาะตนอย่างสูง เป็นผู้นำกระบวนการก่อนนำเสนอผลงานจากกลุ่มย่อย ผู้เข้าร่วมประชุมได้ออกไปมีส่วนร่วม สร้างความสนุกสนานให้กับเวที จิตใจเปิดกว้างและสามารถปฏิสังสรรค์กับกิจกรรมต่างๆให้ได้ทั้งการเรียนรู้และความประทับใจ

                          ภาพที่ ๒ การนำเสนอข้อมูลชุมชนและประสบการณ์ในการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มในฐานการเรียนรู้กลุ่มย่อยที่จัดขึ้นในชุมชน ๖ ฐาน ครอบคลุม คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และพัฒนาชุมชน ๖ ด้าน

                         ภาพที่ ๓ การนำเสนอบทเรียนจากฐานการเรียนรู้กลุ่มย่อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภชัย อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้นำเสนอของกลุ่ม พร้อมทั้งร่วมสะท้อนทรรศนะในการบูรณาการสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ดังเช่น สาขาวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีพลังงาน เข้าไปต่อยอดประสบการณ์ของชุมชน

                          ภาพที่ ๔ การนำเสนอบทเรียนจากฐานการเรียนรู้กลุ่มย่อย อาจารย์จากสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้นำเสนอของกลุ่ม พร้อมทั้งร่วมสะท้อนแนวทางส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในสาขาฟิสิกส์ของประเทศในบางส่วนที่จะสามารถเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อทำให้วิทยาการและเทคโนโลยีสามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนของประเทศได้มากยิ่งๆขึ้น

  ภาคีการศึกษากับการสะท้อนสภาวการณ์สังคมและการเชื่อมโยงกับภาคประชาชน 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยผสมผสานแหล่งข้อมูลและบทเรียนจากประสบการณ์อันหลากหลาย ที่นำเข้าสู่เวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในครั้งนี้โดยกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุมมหาวิทยาลัยละไม่เกิน ๑๐ คน จากมหาวิทยาลัย ๘ แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ท้องถิ่น ชุมชน สถานศึกษาในท้องถิ่น ภาคประชาชน ตลอดจนกลุ่มปัจเจกที่ทำงานด้านการศึกษาเรียนรู้และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ทำให้เวทีประชุมเกิดองค์ประกอบของพหุภาคีที่มีความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ในชุมชนระดับต่างๆของประเทศ ด้วยประเด็นความสนใจและวิถีปฏิบัติในเงื่อนไขแวดล้อมที่แตกต่างหลากหลาย สอดคล้องกับความซับซ้อนของสังคมและสิ่งแวดล้อมได้พอสมควร

กระบวนการประชุมซึ่งจัดองค์ประกอบให้มีบทเรียนและการนำเสนอทรรศนะต่ออนาคตการพัฒนาทั้งของท้องถิ่นและของสังคมระดับประเทศทั้งจากภาคประชาชนและจากกลุ่มคนทำงานบนประเด็นความหลากหลายจากหลายมหาวิทยาลัยในทุกภูมิภาคของประเทศ ทำให้ร่วมกันฉายภาพประเด็นส่วนรวมที่มีความเชื่อมโยงกับความจำเป็นในอันที่จะนำไปสู่ความริเริ่มเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาวะสังคมระดับชุมชน ให้ครอบคลุมการสนองตอบต่อความแตกต่างหลากหลายในระดับฐานรากของสังคมได้ทั่วถึงและสอดคล้องความจำเป็นมากยิ่งๆขึ้น 

นอกจากนี้ ก็ทำให้เกิดความรับรู้ที่จริงจังมากขึ้นต่อมิติอื่นๆ ที่ต้องการความเชื่อมโยงกันของภารกิจทางด้านการศึกษาระดับต่างๆ ในลักษณะที่ต้องปรึกษาหารือและเรียนรู้เพื่อให้สามารถระบุประเด็นปัญหาความจำเป็นร่วมกัน เห็นแนวพัฒนาการวิจัยสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดการค้นพบวิธีแก้ปัญหาและการมีความรู้ที่มีความเป็นชีวิตและมีอยู่แล้วในการปฏิบัติของชุมชนและภาคประชาชน ซึ่งจะยิ่งเป็นวิธีเพิ่มพูนโอกาสการพัฒนาบทบาทของภาคีทางการศึกษาให้มีความเชื่อมโยงกลมกลืนกับบริบทท้องถิ่นต่างๆของประเทศได้มากยิ่งๆขึ้น

การมีช่องทางประสานความร่วมมือกันระหว่างภาคีทางวิชาการกับชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาความสามารถในการปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่เสมอ ดังเช่นที่สะท้อนอยู่ในเวทีเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยดังที่กล่าวมานี้ บ่งชี้ได้ว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงและทำให้ภาคีทางการศึกษาสามารถกำหนดภารกิจต่างๆที่สื่อสะท้อนความจำเป็นของสังคมได้อย่างใกล้ชิด

หากสามารถผสมผสานวิธีการศึกษาเรียนรู้แบบเร่งด่วนแต่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงประเด็นส่วนรวมที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาชุมชน ก็จะทำให้เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย มีความเคลื่อนไหวเพื่อระบุประเด็นเชิงยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสามารถจัดการความรู้เพื่อสร้างเสริมพลังการปฏิรูปของสังคม ในมิติที่แตกต่างออกไปจากวิธีการที่มีหน่วยงานและองค์กรเฉพาะเรื่องเป็นตัวตั้ง ซึ่งจะก่อให้เกิดความบูรณาการและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากยิ่งๆขึ้น

  ความร่วมมือเพื่อสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือข่ายจากทั่วประเทศ เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว ก็จะสามารถเข้าใจได้เป็นอย่างดีว่า ภายในระบบการศึกษาของประเทศในส่วนที่เป็นการจัดการอุดมศึกษานั้น ประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย อีกทั้งมีจุดเน้นเพื่อสนองตอบต่อความจำเป็นของประเทศที่ต่างกัน ต้องการการพัฒนาตนเองที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างหลากหลายบนความเป็นมหาวิทยาลัยในส่วนกลางกับมหาวิทยาลัยตามท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆ มหาวิทยาลัยที่มีบทบาทต่อการพัฒนาความเป็นท้องถิ่นเชื่อมโยงกับประเด็นซึ่งข้ามพรมแดนไปสู่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และมหาวิทยาลัยซึ่งอยู่ในภูมิศาสตร์สังคมวัฒนธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ

หากเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยตระหนักและให้ความสำคัญต่อความเป็นจริงดังกล่าว ก็จะสามารถระบุความต้องการและเห็นความจำเป็นร่วมกันให้ทุกมหาวิทยาลัยสามารถเป็นตัวแทนประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ สามารถพัฒนาตนเองโดยก้าวเดินออกจากจุดที่ตนเองเป็นและมีความเข้มแข็งอยู่เป็นทุนเดิมเพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยกัน บรรลุวัตถุประสงค์จำเพาะในการพัฒนาตนเองไปตามความหลากหลายของแต่ละมหาวิทยาลัย พร้อมกับสามารถเป็นเครือข่ายระดมพลังทางปัญญาผสานกับภาคสังคม สานความเชื่อมโยงกันได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงทั้งระดับชุมชนท้องถิ่น ระดับประเทศ ระดับอนุภูมิภาค และระดับสากล ให้เกิดพลังนำการเปลี่ยนแปลงอย่างบูรณาการ พอเพียงแก่การบรรลุจุดหมายส่วนรวมที่หากแยกส่วนกันแล้วก็จะทำไม่ได้ ได้ดียิ่งๆขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็สามารถบูรณาการความเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเสริมความเข้มแข็งแลกเปลี่ยนกัน เช่น มหาวิทยาลัยมหาสารคามสะท้อนความเชื่อมโยงกับประเด็นในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภูมิภาคอินโดจีนและลุ่มน้ำโขงให้แก่มหาวิทยาลัยอื่นๆในเครือข่าย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคามสะท้อนความเชื่อมโยงกับประเด็นชุมชนท้องถิ่นและประเด็นการพัฒนาการศึกษาระดับพื้นฐานของประเทศ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สะท้อนการพัฒนาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าด้านอาหารและทรัพยากรทางทะเลที่ผสมผสานกับวิถีภูมิปัญญาชุมชน เผยแพร่ความรู้ท้องถิ่นและไทยคดีศึกษาภาคใต้ ศรีวิชัย และสุวรรณภูมิ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากสะท้อนมิติสุขภาพและสุขภาวะสังคมในกระบวนทรรศน์ใหม่ของการพัฒนาประเทศแล้ว ก็เชื่อมโยงเวทีของเครือข่าย UKM เข้ากับนานาชาติและความเป็นสากลของโลก พร้อมกับถ่ายทอดทักษะและศักยภาพดังกล่าวให้เครือข่ายผ่านรูปแบบความร่วมมือและปฏิสัมพันธ์กันเชิงแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนางานด้วยกันในลักษณะต่างๆ ส่วนเครือข่ายในภูมิภาคก็ช่วยเสริมการพัฒนาเครือข่ายบูรณาการวิทยาการและเทคโนโลยีสู่ชุมชน ให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เครือข่ายจากมหาวิทยาลัยมหิดลทำ ต่างเป็นพลังการพัฒนาและปฏิรูปตนเองให้กัน พร้อมทั้งเชื่อมโยงกับภาคสาธารณะระดับต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาบทบาทการวิจัยและงานวิชาการด้านที่สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาสุขภาวะสังคม (Social Impacts) ให้เด่นชัดมากยิ่งๆขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

แนวดำเนินการดังกล่าว จะก่อให้เกิดพลังแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมความเข้มแข็งและเพิ่มเติมส่วนขาดกันและกัน พร้อมกับสานพลังปฏิรูปสังคมอย่างมีความหมายร่วมกันได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับความจำเป็นทั้งของท้องถิ่นและในความเป็นสากลของโลกได้มากกว่าการดำเนินการแต่โดยลำพังและมุ่งแข่งขันช่วงชิงภาวะการนำกัน ซึ่งมีส่วนในการเป็นแรงกดดันให้ระบบการศึกษามุ่งแยกส่วนเลือกเกาะติดเพียงประเด็นที่บ่งชี้ความเอาตัวรอดได้จำเพาะภายใต้การแข่งขัน แต่หลุดออกจากความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยีในสาขาต่างๆ บรรลุจุดหมายได้เพียงด้านต่อยอดความแยกส่วนของตนเอง แต่ไม่สะท้อนความจำเป็นในการพัฒนาทางด้านต่างๆของสังคม มากยิ่งๆขึ้น

จากการได้เป็นเจ้าภาพ จัดประชุมเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยในครั้งนี้ของมหาวิทยาลัราชภัฏมหาสารคาม จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัย มรภ.มหาสารคามได้ระดมความร่วมแรงร่วมใจกันของบุคลากรจากหลายคณะมาร่วมกันจัดกิจกรรม รวมทั้งระดมภาคประชาชนและภาคธุรกิจเอกชน ตลอดจนกลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่น เครือข่ายชุมชน และสถานศึกษาในพื้นที่ ให้มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในแง่หนึ่งนั้น ก็ทำให้เครือข่ายผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ประสบการณ์จริงในการจัดกิจกรรมวิชาการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มรภ.มหาสารคามได้สะสมความเข้มแข็งและยกระดับความมีบทบาทในการเป็นสถาบันวิชาการของภูมิภาคให้เด่นชัดมากยิ่งๆขึ้น

ขณะเดียวกัน ก็เป็นเครือข่ายที่ช่วยสะท้อนความเป็นจริงของสังคม โดยเฉพาะทางด้านพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ผสมผสานเข้าสู่เครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยได้อย่างเหมาะสม ก่อเกิดพื้นฐานในการทำให้เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษามีแนวการพัฒนาในบางมิติ ให้มีความเชื่อมโยงกับความจำเป็นในการพัฒนาประเทศได้มากยิ่งๆขึ้น

กระบวนการดังกล่าว อันได้แก่ความเป็นเครือข่ายกันของหลายมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศในเครือข่าย UKM นี้ นับว่าเป็นวิธีการที่น่าสนใจอย่างหนึ่งสำหรับการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ได้แรงสนับสนุนที่จะก่อให้เกิดการได้เรียนรู้และพัฒนาบทบาทตนเองไปในตัว ก่อให้เกิดความเข้มแข็งและมีความก้าวหน้าในภารกิจต่างๆมากยิ่งขึ้นผ่านการได้พัฒนาตนเองไปกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นเครือข่าย

 บทสรุปและการสะท้อนคิดไปข้างหน้า

การหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ และได้เรียนรู้ความโดดเด่นอันแตกต่างกันของแต่ละมหาวิทยาลัยในเครือข่าย ก็สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นร่วมเชิงยุทธศาสตร์สำหรับพัฒนาเครือข่ายจัดการความรู้ ในการพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศของเครือข่ายมหาวิทยาลัย ที่มีความแจ่มชัดและมีลักษณะเฉพาะที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาบทบาทของภาคีการศึกษาในระดับเครือข่ายได้มากขึ้นเป็นลำดับ

ในอนาคต อาจสามารถพัฒนาภารกิจร่วมกันให้ครอบคลุมความจำเป็นได้อย่างทั่วถึง เชื่อมโยงความจำเป็นได้อย่างบูรณาการทั้งระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับสากล ก่อเกิดบทบาทและความเคลื่อนไหวของการศึกษาในเชิงปฏิรูป มีเครือข่ายจัดการความรู้และสร้างภารกิจการชี้นำความเปลี่ยนแปลงด้วยวิธีการความรู้ผสมผสานกับภูมิปัญญาปฏิบัติอันมั่งคั่งหลากหลายในสังคม ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในแนวทางที่พอเพียง สมดุล และมีความมั่นคงยั่งยืน ส่งเสริมให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสบรรลุคุณภาพแห่งชีวิต และก่อเกิดชุมชนเข้มแข็งเพื่อร่วมกันสร้างสุขภาวะสังคม ดังที่พึงประสงค์ได้มากยิ่งๆขึ้น.

...........................................................................................................................................................................

บันทึก UKM-18 มีทั้งหมด ๑๐ ตอน ตอนที่ท่านกำลังอ่านและชมนี้ เป็นตอนที่ ๑๐

ตอนที่ ๑  คุณภาพการศึกษาสู่การเรียนรู้และการพัฒนาชุมชน
ตอนที่ ๒  มิติจัดการความรู้ที่ให้ประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็กๆ
ตอนที่ ๓  จัดการความรู้สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อเสริมพลังภูมิปัญญาปฏิบัติ
ตอนที่ ๔  โอกาสพัฒนาการเรียนรู้ของพลเมือง : Life-Long Learning Space ในที่พักผู้ร่วมเวที
ตอนที่ ๕  เพิ่มโอกาสเข้าถึงและบ่มสร้างการมองโลกด้วยศิลปะ
ตอนที่ ๖  จัดการความรู้สร้างแหล่งเรียนรู้ปูมเมืองและมุมสร้างประสบการณ์ภายใน
ตอนที่ ๗  ถ่ายรูป Documentation ยุค Digital/Computer-Based ต้องพัฒนาแนวคิด ปฏิรูปความรู้และวิถีปฏิบัติ
ตอนที่ ๘  เครือข่ายจัดการความรู้กับทางรอดและโอกาสพัฒนาของสถานศึกษาขนาดเล็กในชุมชน
ตอนที่ ๙  ทำหน่วยประสบการณ์ชุมชนให้เป็นฐานการเรียนรู้บูรณาการอย่างเบ็ดเสร็จ
ตอนที่ ๑๐ สรุปบทเรียนและการสะท้อนความคิด พลังเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัยไทย

หมายเลขบันทึก: 386051เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2010 07:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

        สวัสดีครับ  ความคิดที่สรุปมาทั้ง 10 ตอนจะเปิดอ่านให้หมดครับ ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

สวัสดีครับคุณธนาครับ ขอให้มีความสุขกับการอ่านและแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์กันนะครับ ขอบคุณที่มาเยือนและสนทนาแลกเปลี่ยนกันเช่นกันครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์ ตามอ่านงานอยู่นะคะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

มารับความรู้ค่ะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

  • สวัสดีครับ อาจารย์ดร.อมร : คุณครูชุมชน คนธรรมดาครับ
  • ด้วยความยินดีครับ ผมก็ชอบตามอ่านงานของหลายท่านใน gotoknow นี้เช่นกันครับ
  • มักได้ตัวอย่างที่เป็นปัจจุบัน และบางทีก็ได้ประเด็นที่ให้ความคิดดีๆเอากลับไปใช้ในการทำงานครับ
  • สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
  • ถือว่าเป็นการนำมาบอกลเล่า รายงาน แบ่งปันกันอ่านเหมือนไปเที่ยวชนบทต่างจังหวัด นะครับ
  • น่านี้ไปทางไหนก็ดูมีชีวิตครับ เขียวร่มรื่น
  • ได้เห็นแต่ความงอกงาม สดใส

การสร้างคน และการทำประสบการณ์ของชุมชนให้เป็นบทเรียน
 วิธีจัดการความรู้ให้ง่ายเพื่อสะท้อนสภาวการณ์สังคมอย่างบูรณาการเข้าสู่เครือข่าย UKM

                        

                         ภาพที่ ๑  การจัดประชุม ประเพณีและวัฒนธรรมทางวิชาการหลายอย่าง เมื่อเข้าไปดำเนินการกับเงื่อนไขแวดล้อมทางสังคม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและเทคโนโลยีชองชุมชน รวมทั้งผสมผสานเข้ากับความรู้ ระบบวิธีคิด วิธีการแสดงปฏิสัมพันธ์ในวิถีชาวบ้าน ก็เป็นประสบการณ์ชุดใหม่ที่ทำให้คนทำงานความรู้ ได้ใช้ความรู้และเรียนรู้เพิ่มพูนสิ่งใหม่ให้แก่ตนเอง

                        

                        

                         ภาพที่ ๒,๓  วิชาชีวิต การได้พัฒนาภาวะผู้นำในอันที่จะออกไปยืนอยู่แถวหน้าในฐานะผู้กุมความรู้สึกนึกคิดและความเป็นไปของผู้คนในสถานการณ์หนึ่งๆ  รวมทั้งการเกิดประสบการณ์ทางสังคม ซึ่งมีความเป็นสาธารณะใหญ่กว่าครอบครัวพ่อแม่และชุมชนของตน ในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่บทเรียนในหนังสือตำรา การสอนด้วยการสั่งสอนบอกเล่าของครู พ่อแม่ และคนรุ่นเก่า จะไม่สามารถให้ได้ดี เท่ากับการได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติและทำให้แก่ตนเองโดยตรงอย่างนี้

                        

                         ภาพที่ ๔ มือแคน สมบัติ สิมหล้า (ผู้พิการทางสายตา และใส่แว่นดำ) ยอดอัจฉริยะทางแคนและดนตรีอีสานกับคณะ มาบอกเล่าและจูงมือผู้คนจากเครือข่ายจัดการความรู้มหาวิทยาลัย รวมทั้งทุกคนที่ร่วมเวที เดินเข้าสู่โลกทรรศน์และจิตวิญญาณอันลึกซึ้งที่สอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิตและวิถีดำเนินไปของสังคม ด้วยเพลงแคนและภาษาศิลปะดนตรี เพียงความเป็นสาธารณะของการศึกษาเปิดออกเท่านั้น ผู้ที่มีภูมิปัญญาอันหลากหลายของสังคม ก็มีเข้ามาในที่ยืนและมาร่วมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีความร่วมกัน ได้มากยิ่งๆขึ้น เป็นทั้งวิธีจัดการความรู้และวิธีบริหารจัดการ สนับสนุนผู้ทรงภูมิความรู้ทางการปฏิบัติ ให้สังคมดึงความแข็งแรงด้านต่างๆที่อยู่ภายในตนเอง มาเป็นพลังชีวิต สร้างภาวะการนำความเปลี่ยนแปลงตนเองได้ดียิ่งๆขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท