การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๖)


โรงเรียนชาวนาจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องแมลงให้แก่นักเรียนชาวนา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเนื้อหาของหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี ที่นักเรียนชาวนาจะต้องเรียนรู้วงจรชีวิตแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อข้าวและที่เป็นโทษต่อข้าว

การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๖)


ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๖ มาลงต่อนะครับ ถึงตอนนี้ท่านคงจะเห็นว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติ โดยการปฏิบัติ และเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มแบบนี้ ทำได้ตลอดชีวิต และเมื่อทำจนเป็นนิสัย จะเกิดการเรียนรู้รอบด้าน ยิ่งถ้ามีนักวิชาการมาต่อยอดความรู้ให้ชาวนา ก็จะยิ่งเกิดการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่


ตอนที่ 6 เรียนรู้วงจรชีวิตของแมลง
โรงเรียนชาวนาจัดกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องแมลงให้แก่นักเรียนชาวนา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเนื้อหาของหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี ที่นักเรียนชาวนาจะต้องเรียนรู้วงจรชีวิตแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อข้าวและที่เป็นโทษต่อข้าว
แมลงต่างๆที่อาศัยอยู่นาข้าวนั้น นักเรียนชาวนารู้จักกันมากน้อยเพียงใด ? เพราะไม่ใช่ว่าเมื่อมองเห็นแมลงในนาข้าวก็ด่วนเหมาสรุปว่า ในนาข้าวมีแมลงมาทำลาย มารบกวนข้าว จึงต้องทำลายแมลงต่างๆเหล่านั้นให้หมดสิ้นไปด้วยวิธีการต่างๆนานา ซึ่งข้อนี้สะท้อนแสดงให้เห็นถึงความไม่รู้จักแมลง ทำให้เสียผลประโยชน์ที่จะใช้แมลงช่วยดูแลต้นข้าว นักเรียนชาวนาอาจจะสงสัยว่า เอ...แมลงจะช่วยดูแลต้นข้าวให้ได้ด้วยหรือ ? ก็ต้องขอตอบว่า ในวิธีการทางธรรมชาตินั้น สามารถอาศัยแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าวได้ เพราะพวกแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าวจะคอยไปกินแมลงที่มีโทษต่อข้าว ทั้งนี้ ก็เป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกันในนาข้าว เพียงแต่ว่านักเรียนชาวนาจะต้องหยั่งรู้อย่างเข้าใจลงในรายละเอียดว่า แมลงชนิดไหนทำหน้าที่อะไรกันบ้าง ? จึงจะใช้ธรรมชาติได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
นาในข้าวก็จะประกอบไปด้วยทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต สำหรับสิ่งมีชีวิต ก็อย่างเช่น ศัตรูธรรมชาติ เชื้อโรคและจุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อรา ตัวห้ำ ตัวเบียน ส่วนสิ่งที่ไม่มีชีวิต เช่น แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น ในแรกเริ่มจำต้องมาเรียนรู้ทำความเข้าใจกับตัวห้ำตัวเบียนกันก่อน
ตัวห้ำ (Predator) เป็นสัตว์ที่จับหรือดูดกินแมลงศัตรูพืชเพื่อการดำรงชีวิต เช่น แมงมุม แมลงปอ มวนชนิดต่างๆ แมลงจำพวกนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าแมลงที่เป็นศัตรูพืช ตลอดชีวิตของแมลงที่เป็นตัวห้ำจึงสามารถที่จะกินเหยื่อได้เป็นจำนวนมาก
ตัวเบียน (Parasite หรือ Parasitoid) เป็นสัตว์ที่อาศัยและเกาะกินแมลงที่เป็นศัตรูพืช เพื่อดำรงชีวิตหรือกินเพื่ออยู่ ตัวเบียนนั้น มีทั้งชนิดที่เป็นตัวเบียนนอก และตัวเบียนภายใน
โรคของแมลง เป็นเชื้อโรคที่มีอยู่ตามธรรมชาติที่เข้าทำลายศัตรู เช่น เชื้อราที่เข้าทำลายเพลี้ยจักจั่นสีเขียว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว โดยปกติแล้ว ในนาข้าวพื้นที่เขตร้อนทั่วไปอย่างเมืองไทยเรานี้ ก็มักจะมีแมลงศัตรูธรรมชาติ ศัตรูธรรมชาติ เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆมากพอที่จะควบคุมปริมาณศัตรูข้าวอยู่แล้ว อย่างสมดุลตามธรรมชาติ
ในกระบวนการเรียนรู้เพื่อการจัดการความรู้ เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน จึงต้องให้นักเรียนชาวนารู้และเข้าใจการสำรวจนาข้าว โดยเฉพาะการสำรวจแมลงในแปลงนา กิจกรรมในโรงเรียนชาวนาที่นำเสนอจะเป็นกรณีศึกษาการเรียนรู้วงจรชีวิตของแมลง จากโรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจง ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ และโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ ตำบลบ้านโพธิ์และตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
กรณีศึกษาที่ 1 การเรียนรู้แมลงในแปลงนาของโรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจง ตำบลไร่รถ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ในการเรียนรู้เรื่องแมลงนี้ นอกจากจะมีนักเรียนชาวนาทำการเรียนรู้แล้ว ก็ยังมีกลุ่มเด็กนักเรียนโรงเรียนหนองแจงมาเข้าร่วมด้วย นี่ถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่รุ่นลูกๆหลานๆ รุ่นพี่ป้าน้าอา ไปจนถึงรุ่นปู่ย่าตายาย ครบทุกรุ่นเลยก็ว่าได้ แต่เด็กนักเรียนดูท่าทางมีความสุขมากที่สุด เพราะวันนี้ได้เรียนทั้งวิชาเกษตร วิชาวิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ วิชาสังคมศึกษา วิชาภูมิศาสตร์ วิชาแมลง เป็นการเรียนอย่างบูรณาการผสมผสานกับการเรียนรู้เชิงประจักษ์
รวมกลุ่มกันแล้ว จึงจัดคละทั้งเด็กผู้ใหญ่ มีการตั้งชื่อกลุ่มกันอันได้แก่ กลุ่มหนอนตายยาก กลุ่มใบบัวบก กลุ่มโด่ไม่รู้ล้ม กลุ่มตะไคร้หอม ทั้งหมดทั้งมวลรวมกันเป็น 4 กลุ่มย่อย
สำหรับการเรียนรู้เรื่องแมลง เจ้าหน้าที่ต้องการจะทดลองนักเรียนชาวนาก่อนเรียน จึงให้แต่ละคนนำแมลงจากแปลงนาข้าวของตนเองมาด้วย แล้วจึงให้แต่ละกลุ่มวาดรูปต้นข้าวและนิเวศน์รอบต้นข้าวประกอบตามจินตนาและความเข้าใจ บ้างก็วาด บ้างก็ระบายสีเป็นสีสันสนุกสนานกันอย่างมาก จากนั้น แต่ละกลุ่มก็มาพิจารณาดูแมลงที่จับกันมาได้ แล้วก็ตั้งคำถามกันอย่างง่ายๆว่า แมลงตัวใดบ้างที่พอจะรู้จักมักคุ้นหรือพบเจออยู่บ่อยๆ ? ก็ให้วาดรูปแมลงตัวนั้นๆลงไป โดยให้วาดลงในจุดตำแหน่งที่เป็นที่อยู่อาศัยของแมลงชนิดนั้นๆตามต้นข้าว อย่างเช่น บางชนิดอาศัยอยู่ใต้น้ำ ผิวน้ำ ตามต้นข้าว หรือบนอากาศ



ภาพที่ 21 นักเรียนชาวนาโรงเรียนชาวนาบ้านหนองแจง และเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองแจง ต.ไร่รถ อ.ดอนเจดีย์ มาเรียนรู้ร่วมกันเรื่องแมลงในแปลงนา แต่ละก็เตรียมสวิงพร้อมลงจับแมลงในแปลงนา
ภาพที่ 22 นักเรียนชาวนากำลังโฉบแมลงในแปลงนาข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการผลิต

เมื่อนักเรียนชาวนาและรวมทั้งเด็กนักเรียนร่วมกันเรียนรู้ จึงต้องช่วยกันวาด เขียน ค้นหาข้อมูล คิดพิจารณา พูดคุยสอบถาม นึกย้อนไปในห้วงเวลาและสถานที่ต่างๆ ในเบื้องต้นนี้ ใครๆก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจอะไรกันอีกหลายอย่าง จนกระทั่งมีการคาดเดาไปต่างๆนานา เป็นการตั้งสมมติฐานตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์



ภาพที่ 23 เทแมลงที่จับได้ในสวิงลงบนกระดาษ
ภาพที่ 24 แบ่งกลุ่มเพื่อทำการพิจารณาและวิเคราะห์แมลงที่ได้มา


ภาพที่ 25 กิจกรรมฝึกให้นักเรียนชาวนาสังเกตแยกแยะแมลงชนิดต่างๆ จัดประเภทแมลงที่มีประโยชน์ – โทษ
ภาพที่ 26 ตัวอย่างแมลงในขวดเพื่อการเรียนรู้

ในการเรียนรู้ขั้นต้นนี้ ทั้งนักเรียนชาวนาและเด็กนักเรียนได้อาศัยความรู้ความเข้าใจจากประสบการณ์เดิม เด็กนักเรียนอาจจะมีประสบการณ์น้อยกว่า นักเรียนชาวนาน่าจะมีประสบการณ์มากกว่า การสอนการถ่ายทอดความรู้ให้กันและกันจึงเกิดขึ้น เป็นไปอย่างเรียบง่าย เด็กๆยินดีที่จะรับฟังคำสั่งสอนจากผู้ใหญ่ไปด้วย ส่วนผู้ใหญ่ก็รับฟังความคิดความอ่านของเด็กๆไปพร้อมๆกัน
เมื่อทุกกลุ่มต่างก็วาดๆเขียนๆกันเสร็จแล้ว จึงส่งตัวแทนกลุ่มออกมานำเสนอรายงาน การเรียนรู้ ก็ปรากฏว่าทุกคนต่างก็สามารถวาดลงได้ตรงจุดตามลักษณะทางธรรมชาติ แต่ก็พบว่า ยังมีแมลงอีกหลายต่อหลายชนิดที่ยังไม่รู้จักกันอีก
การเรียนรู้ก่อนการเรียน จึงพอสามารถบอกให้ได้ว่านักเรียนชาวนาและเด็กนักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแมลงกันอย่างไรบ้าง ? และจะต้องให้ข้อมูลอะไรอย่างไรจึงจะรู้เข้าใจเพิ่มขึ้น ?
ในขั้นตอนต่อไป จึงให้ทุกคนออกไปสำรวจแมลงในแปลงนาข้าวพร้อมกันเป็นกลุ่มๆ กระบวนการเรียนรู้เป็นไปตามกระบวนการกลุ่ม เปิดอิสระในการจับและสำรวจแมลง เพื่อจะดูว่า แต่ละกลุ่มใช้วิธีการอย่างไร ? และเมื่อได้แมลงกลับมา จึงนำแมลงที่ได้วางบนกระดาษ แล้วแยกแยะกลุ่มแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าวหรือแมลงดี กลุ่มแมลงที่มีโทษต่อข้าวหรือแมลงร้าย



ภาพที่ 27 การจดบันทึกจากการเรียนรู้เรื่องแมลงของนักเรียนชาวนา
ภาพที่ 28 การนำเสนอผลจากการสำรวจแมลงในแปลงนาของแต่ละกลุ่ม

ท้ายที่สุดก็ให้แต่ละกลุ่มออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน โดยตัวแทนกลุ่มจะอธิบายวิธีการต่างๆที่ใช้ และผลการสำรวจของว่าได้แมลงชนิดใดบ้าง ? ชนิดละกี่ตัว ? แมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าวมากกว่าหรือน้อยกว่า ? การนำเสนอในรอบที่ 2 นี้ ได้เห็นพัฒนาการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มและส่วนใหญ่ว่ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแมลงมากขึ้น และนอกจากนี้ ยังทราบอีกว่า แต่ละกลุ่มยังใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องนัก อย่างน้อยก็ดูได้จากสวิงจับแมลง มีแต่ดอกหญ้าติดมาเต็มเลย จึงพอรู้ได้ว่า ใช้วิธีการจับที่ไม่ถูกต้องตามกระบวนการ เจ้าหน้าที่จึงต้องสอนและสาธิตให้ทุกคนได้เรียนรู้กันใหม่เพื่อจะนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องต่อไป
และหลังจากนั้น ก็มีการทดลอง โดยให้แต่ละคนมาดูตัวอย่างแมลงในขวด แล้วบอกชื่อแมลงพร้อมกับอธิบายแมลงตัวต่างๆตามที่รู้ตามที่เข้าใจ บรรยากาศของการสอบสนุกยิ่งนัก เพราะเป็นแมลงที่รู้จักกันมาแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักเรียนชาวนาอีกต่อไป
กรณีศึกษาที่ 2 โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ ตำบลบ้านโพธิ์และตำบลดอนโพธิ์ทอง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี มีรายละเอียดดังนี้
การเรียนรู้วงจรชีวิตของแมลง เป็นกรณีศึกษาตัวอย่างของพื้นที่นาข้าวของคุณบุญมา ศรีแก้วโดยลงพื้นที่นาข้าวเพื่อสำรวจแมลงได้แบ่งออกเป็น 4 ครั้ง แต่ละครั้งใช้ระยะเวลาสำรวจแมลง ห่างกัน 2 สัปดาห์
กิจกรรมการสำรวจแมลงในแปลงนาในแต่ละครั้ง (ทั้ง 4 ครั้ง) ได้แบ่งกลุ่มนักเรียนชาวนาออกเป็น 8 กลุ่มๆ ละประมาณ 3 – 5 คน การจับแมลงใช้สวิงเป็นเครื่องมืออุปกรณ์
ในการสำรวจแมลง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ในแปลงนาข้าวของคุณบุญมา ศรีแก้ว เป็นแปลงนาที่ข้าวพันธุ์หอมปทุม จำนวน 22 ไร่ ข้าวมีอายุ 30 วัน และได้ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 ไปแล้ว ขณะที่ข้าวอายุได้ 25 วัน
นักเรียนชาวนานำแมลงที่ได้มาจำแนกตามชนิด ตามที่เคยเห็น ตามที่พบในสภาพปัจจุบัน และความรู้ความเข้าใจของตนเอง ให้ทำการจดบันทึกชนิดของแมลงว่าชนิดใดเป็นแมลงที่มีประโยชน์และชนิดใดมีโทษต่อข้าว ตามที่นักเรียนชาวนารู้ๆกัน ขั้นตอนนี้เป็นการเรียนรู้ก่อนที่จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแมลงทั้งหมด ทั้งนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รู้จักนักเรียนชาวนาว่า ใครรู้จักแมลงมากน้อยเพียงใดและอย่างไร ?



ภาพที่ 29 นักเรียนชาวนาโรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ ต.บ้านโพธิ์ และ ต.ดอนโพธิ์ทอง อ.เมือง กำลังใช้สวิงจับแมลงในแปลงนา
ภาพที่ 30 แมลงที่จับได้อยู่ในสวิง เตรียมพร้อมเพื่อนำการสำรวจและแยกแยะชนิดแมลง

จากนั้นจึงให้นักเรียนชาวนาแยกแยะแมลง แบ่งเป็นแมลงกลุ่มที่มีประโยชน์และมีโทษต่อข้าว โดยให้นักเรียนชาวนาทำการเรียนรู้ด้วยตนเองกับสื่อการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเอกสารประกอบ การเรียนรู้ และรูปภาพที่ติดไว้บนกระดาน ส่วนเจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเสริมประกอบ เพื่อให้นักเรียนชาวนาได้เข้าใจในหน้าที่ของแมลงในแปลงนามากยิ่งขึ้น
จากการนำแมลงที่ได้มาแยกชนิดและจดบันทึก พบว่ามีแมลงที่ได้มีความแตกต่างกัน โดยสามารถจัดกลุ่มได้ดังนี้
(1) กลุ่มแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าว พบว่า มีด้วงดิน แมงมุมเขียวยาว แมลงปอเข็ม จิ้งหรีด ด้วงเต่าทอง มวนเพชฌฆาต ตั๊กแตนหนวดยาว แมลงหางหนีบ จิงโจ้น้ำ แมลงวันก้นขน แมงมุมตาหกเหลี่ยม แตนเบียนสีส้ม แตนเบียนสีดำ ยุงนา รวม 14 ชนิด
(2) กลุ่มแมลงที่มีโทษต่อข้าว พบว่าผีเสื้อหนอนกอ แมลงสิง หนอนกระทู้ จักจั่นสีเขียว จักจั่นสีน้ำตาล รวม 5 ชนิด
เมื่อเปรียบเทียบจำนวนระหว่างแมลงที่มีประโยชน์กับแมลงที่มีโทษต่อข้าวนั้น พบว่าเป็นแมลงที่มีประโยชน์มีจำนวนมากกว่าถึงร้อยละ 95 ส่วนแมลงที่มีโทษพบเพียง ร้อยละ 5 เท่านั้น



ภาพที่ 31 กลุ่มย่อย 3 – 5 คน จดบันทึกข้อมูลแมลง
ภาพที่ 32 นักเรียนชาวนาในแต่ละกลุ่มกำลังปรึกษาหารือกันเรื่องแมลงที่จับมาได้

จากการวิเคราะห์แมลงในกลุ่มแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าว จึงจะเห็นได้ว่า
(1) ด้วงดิน (แมลงมีประโยชน์) ทั้งที่เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัย จะกินเพลี้ยกระโดด (แมลงมีโทษ) นอนห่อใบข้าว 3 – 5 ตัวต่อวัน
(2) แมลงปอเข็ม (แมลงมีประโยชน์) จับตัวอ่อนเพลี้ยกระโดด (แมลงมีโทษ) จับผีเสื้อหนอนห่อใบ (แมลงมีโทษ) และผีเสื้อหนอนศัตรูข้าวอื่นๆกินเป็นอาหาร
(3) มวนเพชฌฆาต (แมลงมีประโยชน์) ทำลายหนอนผีเสื้อ (แมลงมีโทษ)
(4) ด้วงเต่า (แมลงมีประโยชน์) กินไข่ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล (แมลงมีโทษ) และเพลี้ยอื่นๆ
(5) แตนเบียน (แมลงมีประโยชน์) วางไข่ทำลายบนหนอนห่อใบข้าว (แมลงมีโทษ)
(6) แมลงวันก้นขน (แมลงมีประโยชน์) วางไข่ทำลายหนอนผีเสื้อ (แมลงมีโทษ)
(7) แมงมุม (แมลงมีประโยชน์) ชักใยดักเหยื่อ กินเพลี้ย หนอนห่อใบข้าว หนอนม้วนใบ หนอนปลอก หนอนแมลงวัน (แมลงมีโทษ)
(8) แมลงหางหนีบ (แมลงมีประโยชน์) กินหนอนห่อใบข้าว (แมลงมีโทษ) ตอนกลางคืน
(9) จิงโจ้น้ำ (แมลงมีประโยชน์) กินเพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น (แมลงมีโทษ)
(10) มวนดูดไข่ (แมลงมีประโยชน์) กินไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดดและเพลี้ยจักจั่น
(11) ตั๊กแตนหนวดยาว (แมลงมีประโยชน์) กินไข่แมลงสิง (แมลงมีโทษ) ที่กัดกินใบข้าว
และสามารถวิเคราะห์แมลงในกลุ่มแมลงที่มีโทษต่อข้าว จะเห็นได้ว่า
(1) แมลงสิง ดูดน้ำเลี้ยงจากเมล็ดข้าวในระยะน้ำนม
(2) หนอนห่อใบข้าว ห่อม้วนทำลายใบข้าว
(3) หนอนกอ เจาะลำต้นข้าวและกัดกินภายในลำต้น
(4) เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว
(5) เพลี้ยจักจั่นสีเขียว ดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าว



ภาพที่ 33 แมลงชนิดต่างๆในสวิงที่จับได้จากในแปลงนาข้าว
ภาพที่ 34 พิจารณาแมลงโดยใช้แว่นขยายและเรียนรู้ด้วยตนเองตามเอกสาร

(ดูภาคผนวก ช ประกอบ)
ต่อมาในการสำรวจแมลงในแปลงข้าว ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2547 ซึ่งเว้นระยะตรวจสอบจากครั้งแรก 2 สัปดาห์ ในแปลงนาข้าวของคุณบุญมา ศรีแก้ว เป็นแปลงนาที่ข้าวพันธุ์หอมปทุม จำนวน 22 ไร่ ข้าวมีอายุ 45 วัน ได้ฉีดสมุนไพรและฮอร์โมน (ฮอร์โมนผลไม้และฮอร์โมนรกหมู) ครั้งที่ 1 ไปแล้ว ขณะที่ข้าวอายุได้ 41 วัน ช่วงที่สำรวจแมลงจึงเป็น 9 วันหลังฉีดสมุนไพรและฮอร์โมน
ผลจากการสำรวจแมลงในแปลง ครั้งที่ 2 นี้ พบว่ามีจำนวนแมลงลดน้อยลงกว่าครั้งที่ 1 แต่ยังคงเป็นแมลงชนิดที่เคยพบในครั้งแรกอยู่ ดังนี้
(1) กลุ่มแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าว พบว่ามีด้วงดิน แมงมุมเขียวยาว แมลงปอเข็ม จิ้งหรีด ด้วงเต่าทอง มวนเพชฌฆาต ตั๊กแตนหนวดยาว แมลงหางหนีบ จิงโจ้น้ำ แมลงวันก้นขน แมงมุมตาหกเหลี่ยม แตนเบียนสีส้ม แตนเบียนสีดำ ยุงนา รวม 14 ชนิด
(2) กลุ่มแมลงที่มีโทษต่อข้าว พบว่าผีเสื้อหนอนกอ แมลงสิง หนอนกระทู้ จักจั่นสีเขียว จักจั่นสีน้ำตาล รวม 5 ชนิด
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีกลุ่มแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อข้าวมากกว่ากลุ่มแมลงที่เป็นโทษ ถึง 10 เท่า ซึ่งการพบแมลงที่เป็นประโยชน์ต่อข้าวมากเช่นนี้ แมลงในกลุ่มนี้ไม่ได้ทำลายข้าว และจากการที่พบแมลงลดลงนั้น อาจจะมีสาเหตุอันเนื่องมาจากการฉีดสมุนไพรลงไปในแปลงนาข้าว (9 วัน ก่อนสำรวจแมลง)
การนำเสนอรายงานผลการสำรวจแมลงในครั้งที่ 2 นี้ ได้ให้ตัวแทนนักเรียนชาวนาในแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน ทำให้นักเรียนชาวนาได้ฝึกความกล้าแสดงออกมากขึ้น แม้ว่ายังมีหลายคนแสดงอาการประหม่าออกมาบ้างเล็กน้อย แต่ทุกคนก็ใช้ความกล้าที่จะสู้เพื่อจะได้เรียนรู้
ในระหว่างที่โรงเรียนชาวนาจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธีนั้น โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ได้นำนักเรียนชาวนาไปศึกษาดูงานจากแหล่งเรียนรู้ของหน่วยงานราชการ คือ ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ซึ่งนักเรียนชาวนาให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก เพราะต้องการไปดูแมลงที่มีประโยชน์และคาดหวังเอาไว้ว่าจะได้รู้จักกับแมลงให้ดียิ่งขึ้น
ในอาคารที่เพาะเลี้ยงแมลง นักเรียนชาวนาจึงได้รู้จักกับแตนเบียน (แมลงที่มีประโยชน์) ได้แก่ แตนเบียนตริโคแกรมมา แตนเบียนทีเชีย จะทำลายพวกหนอนกออ้อย หนอนคืบละหุ่ง หนอนเจาะดอกมะลิ ส่วนในอาคารที่เพาะเลี้ยงตัวห้ำ จึงได้รู้จักมวนเพชฌฆาต มวนพิฆาต แมลงหางหนีบ ด้วงเต่าลาย แมลงช้างปีกใส แมลงจำพวกดังกล่าวนี้จะทำลายจำพวกหนอนและเพลี้ย และในอาคารสุดท้ายเป็นเรื่องเชื้อรา นักเรียนชาวนาให้ความสนใจกับเชื้อราไตรโครเดอร์มา ซึ่งสามารถควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อราได้ เช่น โรคกุ้งแกงที่พบในพริก สำหรับเชื้อราไตรโครเดอร์มานี้สามารถขยายพันธุ์ในข้าวสุก นักเรียนชาวนาสนใจ เพราะจะนำไปประยุกต์ใช้ในการปลูกผัก



ภาพที่ 35 นักเรียนชาวนาไปศึกษาดูงาน ณ ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2547
ภาพที่ 36 นักเรียนชาวนาเรียนรู้เรื่องแมลงจากแหล่งเรียนรู้ของหน่วยงานราชการ


ภาพที่ 37 วิทยากรนำตัวอย่างแมลงมาให้นักเรียนชาวนาได้เรียนรู้ พร้อมกับให้ข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง
ภาพที่ 38 นักเรียนชาวนาทุกคนขอบคุณวิทยากรศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรีที่ได้ให้ความรู้

ในการศึกษาดูงานครั้งนี้อยู่ในระหว่างที่นักเรียนชาวนากำลังเรียนรู้เรื่องแมลง และฝึกทักษะการสำรวจแมลงในแปลงนา ประโยชน์จากการได้เห็นถึงขั้นตอนการเพาะแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าว ซึ่งดำเนินงานโดยหน่วยงานราชการ ทำให้นักเรียนชาวนาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าวในแปลงนาของตน ขณะเดียวกันก็ได้เห็นถึงภัยอันตรายของสารเคมีที่ไปทำลายแมลงเหล่านั้น นักเรียนชาวนาจึงเกิดความเชื่อมั่นและมั่นใจมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับเรื่องแมลงสามารถควบคุมแมลงด้วยกันเอง ใช้ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ โดยมิจำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีแต่อย่างใด
ต่อมาจึงมีการสำรวจแมลงในแปลงนา ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2547 ซึ่งได้เว้นระยะการตรวจสอบจากครั้งที่ 2 ไปอีก 2 สัปดาห์ และเว้นระยะห่างจากครั้งแรกรวม 4 สัปดาห์ ในแปลงนาข้าวของคุณบุญมา ศรีแก้ว เป็นแปลงนาที่ข้าวพันธุ์หอมปทุม จำนวน 22 ไร่ ข้าวมีอายุ 64 วัน ได้ฉีดสมุนไพรและฮอร์โมน (ฮอร์โมนผลไม้และฮอร์โมนรกหมู) ครั้งที่ 2 ไปแล้ว ขณะที่ข้าวอายุได้ประมาณ 60 วัน ช่วงที่สำรวจแมลงจึงเป็น 3 วันหลังฉีดสมุนไพรและฮอร์โมน
ผลจากการสำรวจแมลงในแปลงนา ครั้งที่ 3 นี้ พบว่ามีจำนวนแมลงลดน้อยลงกว่าครั้งที่ 2 แต่ยังคงเป็นแมลงชนิดที่เคยพบในครั้ง 1 และครั้งที่ 2 อยู่ ดังนี้
(1) กลุ่มแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าว พบว่ามีด้วงดิน แมงมุมเขียวยาว แมลงปอเข็ม จิ้งหรีด ด้วงเต่าทอง มวนเพชฌฆาต ตั๊กแตนหนวดยาว แมลงหางหนีบ จิงโจ้น้ำ แมลงวันก้นขน แมงมุมตาหกเหลี่ยม แตนเบียนสีส้ม แตนเบียนสีดำ ยุงนา รวม 14 ชนิด
(2) กลุ่มแมลงที่มีโทษต่อข้าว พบว่าผีเสื้อหนอนกอ แมลงสิง หนอนกระทู้ จักจั่นสีเขียว จักจั่นสีน้ำตาล รวม 5 ชนิด
สัดส่วนที่พบยังคงเดิม กลุ่มแมลงที่มีประโยชน์ต่อข้าว ร้อยละ 95 และกลุ่มแมลงที่มีโทษต่อข้าว เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น จำนวนแมลงที่พบในครั้งที่ 3 นี้ก็ลดน้อยลงไปอีก จึงทำให้เห็นแนวโน้มของแมลงที่อาศัยอยู่ในแปลงนาข้าวว่ามีแนวโน้มที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ในสัดส่วนที่คงเดิม และทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการใช้สมุนไพรเป็นยาฉีดพร้อมๆกับการใช้ฮอร์โมนฉีดพ่นเป็นระยะๆ



ภาพที่ 39 กลุ่มย่อยสำรวจแมลงในแปลงนา
ภาพที่ 40 นักเรียนชาวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลจากการสำรวจแมลงในเบื้องต้น

และในครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของการสำรวจแมลงในแปลงนา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 ซึ่งได้เว้นระยะการตรวจสอบจากครั้งที่ 3 ไปอีก 2 สัปดาห์ รวมเว้นระยะห่างจากครั้งแรกรวม 6 สัปดาห์ ในแปลงนาข้าวของคุณบุญมา ศรีแก้ว เป็นแปลงนาที่ข้าวพันธุ์หอมปทุม จำนวน 22 ไร่ ข้าวมีอายุได้ประมาณ 80 วัน ได้ฉีดสมุนไพรและฮอร์โมน (ฮอร์โมนไข่เร่งตาดอกและฮอร์โมนหัวปลาหมัก) ครั้งที่ 3 ไปแล้ว ขณะที่ข้าวอายุได้ประมาณ 68 วัน
ผลปรากฏว่า ไม่พบแมลงในแปลงนาข้าวเลย คำถามที่ตามมาก็คือ จะเป็นเพราะอะไรที่ไม่พบแมลงเลย ? ในขณะที่ครั้งที่ผ่านๆมาพบแนวโน้มจำนวนแมลงที่ลดลงเรื่อยๆ คำตอบที่ร่วมกันคิดพิจารณาไว้ก็คือ อาจจะเป็นเพราะ 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรกเป็นเรื่องอายุขัยของแมลงที่มีอายุไม่ยาวนัก และปัจจัยรองเป็นปัจจัยสนับสนุนคือ เรื่องของการฉีดพ่นยาสมุนไพรและฮอร์โมนเป็นระยะๆ รวม 3 ครั้ง ในตลอดช่วงอายุของข้าว จนถึงอายุ 80 วัน
ข้อมูลจากรายงานการทำนาของคุณบุญมา ศรีแก้ว ในปี พ.ศ.2547 ดังนี้

รายงานการทำนาข้าวปรัง ทำข้าวหอมปทุม 22 ไร่

§ หว่านข้าว วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2547 จำนวน 22 ไร่ หว่านประมาณ 50 ถัง
§ ฉีดยาคุม เมื่อตอนข้าวอายุได้ 9 วัน
§ หว่านปุ๋ย ครั้งที่ 1 เมื่อข้าวอายุได้ 25 วัน หว่านวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ.2547 หว่านปุ๋ย จำนวน 8 ลูก ปุ๋ยสูตร 6 ลูก ปุ๋ยยูเรีย 2 ลูก พอประมาณ 7 วัน ก็หว่านยูเรียซ่อมอีก 1 ลูก ในที่หว่านไม่เสมอกัน
§ ฉีดยาสมุนไพรและฮอร์โมน ครั้งที่ 1 วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2547 ใช้สมุนไพรสูตรรวม ฮอร์โมนใช้ฮอร์โมนผลไม้และฮอร์โมนรกหมู
§ หว่านปุ๋ย ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอายุได้ประมาณ 55 วัน หว่านวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2547 หว่านปุ๋ยจำนวน 9 ลูก ปุ๋ยสูตร 7 ลูก ปุ๋ยยูเรีย 2 ลูก
§

</strong>

หมายเลขบันทึก: 386เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2005 05:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 11:29 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท