ปรัชญาและศาสนา


มีสาระดี

เป้าหมายสูงสุดของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

 

        เป็นความเชื่อในเรื่องการสละ/การละวางหรือการไม่ยึดติดนั้น เป็นอุดมคติของวัฒนธรรม ชาวอินเดียอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน ชาวอินเดียยังมีความเชื่ออีกด้วยว่า หากจะวัด ความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ผู้หนึ่งนั้น มิได้วัดด้วยสิ่งที่เขาได้มาหรือหามาได้ หากแต่วัดจากสิ่งที่เขาได้สละหรือละทิ้งไป
ความเชื่อดังกล่าวได้รับการยืนยันด้วยเหตุผลมานานนับศตวรรษว่า ความปรารถนานั้นนำไปสู่ความสับสนวุ่นวาย ดังนั้น นักปรัชญาชาวอินเดียส่วนใหญ่จึงค้นหาหนทางในการขจัดความปรารถนาด้วยการยกระดับความไม่ยึดติดในสิ่งใดๆ และด้วยเหตุดังนั้น ในหลักปรัชญาธรรมและหลักศาสนาของชาวอินเดียเราจึงได้พบคำดังเช่น การเสียสละ/การอุทิศตน การทำบุญทำทาน การบำเพ็ญตบะ และการละวางอยู่เสมอๆ

 
onenessofthings
องค์ประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในภาพนำทางของชาวอินเดีย ได้แก่ ความเชื่อในเรื่องของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสรรพสิ่งต่างๆ โดยหลักสำคัญนั้นอยู่ที่การสร้าง ความเป็นหนึ่งเดียวของความเป็นจริง และชี้ให้เห็นถึงกลไกซึ่งปัจเจกบุคคลจะสามารถตระหนักรู้ถึงสิ่งนั้นได้
ในศาสนาฮินดูนั้น อุดมคติสูงสุดที่บุคคลต่างดิ้นรนจะไปให้ถึงนั่นคือ "ปรมาตมัน" ปรมาตมันนี้ไม่ใช่ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต แต่เป็นสภาวะซึ่งการแบ่งแยกหรือความแตกต่างนั้นถูกทำให้หมดไปและความเป็นหนึ่งเดียวเข้ามาแทนที่
"ปรมาตมัน" เป็นคำสอนสำคัญที่เน้นหนักอยู่ในคัมภีร์อุปนิษัท ปรมาตมันคือวิญญาณสากลหรือเป็นความจริงอันสูงสุด ที่เรียกว่าอันติมะสัจจะ บางทีก็เรียกว่า "พรหมัน" ปรมาตมันนั้นเป็นศูนย์รวมของวิญญาณย่อยทั้งหลายที่เรียกกันว่าอาตมันหรือชีวาตมัน ดังนั้น คัมภีร์อุปนิษัทจึงสอนว่า อาตมันก็คือพรหมัน ผู้ที่รู้จักและเข้าใจอาตมันจึงเท่ากับรู้จักและเข้าใจพรหมัน ผู้ที่รู้จักพรหมันผู้นั้นจะเข้าถึงโมกษะ คือ ภาวะแห่งความหลุดพ้น คืออยู่ร่วมกับพรหมันหรือปรมาตมัน อันเป็นวิญญาณสากลได้
ทัศนะของชาวอินเดียหรือพราหมณ์-ฮินดูนั้นมีความเชื่อว่า อาตมันหรือชีวาตมัน คือ ตัวตนของเรานี้ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนแห่งร่างกายคือตัวตนอย่างหยาบ และส่วนแห่งจิตวิญญาณคือตัวตนอย่างสมบูรณ์
ในส่วนแห่งร่างกายนั้นถือว่าเป็นส่วนที่หยาบ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะมีการแตกสลายไปตามกาลเวลา แต่ในส่วนแห่งจิตวิญญาณอันเป็นส่วนละเอียดนั้นเป็นอาตมัน หรือเป็นตัวตนที่แท้จริง เพราะจิตวิญญาณนั้นจะไม่มีวันตายหรือแตกสลายไปเช่นส่วนแห่งร่างกาย เพราะว่าวิญญาณของสรรพสิ่งแต่ละดวงนั้น เป็นอาตมันย่อยที่แยกออกจากอาตมันใหญ่ ซึ่งเป็นวิญญาณสากลที่เรียกว่า "ปรมาตมัน" ดังนั้น เมื่อปรมาตมันหรือวิญญาณสากลเป็นอมตะ อาตมันหรือ ชีวาตมัน ซึ่งเป็นวิญญาณย่อยเป็นตัวตนย่อยนั้นจึงเป็นอมตะด้วย อย่างไรก็ตาม ระหว่างอาตมันและปรมาตมันนั้น มีความแตกต่างกันตรงที่ว่า ปรมาตมัน ไม่ได้ถูกจำกัดหรือผูกพันอยู่กับสิ่งใด เป็นอมตะภาวะ เป็นอยู่ด้วยตัวเอง ไม่มีการเกิดและไม่มี การตาย แต่สำหรับชีวาตมันหรืออาตมันนั้นจะถูกจำกัดด้วยร่างกายที่มีการแตกดับ จึงได้รับ ความทุกข์ยากลำบากต่างๆจากการเวียนว่ายตายเกิดของร่างกายไปในภพชาติใหญ่น้อยต่างๆอย่างไม่มีวันจบสิ้น จนกว่าบุคคลนั้นจะฝึกฝนตนเองให้รู้แจ้งเห็นจริงในอาตมันของตนเอง ว่าเป็นอันเดียวกันกับปรมาตมันหรือพรหมันจึงจะบรรลุโมกษะ หลุดพ้นจากความทุกข์

 
illusions
ตามความคิดจิตใจของชาวอินเดียซึ่งถูกกำหนดรูปร่างโดยขนบธรรมเนียมโบราณและ วัฒนธรรมนั้น แท้จริงแล้ว โลกของเรานั้นเป็นเพียงภาพมายา อย่างไรก็ตาม ในการใช้คำว่า "มายา" นั้นไม่ได้หมายถึงว่า โลกของเราจะเป็นมายาเสียจนกระทั่งจุดยืนซึ่งใช้สนับสนุนข้อโต้แย้งของเรานั้น จะหมายถึงว่ารูปแบบและโครงสร้างนั้นเป็นมายา เพราะบ่อยครั้งที่เรามักจะนึกกันไปว่า รูปแบบและโครงสร้างในโลกของเรานั้นเป็นความเป็นจริงตามธรรมชาติมากกว่าจะเป็นผลผลิตมาจากจิตใจของเรา มายาหมายถึงความเข้าใจผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในการจัดประเภทหรือแนวความคิดในการสร้างความเป็นจริง
ในคัมภีร์คเวตาศวตร อุปนิษัทกล่าวว่า ถ้ามองจากแง่ของชีวาตมัน มายามีชื่อเรียกใหม่ว่า อวิทยา (อวิชชา) ซึ่งแปลว่าความไม่รู้ อวิทยาเป็นสิ่งที่เหมือนม่านปิดบัง ทำให้ชีวาตมันไม่รู้ความเป็นจริงว่า ตนเองกับสิ่งสัมบูรณ์คือพรหมันนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความไม่รู้หรืออวิทยานี้เป็นสาเหตุให้ชีวาตมันต้องเวียนว่ายตายเกิด ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ขณะที่ท่องเที่ยวอยู่นั้น ก็ได้ทำกรรมดีบ้าง ชั่วบ้าง แล้วได้รับผลของกรรม เป็นความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง หมุนเวียนกันไป เมื่อใดชีวาตมันเห็นแจ้งในความเป็นจริง และขจัดอวิทยาเสียได้แล้ว เมื่อนั้นก็จะบรรลุ ความหลุดพ้นกลับคืนสู่สภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพรหมันซึ่งเรียกว่าโมกษะ


                                                         โมกษะ
         ความหลุดพ้นหรือโมกษะนั้นเป็นสิ่งสำคัญของภาพนำทางของชาวอินเดีย ดังที่ นักปรัชญาชาวอินเดียได้ยืนยันอยู่เสมอว่า เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิตมนุษย์ก็คือการหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการทางโลก มนุษย์ทุกคนต่างต้องเผชิญหน้าหรือถูกท้าทายจากความสัมพันธ์ของเขากับวัตถุสิ่งของต่างๆอันเป็นที่รัก หรือกับบุคคลอื่นซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนม ทุกครั้งที่มนุษย์เรารู้สึกถึง ความท้าทายเหล่านี้ เรากำลังถูกบังคับให้จัดการกับความไร้ความสามารถในการจัดการต่อ สถานการณ์ต่างๆของเราเสียใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหากับตัวเรา หากพิจารณาด้วยทัศนะของ นักปรัชญาชาวอินเดียแล้ว การไร้ความสามารถนี้เองเป็นสิ่งซึ่งสะท้อนกลับจากพันธะหรือ เครื่องผูกมัดต่างๆ (ห่วง/บ่วง) ของเรา ดังนั้น บุคคลผู้เห็นภัยหรือเห็นความทุกข์ของชีวิตในวัฏฏะสงสาร จึงต้องการให้วิญญาณหรืออาตมันของตนเข้าสู่ภาวะแห่งการหลุดพ้นหรือโมกษะ วิถีทางแห่งการหลุดพ้นคือการปฏิบัติธรรมตามหลักอาศรมสี่ มรรคสี่หรือโยคะสี่ การปฏิบัติตามหลักดังกล่าวนี้จะทำลายมายาหรืออวิทยาให้หมดสิ้นไปและนำไปสู่การบรรลุโมกษะหรือการหลุดพ้นอันเป็นเป้าหมายหรืออุดมการณ์สูงสุด


nonindividuality
ความคิดเกี่ยวกับปัจเจกบุคคลในวัฒนธรรมของชาวอินเดียนั้นแตกต่างอย่างชัดเจนจากที่พบในวัฒนธรรมตะวันตก ในอภิปรัชญาของชาวอินเดียนั้นมิได้ยอมรับในความหลากหลายของความเป็นปัจเจกบุคคล การคิดถึงปัจเจกบุคคลเป็นการพ่ายแพ้ต่อ "มายา" ความจริงแท้สูงสุดหรือปรมาตมันนั้นไม่มีความแตกต่างและเป็นสิ่งเดียวที่แน่นอน ดังได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่าอุดมคติสูงสุดของศาสนาฮินดูนั้นคือการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้น ในความคิดของชาวอินเดียจึงไม่มีที่ว่างหลงเหลืออยู่สำหรับการคิดถึงปัจเจกบุคคลในลักษณะแยกส่วน


transtemporality
สำหรับชาวอินเดียแล้ว "เวลา"นั้นเป็นสิ่งซึ่งมีลักษณะหมุนเป็น"วงรอบหรือสังสารวัฏ" นั่นก็หมายความว่ามีความเชื่อในเรื่องของการหวนกลับคืนสู่สภาพของความเป็นนิจนิรันดร์และ ความเป็นอมตะ ในทัศนะของชาวอินเดียแบบดั้งเดิมนั้น มีเพียงหนทางเดียวที่จะหนีพ้นจากความลำบากในการเป็นมนุษย์นั่นคือการหนีให้พ้นจากภาวะที่เป็นอยู่ทางโลก
ความต้องการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุดหรือในสังสารวัฏนี้จะต้องตระหนักหรือแจ้งชัดในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรหมัน-วิญญาณสากล และอาตมัน-วิญญาณของตนได้ และเมื่อตระหนักรู้ความจริงเช่นนี้แล้ว บุคคลผู้นั้นก็จะหลุดพ้นจาก ความผูกพันทางโลก และหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏตลอดกาล


intuition
ในท้ายที่สุด ความสงสัยเกี่ยวกับ"ความรู้แจ้งภายในหรือการหยั่งรู้ภายใน"ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ความปรารถนาที่จะได้รู้อย่างแจ้งชัดต่อภายในของตนนั้น เป็นคุณลักษณะพิเศษของการฝึกจิตใจของชาวอินเดีย ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับชาวตะวันตก ในขณะที่สังคมตะวันตกนั้นต้องการจะเอาชนะธรรมชาติและประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์เทคโนโลยี แต่สำหรับชาวอินเดียนั้น ไม่ได้ต้องการอะไรที่มากไปกว่าการได้เอาชนะจิตใจของตนเอง
ความปรารถนาที่จะได้รู้แจ้งหรือการหยั่งรู้นั้นมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ความหยั่งรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มนุษย์สามารถที่จะเข้าใจความเป็นจริงได้โดยตรง ในขณะที่สังคมตะวันตกจะเน้นในเรื่องของเหตุผลและตรรกะ สังคมอินเดียจะเน้นในเรื่องของความสามารถด้านการหยั่งรู้ของมนุษย์ เพราะพวกเขาต่างรู้สึกว่า "ภาษา"ของมนุษย์นั้นไม่เพียงพอสำหรับการจะเข้าใจความเป็นจริง อีกทั้ง"ตรรกะ"ของมนุษย์ก็ไม่เพียงพอสำหรับจะเข้าใจความเป็นจริงที่อยู่เหนือธรรมชาติได้ ดังที่คัมภีร์อุปนิษัทได้กล่าวไว้ว่า "จะเข้าใจปรมาตมันได้ก็จะต้องเป็นปรมาตมัน" หรือในทางอีกทางหนึ่งนั้นก็คือการที่จะเข้าใจความเป็นจริงสูงสุดได้นั้น เราก็จะต้องเป็นความเป็นจริงสูงสุดนั้น เสียเอง

 

ทัศนคติของชาวอินเดียและหลักปฏิบัติ

               ทัศนคติต่อชีวิตของชาวอินเดียส่วนใหญ่แล้วนั้น ถูกกำหนดด้วยอุดมคติซึ่งมีรากฐานทาง     ประวัติศาสตร์มาจากคัมภีร์อุปนิษัท คำว่า "อุดมคติ" ในที่นี้หมายความถึงหลักปรัชญาซึ่งให้น้ำหนักต่อคุณค่าทางจิตใจในการชี้นำทางในการดำเนินชีวิตอุดมคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่เป็นแนวบรรทัดฐานกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตที่มนุษย์ต้องดำเนินตามเพื่อประโยชน์สูงสุด นอกเหนือจากหลักปรมาตมันและหลักโมกษะแล้วยังได้แก่ หลักอาศรมสี่ ซึ่งหมายถึง "ขั้นตอนหรือช่วงระยะเวลาของชีวิต"หรือแปลว่า"กระท่อมของนักบวช"หลักอาศรมสี่นี้ประกอบด้วย
   (1)พรหมจรรย์การประพฤติอย่างพรหมหรือการปฏิบัติตนให้อยู่ในความบริสุทธิ์
   (2)คฤหัสถ์ หลักสำหรับผู้ครองเรือนในการทำงานเพื่อสร้างหลักฐาน   ฐานะ และการทำพลีต่างๆ
   (3)วนปรัสถ์ หลักสำหรับผู้อยู่ป่า ซึ่งต้องวางมือจาก การครองเรือน ออกปฏิบัติธรรม หรือทำตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
   (4)สันยาสะ หลักสำหรับผู้แสวงหาธรรมหรือขั้นตอนสุดท้ายของชีวิตบุคคลจะต้องถือเพบรรพชิตประพฤติพรหมจรรยหลักอรรถะหรือประโยชน์สี่ได้แก่
      อรรถะ หมายถึง ทรัพย์หรือสิ่งที่เราต้องการแล้วพยายามทำให้ถึงหรือมีให้ได้

      กามะหมายถึงการแสวงหาความสุขทางโลกตามสมควร
      ธรรมะ หมายถึง หลักศีลธรรมหรือระเบียบความประพฤติของบุคคลในสังคมเพื่อสันติสุข

      โมกษะ หมายถึง ภาวะแห่งความหลุดพ้น หลักวรรณะสี่ เช่น กฎเรื่องการแต่งงาน (เช่น การห้ามแต่งงานข้ามวรรณะ) กฎเรื่องอาหารการกิน (ใครทำอาหารให้ใครทานได้) กฎเรื่องการทำมาหากิน (แต่ละวรรณะมีหน้าที่ของตนเอง ห้ามก้าวก่าย) กฎเรื่องบ้านเรือนที่อยู่อาศัย (ห้ามศูตร/จัณฑาลมีคฤหาสหรือปราสาท)เป็นต้น

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ครุสังคม
หมายเลขบันทึก: 383995เขียนเมื่อ 11 สิงหาคม 2010 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เเวะมาชม

     เป็นกำลังใจให่นะครับในการทามงาน ตั้งใจเรียนนะครับว่าที่นักปรัญญาคนใหม่

ผู้ค้นคว้าอยู่เสมอ

นั่นคือปราชญ์ที่แท้จริง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท