นโยบายรัฐบาลอภิสิทธิ์


วิเคราะห์นโยบายการศึกษารัฐบาล  นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ

 

นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  นายกรัฐมนตรี  ได้แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๑  ณ  กระทรวงการต่างประเทศ  ซึ่งนโยบายการศึกษาได้กำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสังคมและคุณภาพชีวิต  รวม ๘ ประการ ดังนี้

๑. ปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ  โดยปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการ ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ   และระดมทรัพยากรเพื่อการปรับปรุงการบริหารจัดการศึกษา  ตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนถึงระดับอุดมศึกษา  พัฒนาครู  พัฒนาระบบการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตร  รวมทั้งปรับหลักสูตรวิชาแกนหลักรวมถึงวิชาประวัติศาสตร์  ปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน  พัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์  ปรับบทบาทการศึกษานอกโรงเรียนเป็นสำนักงานการศึกษาตลอดชีวิต  และจัดให้มีศูนย์การศึกษาตลอดชีวิต  เพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่  ตลอดถึงการส่งเสริมการกระจายอำนาจให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา  เพื่อนำไปสู่เป้าหมายคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นคุณธรรมนำความรู้อย่างแท้จริง

การวิเคราะห์   นโยบายข้อที่  ๑  เป็นนโยบายที่เน้นปฏิรูปโครงสร้างมากเกินไป  แต่ไม่เน้นปฏิรูปกระบวนการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน  แนวทางของการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้อง คือการพัฒนาจากฐาน ไม่ใช่พัฒนาจากยอดอย่างที่ทำกันมา ส่งผลให้ผลการศึกษาเสื่อมลง   การพัฒนาจากฐานคือพัฒนาที่โรงเรียน  ครู ที่จัดการเรียนรู้ได้ผลดี  โดยส่งเสริมให้ขยายเครือข่ายวิธีจัดการศึกษาที่มีคุณภาพออกไป  การปฏิรูปการศึกษาไม่ควรเน้นที่ปริมาณของผู้ที่สำเร็จการศึกษา  แต่ควรเน้นที่คุณภาพให้มากที่สุด  เด็กคนไหนที่มีความตั้งใจใฝ่เรียนรัฐต้องส่งเสริมให้เรียนจนจบการศึกษาชั้นสูงสุดตามที่อยากเรียน  ควรยกเลิก  พรบ.การศึกษาภาคบังคับ  เพราะการบังคับให้เด็กที่ไม่อยากเรียนมาเรียนหนังสือทำให้เป็นการฝืนใจ  และไม่มีความตั้งใจและอยากที่จะเรียนอยู่แล้ว  ต้องเข้ามาเรียน  และสร้างปัญหาให้เด็กที่มีความตั้งใจในการเรียน 

๒. ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ  โดยมุ่งเน้นในระดับอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา  เพื่อให้สนองตอบความต้องการด้านบุคลากรของภาคเศรษฐกิจ

การวิเคราะห์   นโยบายข้อที่  ๒  ภาคเอกชนเป็นภาคที่มีความสำคัญมากในการรองรับผลผลิตที่เกิดจากกระบวนการศึกษาไปสู่การสร้างงาน  สร้างอาชีพ  โดยอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนในการจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันและในอนาคต

๓. พัฒนาครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา   เพื่อให้ได้ครูดี  ครูเก่ง  มีคุณธรรม  มีคุณภาพ และมีวิทยฐานะสูงขึ้น  ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน  มีการดูแลคุณภาพชีวิตของครูด้วยการปรับโครงสร้างหนี้  และจัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู  ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  ที่เน้นการพัฒนาเนื้อหาสาระและบุคลากร ให้พร้อมรองรับและใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างคุ้มค่า

การวิเคราะห์   นโยบายข้อที่  ๓  ควรมีการพัฒนาครูในทุกสาขาที่มีการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน  เช่น  เกษตร  ศิลปะ  คหกรรม  ดนตรี  ซึ่งที่ผ่านมาในรอบหนึ่งปีแทบจะไม่มีการอบรมพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในสาระที่กล่าวมา  ส่วนมากจะมีเฉพาะ  ภาษาไทย  คณิต  วิทยาศาสตร์  ภาษาอังกฤษ  การลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนตามโครงการคืนครูให้นักเรียน (ครูธุรการ)  ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันกลายเป็นว่า  “รับใครก็ได้”  ที่ไม่เกี่ยวข้องการปฏิบัติงานในสายงาน (ทำไมไม่รับให้ตรงสาขาวิชาไปเลย)  ยกตัวอย่างที่โรงเรียน  ก  ได้รับครูธุรการมาหนึ่งคนวิชาเอกอุตสาหกรรม (เกี่ยวกับธุรการตรงไหน)   แต่ในขณะเดียวกันครูคนนี้ต้องทำงาน 2 โรงเรียนคือ โรงเรียน  ข  วันจันทร์ อังคาร พุธ  ทำงานที่โรงเรียน  ก  วันพฤหัสบดีและวันศุกร์  ทำงานที่โรงเรียน  ข  สุดท้ายครูที่อยู่ในโรงเรียนก็เป็นผู้ที่ทำงานธุรการเหมือนเดิม

การส่งเสริมให้ครูมีวิทยฐานะที่สูงขึ้น  โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี  แต่ในกระบวนการไม่มีความโปร่งใส  (บางคนจ้างทำผลงาน)  และการทำผลงานเพื่อเสนอขอวิทยฐานะเน้นที่ตัวเอกสารมากเกินไปซึ่งแทนที่จะเน้นที่ตัวนักเรียน  ตัวอย่างเช่น  โรงเรียน  ค  เป็นมีครู 12  คน  มีครูที่มีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ  6  คน  (ซึ่งถือว่ามาก)  มองตามบริบทพื้นฐานแล้วน่าจะดี  แต่กลับไม่ผ่านการประเมินของ  สมศ.

การพัฒนาบุคลากรให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็นเรื่องที่ดีและก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในหน่วยงานและเรื่องการนำมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน  โดยต้องมีการอบรมโปรแกรมประยุกต์ใหม่ๆ  ที่นำมาใช้ในโรงเรียนและผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม

๔. จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี  ๑๕  ปี   ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย  พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรม  ในโอกาสทางการศึกษาแก่ประชากรในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส  ทั้งผู้ยากไร้  ผู้พิการหรือทุพพลภาพ  ผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก  ผู้บกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา  และชนต่างวัฒนธรรม  รวมทั้งยกระดับการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กในชุมชน

การวิเคราะห์   นโยบายข้อที่  ๔  แนวคิดรัฐบาลในการผลักดันให้เด็กเรียนฟรีเป็นระยะเวลา  ๑๕  ปี  ครูส่วนใหญ่เห็นด้วยเพราะจะเกิดผลดีกับเยาวชน  และผู้ปกครองเองก็สามารถเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพให้กับบุตรหลาน โดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย  เพราะว่ารัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานไปเรียนที่โรงเรียนสอนศาสนา  ส่วนใหญ่ประสบปัญหาความยากจน หากมีนโยบายเรียนฟรีจะทำให้ผู้ปกครองสามารถเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพให้กับบุตรหลานได้   นอกจากนี้ หากมีนโยบายเรียนฟรีจะทำให้โรงเรียนต้องปรับตัวเพื่อแข่งขันกับโรงเรียนอื่นในละแวกใกล้เคียง หรือว่าในตำบลเดียวกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ปกครอง และถือว่าเป็นการยกระดับโรงเรียนให้มีคุณภาพมากขึ้น

การที่รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณให้กระทรวงการศึกษาธิการ นับหมื่นล้านบาท และสานต่อนโยบายเรียนฟรี ๑๕ ปี โดยมีงบประมาณอุดหนุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการศึกษานั้น  นับว่าเป็นโอกาสดีของเด็กทั่วประเทศที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับพื้นฐาน  เพื่อต่อยอดสู่ระดับที่สูงขึ้น  แต่นอกเหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลควรเร่งดำเนินการพัฒนาบุคลากร  หลักสูตรการสอนและสื่อการเรียนการสอนควบคู่  เพื่อให้ผลลัพธ์ทางการศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุดโดยเร็วด้วย

๕. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ  โดยการจัดกลุ่มสถาบันการศึกษาตามศักยภาพ  ปรับเงินเดือนค่าตอบแทนของผู้สำเร็จอาชีวศึกษาให้สูงขึ้น โดยภาครัฐเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างของการใช้ทักษะอาชีวศึกษาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในงาน  ควบคู่กับการพัฒนาองค์ความรู้  นวัตกรรม ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา

การวิเคราะห์   นโยบายข้อที่  ๕  ควรมีการกำหนดแผนกลยุทธ์ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาให้มีความสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)  กำหนดค่าตอบแทนให้มีความสอดคล้องกับความรู้ความสามารถและความก้าวหน้าในงานที่ปฏิบัติ  รัฐต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้การศึกษาระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษาเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ของท้องถิ่นมีการวิจัยและพัฒนา  ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่มีความสอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนและท้องถิ่น 

๖. ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา   ให้มีการประนอมและไกล่เกลี่ยหนี้  รวมทั้งขยายกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น  เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอาชีวศึกษาและปริญญาตรีเพิ่มขึ้น

การวิเคราะห์   นโยบายข้อที่  ๖  รัฐต้องวางแผนการบริหารจัดการกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา  (กยศ.)  ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการโดยขยายกองทุนและวงเงินกู้  เพื่อให้ผู้ที่มีความตั้งใจในการศึกษาหาความรู้ทั้งในระดับอาชีวศึกษาและในระดับมหาวิทยาลัย 

มีการบริหารจัดการหนี้เสีย  การประนอมและไกล่เกลี่ยหนี้ที่ผูกพันกับ กยศ.  โดยใช้หลักคุณธรรมและหลักนิติธรรม

๗. ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์ อย่างชาญฉลาด เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้

การวิเคราะห์   นโยบายข้อที่  ๗  การส่งเสริมให้เด็ก  เยาวชน และประชาชน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเชิงสร้างสรรค์  โดยรัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  ติดตั้งคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (หลายโรงเรียนกำลังดำเนินการ  ตามงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ SP2.)  เพื่อเปิดโลกกว้างในการศึกษาหาความรู้  ซึ่งสอดคล้องกับคำว่าการศึกษาตลอดชีวิต

อย่างไรก็ตามการใช้ระบบอินเทอร์เน็ต  ต้องมีการควบคุมดูแลการใช้สำหรับนักเรียนอย่างใกล้ชิดเพราะอาจตกเป็นเหยื่อในการถูกล่อลวงของมิจฉาชีพ

๘. เร่งรัดการลงทุนด้านการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีบูรณาการในทุกระดับการศึกษาและในชุมชน  โดยใช้พื้นที่และโรงเรียนเป็นฐานบูรณาการทุกมิติ  และยึดเกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาเป็นหลัก  ในการยกระดับคุณภาพโรงเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน  และส่งเสริมความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและวิจัยพัฒนาในภูมิภาค  รวมทั้งเสริมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตในชุมชน โดยเชื่อมโยงบทบาทสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา

การวิเคราะห์   นโยบายข้อที่  ๘  ในการจัดสรรงบประมาณในด้านการศึกษาควรมีการมองในหลายๆด้าน  หลายๆมิติ  โดยยึดเพียงแค่เกณฑ์การประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาแต่ไม่ใช่การยึดผลการประเมิน  รัฐควรจัดสรรงบประมาณที่มีความจำเป็นในการจัดการศึกษาในปัจจัยพื้นฐานของโรงเรียนให้เหมือนกันทั่วประเทศ  ยกตัวอย่างเช่น  โรงเรียน  ก  เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่  มีจำนวนนักเรียน  1,000  คน มีจำนวนครู  35  คน  งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมีจำนวนมาก  ขณะที่โรงเรียน  ข  เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก  มีจำนวนนักเรียน  150  คน  มีจำนวนครู  8  คน  ถ้าจัดสรรงบประมาณตามคือคิดตามรายหัวนักเรียน  ซึ่งโรงเรียนขนาดเล็กจะได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการน้อยมาก  (แม้ปัจจุบันรัฐจะอุดหนุนให้มากขึ้น)  เพื่อแก้ไขปัญหาที่กล่าวมารัฐควรมีการลงทุนด้านการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กให้มากขึ้น  เพื่อยกระดับมาตรฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) 

ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของภูมิภาคโดยรัฐต้องจัดสรรงบประมาณและทุนเพื่อให้เกิดการวิจัยและนำผลมาพัฒนาชุมชน  ท้องถิ่น  และประเทศ  ต้องมีการประสานงานกันระหว่างบ้าน  วัด  และโรงเรียนในการจัดการศึกษาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

                จากการวิเคราะห์นโยบายของรัฐบาล  โดยมีนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ  เป็นนายกรัฐมนตรี  นโยบายที่สามารถนำไปใช้และมีความสอดคล้องกับโรงเรียนมากที่สุดคือ  นโยบายข้อ 4  คือ จัดให้ทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาฟรี  15  ปี  เพราะเป็นโอกาสดีของเด็กทั่วประเทศที่จะได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับพื้นฐาน  เพื่อต่อยอดสู่ระดับที่สูงขึ้น  ซึ่งนับว่าเป็นจุดที่มุ่งเน้นในการปฏิรูปในรอบที่  2 (พ.ศ.2552-2561)  คือ  ในด้านโอกาส  ให้คนไทยทุกคน  ทุกกลุ่ม  ทุกประเภท  ได้เข้าถึงการศึกษาการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ

ถึงแม้ว่าสภาวะทางการเมืองของรัฐบาลชุดนี้  ค่อนข้างที่จะขาดเสถียรภาพแต่เชื่อว่า  นโยบายที่ส่งเสริมการศึกษาเช่นนี้จะยังคงอยู่กับเด็กไทยต่อไป

หมายเลขบันทึก: 382495เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นโยบายเพ้อฝัน กับความเป็นจริงที่กระทำ มันช่างแตกต่างกันเหลือเกิน เรียนฟรี 15 ปี แต่เสียค่าจุกจิกเยอะเหลือเกินถามจริงมันเรียนฟรีตรงไหนเนี่ย ผมไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้เท่าไหร่เพราะ

รัฐบาลยังอยู่ภายใต้อุ้งเท้าระบอบอำมาตย์

ตั้งแต่อดีต

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ได้ถูกจำกัดบทบาทในสังคมเป็นอย่างมาก แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็มีความพยายามที่จะกลับมามีอำนาจอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่การสนับสนุนให้ พระ วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช พยายามก่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่ต้องประสบกับความล้มเหลว อันเป็นที่มาของ "กบฏบวรเดช"[8] แต่แล้วความพยายามที่จะกลับมามีอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็ประสบความสำเร็จโดยการสนับสนุนให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สำเร็จ และจอมพล สฤษดิ์ ได้ขยายบทบาทและอำนาจ ของฝ่ายอนุรักษ์นิยมให้กว้างขวางมากขึ้น[9] สืบเนื่องกันมา 16 ปี จนถึง ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ได้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ขึ้น ซึ่งพลังทางสังคม ได้ลุกฮือโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร อันเป็นเหตุให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมถูกลดบทบาทและความสำคัญลง จาก 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 เป็นช่วงเกือบ 3 ปีที่ประชาธิปไตยเบ่งบานในสังคมไทยและในทางตรงกันข้ามเป็นช่วงที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอยู่ในภาวะอ่อนแอ แต่แล้วเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นการกลับมาอีกครั้งของฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยการก่อการรัฐประหารที่มี พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะ แต่ด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์และพลังทางสังคมทั้งในและต่างประเทศในช่วงนั้น ได้หันไปสู่ความเป็นเสรีมากขึ้น กล่าวคือประชาชนเริ่มให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม หลักสิทธิมนุษยชน และได้ให้ความสำคัญกับสถาบันการเมืองที่มาจากประชาชน มากขึ้น ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เลือกที่จะปรับตัวเพื่อต่อลมหายใจของกลุ่มตนเอง โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการครองอำนาจแบบใหม่ คือ แทนที่จะเข้าไปครอบงำฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาลโดยตรงเหมือนเดิม ได้เปลี่ยนมาเป็นการเข้าไปครอบงำ ข้าราชการประจำเพียงบางส่วน คือ ข้าราชการทหาร(กองทัพ) รวมไปถึง การดึงเอา นักการเมือง และ กลุ่มทุน(นักธุรกิจ) มาเป็นพวก การปรับตัวของอนุรักษ์นิยมครั้งนี้เป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 และ ภายใต้การบริหารประเทศของ พล.อ เปรม ติณสูลานนท์ จนเป็นที่มาของคำว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” กล่าวคือระบอบที่มองดูผิวเผิน คล้ายจะเป็นประชาธิปไตย แต่มีหลายอย่างที่ไม่อาจเรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นประชาธิปไตย เช่น มีการเลือกตั้งแต่เปิดโอกาสให้คนนอก(ที่ไม่ได้เป็น ส.ส.) และข้าราชการประจำสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้[10] และถึงสภาผู้แทนราษฎรจะมาจากการเลือกตั้งแต่วุฒิสภามาจากการสรรหา ซึ่งสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เป็นทหาร(ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ) ทำให้การบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ เอื้อให้สภาพทางการเมืองและการกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินถูกครอบงำโดยทหาร(กองทัพ) และกระบวนการ ขั้นตอน การนำนโยบายไปปฏิบัติ ขึ้นอยู่กับข้าราชการพลเรือน

เพราะยังเป็นเช่นนี้นโยบายที่ก้าวหน้าก็คงเกิดอยากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท