ผลงาน ความสำเร็จ และ...ในการกำหนดสถานะบุคคล


งานการกำหนดสถานะบุคคล มีหลายเรื่อง หลากรสให้ได้สัมผัส ความสำเร็จ อุปสรรคและความชื่นใจ

      นับตั้งแต่เริ่มเรียนรู้ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือครอบครัว ช่วยเหลือเพื่อน มาถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย โดยได้ศึกษาในคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ควบคู่ไปกับงานด้านการเกษตรของครอบครัว และบางครั้งได้รับจ้างในกิจกรรมต่างๆ แม้จะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ พอสมควร แต่ยังนับว่า มีประสบการณ์เพียงน้อยนิดกับสังคมในระดับประเทศ หรือระดับโลก นั่นหมายความว่า ถึงวันนี้หลายฅนอาจจะได้รับคำตอบว่า การศึกษาไม่สามารถหยุดได้ และไม่มีใครที่แก่เกินที่จะเรียน 

     หลังจากที่สำเร็จการศึกษาแล้ว มีแนวโน้มจากสาขาที่เรียนสำเร็จมา ก็มุ่งมั่นที่จะเดินทางไปสู่อาชีพในตำแหน่งที่เรียกว่า "ปลัดอำเภอ" เมื่อมีโอกาสได้ทำหน้าที่ผู้เรียนรู้งาน ณ ที่ทำการปกครองอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เมื่อประมาณ พ.ศ.2527 -2528 ก็เรียนรู้ให้มากเท่าที่จะมากได้ การเรียนรู้ครั้งนั้นเป็นแบบอยากได้ ต้องไขว่คว้าหาเอาเอง ไม่มีใครที่จะอธิบายให้เข้าใจได้...เรื่องที่สนใจ ใส่ใจก็คือ เรื่องการบริการประชาชน ซึ่งเป็นงานหลักของผู้ที่จะเป็นฝ่ายปกครอง โดยมีตัวแบบที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด คือ คุณแม่ชื่น งามเนตร์ ที่ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ของหมู่บ้านหัวดง หมู่ที่ 10 ตำบลท่างาม อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี และมีแรงจูงใจที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นการตอบแทนโอกาสที่ได้เรียนรู้ ในฐานะ"ลูกชาวบ้าน ลูกชาวไร่ชาวนา" ที่เจ็บปวดหัวใจทุกครั้งที่พบเหตุบางอย่าง ซึ่งจะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆ ไป

    ใน พ.ศ.2530 กรมการปกครองเปิดรับสมัครสอบเข้ารับราชการตำแหน่ง"ปลัดอำเภอ" อย่างนี้ต้องไม่พลาดแน่นอน ด้วยความพยายามหลายอย่างและความตั้งใจที่มุ่งมั่นไว้แต่เดิม ส่งผลให้การสอบ ปรากฏชื่อและได้รับเรียกตัวบรรจุเข้ารับราชการ  ในวันที่ 26 กันยายน 2531 โดยได้รับคำสั่งให้ไปดำรงตำแหน่ง ปลัดอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ดินแดนแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม

    สิ่งแรกที่ได้ทำตามความตั้งใจ ก็คือ ต้องบริการประชาชนอย่างเต็มความสามารถ มีพี่ๆปลัดอำเภอได้ให้ความกรุณาถ่ายทอดประสบการณ์ที่ต้องขอเอ่ยชื่อไว้ ณ ที่นี้ คือ คุณพี่ปลัดคำนวน  วิบูลย์พันธุ์(ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่ปลัดอำเภออาวุโสอยู่ที่อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี) และคุณพี่พิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์(ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย) นอกจากนี้ยังมีทีมงานของตำบลเสี้ยว และตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ที่ทำให้งานหลายงานร่วมสร้างสรรค์จนทำให้กระพ๊มประสบความสำเร็จได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลปลัดอำเภอประจำตำบลที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัด เมื่อ พ.ศ.2532 และระดับเขตจากจำนวน 7 จังหวัดในภาคอีสานเหนือ ประจำพ.ศ.2533ได้รับรางวัลจากอธิบดีกรมการปกครอง เมื่อ พ.ศ.2534 ทีมงานที่ต้องขอเอ่ยชื่อ คือ คุณพี่อุดร แสวงผล พัฒนากรประจำตำบล(ปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ศูนย์ทรัพยากรน้ำภูมิภาค จังหวัดพิษณุโลก) คุณหมอทรงศักดิ์  แก้วศิริ หัวหน้าสถานีอนามัย พร้อมด้วยคณะคุณครูอีกหลายท่าน ที่ลืมเสียไม่ได้ คือ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล คณะกรรมการต่าง และชาวบ้านทุกหมู่บ้านที่ให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะกำนันหวั่น ก้อมมณี(ตำบลเสี้ยว) และกำนันแสวง อุดคำเที่ยง(ตำบลน้ำสวย)ซึ่งจะนำเรื่องประทับใจมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป ท่านที่กล่าวนามมาแล้วเป็นผู้มีคุณูปการที่สนับสนุนการปฏิบัติงานการกำหนดสถานะบุคคลที่ทำงานให้ชาวบ้านของอำเภอเมืองเลยตลอดเวลา 5 ปีเศษที่รับราชการอยู่ที่นี่

    เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2535 กรมการปกครองมีคำสั่งแต่งตั้งให้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ในส่วนกลางที่กองประสานราชการ งานที่ได้รับมอบหมาย คือ งานด้านชาวเขาและชนกลุ่มน้อย เป็นงานด้านเตรียมข้อมูลเพื่อการกำหนดนโยบายในการพัฒนาพื้นที่สูง 20 จังหวัด กระพ๊มเริ่มเรียนรู้จากรุ่นพี่และท่านผู้อำนวยการที่เสมือนเป็นอาจารย์ คือ หัวหน้ารัฐฐะ  สิริธรังศรี(ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด) และท่าน ผอ.ปริญญา  อุดมทรัพย์(อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ลพบุรี และรองอธิบดีกรมการปกครอง ปัจจุบันเกษียณราชการจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย) ในระหว่างที่ปฏิบัติงานมีความก้าวหน้า ในที่สุดดำรงตำแหน่งหัวหน้างานกิจการพิเศษ ผลงานที่สามารถนำมากล่าวในที่นี้ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ คือ กระบวนการทุกขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2538 ในการพิจารณากำหนดให้ชาวเขา 9 เผ่าที่อพยพมาจากนอกประเทศได้รับการพิจารณาอนุญาตให้อยู่ถาวรในประเทศ งานนี้สร้างมิติใหม่ คือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในการออกใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ลดค่าธรรมเนียมการออกใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

    ปลาย พ.ศ.2541 กรมการปกครองแต่งตั้งใหม่ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานพิสูจน์หลักฐาน ส่วนบัตรประจำตัวประชาชน สำนักบริหารการทะเบียน ทำหน้าที่นี้อยู่ถึงปลายเดือนเมษายน 2542 มีเหตุที่ต้องย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ทำความเข้าใจกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่อย่างเร่งด่วน รับทราบคำสั่งประมาณ 16.00 นาฬิกา ให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานจัดทำทะเบียนชนกลุ่มน้อย ที่ฝ่ายทะเบียนชนกลุ่มน้อย ส่วนการทะเบียนราษฎร(สทร.)แล้ววันรุ่งขึ้น 09.00 นาฬิกา ให้เดินทางไปราชการที่เชียงใหม่ จนกว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมได้ เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับการกำหนดสถานะบุคคล ที่จะนำมาเล่าเบื้องหลังให้ฟังอีก

    หลังจากการทำความเข้าใจจนมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 กำหนดให้มีการเปลี่ยนแนวทางการกำหนดสถานะบุคคลในมิติใหม่ เช่น การสำรวจบุคคลผู้อยู่ในชุมชนบนพื้นที่สูง ที่เรียกว่า โครงการมิยาซาวาแล้วออกบัตรประจำตัวสีเขียวขอบแดงให้ แต่งานนี้กระพ๊มมีส่วนร่วมในการเป็นวิทยากรด้านการถ่ายภาพเท่านั้น เรื่องอื่นมีผู้มีความสามารถเค้ารับผิดชอบไป โดยมีหัวหน้าฝ่ายคนเก่ง คือ คุณพี่มนตรี  จงพูนผล กำกับดูแล ส่วนกระผมในฐานะหัวหน้างานกฎหมายและระเบียบชนกลุ่มน้อยได้ร่วมมือกับยอดชายนายชุติ  งามอุรุเลิศ หรือเจ้าตี๋ นิติศาสตรบัณฑิต ผู้มีดีกรีถึงเกียรตินิยมอันดับสองของรั้วแม่โดม มาช่วยกันสร้างสรรค์งานที่สำเร็จแล้วเรียกว่า "ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลให้กับบุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ.2543" เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนการให้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด 20 แห่งมาเป็นอำนาจของนายอำเภอ เพื่อพิสูจน์ความเป็นพี่น้องชนเผ่า 9 เผ่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาแต่ดั้งเดิม เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2543 และใช้มาถึงปัจจุบัน ถ้าสนใจพวกเราทำคำอธิบายการใช้ระเบียบทั้ง 56 ข้อไว้ให้ศึกษา ผลที่เกิดขึ้น เป็นที่พึงพอใจของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ก็มีภาพที่อยู่ในอีกมุม เอาไว้จะมาเล่าให้ฟัง..ถ้าได้ฟังแล้วหลายฅนคงจะต้องหลั่งน้ำตา

     อีกงานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดสถานะบุคคลอ้นเนื่องมากจากผลของการศึกษา คือ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 ที่เปิดโอกาสให้ชนกลุ่มบุคคลบนพื้นที่สูง ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า จีนฮ่ออิสระ และเนปาลอพยพ ได้รับการพิจารณาอนุญาตให้อยู่ถาวรในประเทศ

     งานอีกชิ้นที่สำคัญคือ การออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2543เพิ่มและเปลี่ยนพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายสัญชาติสำหรับกลุ่มชนที่รัฐบาลมีนโยบาย ให้ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ ขอถือสัญชาติตามสามีและขอกลับคืนสัญชาติไทยแทนที่จะไปยื่นเรื่องกับเจ้าพนักงานตำรวจ เปลี่ยนให้ยื่นต่อผู้ดำรงตำแหน่งของกระทรวงมหาดไทย  เริ่มที่นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนัก อธิบดีกรมการปกครองและปลัดกระทรวงมหาดไทย (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนพิเศษ 77 ง ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2543)

    จากนั้น ก็ทำหน้าที่รวบรวมเรื่องการออกกฎกระทรวง เพื่อการพัฒนาสถานะบุคคลของกลุ่มที่รัฐบาลมีนโยบายแล้ว ในการที่จะได้สัญชาติ การขอแปลงสัญชาติเป็นไทยและขอกลับคืนสัญชาติไทย ที่เกือบจะเสร็จสิ้นทุกกระบวนการ  แต่ได้รับการโอนให้บรรจุแต่งตั้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ   จึงต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งแทน(ต่อมามีการดำเนินการต่อจนได้รับการออกเป็นกฎกระทรวง ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2545 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 119 ตอนที่ 89 ก ลงวันที่ 13 กันยายน 2545

   ที่กล่าวมาแล้ว เป็นงานที่อยู่ในระหว่างการปฏิบัติงานเมื่อครั้งสังกัดกรมการปกครอง ตั้งแต่ พ.ศ.2531-2545 เป็นระยะเวลา 15 ปี ส่วนงานที่มาปฏิบัติหน้าที่ยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ พ.ศ.2545-2553เป็นอีกมิติที่ต้องเล่ากันอีกยาว เนื่องจากมีหลายเรื่องที่ต้องเกี่ยวพันกับงานของกรมการปกครอง วุฒิสภา และองค์กรอื่นๆ อีกมากมาย เช่นงานพิสูจน์สิทธิของชาวบ้านที่อำเภอแม่อาย งานร่วมทำหน้าที่ในการร่างกฎหมาย การติดตามการบังคับใช้กฎหมาย การส่งเสริมและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ...โปรดติดตามตอนต่อไป 

หมายเลขบันทึก: 381797เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2010 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ  เล่าได้ละเอียดดีมากครับ  หลายคนที่ถูกกล่าวถึงที่ชัดเจนทั้งชื่อ นามสกุล คงดีใจมากที่คุณจำท่านเหล่านั้นได้ทั้งหมด   มีสักกี่คนที่บันทึกความจำได้เท่ากับคุณ  ขอชื่นชมในวิถีงานของคุณที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เข้าขอพึ่งพิงแผ่นดินไทย   มนุษยธรรมของคุณอยู่ในระดับสูงมากครับ

อ่านด้วยความตั้งใจ พินิจพิเคราะห์ เรื่องราวเป็นเรื่องเล่าที่บ่งบอกตัวตนคนที่ มา..นะ ทำคุณประโยชน์ให้กับคนพลัดถิ่น

มิยาซาว่า หลายคนไม่รู้ที่มา ทั้งมิยาซาว่า และกขคจ. ล้วนลงมาเพื่อแก้ปัญหา มิยาซาว่าที่ภาคยังติดตามขอคืนส่วนมากแล้วยังอยู่กรรมการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท