ความขุ่นเคืองใจ กับชื่อใหม่ที่ไม่ควรจะเป็น


แต่ถ้ากลัวไม่สุภาพ ไม่ไพเราะ จะ ดจร.เปลี่ยนเป็น "เขาถันแบะ" ก็ยังน่าจะดีกว่า "เขาพนมแบก" เป็นไหนๆ

    ผมคิดถึงเรื่องนี้มานานและคิดถึงทุกครั้งที่ผ่านสถานที่ต่างๆที่ชื่อมันผิดเพี้ยนไปอย่างไม่น่าให้อภัย คิดว่าคงเป็นกันมากทุกภูมิภาคของประเทศนี้  แต่ที่ผมเจอตำตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ทางภาคใต้บ้านผมนั่นแหละครับ

    เรื่องมันมีอยู่ว่า ชื่อตำบล หมู่บ้าน หรือสถานที่หลายแห่งมันผิดเพี้ยนไปจากที่เรียกขานกันมาแต่เดิมมากบ้าง น้อยบ้าง มีผลให้ความหมายเปลี่ยนไปเลยก็มาก และถึงกับทำให้ความหมายเดิมหายไป ได้คำใหม่ที่ "ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง" ก็มี

    ผมเคยเปรยๆเรื่องนี้กับนักศึกษาที่ไปสอนว่า ชื่อสถานที่บ้านเรามันเพี้ยนไปมาก อย่างไม่น่าให้อภัย หลายแห่ง หลายที่ น่าจะหาทางเอาชื่อเดิมกลับมา นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า "ทำไม่ได้หรอกอาจารย์"  ผมก็ยืนยันว่าที่กรุงเทพฯเห็นทำกันได้นี่  เมื่อก่อนเรียก "แคลาย" ทั้งชื่อไทยชื่ออังกฤษ  พอพบว่า ต้นแคลายมันไม่มี แต่ต้นแคเรียงรายอยู่ทั่วไปนั้น "ใช่" เดี๋ยวนี้ก็เปลี่ยนใหม่เป็น "แคราย" เรียบร้อยแล้ว

   เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ยาวเกินไป เพราะเขียนด้วยความแค้น หรือขุ่นเคืองใจที่เก็บไว้ยาวนาน  จึงขอบังคับตัวเองว่าจะยกตัวอย่างใกล้ๆตัวมา ปุจฉา-วิสัชนาสักครึ่งโหลก่อน หากจังหวะเหมาะ หรือมีผู้สนใจมาก จะนำมาฝากอีกเป็นระยะๆต่อไป

  1. โมถ่าย ... ชื่อตำบลอันเป็นบ้านเกิดของผมเอง ดัดเสียงให้เพราะเป็นภาษากรุงเทพ จนไม่รู้ว่ามาจากอะไรกันแน่ จะสืบสาวไปจากชื่อปัจจุบันก็คงยาก เพราะมันเพี้ยนไปมาก  ที่จริงคนท้องถิ่นเขาไม่ได้เรียกอย่างนั้น หากพูดภาษาสำเนียงไทยกลาง ท่านจะออกเสียงได้ใกล้เคียงกับสำเนียงท้องถิ่นมากที่สุดก็น่าจะต้องเขียนว่า "โหม่ไท้" ชื่อนี้ถ้าจะให้เพี้ยนน้อยลงอีกนิดน่าจะเป็น "โมถาย" โดยตัดไม้เอกออกไปเสีย จะได้ไม่ต่องมาเสียเวลาถามว่า "ถ่ายอะไร" กันอีก เพราะของเดิมไม่มี "ถ่าย"

  2. เสวียด ... นี่ก็ตำบลติดกันแต่อยู่ในอำเภอท่าฉาง ตอนเด็กๆเป็นที่ที่ผมเดินไปเยี่ยมญาติกับแม่บ่อยมาก ระยะห่างจากบ้านเรา 6-7 กม.  ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ไม่มีคนท้องถิ่นคนไหน ดจร. พูดว่า "ไปเสวียด" แม้แต่คนเดียว มีแต่ "ไปเวี้ยด" กันทั้งนั้น ชื่อตำบลนี้ถ้าจะให้เพี้ยนน้อยลงอีกนิดก็น่าจะเป็น "เหวียด" ไม่ใช่ "เสวียด" ซึ่งหาความหมายอะไรไม่ได้

  3. บ้านชะอุ่ม ... อันนี้อยู่ติดกับ "บ้านกลาง" บ้านผมเอง  อยู่ในหมู่ที่ 2 เหมือนกัน ห่างออกไปไม่กี่ร้อยเมตร  เดินไปเที่ยวเล่นบ้านเพื่อน บ้านญาติมาแต่ตอนเป็นเด็กเช่นกัน  จำได้ว่าที่นั่นเต็มไปด้วยต้น ชะอม  คนท้องถิ่นเขาจึงเรียกของเขาถูกต้องมาแต่เดิมว่า "บ้านอุม" เพราะแถวไชยาบ้านผมเขาเรียกชะอมว่า "อุม" เช่นบอกว่า "ช่วยไปเก็บยอดอุมให้หน่อย" แต่ลองไปดูป้ายปากทางเข้าหมู่บ้านได้เลย เขาเขียนชัดเจนว่า "บ้านชะอุ่ม" เพราะดีครับ  แต่ทิ้งความหมายเก่าไปหมดสิ้น ไม่รู้คนกรุงเทพฯมาทำให้เพี้ยน หรือชาวบ้านอยากได้ชื่อเพราะๆกันเอง ยังหาคำตอบไม่ได้ครับ

  4. บ้านลุ่มกระท่อม ... นี่ก็เป็นชื่อใหม่ที่ทำให้ตีความไปได้ 2 แนว คือเป็นที่ลุ่มที่มีกระท่อม (ขนำ) หรือเป็นที่ลุ่มที่มี ต้นกระท่อมเยอะๆ กันแน่  ความจริงไม่ต้องมาปวดหัวตีความกันให้เมื่อยเลยถ้ายังคงชื่อเดิมเอาไว้ เพราะคนแถวนั้นเขาเรียกที่ตรงนั้นว่า "ลุ่มท่ม" ครับ "ท่ม" ก็คือชื่อต้นไม้  และผมก็จำได้ว่าไปแถวนั้นสมัยเด็กๆ มีต้นกระท่อมอยู่ทั่วไป  ผมว่าลดความเพี้ยนเสียหน่อยก็น่าจะดี  ถ้าไม่เอา "ลุ่มท่ม" เอา "ลุ่มท่อม" ก็ยังพอไหว จะไม่ต้องคิดไปไกลว่ามาจากอะไรกันแน่

  5. บ้านสะพาน ... หมู่บ้านนี้อยู่ในตำบล "เวี้ยด" ครับ นี่ก็เพี้ยนไปอีกแบบหนึ่ง คือชื่อเดิมสามารถตีความได้ 2 แนว พอมาเป็นชื่อใหม่ มันปิดประตูความหมายที่สองเสียสนิทเลย คนท้องถิ่นเขาจะพูดว่า "ไปบ้านพาน" ไม่มีใครเรียก "บ้านสะพาน"   คำว่าพานนั้น ตามภาษาถิ่นมีสองความหมาย คือภาชนะชนิดหนึ่ง หรือไม่ก็ สะพานที่ใช้ข้ามถนน ข้ามคลอง เพราะคนใต้เขาเรียกเหมือนกันทั้งสองอย่าง .. ขับรถผ่านไปทีไรผมจึงอยากไปลบคำ "สะ" บนป้ายชื่อหมู่บ้านทิ้งทุกทีไป ให้เหลือแต่ "บ้านพาน" ตามที่มันเป็นมาแต่เดิม

  6. เขาพนมแบก ... ตัวอย่างสุดท้ายนี่มันมากครับ .. เขาพนมแบก คือที่แรกที่แม่พาผมขึ้นรถไฟเป็นครั้งแรกในชีวิตเพื่อเดินทางไปทำธุระที่นั่น เป็นสถานีถัดไปจากไชยา ก่อนถึงท่าชนะครับ ผมตะหงิดๆมานานแล้วว่า พนมแบก แปลว่าอะไรกันแน่ นายพนมเป็นใคร และมาแบกอะไรอยู่แถวนั้น คิดไม่ออก บอกไม่ถูก จนกระทั่งเดือนก่อนไปได้ความรู้จากคุณลุง(บิดาของคุณภูผาตาปี) ว่า ชื่อเดิมมันมาจากความจริงที่ว่า เมื่อชาวประมงแถวตำบลตะกรบ อ.ไชยา จะเข้าฝั่ง เขามองมาทางตะวันตกจะเห็นภูเขาสองลูกเป็นที่หมาย  ภูเขาดังกล่าวดูเป็นเนินสูงสวยอยู่คู่กัน แต่ห่างกันมากไปหน่อย จึงเรียกกันว่า "เขานมแบะ" แล้วอยู่มาวันหนึ่ง วันไหนก็ไม่ทราบได้ โดยใครก็ไม่รู้ ได้กระทำความเพี้ยนที่ยิ่งใหญ่ให้กับชื่อสถานที่แห่งนั้น โดยเรียกมันว่า "เขาพนมแบก" ซึ่งฟังเพราะดี แต่ไร้สิ้นซึ่งความหมาย .. ขอได้มั้ยครับ ขอชื่อเก่าคืนมา  ชื่อเดิมออกจะน่ารัก และไม่ต้องตีความให้ยุ่งยาก  แต่ถ้ากลัวไม่สุภาพ ไม่ไพเราะ จะ ดจร.เปลี่ยนเป็น "เขาถันแบะ" ก็ยังน่าจะดีกว่า "เขาพนมแบก" เป็นไหนๆ .. จริงมั้ยครับท่านผู้ชม

         จบข่าว !

   

หมายเลขบันทึก: 380507เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2010 06:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีค่ะ

คิดเช่นเดียวกับอาจารย์ค่ะ  หมู่บ้านที่โรงเรียนตั้งอยู่เดิมชื่อ "ซำลู่"  หมายถึงบริเวณที่มีน้ำซำ  เมื่อหน้าน้ำหลากต้นไผ่ที่อยู่ริมคลองก็ลู่ไปตามน้ำ  ตามที่สองตายายเข้ามาเลือกสถานที่ทำมาหากินเป็นคนแรก  และตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณน้ำซำนั้นค่ะ

ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น "ซำรู้"  แต่ชาวนครไทยก็ยังเรียกว่า "วำลู่" อยู่ดีค่ะ

อาจารย์จะให้ส่งเสื้อไปที่ไหนคะ  หรือว่าที่อยู่ในหน้าประวัติคะ

ขอบคุณครับน้อง ครูคิม

  • ตายจริง ! ลืมสนิทเลย ขอถามทวนความจำหน่อยว่า สั่งสองตัวใช่หรือไม่ เงินน่าจะยังไม่ได้โอน จึงขอให้แจ้งยอดมาอีกครั้ง พร้อมเลขบัญชี จะรีบดำเนินการทันทีครับ
  • ที่อยู่คือ .. 9 หมู่ 2 ต.โมถ่าย อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี  84110 ครับ 

โอโหพี่บ่าว มันเปลี่ยนไปขนาดนั้นเลยนะครับ...

     ขนาดไม่ได้เปลี่ยนครับน้องบ่าว  ยังคงเท่าเดิม  แต่ชื่อเปลี่ยนไปอย่างไม่น่าให้อภัย .. โดยเฉพาะรายการที่ 6

    อิ อิ อิ

เห็นด้วยอย่างแรงเลยค่ะอาจารย์ แม้ชื่อ สะพาน ห้วย หนอง คลอง บึง ถนน ภูเขา แถวบ้านเรา จะมีที่มาที่ไป ว่าทำไมต้องชื่อนี้ ได้สอบทานกลับแบบบอกได้ ทีสำคัญว่า ได้เป็นเอกลักษณ์ และดึงดูด น่าสนใจ ให้ผู้ผ่านไปมา ได้เตะตาหาความหมาย หลาว

คิดว่าน่าจะทำได้นะคะ เอาชื่อเดิมกลับ มาเชียร์ มาหนับหนุน ขอบคุณค่ะที่จุดประกาย

ต้องใช้ครูภาษาไทยละมั้งค่ะอาจารย์

สวัสดีค่ะ

มาแจ้งบัญชีค่ะ  อาจารย์สั่งเบอร์ L สองตัวค่ะ  ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเทสโก้โลตัสท็อปแลนด์พิษณุโลก  9372091684 นพวรรณ  พงษ์เจริญ ค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดี ท่าน handy ครับ

ชื่ออาจจะเพี้ยนได้ตามกาล

ถ้าชุมชาต้องการอนุรักษ์ชื่อเก่าที่ถูกต้อง

ก็น่าจะสมควรทำนะครับ...

แวะมาทักทายอาจารย์คะ

ที่หมู่บ้านก็เหมือนกันคะ แต่ก่อนชื่อหมู่บ้านใต้เชี่ยว(ซึ่งหมายถึงชุมชนหรือหมู่บ้านตั้งอยู่ใต้ลงมาจากที่มีน้ำเชี่ยวมาก)

แต่ปัจจุบันเพี้ยนเป็นท้ายเชี่ยว ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าความหมายก็จะเพี้ยนไปจากเดิมคะ

แต่ก็มีการทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน โดยจะมีการบันทึกไว้ว่าแต่ชื่อนี้ ที่มาจากไหน และปัจจุบันทำไมเป็นชื่อนี้

ซึ่งจะทำให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านคะอาจารย์

ชื่อหมู่บ้าน หมู่บ้านท้ายเชี่ยว หมู่ที่ 7 ต.พะแสง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี

วิสัยทัศน์ของหมู่บ้าน

หมู่บ้านปลอดภัย วัฒนธรรมล้ำเลิศ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง

สวัสดี ค่ะ อาจารย์ พินิจ

หนูเห็นด้วยค่ะที่ตอนน้ี การพูดหรือการออกเสียงนั้น

ได้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมาก รวมไปถึงภาษาเขียนด้วยค่ะ

เช่น ทำไม ก็เป็น ทามมาย เธอ ก็เป็น เทอ รู้แล้ว ก็เป็น รู้แระ

เป็นคนไทยน่าจะรักภาษาไทยของเรา

ทำให้เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาผิดกันไปหมดเลย

เห็นด้วยครับท่าน

โหมไท้ เคยไปเมื่อสามสิบปีก่อน ไปขอพยาบาลมาทำหลานสะไภ้ คุณ อามีน๊ะ ยาหลี ครับ

ชื่อเพี้ยน หาประวัติความเป็นมาไม่ถูกมีมาก

บ้านทุ่งขมิ้น เดิมชื่อทุ่งขี้เหม็น (หมิน) เมื่อสมัยสงครามโลกทหารตั้งค่ายแล้วไปขั้ที่ทุ่ง นี้ ชาวบ้านผ่านไปมา เลยบอกมาจากท๋องขี้หมิน ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับขมิ้นเลย

บ้านควนแหวง ตามประวัตอศาสตร์ชุมชน เกิดน้ำท่วมใหญ่ ควนดินพังแหว่งลง ห้วย น้ำพาลากไปเป็นดอนเป็นโคก

คือที่มาของบ้าน ควนแหวง บ้านควนทรุด บ้านห้วยเหยอ (ห้วยถูกดินถมสูงขึ้น ) บ้านโคกทราย บ้านดอนทราย ผลพวงจากควนแหวง ...ปัจจุบันชื่อบ้านเพี้ยนมาเป็น ควรแสวง ......ด้วยประการะฉะนี้

หากไม่สืบโยด สาวย่าน ขุดเอาราก ถากเอาโคน เหมือนคนรุ่นก่อน คงกลับคืนรากเหง้าได้ยากแน่.....

บ่นต่อครับท่าน

มาฟังพี่บังบ่นต่อ ค่ะอาจารย์แฮนดี้แมน ชอบๆ ฟังเรื่องราวจากพี่บังเล่า หนุกหนานได้สาระ

เดี๋ยวปูว่าจะได้เอากลอนป๋า ลงเกี่ยวกับ ชื่อเสียงเรียงนาม อำเภอแถวบ้านด้วยหลาว ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ถึงแม้ว่าชื่อสถานที่จะเปลี่ยนแปลงไป แต่ถ้าหากคนในท้องถิ่นยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือยังคงรักษาประเพณีอันดีงาม และที่สำคัญ คือ ยึดหลักการดำเนินชีวิตของพ่อเป็นหลัก ผู้คนในท้องถิ่นก็จะอยู่กันอย่างมีความสุขค่ะ

อารมณ์เดียวกับอาจารย์ค่ะ เพราะทางอิสานก็เป็นแนวเดียวกัน เคยหยิบยกไปสอนลูกศิษย์บ่อยๆ

ขอบคุณครับ

  • คุณครู poo .. ใช่ครับ เมื่อชื่อเพี้ยนมาก จะสืบสาวราวเรื่องก็จะลำบาก และหลงทางได้ง่ายขึ้น
  • น้องบ่าว"เอก" จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ... คำย่อนี้คิดเอง แต่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ครับ
  • คุณ ธนิดา สิงคาร ... ครูภาษาไทย หรือใครก็ได้ครับ ที่รักความถูก ตรง
  • น้อง ครูคิม .. เชื่อว่าข้อมูลผิดพลาดครับ 2 ตัวนั้นใช่ แต่ขนาดคงไม่ใช่ที่บอก อยากให้โทรกลับนะครับ 081-487-1652 begin_of_the_skype_highlighting              081-487-1652      end_of_the_skype_highlighting
  • ท่าน Phornphon ... ใช่ครับ ชื่อเพี้ยนได้ตามเหตุปัจจัยที่ทำให้เพี้ยน แต่เมื่อรู้ว่าที่ถูก ที่ตรงควรเป็นอย่างไร ก็น่าจะรีบกลับไปใช้สิ่งที่เหมาะที่ควรโดยไม่ชักช้า
  • คุณ ประนอม หนูยัง ... เท่าที่พบเห็น  ชื่อผิดเพี้ยน บิดเบี้ยว มีอีกมากครับ และทุกภาคของเมืองไทยเรา
  • คุณ จินตนา แสนมี่ ... นั่นสินะ .. ของดีๆกลับมาทำให้เพี้ยน ให้เสีย .. ไม่น่าเลย
  • ท่าน วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ... โดนครับ .. โดน  ขำ แต่หัวเราะไม่ค่อยออกเลยครับ คงเป็นเพราะ "แค้นลึก"
  • คุณ poo ... ผมก็ชอบครับ .. เรื่องราวจากท่านบัง วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--
  • คุณ แม่พิมพ์ ... ครับ .. อนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือรักษาประเพณีอันดีงาม ดีแน่ครับ  แต่ชื่อที่ถูกต้องก็ควรได้รับการอนุรักษ์ ด้วยเหมือนกัน
  • คุณ ครูชุมชน คนธรรมดา ... งั้นมาช่วยกันลุ้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์กันดีมั้ยครับ 

ตาปี อนุรักษ์ (ภูผาตาปี)

ผมคิดถึงท่านอาจารย์อยู่คับแต่ไม่ได้เข้ามาเลย เพราะช่วงนี้ งานที่ทำประจำ"มีงานเข้า"มากมายคับ ผมดีใจที่ท่านอาจารย์ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับชื่อใหม่ของสถานที่ที่ไม่ควรจะเป็น แต่ที่ผมเห็นคือชื่อหมู่บ้านหนึ่งในตำบลตตะกรบบ้านผมเองที่คงภาษาสำเนียงไชยาไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยนคือ "บ้านห้วยพุน"เป็นลำห้วยที่แบ่งแนวเขตหว่างตำบลทุ่ง กับตำบลตะกรบ จริงๆถ้าเรียกออกเสียงตามหลักภาษาไทยก็คือ "บ้านห้วยพล" โดยมีประวัติว่า...ไพร่พลสมัยสงครามเก้าทัพ เมื่อเดินทางมาถึงห้วยแห่งนี้เห็นน้ำใสสะอาด จึงพักไพร่พล(ทหาร) เพื่อดื่มและใช้น้ำ...ชาวบ้านในละแวกนี้จึงเรียกห้วยนี้ว่า"ห้วยพุน"(ห้วยพล) ตั้งแต่นั้นมาตามสำเนียงชาวไชยาขนานแท้ และปัจจุบันยังไม่มีใคร(ดจร.ตามที่ท่านอาจารย์มีความเห็น)หรือนำ"วัฒนธรรมกระแดะ"มาเปลี่ยนชื่อบ้านแห่งนี้ได้เลยครับ อาจเป็นเพราะว่าคนแถวนั้น "เป็น "คนจุนๆ" เขาจึงมีความ"อดทุน"ทำให้เขาเป็นคนที่มี"เหตุผุน"" จะเกี่ยวกันหรือเปล่าครับท่านอาจารย์ ครับบบบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท