ผู้จัดการ


เหตุการณ์แบบนี้ถ้าเกิดกับบริษัทที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของไม่มีคนต่างชาติถือหุ้นร่วม มีทุนจดทะเบียนโรงงานละ 100 ล้านบาทมีสาขา 6- 7 โรงงาน มันก็ยิ่งน่าอับอายมากที่ดำเนินการแบบนี้ พนักงานเดินตามตลาดไม่อยากสวมใส่ชุดบริษัทกันเลยทีเดียว มันก็เกิดขึ้นได้เพราะ “ผู้จัดการ”

ผู้จัดการ

เมื่อกล่าวถึงคำว่า “ผู้จัดการ” คงไม่มีใครไม่เข้าใจว่า คืออะไร

       หลายคนอาจนึกถึงคน คนหนึ่งที่เมื่อเดินผ่านมาแล้วต้องบอกเรื่องนั้น ว่าเรื่องนี้ ติตรงนั้น บ่นตรงนี้ ไม่มีวันไหนที่ผ่านมาแล้วจะผ่านไปโดยไม่มีคำตำหนิติเตียน

       แล้วคำว่า “ผู้จัดการ” นี้มีความหมายว่าอะไร

ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน คือ

คำนาม. “บุคคลที่มีหน้าที่บริหารและควบคุมดูแลกิจการ.

ฉะนั้น ผู้จัดการฝ่าย ก็คือ บุคคลที่มีหน้าที่บริหารและควบคุมดูแลกิจการในฝ่ายที่ตนเองรับผิดชอบ

ตำแหน่งที่ต่ำกว่าก็คือ หัวหน้าส่วน และ / หรือ หัวหน้าแผนก

ตำแหน่งที่สูงกว่าก็คือ รองและ / หรือ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป

ความสำคัญและอำนาจการบริการก็มีมากพอดู สำหรับผู้จัดการ บางองค์กร “ผู้จัดการ” แทบจะชี้เป็นชี้ตายได้เลยทีเดียว ประมาณว่าเดินผ่านไปทางไหนในองค์กรละก็ พนักงานผวาไปตามๆ กัน

อิทธิพลของผู้จัดการก็มีสูง ที่เป็นอิทธิพลในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าจะให้เป็นองค์กรสีขาวหรือองค์กรสีเทา หรือองค์กรสีดำก็ได้ เพราะ “ผู้จัดการ” จะเป็นผู้ออกคำสั่ง ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการ และโน้มน้าวให้ผู้บริหารระดับสูงขึ้นไปเห็นชอบกับการสั่งการนั้น

 “ผู้จัดการ” จัดออกเป็นกลุ่มอาจได้ 4 กลุ่ม เปรียบเทียบกับสัตว์ 4 ประเภทคือ

1. ประเภท ฉลาม

2. ประเภท นกฮูก

3. ประเภท เต่า

4. ประเภท สุนัขจิ้งจอก

 

ฉลาม

เป็นสัตว์น้ำ มองไม่ไกล เจ้าอารมณ์ กัดไม่เลือก

       “ผู้จัดการ” ประเภทฉลาม คือ “ผู้จัดการ” ที่ทำงานตามใจตัวเอง เจ้าอารมณ์ ใช้ความรู้สึก นึกคิดของตนเองเป็นหลัก โดยไม่สนใจคนรอบข้าง ชอบออกคำสั่งและให้ปฏิบัติตามโดยไม่ต้องคิดมาก(ห้ามคิด)ผู้ใต้บังคับบัญชาทุกคนถูกมองว่า โง่เขลา คิดไม่เป็น ตัดสินใจไม่ได้ บริหารไม่ดี

ในโลกแห่งความเป็นจริงผู้จัดการแบบนี้ก็มีไม่น้อย ผู้จัดการคุณเป็นแบบนี้หรือเปล่า

หรือเป็นแบบ

นกฮูก

ที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้รู้ ผู้วิเคราะห์ ฉะนั้น “ผู้จัดการ” แบบนี้ ก็จะเป็นคนที่เชื่องช้า ไม่หูเบา ใช้เหตุผล ต้องรับความรอบด้าน สืบค้นความจริง กว่าจะวิเคราะห์ได้ต้องใช้เวลานาน ตัดสินใจช้า กลัวข้อผิดพลาด อยู่ในกรอบตลอดเวลา ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

“ผู้จัดการ” แบบนี้จะไม่ค่อยทันใครสักเท่าไหร่ เพราะกว่าจะวิเคราะห์เสร็จ ชาวบ้านเขาก็เรียบร้อยจน เก็บของส่งวัดหมดแล้ว

รับไม่ได้กับข้อผิดพลาด เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น จะตำหนิ และลงโทษลูกน้องอย่างรุนแรง

ผู้จัดการคุณเป็นแบบนี้หรือไม่

หรือเป็นแบบ

เต่า

เต่า ต้วมเตี้ยม ตกใจหน่อยก็หด หัว หาง แขนขา เข้ากระดอง ปล่อยให้เหตุการณ์มันผ่านไป ไม่เอาตัวเข้าไปยุ่ง จะทำให้ตัวเองอยู่รอด

“ผู้จัดการ” แบบเต่านี้จะเป็นผู้ที่ไม่กล้าที่จะเผชิญปัญหา ยินดีรับชอบ ไม่รับผิด ใครจะทำอะไร อย่างไร ก็ทำไป แต่อย่ามายุ่ง หรืออย่างให้เรื่องมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่สนใจทั้ง คน และงาน จะสนแต่ตนเองเท่านั้น

เป็นอย่างไรบ้าง “ผู้จัดการ” แต่ละแบบ

“ผู้จัดการ” ของคุณเป็นแบบไหนแน่ครับ

หรือเป็นแบบสุดท้าย

สุนัขจิ้งจอก

สุนัขจิ้งจอก ออกหากินกันเป็นฝูง ไม่ทอดทิ้งกัน แบ่งปันอาหารซึ่งกันและกัน รู้จักการวางแผนในการออกล่า ทำงานเป็นทีม

“ผู้จัดการ” ประเภทนี้ เป็นกลุ่มที่รู้จักการเข้าสู่เส้นชัยอย่างสง่างาม ทำทุกอย่างเพื่อความสำเร็จ ด้วยกัน พลิ้วในงาน ผสานในกลุ่ม รุมกัดฝ่ายตรงข้าม เพื่อความสำเร็จ นี่คือ สุนัขจิ้งจอก

ในใจของคุณชอบ “ผู้จัดการ” แบบไหนกันนะ

คุณชอบ แล้วคุณเลือกได้หรือเปล่า

ก็คงเลือกที่จะอยู่อย่างที่ชอบไม่ได้ แต่คงที่จะทำให้อยู่กับ “ผู้จัดการ” ที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด รู้จักเขา เราก็สบาย

รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะ ร้อยครั้ง

แต่มีตัวอย่างหนึ่ง ลองดูซิว่า เป็นผู้จัดการแบบไหน อยู่ใน 4 แบบนี้หรือเปล่า

สมมุติตัวอย่างเช่น การออกคำสั่งให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการจัดการฝึกอบรมให้กับพนักงานในบริษัท ให้ได้ 300 คน คนละ 20 หลักสูตร หลักสูตรละ 6 ชั่วโมงอย่างน้อย เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของโครงการชะลอการเลิกจ้างของสถานประกอบการภายใต้โครงการต้นกล้าอาชีพ ของกระทรวงแรงงาน ที่สนับสนุนเม็ดเงินผ่านมาทางสถาบัน........... ผ่านมาที่สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วน...............ไทย ภายใต้การจัดการของสถาบันไทย-...........สู่บริษัทที่ร่วมโครงการของอุตสาหกรรม............... โดยมีระยะเวลา60 วัน

“ผู้จัดการ” ก็ดำเนินการทำแผนงาน เสนอต่อผู้บริหารระดับสูงเพื่อพิจารณา แต่เห็นว่าเวลามันบีบมาก อาจจะไม่ครบถ้วนตามที่กำหนด จึงเสนอ ว่าน่าจะจัดให้มีการอบรมกัน เช้า 1 หลักสูตร บ่ายอีก 1 หลักสูตร แล้วก็ดำเนินการทางด้านเอกสารให้เป็น 2 วัน โดยการเปลี่ยนแปลงวันที่เข้าอบรม เพื่อส่งให้หน่วยงานที่เป็นผู้จัดการโครงการคือสถาบันไทย-............ เพื่อเบิกเงินสนับสนุนอย่างครบถ้วน

เมื่อทราบแล้ว ผู้บริหารระดับสูงเห็นด้วย หรือเคลิ้มตามเพราะเห็นเงินของรัฐ ที่ลอยอยู่ตรงหน้า แล้วก็คิดเอาเองว่า คงไม่มีใครรู้ ไม่มีใครจับได้ หรือคิดเอาเองว่า บริษัทอื่นก็อาจทำเช่นกัน จึงคล้อยตามและอนุญาตให้ทำเพื่อจะได้เงินประมาณ 4 ล้านบาทเข้าพกเข้าห่อโดยไม่ต้องเสียเวลากับการเอาคนขึ้นอบรมตามจำนวนไม่มีผลทางด้านการผลิต

เมื่อผู้จัดการชงเรื่องผู้บริหารรับลูก แล้วให้ดำเนินการผลเสียจะเกิดกับใคร?

1. รัฐบาล ต้องสูญเงินไปอย่างไม่ตรงตามเจตนารมณ์

2. องค์กร บริษัท ขาดความน่าเชื่อถือ

3. ผู้บริหารสูงสุด(เจ้าของ)อาจมีความผิด

4. พนักงาน ไม่ได้รับความรู้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

5. ผู้สอน ผู้เรียน ผู้ที่รู้เรื่อง เสื่อมศรัทธา “ผู้จัดการ”

6. ฯลฯ

เหตุการณ์แบบนี้ถ้าเกิดกับบริษัทที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีคนไทยเป็นเจ้าของไม่มีคนต่างชาติถือหุ้นร่วม มีทุนจดทะเบียนโรงงานละ  100 ล้านบาทมีสาขา 6- 7 โรงงาน มันก็ยิ่งน่าอับอายมากที่ดำเนินการแบบนี้ พนักงานเดินตามตลาดไม่อยากสวมใส่ชุดบริษัทกันเลยทีเดียว มันก็เกิดขึ้นได้เพราะ “ผู้จัดการ”

จะเห็นได้ว่าผู้จัดการมีอิทธิพลจริงๆ (กรณีนี้เป็นเชิงลบ)

อยู่ในกลุ่มไหน หรือเป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่ง สำรวจเจอ!

คำสำคัญ (Tags): #hrd
หมายเลขบันทึก: 380003เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2010 14:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท