มหาวีโร
พระมหาสมชาย มหาวีโร มหาวีโร

การลงโทษตามแนวพุทธ (Penolgy according to Buddhism)


“ถึงแม้ว่า เราทำกรรมสิ่งใดไว้ไปแล้ว เราอาจเผลอลืมไปบ้าง แต่กฎแห่งกรรมอันเป็นธรรมชาตินั้นไม่เคยลืม”

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายย่อมมีการดำรงคงอยู่เกี่ยวกับชีวิตที่แตกต่างกันไป สัตว์บางชนิดดำรงอยู่ได้โดยลำพัง ส่วนสัตว์บางชนิดดำรงอยู่เป็นกลุ่ม เป็นสังคม สัตว์เหล่านั้นก็คือมนุษย์ทั้งนี้ก็เพราะว่ามนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยกันในการดำรงชีพ เช่น ช่วยเหลือเกื้อกูลเรื่องอาหารหวานคาว ช่วยกันป้องกันภัยอันตรายต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยจากธรรมชาติหรือภัยจากการรุกรานของมนุษย์ด้วยกัน ดั่งที่ อริสโตเติล กล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม แต่เมื่อมาอยู่กันเป็นสังคม เป็นกลุ่มก้อน แต่ละคนก็ย่อมมีชีวิตจิตใจที่แตกต่างกันไปต่างๆนานา มีความรู้สึกนึกคิดหรือจุดหมายปลายทางกันออกไป และก็ด้วยความแตกต่างเหล่านี้จึงทำให้เกิดปัญหาวุ่นวายไม่ว่าจะเป็น

แย่งอาหารกันกิน

แย่งถิ่นกันอยู่

แย่งคู่กันพิศวาส

แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่

 

                ก็ด้วยปัญหาเหล่านี้เอง จึงทำให้มนุษย์รู้จักสร้างกฎเกณฑ์เพื่อเป็นกำแพงหรือเกราะในการป้องกันในอันที่จะควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เพื่อความผาสุกในสังคมนั้นๆ กฎเกณฑ์เหล่านั้นคือ กฎหมาย

 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ กำหนดคำนิยามความหมายของคำว่า  “กฎหมาย” ไว้ว่า “กฎหมาย” (กฎ) น. กฎ ที่สถาบัน หรือ ผู้มีอํานาจสูงสุดในรัฐ ตราขึ้น หรือ ที่เกิดขึ้นจาก จารีตประเพณี อันเป็นที่ยอมรับนับถือ เพื่อ ใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อ ใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือ เพื่อกําหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือ ระหว่างบุคคลกับรัฐ

จะเห็นได้ว่า กฎหมาย      คือข้อบังคับ   กติกาของรัฐหรือของชาติ กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้บังคับ  ควบคุม ความประพฤติของบุคคลในสังคม ให้ปฏิบัติตาม   หากมีการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดและได้รับโทษตามที่กำหนดไว้ 

ในเรื่องของการลงโทษนั้นในสมัยก่อนยังไม่มีบทลงโทษที่สังคมยอมรับปฏิบัติชัดเจน มีแต่การฆ่ารันฟันแทงกันไปมาจองเวรจองกรรมกันไม่รู้จบ จนเมื่อสังคมบ้านเมืองมีกฎเกณฑ์ มีความเป็นอยู่ที่เป็นแบบแผนก็ได้มีการจัดระเบียบการลงโทษในหลายๆรูปแบบด้วยกัน ตัวอย่างเช่น

การจำคุก การลงโทษโดยวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ร้ายแรงมากถือว่าเป็นการลงโทษสถานหนักรองจากโทษประหาร ตัวอย่างเช่น เมื่อตอนที่กาลิเลโอได้ส่องกล้องโทรทัศน์ของเขาสังเกตปรากฏการณ์ของท้องฟ้า ดวงดาว แล้วบอกว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แต่สิ่งที่เขาค้นพบนั้นกลับไปขัดแย้งกับคัมภีร์พันธสัญญาเดิม (Old Testament) ซึ่งคัมภีร์พันธสัญญาเดิมของคริสต์อันเป็นภาคแรกของไบเบิลระบุว่า “พระเจ้าทรงสร้างโลกไว้บนแท่นและโลกนั้นไม่อาจเคลื่อนที่ได้” (The Lord set the earth on its foundation; it can never moved) และว่าดวงอาทิตย์ก็ขึ้นและตกไปแล้วหวนคืนสู่ตำแหน่งเดิม “ (And the sun rises and sets and returns to its place) สิ่งที่กาลิเลโอค้นพบกลับไปแย้งกับศาสนาคริสต์ เขาจึงถูกจับขึ้นศาลศาสนา (Inquisition)  ที่กรุงโรม และถูกกักขังจำคุก ต่อมาก็เปลี่ยนโทษจำคุกให้เป็นกักบริเวณอยู่ในบ้าน

การเฆี่ยน เป็นวิธีที่คนในสมัยก่อนนิยมลงโทษกัน เช่น ครูบาอาจารย์ เฆี่ยนตีลูกศิษย์ หรือว่า พ่อแม่นิยมเฆี่ยนหรือตีลูกด้วยไม้เรียว หรือแม้กระทั่งบ่าวนายก็นิยมตีทาสหรือไพร่ ข้าทาส เป็นต้น หรือแม้กระทั่งหากเราได้อ่านในพระไตรปิฎกเราจะพบการลงโทษของผู้ปกครองในบ้านในเมืองลงโทษแก่ผู้กระทำผิดประมาณว่า มัดแขนไพล่หลัง เฆี่ยนด้วยหวาย นำไปสู่ตะแลงแกง เป็นต้น

การตัดอวัยวะ วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมของหมู่ชนชาวอาหรับ เพื่อเป็นการประจานการกระทำที่เขาเคยทำเอาไว้ เช่นหากมีการขโมยของก็จะมีการตัดมือ หากมีการล่วงละเมิดทางเพศก็จะมีการตัดอวัยวะเพศเป็นต้น

การตรึงไม้กางเขน วิธีการลงโทษนี้ดั่งจะเห็นได้จากพระเยซูถูกตรึงด้วยไม้กางเขน ซึ่งในขณะนั้นพระองค์เผยแผ่ศาสนาจนมีศาสนิกชนนับถือกันอย่างล้นหลาม จนท้ายที่สุดก็ถูกทหารโรมันจับมาตรึงไม้กางเขน ตอกตะปูทรมานจนท้ายที่สุดก็ทนพิษบาดแผลไม่ไหวสิ้นใจตาย

นอกจากนี้ในสมัยโบราณยังมีวิธีการลงโทษที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วคือ การแห่ประจาน การเนรเทศ การประหารชีวิต เป็นต้น

ส่วนในปัจจุบันนี้มีการลงโทษประมวลกฎหมายอาญา พุทธศักราช 2499 มาตรา 18 ได้กำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำผิดกฎหมายอาญาไว้ 5 ประเภทคือ

๑.            ประหารชีวิต

๒.           จำคุก

๓.           กักขัง

๔.           ปรับ

๕.           ริบทรัพย์

บทลงโทษต่างๆเหล่านี้เป็นบทลงโทษที่ผู้มีอำนาจหรือรัฐได้กำหนดควบคุมขึ้นมาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม บทลงโทษที่กล่าวมาเป็นบทลงโทษทางรัฐหรือผู้มีอำนาจในการปกครองกำหนดไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการประพฤติปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงบทลงโทษในแง่ของพระพุทธศาสนา หลายคนอาจจะสงสัยบทลงโทษทางแนวพุทธมีหรือไม่อย่างไร?

จะเห็นได้ว่า “มนุษย์เป็นผู้สร้างกฎเกณฑ์ เพื่อจัดสังคมให้มีระเบียบ ในขณะเดียวกันระเบียบทางสังคมเหล่านี้ก็สร้างสังคมมนุษย์ให้สมบูรณ์แบบได้ในที่สุด”

 

หลักทัณฑกรรมตามแนวพุทธ

ในบทลงโทษหรือหลักทัณฑกรรมทางพระพุทธศาสนาก็คือ การลงโทษของพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติขึ้นมาเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคณะสงฆ์ และเพื่อมิให้บุคคลอื่นเอาเยี่ยงอย่าง และให้เป็นที่ปรากฏเพื่อเป็นแบบอย่างของบุคคลอื่น ทั้งนี้และทั้งนั้น ขอแยกระหว่างบทลงโทษของพระภิกษุและคฤหัสถ์

บทลงโทษที่พระพุทธพุทธเจ้าบัญญัติขึ้นมาแก่พระภิกษุเรียกว่า  “พระวินัย” เปรียบเสมือนกฎหมายในบ้านเมือง ตัวอย่างเช่น ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ต้องขาดจากความเป็นภิกษุและไม่สามารถกลับมาบวชอีกได้ ตรงกับในทางกฎหมาย โทษประหารชีวิต และถ้าหากว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสส ภิกษุก็ต้องอยู่ปริวาสกรรม เปรียบในทางกฎหมาย ก็ต้องถูกจำคุก การให้สละสิ่งของ หรือเงินทองคืนเจ้าของ หรือ ให้ตกเป็นส่วนกลางของสงฆ์ กรณีประพฤติผิดอาบัติ (นิสสัคคิยปาจิตตีย์) เปรียบเทียบในทางกฎหมายก็เสียค่าปรับ เป็นต้น        

มาตรการที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษแก่พระภิกษุที่ล่วงละเมิดพระวินัยเรียกว่าการลงนิคหกรรมนิคหกรรม เป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา เป็นสังฆกรรมประเภทที่สงฆ์ใช้ลงโทษพระภิกษุที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยหรือประพฤติตนไม่สมควรแก่สมณสารูป ซึ่งมีอยู่ 6 วิธี คือ

๑.ตัชนียกรรม คือ วิธีลงโทษด้วยการตำหนิโทษไว้ [1]

๒.นิยสกรรม คือ วิธีลงโทษด้วยการถอดยศ ให้กลับไปเริ่มต้นใหม่ ทำให้หมดอำนาจหน้าที่[2]

๓.ปัพพาชนียกรรม คือ วิธีลงโทษด้วยการขับไล่ออกจากไปหมู่คณะหรือจากวัด[3] (วิ.มหา.(บาลี)

๔.ปฏิสารณียกรรม คือ วิธีลงโทษด้วยการให้ระลึกถึงอุปการคุณของผู้อื่นหรือให้ไปขอขมาโทษ[4]

๕.อุกเขปนียกรรม คือ วิธีลงโทษด้วยการห้ามอยู่ร่วม ห้ามฉันร่วมกับภิกษุทั้งหลายทั่วไป[5]

๖.ตัสสาปาปิยสิกากรรม คือ วิธีลงโทษด้วยการพิจารณาตามความเหมาะสมหรือควรจะเพิ่มโทษอีก[6]

การลงนิคหกรรมที่กล่าวมานั้นเป็นบทลงโทษสำหรับใช้กับพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรรี ส่วนบทลงโทษที่พระพุทธเจ้ากำหนดใช้สำหรับภิกษุปฏิบัติต่อคฤหัสถ์ ดั่งต่อไปนี้

 

 

 

การลงโทษคฤหัสถ์ 

การนิคหกรรมคฤหัสถ์ คือการลงโทษโดยสงฆ์ที่ปฏิบัติต่อคฤหัสถ์ ดั่งต่อไปนี้

๑.    การไม่รับบิณฑบาต

๒.    การไม่รับกิจนิมนต์

๓.    การไม่รับไทยธรรม

การลงนิคหกรรมคฤหัสถ์ คำนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ถ้าพูดถึงคว่ำบาตรคงจะคุ้นกันพอสมควร ซึ่งการลงนิคหกรรมคฤหัสถ์เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การคว่ำบาตร (Boycott)  ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้นิยาม "คว่ำบาตร" ว่า “(สำ) ก. ไม่ยอมคบค้าสมาคมด้วย เดิมหมายถึงสังฆกรรมที่พระสงฆ์ประกาศลงโทษคฤหัสถ์ผู้ประทุษร้ายต่อศาสนาด้วยการไม่คบ ไม่รับ โดยที่มานั้น

ต้นเหตุแห่งการคว่ำบาตรในพุทธกาล

ในพระไตรปิฏกพระพุทธเจ้าทรงประกาศคว่ำบาตรแด่เจ้าวัฑฒลิจฉวี ดั่งนี้

               สมัยนั้นเจ้าวัฑฒลิจฉวีเป็นสหายของพระเมตติยะและพระภุมมชก  เจ้าวัฑฒลิจฉวี  เข้าไปหาพระเมตติยะและพระภุมมชกะแล้วกล่าวว่า   “ผมไหว้ขอรับ เมื่อเธอกล่าวอย่างนั้น ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทาย ปราศรัย   แม้ครั้งที่สอง   เจ้าวัฑฒลิจฉวีได้กล่าวว่า   “ผมไหว้ขอรับ”    แม้ครั้ง

ที่สอง   ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย   แม้ครั้งที่สาม   เจ้าวัฑฒลิจฉวีได้กล่าวว่า  “ผมไหว้ขอรับ”   แม้ครั้งที่สาม ภิกษุทั้งสองรูปก็มิได้ทักทายปราศรัย

           ว.   ผมผิดอะไรต่อพระคุณเจ้าอย่างไร  ทำไม  พระคุณเจ้าจึงไม่ทักทายปราศรัยกับผม.

           ภิกษุทั้งสองตอบว่า   ก็จริงอย่างนั้นแหละ   ท่านวัฑฒะ   พวกอาตมาถูกท่านพระทัพพมัลลบุตรเบียดเบียนอยู่   ท่านยังเพิกเฉยได้.

           ว.  ผมจะช่วยเหลืออย่างไร   ขอรับ.

           ภิ.  ท่านวัฑฒะ  ถ้าท่านเต็มใจช่วย   วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้า   ต้องให้พระทัพพมัลลบุตรสึก.

           ว.   ผมจะทำอย่างไร   ผมสามารถจะช่วยได้ด้วยวิธีไหน.

           ภิ.  มาเถิด    ท่านวัฑฒะ    ท่านจงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า     แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า  กรรมนี้ไม่แนบเนียน  ไม่สมควร  ทิศที่ไม่มีภัย ไม่มีจัญไรไม่มีอันตราย  บัดนี้กลับมามีภัย มีจัญไร มีอันตราย  ณ สถานที่ไม่มีลม บัดนี้ กลับมีลมแรงขึ้น  ประชาบดีของหม่อมฉัน   ถูกพระทัพพมัลบุตรประทุษร้ายคล้ายน้ำถูกไฟเผา   พระพุทธเจ้าข้า.

 เจ้าวัฑฒลิจฉวีรับคำของพระเมตติยะและพระภุมมชกะ      แล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า   ถวายบังคมแล้วนั่ง  ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  กราบทูลว่าพระพุทธเจ้าข้า   กรรมนี้ไม่แนบเนียน   ไม่สมควร  ทิศที่ไม่มีภัย   ไม่มีจัญไรไม่มีอันตราย   บัดนี้กลับมามีภัย  มีจัญไร  มีอันตราย  ณ สถานที่ไม่มีลม  บัดนี้กลับมีลมแรงขึ้น     ประชาบดีของหม่อมฉันถูกพระทัพพมัลลบุตรประทุษร้ายคล้ายน้ำถูกไฟเผา   พระพุทธเจ้าข้า.                                 

           ลำดับนั้น     พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น     ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น     แล้วทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า   ดูก่อนทัพพะ   เธอยังระลึกได้หรือว่า    เป็นผู้ทำกรรมตามที่เจ้าวัฑฒลิจฉวีนี้ กล่าวหา   ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า   พระองค์ย่อมทรงทราบว่า   ข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร   พระพุทธเจ้าข้า.

           แม้ครั้งที่สอง   พระผู้มีพระภาคเจ้า . . .

           แม้ครั้งที่สาม   พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอบถามท่านพระทัพพมัลลบุตรว่า  ดูก่อนทัพพะ   เธอยังระลึกได้หรือว่า   เป็นผู้ทำกรรมตามที่เจ้าวัฑฒลิจฉวีนี้กล่าวหา    ท่านพระทัพพมัลลบุตรกราบทูลว่า    พระองค์ย่อมทรงทราบว่าข้าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร   พระพุทธเจ้าข้า.

           ภ.  ดูก่อนทัพพะ  บัณฑิตย่อมไม่กล่าวแก้คำกล่าวหาอย่างนี้  ถ้าเธอทำจงบอกว่าทำ   ถ้าไม่ได้ทำ   จงบอกว่าไม่ได้ทำ.

           ท.   ตั้งแต่ข้าพระพุทธเจ้าเกิดมาแล้ว  แม้โดยความฝัน  ก็ยังไม่รู้จักเสพเมถุนธรรม   จะกล่าวไยถึงเมื่อตื่นอยู่เล่า   พระพุทธเจ้า.

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้น    สงฆ์จงคว่ำบาตรเจ้าวัฑฒลิจฉวี  คือ  อย่าให้คบกับสงฆ์. (วิ.จู.(ไทย) ๗/๑๐๑-๑๐๒/๓๘-๓๙)

การลงโทษที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการลงโทษในปัจจุบันทันกาลเท่านั้น แต่เรื่องการกระทำดีทำชั่วล้วนแล้วแต่เป็นผลเนื่องในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

กฎแห่งกรรมและกฎหมาย

กฎแห่งกรรม คือ กฎแห่งการกระทำ การกระทำทุกๆอย่างซึ่งมีผลเป็นเจตนา เราเรียกการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนาว่าเป็นกฎแห่งกรรม และกรรมทุกๆกิริยาอันประกอบด้วยเจตนานี้มีผลเป็น ปฏิกิริยา หรือว่า วิบาก อันหมายถึงผลของการกระทำ

ส่วนกฎหมาย ก็คือ คำสั่งหรือข้อบังคับความประพฤติของมนุษย์นั่นเองเพื่อให้มนุษย์นั้นประพฤติปฏิบัติตามตามครรลองคลองธรรม และให้มีความเป็นเรียบร้อยภายในสังคมที่ตนอยู่อาศัย

ความเหมือนกันของกฎหมาย (Rule of law) และกฎแห่งกรรม (Reciprocal Deeds)

๑. เกณฑ์ในการพิจารณาถึงตัวบทกฎหมายและกฎแห่งกรรมนั้นล้วนคำนึงถึง “เจตนาเป็นหลัก” เช่น ในเรื่องของการฆ่าคนตาย ในกฎแห่งกรรมนั้นพิจารณาดังนี้

๑.๑ คนนั้นมีชีวิต

๑.๒ รู้ว่าคนนั้นมีชีวิต

๑.๓ มีจิตคิดจะฆ่าคนๆนั้น

๑.๔ มีความพยายามจะฆ่าคนๆนั้น

๑.๕ คนๆนั้นตายด้วยความพยายามนั้น

ส่วนในเรื่องของกฎหมายนั้น นายสุชาย    จอกแก้ว     ผู้พิพากษา  ศาลแพ่ง   ได้กล่าวว่า เกณฑ์ในการพิจารณาคดีความฆ่าคนตาย มีดั่งนี้ องค์ประกอบของความรับผิด ดังนี้ เช่น เมื่อมีการฆ่ากันเกิดขึ้นก็ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ๒ ประการ คือ

(๑.๑) พิจารณาว่าเขามีการกระทำหรือไม่ เมื่อมีการกระทำ การกระทำของเขานั้นครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นหรือไม่ และเมื่อเขากระทำครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าแล้ว เขากระทำครบองค์ประกอบภายในคือการกระทำของเขามีเจตนาตั้งใจกระทำ (ประสงค์ต่อผล/เล็งเห็นผล/เจตนาหรือไม่เจตนา (ประมาท) หรือไม่ และเมื่อผลเกิดขึ้น คือ ความตาย ก็ต้อง

(๑.๒) พิจารณาต่อไปว่า ผลเกิดจากการกระทำของผู้กระทำ หรือไม่ ตามหลักเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ถ้าเขาไม่กระทำ ผลก็ย่อมไม่เกิด แต่เมื่อมีผลเกิดขึ้น ก็ต้องถือว่าผลเกิดจากการกระทำของเขานั้น ส่วนเกณฑ์วินิจฉัยความรับผิดตามกฎหมายอื่นๆ ก็ไม่ต่างไปจากหลักเกณฑ์นี้สักเท่าใดนัก และที่สำคัญกฎหมายมีหลักความรับผิดโดยเด็ดขาดด้วย (Strict Liability) คือแม้ผู้กระทำจะไม่ได้กระทำ ไม่เจตนาหรือไม่ประมาทก็ตาม ถ้ากฎหมายบัญญัติความรับผิดเอาไว้ ก็อาจต้องรับผิดตามกฎหมายนั้น หรือแม้จะไม่ได้กระทำความผิดด้วยตนเอง แต่ก็อาจต้องร่วมรับผิดในผลของการกระทำของบุคคลอื่นด้วย เช่น เป็นตัวการ หรือผู้ใช้หรือเป็นตัวการแทนกัน เป็นต้น[7]

องค์ในการพิจารณาทั้งในกฎหมายทางอาญากับกฎแห่งกรรมนั้น ล้วนคำนึงถึง ตัวเจตนาเป็นหลัก

๒. กฎแห่งกรรมและกฎหมายนั้นล้วนวางบรรทัดฐานเดียวกัน คือ วางกรอบแนวทางให้คนเป็นคนดี

แต่อย่างไรก็ตามกฎแห่งกรรมกับกฎหมายนั้นก็มีส่วนที่แตกต่างกันดั่งนี้

ความแตกต่างของกฎหมายและกฎแห่งกรรม

๑.เมื่อบุคคลทำผิดกฎหมายแล้ว อาจจะหนีกฎหมายได้ แต่คุณอาจจะหนีกฎแห่งกรรมไม่ได้เลย

๒.บุคคลใดทำผิดเรื่องกฎหมาย กฎหมายย่อมมีวันหมดอายุความ บุคคลใดทำผิดกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมไม่มีวันหมดอายุกรรม

๓. การรับผลของกฎหมาย ต้องพิจารณาถึง พยานบุคคล   พยานเอกสาร  และพยานวัตถุ แต่กฎแห่งกรรมไม่ต้องมีการพิสูจน์เลย ใครทำกรรมอะไรไว้ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น ดั่งพุทธพจน์ที่ว่า ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ  กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ (สํ.ส. ๑๕/๓๓๓) บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น บุคคลที่ทำกรรมดี ย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว

๔. มาตรฐานในการวัดผลทางด้านตัวบทกฎหมายนั้น การพูด (วจีกรรม) การกระทำทางกาย(กายกรรม) เป็นตัวแปรในการวัดผลความผิด แต่ในด้านกฎแห่งกรรมนั้น มี ๓ อย่างด้วยกัน คือ กายกรรม การทำทางกาย วจีกรรม การกระทำด้านคำพูด และมโนกรรม การทำเกี่ยวกับการคิด กล่าวคือ ทางด้านกฎหมาย หากเราคิดเพียงแค่จะฆ่าคนอื่น โดยยังไม่ได้ลงมือกระทำ กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดได้ แต่กฎแห่งกรรมถือว่า เรามีความผิดตั้งแต่เราคิดแล้ว

สุดท้ายขอฝากข้อคิดอย่างหนึ่งว่า

ถึงแม้ว่า เราทำกรรมสิ่งใดไว้ไปแล้ว เราอาจเผลอลืมไปบ้าง แต่กฎแห่งกรรมอันเป็นธรรมชาตินั้นไม่เคยลืม

เราทำกรรมใดไว้ก็ไว้ตาม เราไม่สามารถถ่ายโอนกรรมที่เราทำแล้วออกไปให้กับคนอื่นได้  เราทำกรรมสิ่งใดเราก็เป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น

 


[1] (วิ.จู.(บาลี) ๖/๑/๑,(ไทย)๖/๑/๑)

[2] (วิ.จู.(บาลี) ๖๑/๑๑/๑๔)ไทย) ๖/๑๑/๒๑)

[3] (วิ.มหา.(บาลี) ๑/๔๓๑/๓๒๑)

[4] (วิ.จ.(บาลี) ๖/๔๕/๔๓)

[5] (วิ.จู.(บาลี) ๖/๔๖/๕๗,(ไทย)๖/๔๖/๘๕)

[6] (วิ.จู.(บาลี) ๖/๒๐๕/๒๓๗,(ไทย) ๖/๒๐๕/๓๒๐)

[7] (สุชาติ จอกแก้ว, หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน, 7 มิถุนายน พ.ศ. 2550)

หมายเลขบันทึก: 379351เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 18:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 10:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท