พิธีทำบุญเลี้ยงพระ


เอกสารประกอบการอบรมนักศึกษาผู้ทำหน้าที่พิธีกรทางศาสนา เรื่อง มารยาทชาวพุทธและศาสนพิธี รวบรวมและเรียบเรียงโดย อาจารย์ญาณภัทร ยอดแก้ว โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

การทำบุญเลี้ยงพระตามปกติที่ทำกันแต่เดิม คือ นิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในสถานที่ที่ประกอบพิธีในตอนเย็น โดยทั่วไปเรียกกันว่า “สวดมนต์เย็น” รุ่งขึ้นวันถัดมา ในเวลาเช้า (บางกรณี เวลาเพล)  ก็จะมีการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเย็นวานนั้นเรียกกันว่า  “เลี้ยงพระเช้า” (เลี้ยงพระเพล) หรือฉันเช้า (ฉันเพล) และในคราวเดียวกันก็มีการตักบาตรด้วย   บางคนมีเวลาน้อย ย่นเวลามาทำพร้อมกัน ในวันเดียว ในตอนเช้าหรือตอนเพลตามความสะดวก โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มาเจริญพระพุทธ มนต์ก่อน จบแล้วถวายภัตตาหารให้เสร็จสิ้นในเวลา เดียวกัน อย่างนี้เรียกว่า “ทำบุญเลี้ยงพระ”

การทำบุญเลี้ยงพระนี้  นิยมทั้งในงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป ที่เรียกว่า ทำบุญ งานมงคล นั้น ได้แก่ การทำบุญเลี้ยงพระดังกล่าว เพื่อความสุขความเจริญแก่จิตใจ โดยปรารภ เหตุที่ดีเป็นมูล  เกี่ยวกับฉลองความสำเร็จในชีวิต เช่น ฉลองพระบวชใหม่ เป็นต้น หรือเกี่ยวกับ การริเริ่มชีวิตใหม่เพื่อให้เกิดความสำเร็จ ตามปรารถนาด้วยดี ตลอดไป เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญแต่งงาน หรือเรียกว่ามงคลสมรส เป็นต้น

ส่วนที่เรียกว่า ทำบุญงานอวมงคล ได้แก่ การทำบุญเลี้ยงพระเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขโดยปรารภเหตุไม่สู้ดี เนื่องจากมีการตาย ขึ้นในวงญาติ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในครอบครัวจัดการทำบุญขึ้น เพื่อให้สำเร็จเป็นประโยชน์ เกื้อกูล และความสุขแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อเป็นมิ่งขวัญกลาย ๆ แก่ผู้ที่ยังอยู่ งานทำบุญ โดยปรารภเหตุนี้ เรียกว่า ทำบุญงานอวมงคล

การทำบุญทั้ง ๒ ประเภทนี้ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติมี ๒ ฝ่าย คือ

          ๑) ฝ่ายทายกทายิกา (หมายถึง ชายและหญิงที่เป็นผู้ถวายทาน) ผู้ประกอบด้วยต้องการบุญ เรียกว่า ฝ่ายเจ้าภาพ  

          ๒) ฝ่ายปฏิคาหก (ผู้รับ)  ผู้รับการถวายทานและประกอบพิธีกรรมตามความประสงค์ของเจ้าภาพ ซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า ฝ่ายภิกษุสงฆ์     

          ทั้งสองฝ่ายนี้มีระเบียบปฏิบัติพิธี กำหนดไว้เพื่อความเรียบร้อยโดยเหมาะสมแต่ละประเภท ของงาน  เป็นขนบประเพณีสืบมา ดังต่อไปนี้

 

ระเบียบพิธี :  การทำบุญเลี้ยงพระงานมงคล

 

พิธีฝ่ายเจ้าภาพ ผู้ที่จะทำบุญเนื่องในงานมงคลต่าง ๆ นั้น ในที่นี้เรียกว่า "เจ้าภาพ" เบื้องต้นจะต้องตระเตรียมกิจการต่าง ๆ ที่ควรทำก่อน ดังนี้

๑)     อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์

๒)    เตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา

๓)     ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธีให้มีความเหมาะสม

๔)     วงด้ายสายสิญจน์

๕)     อัญเชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา

๖)     ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์

๗)    เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามควรแก่ฐานะ

๘)     ตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์

 

 

เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้วตามเวลากำหนด จะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

๑)     คอยล้างเท้าพระสงฆ์และเช็ดด้วย (ปัจจุบันพระสงฆ์สวมรองเท้า และเท้าไม่สกปรก จึงไม่ต้องล้างเท้าก็ได้)

๒)    ประเคนเครื่องรับรองที่จัดไว้

๓)     เมื่อได้เวลาแล้ว  จุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชา  บูชาพระรัตนตรัย(กราบ ๓ ครั้ง)

๔)     อาราธนาศีล และรับศีล(สมาทานศีล)

๕)     อาราธนาพระปริตร  เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี

๖)  นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อจบแล้ว ถวายน้ำร้อนหรือ เครื่องดื่ม 
อันควรแก่สมณะ แล้วแต่จะจัด

 

ในการปฏิบัติพิธีตามหน้าที่ที่กล่าวนี้ มีข้อที่ควรจะเข้าใจ คือ 

 

          ๑. เรื่องการอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์  นิยมไม่กำหนดจำนวนข้างมาก แต่นิยมกำหนดข้างน้อยไว้โดยเกณฑ์ คือไม่ต่ำกว่า ๕ รูป เกิน ๕ ไปก็เป็น ๗ หรือ ๙ ข้อน่าสังเกตก็คือ ไม่นิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ เพราะถือเหมือนอย่างว่า การทำบุญครั้งนี้ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แบบเดียวกับครั้งพุทธกาล ซึ่งปรากฏตามบาลีว่า พุทฺธปฺปมุโข ภิกฺขุสงฺโฆ พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข โดยตั้งพระพุทธรูปไว้ข้างหน้าแถวพระสงฆ์ นับจำนวนรวมกับพระสงฆ์เป็นคู่ เว้นแต่ในงานมงคลสมรส มักนิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ จุดมุ่งหมาย คือ แบ่งให้ฝ่ายเจ้าบ่าวและฝ่ายเจ้าสาวนิมนต์พระมาจำนวนเท่า ๆ กัน เมื่อมารวมกัน จึงเป็นจำนวนคู่ แต่ในพิธีหลวงในปัจจุบันนี้ มักอาราธนาพระสงฆ์ เป็นจำนวนคู่ เช่น ๑๐ รูป เป็นต้น

 

          ๒. เรื่องเตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา  ที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา ในงานพิธีต่างๆ นั้น นิยมเรียกสั้นๆ ว่า "โต๊ะบูชา"  สิ่งสำคัญของโต๊ะบูชานี้  ประกอบด้วยโต๊ะรองและเครื่องบูชา  

          โต๊ะรองเป็นที่รองรับพระพุทธรูปและเครื่องบูชาปัจจุบันนี้นิยมใช้กันทั่วไป เป็นโต๊ะหมู่ซึ่งสร้างไว้โดยเฉพาะ เรียกกันว่า โต๊ะหมู่บูชา มีเป็นหมู่ ๕  หมู่ ๗  และหมู่ ๙ หมายความว่าหมู่หนึ่ง ๆ ประกอบด้วยโต๊ะ ๕ ตัว ๗ ตัวและ๙ ตัว  ก็เรียกว่าหมู่เท่านั้นเท่านี้   ถ้าในที่ที่หาโต๊ะหมู่ไม่ได้  จะใช้ตั่งอะไรที่สมควรซึ่งไม่สูงหรือต่ำเกินไปนักจัดเป็นโต๊ะบูชาในพิธีก็ได้ โต๊ะหรือตั่งนั้นต้องใช้ผ้าขาวปูพื้นก่อน ถ้าหาผ้าขาวไม่ได้จำเป็นจะใช้ผ้าสี ต้องเป็นผ้าสะอาดและยังมิได้ใช้การอย่างอื่น มาเป็น เหมาะสมที่สุด ผ้าอะไรก็ตามถ้าแสดงลักษณะชัดว่าเป็นผ้านุ่งแล้วไม่สมควรอย่างยิ่ง

          การตั้งโต๊ะบูชานี้มีหลักว่า ต้องตั้งหันหน้าโต๊ะออกทางเดียวกับพระสงฆ์ คือ ให้พระพุทธรูปหันพระพักตร์ออกทางเดียวกับพระสงฆ์นั่นเอง ด้วยมุ่งหมายให้พระสงฆ์ มีพระพุทธรูป เป็นประธาน   เว้นแต่จำเป็นเกี่ยวกับสถานที่ซึ่งจะต้องให้พระสงฆ์นั่ง มีเบื้องซ้ายอยู่ทางพระพุทธรูป แล้ว จึงต้องตั้งโต๊ะบูชาหันหน้ามาทางพระสงฆ์ให้พระพุทธรูป หันพระพักตร์หาพระสงฆ์ เป็นอัน ไม่ต้องเข้าแถวกับพระสงฆ์ สำหรับเรื่องทิศทางที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปนั้น มักจะให้ผิน พระพักตร์ไปสู่ทิศเหนือ ด้วยถือว่าพระพุทธเจ้า เป็นโลกอุดร มิฉะนั้นก็ให้หันไปทางทิศตะวันออก ด้วยถือว่าเป็นทิศพระ (ในวันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางตะวันออก) เป็นพื้น แต่เรื่องนี้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องจำกัดเช่นนั้น จะให้ผินพระพักตร์ไปทิศใด ๆ ก็ไม่เกิดโทษ และไม่มีข้อห้าม เป็นอัน แล้วแต่สถานที่จะอำนวยให้ประดิษฐานได้เหมาะสมก็พึงทำได้ทั้งนั้น

          สำหรับการตั้งเครื่องบูชานั้น ต้องแล้วแต่โต๊ะที่ตั้ง ถ้าเป็นโต๊ะเดี่ยวที่ใช้ตั่ง หรือโต๊ะ ตัวเดียวตั้งแทนโต๊ะหมู่ เครื่องบูชาควรมีแจกันประดับดอกไม้ ๑ คู่ ตั้ง ๒ ข้างพระพุทธรูป ไม่ชิด หรือห่างจนเกินไป ถัดมาแถวหน้าพระพุทธรูป ตั้งกระถางธูปตรงหน้า พระพุทธรูปกับเชิงเทียน ๑ คู่ ตั้งตรงกับแจกัน เพียงเท่านี้ก็สำเร็จรูปเป็นโต๊ะบูชา พอสมควร

 

          ๓. เรื่องตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี นิยมให้สะอาดเรียบร้อยเป็นสำคัญ เพราะเป็นการ ทำบุญต้องการสิริมงคล และออกแขกด้วยความสะอาด เรียบร้อยทุกอย่าง เป็นสิ่งที่ควรกระทำ อย่างยิ่ง ถ้าได้เพิ่มการตกแต่งเพื่อความสวยงามขึ้นอีก ก็เป็นการดียิ่ง ทั้งนี้สุดแต่ฐานะและกำลัง ของตนเป็นสำคัญ 

 

          ๔. เรื่องวงด้ายสายสิญจน์  คำว่า สิญจน์ แปลว่า การรดน้ำ คือ การรดน้ำ ด้วยพิธี สืบเนื่องมาแต่พิธีพราหมณ์ เดิม “สาย” เข้าข้างหน้า เป็นสายสิญจน์ กลายเป็นวัตถุชนิดหนึ่ง ที่นำมาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ สายสิญจน์ได้แก่สายที่ทำด้วยด้ายดิบ โดยวิธีจับเส้นด้ายในเข็ด เส้นเดียว จับออกครั้งแรกเป็น ๓ เส้น ม้วนเข้ากลุ่มไว้ ถ้าต้องการให้สายใหญ่ ก็จับอีกครั้งหนึ่ง จะกลายเป็น ๙ เส้น ในงานมงคลทุกประเภท นิยมใช้สายสิญจน์ ๙ เส้น เพราะกล่าวกันว่า สายสิญจน์ ๓ เส้น สำหรับใช้ในพิธีเบิกโลงผี จะนำมาใช้ในพิธีงานมงคลไม่เหมาะสม ถ้าเพ่งการวงสายสิญจน์ มีเกณฑ์ถืออยู่ว่า ถ้าเป็นบ้านมีรั้วรอบให้วงรอบรั้ว ถ้าไม่มีรั้วรอบ หรือมีแต่กว้างเกินไปหรือมีอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับพิธี อยู่ร่วมในรั้วด้วยก็ให้วง เฉพาะอาคารพิธีโดยรอบ ถ้าเจ้าภาพไม่ต้องการวงสายสิญจน์ รอบรั้วบ้านหรือรอบอาคารที่ตน ประกอบพิธีทำบุญ จะวงสายสิญจน์ที่ฐานพระพุทธรูป บนโต๊ะบูชาเท่านั้น แล้วโยงมาที่ภาชนะ สำหรับทำน้ำมนต์ก็ได้ การโยงสายสิญจน์จากฐานพระพุทธรูปมายังภาชนะน้ำมนต์ ควรโยง หลบเพื่อไม่ให้ต้องข้ามสายสิญจน์ ในเวลาจุดธูปเทียน เมื่อวงที่ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์แล้ว พึงวางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้บนพาน สำหรับรองสายสิญจน์ ซึ่งอยู่ทางหัวอาสน์สงฆ์ใกล้ภาชนะ สำหรับทำน้ำมนต์ การวงสายสิญจน์ถือหลักวงจากซ้ายไปขวาของสถานที่หรือวัตถุ มีข้อที่ถือเป็น เรื่องควรระวังอยู่อย่างหนึ่ง คือ ในขณะที่วงสายสิญจน์อย่าให้สายสิญจน์ขาด

          อนึ่ง สายสิญจน์ที่วงพระพุทธรูปแล้วนี้จะข้ามกรายมิได้เพราะถ้าข้ามกรายแล้ว เท่ากับข้ามพระพุทธรูป เป็นการแสดงควาไม่เคารพต่อพระพุทธรูปทีเดียว หากมีความจำเป็น ที่จะต้องผ่านสายสิญจน์ก็ต้องลอดมือหรือก้มศีรษะลอดภายใต้สายสิญจน์ผ่านไป

 

          ๕. เรื่องเชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา เป็นกิจที่พึงทำเมื่อใกล้จะถึงกำหนดเวลา ประกอบพิธีพระพุทธรูปนั้นจะเป็นพระปางอะไรก็แล้วแต่จะหาได้ ขอให้เป็นพระพุทธรูปเท่านั้น ไม่ใช่พระเครื่องซึ่งเล็กมากไม่เหมาะแก่พิธี พระพุทธรูป ถ้ามีครอบควรเอาครอบออก ตั้งเฉพาะ องค์พระเท่านั้น และที่องค์พระไม่สมควรจะนำ อะไรที่ไม่เหมาะสมประดับ เช่น พวงมาลัยหรือ ดอกไม้ เป็นต้น ควรให้องค์พระเด่น เป็นสำคัญ เว้นแต่ที่ฐานพระจะใช้พวงมาลัยวงรอบฐาน กลับดูงามดีไม่มีข้อห้าม ดอกไม้บูชามีระเบียบจัดดังกล่าวแล้วในเรื่องตั้งเครื่องบูชา ก่อนที่จะ ยกพระพุทธรูป จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งก็ดี ในขณะที่วางพระพุทธรูปลง ณ ที่บูชาก็ดี ควรจะ น้อมไหว้ ก่อนยก หรือน้อมไหว้ในเมื่อวางลงแล้ว เป็นอย่างน้อย ถ้าถึงกราบได้เป็นงดงาม

 

          ๖. เรื่องปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์  นิยมใช้กันอยู่ ๒ วิธี คือ ยกพื้นอาสน์สงฆ์ ให้สูงขึ้นโดยใช้เตียงหรือม้าวางต่อกันเข้าให้ยาวพอแก่จำนวนสงฆ์ อีกวิธีหนึ่ง ปูลาดอาสนะ บนพื้นธรรมดา อาสน์สงฆ์ชนิดยกพื้นนิยมใช้ผ้าขาวปูลาด จะมีผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) ปูอีกชั้นหนึ่ง หรือไม่ก็ได้ โดยเฉพาะอาสน์สงฆ์ยกพื้นนี้ มักจัดในสถานที่ที่ฝ่ายเจ้าภาพนั่งเก้าอี้กัน ส่วนอาสนะ ชนิดที่ปูลาดบนพื้นธรรมดา จะใช้เสื่อหรือพรมหรือผ้าที่สมควรปูก็สุดแต่จะมีหรือหาได้ ข้อที่ควร ระวัง คือ อย่าให้อาสนะพระสงฆ์กับอาสนะของคฤหัสถ์ฝ่ายเจ้าภาพเป็นอันเดียวกัน ควรปูลาด ให้แยกจากกัน ถ้าจำเป็นแยกไม่ได้โดยปูเสื่อหรือพรมไว้เต็มห้องสำหรับอาสนะพระสงฆ์ ควรจัด ปูทับเสื่อหรือพรมนั้นอีกชั้นหนึ่งจึงจะเหมาะ

 

          ๗. เรื่องเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ ตามแบบและประเพณีนิยมเตรียมเครื่องรับรอง ได้แก่ น้ำร้อน น้ำเย็น และกระโถน (ปัจจุบันเพิ่มกระดาษชำระด้วย) การวางเครื่องรับรองเหล่านี้มีหลักว่า ต้องวางทางด้านขวามือของพระ ระหว่างรูปหนึ่งกับอีกรูปหนึ่งที่นั่งเรียงกัน ด้านขวามือของรูปใด ก็เป็นเครื่องรับรองของรูปนั้น การวางให้วางกระโถนข้างในสุด เพราะเป็นสิ่งไม่ต้องประเคน ถัดออกมาเป็นกระดาษชำระและภาชนะน้ำเย็น เมื่อพระสงฆ์นั่งก็ประเคนน้ำเย็นและกระดาษชำระ  ส่วนน้ำร้อนจัดประเคนภายหลัง ไม่ต้องตั้งประจำ  

          เครื่องรับรองดังกล่าวนี้  กระดาษและกระโถน ถ้าจำกัด จะจัดรับรอง ๒ รูป ต่อ ๑ ที่ก็ได้  และให้จัดวางตามลำดับ ในระหว่างรูปที่ต้องการให้ใช้ร่วมกัน

 

            ๘. เรื่องตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ ควรเตรียมภาชนะเป็นประการแรก ถ้าไม่มีครอบ น้ำมนต์ ซึ่งเป็นของสำหรับใส่น้ำมนต์โดยเฉพาะ จะใช้บาตรของพระหรือขันน้ำ พานรองแทนก็ได้ แต่ขันต้องไม่ใช่ขันเงินหรือทองคำ เพราะเงินและทองเป็นวัตถุอนามาส (คือ ของที่ไม่ควรแก่การจับต้องสำหรับพระ)   ต่อไปก็หาน้ำสะอาดใส่ในภาชนะ ห้ามไม่ให้ใช้น้ำฝน ทั้งนี้เห็นจะเป็นด้วยถือว่า น้ำที่ จะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้  ต้องมาจากธรณี ส่วนน้ำฝนมาจากอากาศจึงไม่นิยม  น้ำที่ใส่ควรใส่แต่เพียงค่อนภาชนะเท่านั้น ควรหาใบเงินใบทอง ใส่ลงไปด้วยแต่เพียงสังเขปเล็กน้อย (ถ้าหาไม่ได้ จะใช้ ดอกบัวใส่แทนก็ได้ แต่ดอกไม้อื่นไม่ควร)  

          ต้องมีเทียนน้ำมนต์อีกหนึ่งเล่ม  ควรเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ ขนาดหนัก ๑ บาทเป็นอย่างต่ำ  ติดที่ปากบาตรหรือขอบขัน หรือบนยอดจุกฝาครอบน้ำมนต์ ไม่ต้องจุด  แล้วนำไปวางไว้หน้าโต๊ะบูชาให้ค่อนมาทางอาสนะพระสงฆ์ ใกล้กับรูปที่เป็นหัวหน้า  เพื่อหัวหน้าจะได้หยดเทียนทำน้ำมนต์ในขณะสวดมนต์ได้สะดวก

 

          ๙. เรื่อง จุด เทียน ธูป ที่โต๊ะบูชา  เจ้าภาพควรจุดเอง ไม่ควรให้คนอื่นจุดแทน เพราะเป็น การนมัสการพระอันเป็นกิจเบื้องต้นของบุญ การจุดควรจุดเทียนก่อน จุดด้วยไม้ขีดหรือเทียน ชนวน อย่าต่อจากตะเกียง หรือไฟอื่น เทียนติดดีแล้ว ใช้ธูป ๓ ดอกจุดต่อที่เทียนจนติดดี จึงปักลงให้ตรง ๆ ในกระถางธูป แล้วตั้งใจบูชาพระ ต่อจากนี้จึงดำเนินพิธีไปตามลำดับ คืออาราธนาศีล รับศีลแล้ว อาราธนาพระปริตร พออาราธนาพระปริตรจบแล้ว พระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ ทุกคนที่อยู่ในบริเวณพิธี พึงนั่ง ประนมมือฟังพระสวดด้วยความเคารพ พอพระเริ่มสวดมงคลสูตรขึ้นต้นบท  อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น  เจ้าภาพพึงเข้าไปจุดเทียนน้ำมนต์ที่บาตร หรือครอบน้ำมนต์หน้าพระแล้วประเคนบาตร หรือครอบน้ำมนต์นั้นต่อหัวหน้าสงฆ์ เพื่อท่านจะได้ทำน้ำมนต์ต่อไป

 

          ๑๐. ข้อปฏิบัติวันเลี้ยงพระ ถ้าเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้น การเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ พึงจัดอย่างวันสวดมนต์เย็น เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพร้อมตามเวลาแล้ว เจ้าภาพพึงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระแล้วอาราธนาศีลและรับศีลอย่างเดียวกับวันก่อน เสร็จแล้วไม่ต้องอาราธนาพระปริตร   พระสงฆ์จะเริ่มสวดถวายพรพระเอง   

 

          ถ้ามีการตักบาตรด้วย พึงเริ่มลงมือตักบาตร ขณะพระสงฆ์สวดถึงบท พาหุง ...และให้เสร็จก่อน พระสงฆ์สวดจบ เตรียมยกบาตรและภัตตาหาร มาตั้งไว้ให้พร้อม พอสวดจบก็ประเคนให้ พระฉันได้ทันที ถ้าไม่มีตักบาตรเจ้าภาพก็นั่งประนมมือ ฟังพระสวดไปพอสมควรแล้ว เตรียมตั้งภัตตาหารเมื่อพระสวดจวนจบ  แต่ถ้าเป็นงานวันเดียว คือ สวดมนต์ก่อนฉัน การตระเตรียมต่าง ๆ ก็คงจัดครั้งเดียว พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อน แล้วสวดถวายพรพระต่อท้าย เจ้าภาพพึงนั่งประนมมือฟัง เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทถวายพรพระ จึงเตรียมภัตตาหารไว้ให้พร้อม พอพระสวดจบก็ยกประเคน ได้

 

          สุดท้ายพิธี เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว  ถวายเครื่องไทยธรรม  ต่อนั้น พระสงฆ์ อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยถา...ให้เริ่มกรวดน้ำให้เสร็จก่อนจบบท ยถา... พอพระว่าบท สพฺพีติโย... พร้อมกัน ถึงประนมมือรับพรตลอดไปจนจบ แล้วส่งพระกลับ

 

หมายเหตุ : การถวายข้าวพระพุทธ

 

การเลี้ยงพระในพิธีทำบุญเลี้ยงพระนี้ มีประเพณีโบราณสืบเนื่องกันมานาน อย่างหนึ่ง คือ  ประเพณีถวายข้าวพระพุทธ  เห็นจะเนื่องมาจากถือว่า พระสงฆ์ที่นิมนต์มาฉัน ในพิธีนั้นมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตามหลักพระบาลีที่กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นการถวายภัตตาหาร แก่พระสงฆ์ ก็ต้องถวายองค์ประมุข คือ พระพุทธเจ้าด้วย แม้พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้ว ก็จำต้องทำการถวายต่อพระพักตร์พระพุทธรูป ให้เป็นกิริยาสำเร็จรูปสมตามเจตนานั้น เหตุนี้ ในงานทำบุญ ไม่ว่างานมงคลหรืองานอวมงคล จึงนิยมถวายภัตตาหารแด่พระพุทธรูปด้วย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า  ถวายข้าวพระพุทธ  ถ้าในพิธีมีการตักบาตรก็ต้องตั้งบาตรพระพุทธไว้หัวแถว ด้วยเช่นกัน

ข้าวพระพุทธที่ถวายนั้นนิยมจัดอย่างเดียวกับที่ถวายพระสงฆ์เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ข้าวพระพุทธนั้นตกเป็นของมรรคนายกวัดหรืออุบาสกอุบาสิกาผู้มาในงาน  แต่บางงานเนื่องด้วยที่ จำกัดหรือจะเป็นเพราะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา หรือความง่ายของบุคคลหาไม่ทราบชัด เจ้าภาพจึงมักจัดสำรับพระพุทธเพียงสำรับเล็กๆ ก็มี  

การถวายข้าวพระพุทธนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ  พึงใช้ผ้าขาวปูบนโต๊ะ ที่จะนำมาตั้งรองข้าวพระพุทธ หรือปูบนพื้นราบก็ได้ ตรงหน้าโต๊ะบูชาแล้วตั้งสำรับคาวหวาน พร้อมทั้งข้าวน้ำให้บริบูรณ์บนโต๊ะหรือบนพื้นผ้านั้น เสร็จแล้วจุดธูป ๓ ดอก ปักในกระถางธูป หน้าโต๊ะบูชา นั่งคุกเข่าประนมมือ ตรงหน้าที่ตั้งข้าวพระพุทธและโต๊ะบูชา โดยกล่าวคำถวาย ดังนี้

 

ให้ตั้ง นโม... ๓ จบ แล้วกล่าวคำถวาย ดังนี้

 

            “อิมัง   สูปะพะยัญฺชะนะสัมปันนัง   สาลีนัง  โอทะนัง,   สะอุทะกัง  วะรัง  พุทธัสสะ     ปูเชมิ”    

 

จบแล้วกราบ ๓ ครั้ง ต่อนี้จึงจัดถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ ตามวิธีที่กล่าวแล้ว

 

          เมื่อเสร็จภัตตกิจ(การฉันอาหาร)และพระสงฆ์อนุโมทนาเสร็จจนกลับหมดแล้ว ถ้ามีการเลี้ยงแขกผู้มาในงานต่อก็เป็นหน้าที่ของอุบาสกหรืออุบาสิกา ผู้รู้ธรรมเนียมวัดจะลาข้าวพระพุทธนั้น มารับประทาน การลาข้าวพระพุทธมีนิยมดังนี้  ผู้ลาพึงเข้าไปนั่ง คุกเข่าหน้าสำรับ ที่หน้าโต๊ะบูชานั้น กราบ ๓ ครั้งก่อน แล้วประนมมือกล่าวคำว่า

 

“เสสัง  มังคะลัง  ยาจามิ”   

ยกมือไหว้แล้วยกข้าวพระพุทธออกไปได้เลย

 

สิ่งของที่จำเป็นต้องเตรียมในพิธีทำบุญเลี้ยงพระ 

 

ส่วนที่ ๑  เครื่องบูชาและเครื่องพิธี 

โต๊ะหมู่บูชา, พระพุทธรูป, เชิงเทียน, กระถางธูป, เทียนและธูป, แจกัน, ดอกไม้, เทียนชนวน, ไม้ขีดสำหรับจุดธูปเทียน, สำลีและยาหม่องสำหรับป้ายปลายยอดเทียนและธูป(เพื่อให้ประธานจุดได้ง่าย), ชุดอาหารสำหรับบูชาข้าวพระพุทธ, ขันน้ำมนต์(ใส่น้ำแล้ว), เทียนน้ำมนต์  หญ้าคาประพรมน้ำมนต์,ด้ายสายสิญจน์และที่กรวดน้ำ

ส่วนที่  ๒  เครื่องรับรองและของถวาย

            อาสนะ, ตาลปัตร(โดยมากพระนำมาเองต้องสอบถามตอนนิมนต์), แก้วน้ำ, น้ำ, เครื่องดื่มที่เหมาะสม, กระโถน, กระดาษชำระ, จาน, ช้อน-ซ้อม รวมทั้งช้อนกลาง, โถข้าว, เหยือกน้ำ, ข้าวสวย, แกง, ของหวานหรือผลไม้, เครื่องไทยธรรม เช่น ดอกไม้ , ซองใส่ปัจจัยและอื่นๆ ตามความเหมาะสม

 

ส่วนที่ ๓  เครื่องเสียง

            เครื่องขยายเสียง, ลำโพงตามสมควรแก่งาน, ไมค์(อย่างน้อย ๓ ตัว สำหรับพระรูปที่เป็นหัวหน้า  รูปที่ขัดสัคเคและพิธีกร)

 

สรุปลำดับขั้นตอนพิธีทำบุญเลี้ยงพระ(ที่นิยมในสมัยปัจจุบัน)

 

            การเตรียมพร้อม

 

          ๑.  กำหนดวันเวลาที่เหมาะสม

          ๒. ไปนิมนต์พระและแจ้งวันเวลา  การรับส่ง  รวมทั้งจำนวนพระที่ชัดเจน

          ๓. จัดเตรียมสถานที่

                   -จัดโต๊ะหมู่บูชาและที่วางข้าวพระพุทธ

                   -จัดที่สำหรับปูอาสนะพระและเตรียมที่นั่งสำหรับผู้ร่วมงาน

                   -จัดที่สำหรับฉันภัตตาหารในกรณีมีการถวายอาหาร

                   -จัดที่สำหรับวางสำรับอาหารเพื่อถวายพระ

          ๔.จัดเตรียมเครื่องบูชา  เครื่องรับรอง  และเครื่องเสียงให้พร้อม

 

            การดำเนินพิธีกรรม

 

          ๑.เมื่อพระสงฆ์มาถึง ถวายเครื่องรับรองพระสงฆ์

๒.เมื่อทุกคนพร้อม   เชิญประธานหรือเจ้าภาพ จุดเทียนธูป บูชาพระรัตนตรัย

          ๓.นำกล่าวสักการะพระรัตนตรัย (บท อิมินา  สักกาเรนะ...)

          ๔.นำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย (บท  อะระหัง สัมมา....(กราบ))

          ๕.นำกล่าวอาราธนาศีล ๕

          ๖.สมาทานศีล ๕  (ว่าตามพระจนจบ  โดยตอนที่จบ ไตรสรณคมน์ ถ้าพระกล่าวสรุปว่า “ติสรณคมนัง นิฏฐิตัง”  ให้รับว่า “อามะ ภันเต”

          ๗.กล่าวคำอาราธนาพระปริตร

          ๘.เมื่อพระสวดถึงมงคลสูตร บทว่า  อเสวนา จ พาลานัง... ให้เชิญเจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ แล้วประเคนขันน้ำมนต์ถวายพระรูปที่เป็นหัวหน้า (รูปแรก)

          ๙.เมื่อพระสวดจบ จัดชุดถวายข้าวพระพุทธให้พร้อม

          ๑๐.นำตั้ง นะโม  ๓  จบ  ต่อด้วยกล่าวคำถวายข้าวพระพุทธ (ให้เจ้าภาพประคองไว้หรือวางไว้ปกติแล้วให้เจ้าภาพเข้าไปยกถวายพระพุทธรูป)

          ๑๑.นำกล่าวถวายสังฆทาน (ถ้าอาหารอยู่ไกลที่นั่งพระสงฆ์ หรือจัดไว้ต่างหาก ให้ใช้คำว่า  “เอตานิ  มะยัง ภันเต  แทนคำว่า อิมานิ มะยัง ภันเต  เพราะ  เอตานิ  แปลว่า  เหล่านั่น  หมายถึง ของที่อยู่ในที่ไกล  ส่วน  อิมานิ  แปลว่า  เหล่านี้   หมายถึงที่อยู่เฉพาะหน้า)

          ๑๒.ประเคนภัตตาหาร เฉพาะส่วนอาหารคาวก่อน  เมื่อพระฉันอาหารคาวเสร็จจึงประเคนอาหารหวานหรือผลไม้ต่อ)

          ๑๓. เมื่อพระฉันภัตตาหารเสร็จ  เข้าประเคนไทยธรรม (ดอกไม้ ธูปเทียน  ปัจจัย ...)

         ๑๔. พระสงฆ์อนุโมทนา  ยถา...สัพพี... ผู้ร่วมงาน  กรวดน้ำ ...รับพร

         ๑๖. กราบลาพระ ด้วยบทว่า  อะระหัง สัมมา...

         ๑๗. เสร็จพิธี  จัดเจ้าหน้าที่ส่งพระ

 

หมายเหตุ  พิธีกรรมทุกขั้นตอน  อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่อาจจะมีอุปสรรค ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของพระสงฆ์และพิธีกรต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าอย่างนั้น อย่างนี้  อย่างไหนดี

 

หมายเลขบันทึก: 379292เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ศิริกุล นิพัทธ์โยธิน

ขอบคุณค่ะ ข้อมูลมีประโยชน์มากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท