ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ


คุณค่าจากผู้เชี่ยวชาญคือคำติและชมอย่างสร้างสรรค์

ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ

 

ผู้เชี่ยวชาญที่นักวิจัยตามหา ก็คือบุคคลที่มีความรู้ลุ่มลึกในเรื่องที่นักวิจัยกำลังทำวิจัยอยู่  นักวิจัยแต่ละคน มีความสนใจและทำวิจัยเรื่องต่างๆ แตกต่างกัน   ผู้เชี่ยวชาญที่มองหาก็เป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญต่างกันไป  ความเมตตาที่นักวิจัยต้องการจากผู้เชี่ยวชาญ คือ ปัญญาที่ลึกล้ำ ที่ผู้เชี่ยวชาญจะเผื่อแผ่ให้เป็นคำวิจารณ์ และแนะนำ  นักวิจัยหวังจะนำไปพิจารณาให้เกิดการเรียนรู้ว่าจะปรับแก้งานของตนเองให้มีคุณภาพอย่างไร   โดยหลักการสำคัญของคุณภาพของงานวิชาการหรืองานวิจัย อย่างน้อยต้องประกอบด้วยความถูกต้อง  ความเหมาะสมกับสถานการณ์เฉพาะๆ ในบริบทของงานนั้น และความเป็นไปได้ที่สามารถปฏิบัติ   เกณฑ์ทั้งสามประการนี้ มีรายละเอียดที่ต้องพิจารณากับเนื้องานเป็นกรณี ๆ ไป   โดยธรรมชาติของงานวิจัย เป็นงานที่ใช้ปัญญาขั้นสูงและกระบวนการที่มีระเบียบดำเนินการอย่างเป็นระบบ จึงมักต้องมีความละเอียดในความซับซ้อน  ดังนั้น นักวิจัยจึงหวังพึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น คำแนะนำ และคำรับรอง  เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพของงานนั้น ๆ และเพื่อเป็นหลักฐานแสดงต่อผู้ประเมินหรือผู้สนใจว่าได้ทำการวิจัยอย่างมีแบบแผนน่าเชื่อถือ

งานวิจัยในชั้นเรียน  ครูนักวิจัยจะใช้ทักษะ และประสบการณ์อย่างครูมืออาชีพออกแบบการสอนที่จะพาผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรมพึงประสงค์ตามที่คาดหวัง  เชื่อว่าครูนักวิจัยจะค้นคว้าหาทฤษฏี หรือหลักการที่น่าเชื่อถือ แสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ  จนเกิดปัญญาคิดได้ว่าจะสร้างกิจกรรม หรือ นวตกรรม หรือสื่อการสอนอย่างไรที่สอดคล้องกับจุดประสงค์และเหมาะสมกับธรรมชาติผู้เรียนเป้าหมาย   โดยปกติครูมีโอกาสตรวจสอบความคิดด้วยการลองใช้กับผู้เรียน  ด้วยความตั้งใจจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้  และด้วยการสอนอย่างเป็นปกติ ครูมีโอกาสปรับความคิด เปลี่ยนเทคนิคเพื่อผู้เรียนตลอดเวลา   ถ้าครูติดตามตรวจสอบ ตนเอง จนเกิดการเรียนรู้เท่าทันกับสถานการณ์การเรียนการสอน  การสั่งสมประสบการณ์การสอนเช่นนี้   การทำวิจัยในชั้นเรียนจะไม่ใช่เรื่องลองถูกลองผิดแบบเสี่ยง  แต่เต็มไปด้วยเหตุและผล  ถึงตอนนี้ ครูนักวิจัยอยากจะทำวิจัยในชั้นเรียนของตน  ก็จะสามารถเขียนโครงการวิจัยได้ถูกต้องว่าจะทำอะไร  ทำอย่างไร  เพื่อให้ผู้เรียนได้อะไร  และที่สำคัญที่สุดคือ มีคำถามวิจัยอะไรที่ครูจะตามเก็บข้อมูลมาตอบคำถามวิจัยนั้น

ผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาข้องแวะกับงานวิจัยปฏิบัติการของครูตอนไหน เมื่อไร   โดยทั่วไป นักวิจัยจะขอผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย  2 เหตุการณ์  (1) ความถูกต้องของแบบการปฏิบัติการสอนหรือ แผนการสอน หรือ แผนการพัฒนา  และ (2) ความถูกต้องของเครื่องมือวัดตัวแปรตาม  งานทั้ง 2 นี้ ผู้เชี่ยวชาญจะตอบรับให้ความช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร  ขออภิปรายด้วยการใช้ตัวอย่าง  ขอให้พิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้

1. แผนการเรียนรู้เรื่องการคูณ สอนโดยเพื่อนสอน  และสอนโดยครูสอนเพื่อเปรียบเทียบการสอนของ 2 สถานการณ์

2. แผนการเรียนรู้เรื่องการประหยัดพลังงานด้วยโครงงาน  

3. การพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์เรื่องเพศศึกษา

 

ตัวอย่างที่

ความชัดเจนของงานที่ผู้วิจัย เสนอให้พิจารณา

คุณสมบัติของผู้เชี่ยวชาญ

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ

1

  • ขอบเขตเนื้อหาเรื่อง  การคูณ
  • มโนทัศน์การคูณ
  • พฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวัง
  • หลักการสอนโดยเพื่อนเป็นอย่างไร
  • หลักการสอนโดยครูเป็นอย่างไร

 

  • มีความรู้และประสบการณ์มากในการสอนคณิตฯ ในระดับชั้นหรือช่วงชั้นนั้น รู้ทั้งเนื้อหาและธรรมชาติผู้เรียน
  • เข้าใจ และเห็นความเป็นไปได้ของการสอนโดยครูและเพื่อนเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในแผน
  • เขียนบรรยายความเห็น หรือเป็นคะแนนประเมินตามข้อตกลง เช่น

1 แทน ความถูกต้อง/เหมาะสม

-1 แทน ความไม่ถูกต้อง/ไม่เหมาะสม

0 แทน ความไม่ชัดเจน

ตัวอย่างประเด็นที่พิจารณา

  • ความถูกต้องของมโนทัศน์การคูณ/การประหยัดพลังงาน
  • ความเหมาะสมของการอธิบายและตัวอย่าง
  • ความสอดคล้องของกิจกรรมการสอนกับพฤติกรรมที่คาดหวัง
  • ความเป็นไปได้ของการสอน ในสถานการณ์และสภาพผู้เรียนอย่างปกติ
  • คำแนะนำที่ให้แนวทางเพื่อปรับปรุง

2

  • ขอบเขตเนื้อหา และ มโนทัศน์”การประหยัดพลังงาน”
  • หลักการสอนแบบโครงงาน
  • พฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังจากโครงงาน
    • มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่อง”การประหยัดพลังงาน”
    • มีความรู้ลึกซึ้งเรื่องการสอนโครงงาน และผลจากการเรียนด้วยกิจกรรมโครงงาน
 

3

  • เนื้อหาสาระเรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
  • พฤติกรรมการเรียนรู้ที่คาดหวังจากเรื่องนี้
  • หลักหรือทฤษฎีการเรียนรู้ที่นำมาสร้างลำดับการนำเสนอแผนการเรียนรู้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

 

  • มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่อง”เพศศึกษา”
  • มีความรู้เรื่องธรรมชาติการเรียนรู้เรื่องนี้ของผู้เรียนวัยหรือระดับชั้นนี้
  • มีความรู้การประเมินบทเรียนคอมพิวเตอร์ ทั้งด้านการจัดลำดับเพื่อการเรียนรู้ ด้านเทคนิคทางคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
  • มีความรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์ และด้านศีลธรรม เป็นต้น
  • เช่นเดียวกับตัวอย่าง 1 และ 2 แต่เพิ่มการประเมินความเหมาะสมของสื่อคอมพิวเตอร์ เช่น
  • · ความถูกต้องชัดเจน และลำดับการนำเสนอของคำอธิบาย และภาพประกอบ
  • ตัวอย่างประกอบที่เป็นภาพหรือสถานการณ์
  • · เทคนิคการนำเสนอ เป็นต้น
 

 

จากตัวอย่าง 3 สถานการณ์ พอเห็นการทำงานของทั้งผู้วิจัยและผู้เชี่ยวชาญ  แต่ขอเสนอให้ผู้วิจัยเริ่มต้นก่อนว่า สิ่งที่ต้องทำให้งานมีความชัดเจนเพื่อให้ผู้ที่ถูกเชิญให้เป็นผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาตนเองว่าจะรับงานที่ผู้วิจัยขอร้องหรือไม่  ถ้าผู้วิจัยไม่สามารถให้รายละเอียดในงานวิจัยของตนเอง  ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ควรรับงาน 

หากผู้เชี่ยวชาญมีคุณสมบัติตรงกับงานที่จะรับ ก็อาจจะรับถึงแม้ผู้วิจัยไม่สามารถให้ความชัดเจนในงานของเขา  เพราะผู้เชี่ยวชาญที่มีเมตตาสูงจะช่วยชี้แนวทางการพัฒนา หรือไขข้อบกพร่อง ให้งานมีคุณภาพได้  ขอแต่ว่า ผู้เชี่ยวชาญจะรู้ตัวหรือเปล่าว่าตนเองเชี่ยวชาญหรือไม่

ถ้าได้ผู้เชี่ยวชาญช่วยพิจารณา นับว่าเป็นความโชคดีของผู้วิจัย  ผู้เชี่ยวชาญจะเสนอความเห็นดังตัวอย่างในช่องที่ 3  ความเห็นที่ตรงและสร้างสรรค์ จะแสดงถึงความเป็นตัวตนจริงของผู้เชี่ยวชาญ  ผู้วิจัยจะได้ประโยชน์จากข้อติและข้อชมอย่างมาก ขอให้ผู้วิจัยนำความเห็นไปพัฒนาก่อน  ไม่แนะนำให้รีบหาค่าความสอดคล้องโดยขาดการพิจารณา  ค่าความสอดคล้องอาจไม่สามารถแสดงได้จากการประเมินรอบแรก  เพราะงานวิจัยในชั้นเรียนเป็นงานที่มีความเฉพาะของสถานการณ์การสอนกลุ่มเป้าหมายที่ต้องกำหนดให้เห็นธรรมชาติที่ชัดเจน   ขั้นตอนการพัฒนาแผนการสอน หรือกิจกรรมใดๆ ให้มีความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์การเรียนรู้และธรรมชาติผู้เรียนจึงมีความละเอียด  ถ้าการพิจารณา ผู้เชี่ยวชาญสนใจแต่เนื้อหา หรือ ไม่ให้ความสำคัญกับความหมายของ “ความสอดคล้อง”  “ความเหมาะสม”  และ “ความถูกต้อง”  คะแนนที่แสดงก็ไม่มีคุณค่าแต่อย่างใด

จากที่กล่าวมายืดยาวถึง 3 หน้า ผู้อ่านบางท่านอาจจะงงกับหัวข้อบทความที่ตั้งไว้ “ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ก็ได้  ผู้เขียนขอชี้แจงว่า เป็นความรู้สึกที่เกิดจากการอ่านงานวิจัยจำนวนไม่น้อย ที่เขียนเป็น pattern ดูคล้ายจะลอกเลียนแบบกัน ประมาณว่า

“ผู้วิจัยเขียนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแบบที่สถานศึกษากำหนด แล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้องด้านเทคนิค เนื้อหา ด้านภาษา และด้านการวัดผล แล้วนำมาแก้ไข ก่อนนำไปสอน”

“ผู้วิจัยสร้างแผนการสอนเรื่อง ... ให้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ของการวิจัย โดยเนื้อหาของแผนการสอนเน้นการสอนตามแนวทักษะชีวิตและให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมตามแนวการเรียนรู้แบบมีประสบการณ์ตรง  แล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้อง ความเที่ยงด้านโครงสร้าง ด้านเนื้อหา แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข โดยมีผู้เชี่ยวชาญดังนี้ (1)... (2)...  ... (5)...”

 

สิ่งที่ขาดหายไป คือข้อความที่อธิบายถึงหลักการสอน การจัดกิจกรรม ในแผนปฏิบัติการ และสาระสำคัญดังตัวอย่างในช่องที่ 1 และ ผลการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญก็มีแต่ตัวเลขที่นำมาแสดงค่าความสอดคล้อง (IOC)  ผู้เขียนดูชื่อผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อย ที่ปรากฏอยู่ในรายงาน แล้วลองย้อนถามว่า ถ้าชื่อดังกล่าวเป็นชื่อตัวเราเอง เราจะรู้สึกอย่างไร  คำตอบก็คงจะตอบว่า “ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ”

คราวหน้าจะเสนอการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือเก็บข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ

 

หมายเลขบันทึก: 379204เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2010 13:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 15:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)
นายวรยศ ละม่ายศรี

สวัสดีครับ อาจารย์

ความรู้สึกชวนสงสัยช่วงแรกเมื่อได้อ่านชื่อเรื่องและเนื้อเรื่อง ที่อาจารย์นำเสนอแม้จะเฉลยแล้วว่าเพราะเหตุใดจึงไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่คงติดตามตอนต่อไปว่าจะชัดขึ้น แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์จากที่ได้อ่าน เช่นบทบาท คุณลักษณะ ความรู้ และความสามารถของของผู้เชี่ยวชาญ ก็ดูแล้วว่า การที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือถูกเรียกว่าผู้เชี่ยวชาญได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับและเต็มเปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ อาจารย์ครับในวงการวิชาการของไทยนอกจากการได้เป็นผู้เชี่ยวชาญเนื่องจากได้ตำแหน่งบางตำแหน่ง หรือทำตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว ยังมีแบบอื่นหรือไม่ครับที่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญได้

ด้วยความเคารพอย่างสูง

วรยศ ละม้ายศรี

กราบสวัสดีครับอาจารย์ ที่เป็นที่เคารพ รัก ของบรรดาศิษย์

ผมอ่านและเข้าใจเจตนาของอาจารย์เป็นอย่างดีครับ ส่วนหนึ่งเกิดจากการได้พูดคุยถึงประเด็นนี้มาบ้างแล้วก่อนที่อาจารย์จะเขียนบทความนี้ และในความเป็นจริงทุกวันนี้ผมก็มีโอกาสได้พบ "ผู้เชี่ยวชาญ"หลานท่านครับ จนบางครั้งอดสงสัยไม่ได้ว่า คำว่า"ผู้เชี่ยวชาญ" ที่นักวิจัยมักไปขอลายเซ็นต์นั้น "วัดจากอะไร" บางครั้งเพียงทราบว่าเป็น "ครูชำนาญการพิเศษ" ก็ทาบทามกันมาเป็นผู้เชี่ยวชาญ และคนที่ถูกทาบทามก็มีความชื่นชมยินดี (ภาคภูมิสุด ๆ เพิ่มพูนอัตตาในอัตราเร็วมากกว่าปกติเมื่อเทียบกับตอนที่ยังไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญ) ผมเคยได้อ่านผลการวิพากษ์ของอาจารย์ 3 บางท่าน พบว่า Missconcept เยอะมาก ผู้ที่ปรับปรุงผลงานอ่านข้อสังเกตขากผู้เชี่ยวชาญแล้วปวดหัว พอไปปรึกษาผู้รู้ก็ได้รับข้อเสนอแนะมาอีกแบบหนึ่งซึ่งไม่ตรงกับที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ ถ้าปรับแก้ไม่ตรงกับที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำมา (ซึ่งผิด) ก็จะส่งผลให้ผลงานไม่ผ่าน

ปัญหาเช่นนี้ พบมากใรสังคมไทย บางคนพอแค่มีวุฒิว่าจบปริญญาโท ก็ประกอบอาชีพรับจ้างทำผลงาน ผมมองว่ามันเป็นการทรยศทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่มาเรียนสาขาวิจัย มองว่า เป็นการดูหมิ่นศาสตร์การวิจัยเป็นอย่างสูง (เพราะไปรับจ้างเล่มละ 3-4 หมื่นบาท แล้วทำงานในระยะเวลาไม่ถึงเดือนซึ่งมันเป็นไปได้อย่างไร....) จนบางคนเคนปรามาสผมว่า "เออ...ไปเรียนปริญญาเอกวิจัยก็ดี จบมาจะได้รับจ้างทำผลงานได้" ผมรู้สึกฉุนแต่เฉยไว้ คิดในใจว่า "เขาไม่รู้จักเรา" แต่ก็อดตอบไม่ได้ว่า "ถ้ามาปรึกษาก็ยินดีต้อนรับตลอดเวลา แต่ถ้ามาจ้างเห็นทีจะต้องปิดบ้านหนีกกันละ" คนนี่จริงๆเลยครับ ตัวเองคิดอย่างไรมักจะเหมาว่าผู้อื่นคิดแบบนั้นเสมอ แต่ผมเข้าใจครับ "ว่ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง กรรมเขาเป็นแบบนี้" เลยไม่รู้สึกอะไร

ผู้เชี่ยวชาญแบบที่อาจารย์เป็นนั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ จนกระทั่งผู้ส่งผลงานไม่กล้าส่งให้อ่านเพราะกลัวต้องรื้อทั้งเล่ม ต้องแก้ไขมาก สู้คนอื่น(ที่ไม่เชี่ยวชาญ อ่านไม่ได้)แก้นิดเดียว ส่งเดี๋ยวก็ผ่าน แล้วก็จะไปเป็นผู้เชี่ยวชาญต่อ ผมรู้สึกว่ามันคล้าย ๆโรคติดต่อยังไงไม่รู้ครับ พอผ่านการพิจารณา ฉันก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ ตกลงแล้วมันเป็นจริงหรือไม่ครับ หรือว่าคิดกันไปเอง

"ผู้ไม่เชี่ยวชาญ และไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ"

รุ่งโรจน์ เย็นชัยพฤกษ์

กราบสวัสดีครับอาจารย์ ภาวิณี

ขอแสดงความคิดเห็นเรื่อง ความหมายของผู้เชี่ยวชาญ

ผู้เชี่ยวชาญ นั้น หมายถึง ผู้ที่ชำนาญเป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องและเป็นผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

แต่ยังมีอีกคำหนึ่งที่มาคู่กัน คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหมายถึง ผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการ ซึ่งความต่างของทั้งสอง

คำนั้น ค้นหาในอินเตอร์เนต ไม่เจอที่พูดถึงความแตกต่างของสองคำนี้ แต่เคยได้ยินมาว่า ผู้เชี่ยวชาญไม่จำเป็นต้องจบการศึกษามาในสายงานนั้น แต่ทำงาน และมีความเชี่ยวชาญในสายงานนั้น ก็เลยเป็นผู้เชียวชาญ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย ไมจำเป็นต้องจบวิจัย หรือมีวุฒิเกี่ยวกับวิจัย แต่มีประสบการณ์ มีการทำงานที่เกี่ยวข้อง ก็ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้ว

ส่วน ผู้ทรงฯ น่าจะหมายถึง ผู้ที่เรียนจบมาในสายงานนั้น ก็ต้องมีวุฒิ มีตำแหน่ง ในสายงานนั้น เช่น จบวิจัยมา ถ้าไปรับงานเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับวิจัยก็จะถือว่าเป็นผู้ทรงฯ

ไม่ทราบว่า ถูกต้องหรือเปล่า ลองเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน....

สวัสดีค่ะอาจารย์มาอ่านได้สาระดีๆเข้าใจว่าผู้วิจัยก็เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆได้นะคะ เพียงแต่ว่าให้ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่นอกเหนืองานนี้มาค้นหาความถูกต้องอีกครั้งใช่ไหมค่ะท่านอาจารย์

กราบเรียน อาจารย์ภาวิณีที่เคารพ

จากบทความข้างต้น ทำให้เห็นบทบาทของบุคคล 2 คน คือ ผู้เชี่ยวชาญ : ให้คำวิจารณ์ และแนะนำ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพของงานวิจัย ส่วนผู้วิจัย : ให้ความชัดเจนของงานวิจัยต่อผู้เชี่ยวชาญ ตามความคิดเห็นของตนเองบุคคลทั้งสองนั้นต้องทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำหน้าที่ของตนบกพร่องจะส่งผลต่อกันและกัน....

จะรอติดตามเรื่อง การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือเก็บข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญ ต่อไปค่ะ

กราบสวัสดีอาจารย์ค่ะ

เข้ามาอ่านตามที่อาจารย์ได้เปรยไว้ว่า "ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ" ตอนแรกที่ได้ยินคิดว่า อาจารย์อาจจะเหนื่อย หรือไม่ก็เบื่อกับการอ่านงานวิจัยต่างๆ แล้ว แต่ตอนนี้เข้าใจแล้วค่ะว่าไม่ใช่เพราะความเหนื่อยหรือเบื่อทางกาย แต่น่าจะเป็นเหนื่อยใจกับงานวิจัยที่ผ่านผู้เชี่ยวชาญแต่เหมือนกันไม่ได้ผ่าน อันเนื่องมาจาก งานนั้นๆ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความถูกต้อง เหมาะสม หรือเป็นไปได้ จากความคิด การสร้างสรรค์ ของผู้วิจัยจริงๆ แต่มาจากการลอกกัน แล้วจึงเกิดคำถามต่อมาว่า งานวิจัยเหล่านี้ออกมาได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ขึ้นชื่อว่า ผ่านการกลั่นกรอง ตรวจสอบ ปรับแก้ จากผู้เชี่ยวชาญแล้ว (แถมเป็นชื่อผู้เชี่ยวชาญแบบซ้ำไปซ้ำมาในงานหลายชิ้นอีกต่างหาก...น่าคิดจริงๆ ค่ะ)

ในฐานะที่หนูกำลังทำงานวิจัยอยู่ ก็มีความตั้งใจจะสร้างงานวิจัยจากความคิดและประสบการณ์ของตนเอง

หนูเองก็ยังไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยใดๆ แต่ตอนนี้ก็กำลังดูแลวิทยานิพนธ์อยู่บ้าง เบื้องต้นก็เลือกรับเป็นที่ปรึกษาในเรื่องที่เรามีความรู้จริงๆ และต่อไปก็จะดูแลอย่างรอบคอบไม่ปล่อยปละละเลยค่ะ

ขอบคุณที่อาจารย์ให้แง่คิดดีๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์...ขอแสดงความคิดเห็นแบบอกเขาอกเรานะคะ

ผู้เสนอผลงาน:การเสนอขอผู้เชี่ยวชาญ เป็นเรื่องที่มีความยากลำบากไม่ใช่น้อยเพราะบางรายวิชาหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ยากยิ่ง

ผู้เชี่ยวชาญ: เมื่อให้เกียรติรับเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้เสนอขอมักบู่มบ่ามเร่งรัดให้อ่านให้แก้อย่างรวบรัดตัดตอน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญท่านนั้นๆเกิดความอึดอัดใจไม่ใช่น้อย แต่ไม่เซ็นต์ก็ไม่ได้ด้วยปัจจัยหลายๆประการ เมื่อเซ็นต์ผ่านให้ไปแล้วก้ไปทำอะไรกับงานที่เซนต์ให้ก็ไม่รู้ เพราะไม่ได้นำกลับมาตรวจสอบแก้ไขอีก หายไปเลย

ผู้เสนอผลงาน :สาละวนกับการจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอให้ทันเวลา เรียนก้ไม่ได้จบปริญญาโทมา..แต่ก็เอาเถอะไหนๆลงมือทำแล้วก็ล้อตามเพื่อนไปก็แล้วกัน

ผู้เชี่ยวชาญ:  รอตั้งนานงานที่ให้แก้ทำไมไม่มาเสียที พบกันอีกที...ส่งผลงานเรียบร้อยแล้วค่ะ เป็นอึ้งค่ะ...ครับ...

ผู้เสนอผลงาน : โล่งอกแล้วเรา อย่างน้อยก็ทันส่งล่ะ เรื่องอื่นๆค่อยว่ากัน...

ผู้เชี่ยวชาญ: ป่านนี้ชื่อชั้นคงไปถึงผู้ตรวจแล้วมังหว่า...ทำไงได้ นอกจากทำใจ....

ผู้ตรวจ: เอ้าผลงานชิ้นนี้ผ่านผู้เชี่ยวชาญมาได้ไง.....????????????

ผู้เสนอผลงาน :  มีคำถามค่ะ ครับ ผมไม่ผ่านเพราะไม่ได้จบปริญญาโทใช่ไหม? ผมไม่จบแต่ผมก็ทำเองนะครับ/ค่ะ คนที่ผ่านน่ะไปจ้างเขาทำนะครับ/ค่ะ งวดหน้าไม่ทำแล้ว หมดแรง!!!!!!!

*****************************************************************

 

 

เอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง

เรียน อาจารย์ภาวิณีที่เคารพ

หลังจากได้อ่านบทความเรื่องนี้ทำให้ความคิดเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญกระจ่างขึ้น จึงขอเรียบเรียงความรู้ที่ได้รับ ดังนี้

๑. การทำงานวิจัยใด ๆ หากใช้หลักการประเมินเข้าไปจับ ด้านความเป็นประโยชน์ เป็นไปได้ เหมาะสม ถูกต้อง และตรงตามกรอบเวลา จะเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการคิดหัวข้อวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความเป็นประโยชน์จะแสดงออกถึงคุณค่าของความรู้ที่ได้จากงานวิจัยหากทำสำเร็จ

๒. การเก็บข้อมูลวิจัย เมื่อมีความจำเป็นต้องเก็บข้อมูล เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามวิจัย มักต้องมีการใช้เครื่องมือที่เหมาะสมต่อธรรมชาติของข้อมูลนั้น ๆ โดยเครื่องมือที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นหรือพัฒนาขึ้นย่อมต้องผ่านการตรวจสอบ ติ ชม จากผู้เชี่ยวชาญ อันจะทำให้ความรู้ของผู้วิจัยต่อเรื่องที่ทำการศึกษาสูงขึ้นหากผู้วิจัยยังอ่อนประสบการณ์ หรืออาจทำให้ความรู้ที่คลาดเคลื่อนหายไปหากผู้วิจัยมีความรู้ในเรื่องนั้นดีแล้ว ดังนั้น การตรวจสอบเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญ ย่อมเปรียบได้กับการเรียนรู้โดยใช้เหตุผลจากประสบการณ์ที่กลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดีของผู้เชี่ยวชาญผ่านลงมายังนักวิจัย ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออกแบบการทำวิจัย โดยผู้เชี่ยวชาญจะประเมินในด้านต่าง ๆ ได้ ดังนี้

๒.๑ ความสอดคล้อง ต่อจุดประสงค์และคำถามการวิจัย

๒.๒ ความเป็นไปได้ ต่อการได้มาซึ่งข้อมูลจากการนำเครื่องมือนั้นไปใช้

๒.๓ ความเหมาะสม ต่อธรรมชาติของข้อมูล ต่อสถานที่ เวลา โอกาส และผู้ถูกวิจัย

๒.๔ ความถูกต้องตามทฤษฎี อันเป็นพื้นฐานของการสร้างเครื่องมือนั้น ๆ หรือทฤษฎีอันเป็นพื้นฐานต่อการวิจัยครั้งนั้น

จึงหมายความว่าผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริงควรเป็นผู้ที่มีความรู้สูงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยก็ได้หากมีขอบเขตการวิจัยที่กว้างมาก ซึ่งสามารถชดเชยด้วยการเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

แต่มีข้อสงสัยครับอาจารย์ไม่แน่ใจว่าเข้าใจถูกไหม

ยกตัวอย่างนะครับ ถ้าผมทำงานวิจัยหัวข้อ "การสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มขวัญและกำลังใจของข้าราชการ โดยวิธีวิเคราะห์อภิมาน" เครื่องมือที่ผมทำขึ้นก็ต้องเป็นแบบบันทึกคุณลักษณะงานวิจัย และแบบประเมินคุณภาพงานวิจัย ผู้เชี่ยวชาญที่ผมจะต้องตามหาน่าจะเป็นดังนี้

๑. ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์อภิมาน

๒. ผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพงานวิจัย

๓. ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับงานด้านขวัญและกำลังใจ

ซึ่งแต่ละท่านย่อมมีความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ดังนั้น ควรแยกวิเคราะห์ IOC เป็นรายด้านหรือไม่ ?

หากต้องแยกวิเคราะห์ หากผู้เชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งเห็นต่่างไปจากอีก 2 ด้าน เป็นอย่างมาก จะต้องปรับแก้แล้วตรวจซ้ำจนกว่าจะเห็นตรงกันหรือไม่ ?

ขอคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้อาจารย์แข็งแรง ให้ความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์อันมีค่าให้กับพวกเราไปนาน ๆ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

เอกสิทธิ์ ปิยะแสงทอง

ขอให้อาจารย์มีความสุข กายใจ เป็นที่เคารพรักของทุกคนและของลูกศิษย์สืบไปค้า

อาจารย์จำดิฉันได้ไหมค้า ดิฉันไประชุมที่หัวหินได้ความเมตตาจากอาจารย์ไปหาซื้อกระเป๋าด้วยกันนะคะ ยังระลึกถึงคิดถึงอาจารย์เสมอ สมสุข แสงปราบค่ะ..

มาอ่านบทความชอบมากคะ น้อง ดร. ที่มหาลัยขอนแก่นมาอยู่ฝังตัวเก็บข้อมูล 4 วันเราจึงยินดีช่วยเหมือนอาจารย์ว่าทั้งที่ไม่อยากเป็นแต่สิ่งที่ถ่ายทอดให้เป็นความสุขที่ได้ช่วยเขานะคะคิดถึงอาจารย์มากคะ


 

สวัสดีค่ะอาจารย์ ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมในความเป็นแบบอย่างของผู้วิจัยที่ดีของอาจารย์เป็นอย่างมาก เพราะนิสิตคาดว่า ถ้าไม่ใช่ผู้วิจัยที่ดีและมีความปรารถนาที่อยากจะพัฒนางานวิจัยที่ดีไปสู่สังคมอย่างแท้จริง แล้ว คงไม่มีใครให้ความสำคัญเรื่องนี้ แบบผู้วิจัยที่อาจารย์ได้พบเจอคำว่า ผู้เชี่ยวชาญ นั้นสำหรับนิสิตแล้ว เมื่อส่งงานวิจับให้ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจพิจรณา นิสิตย่อมอยากได้คำวิพากษ์วิจารณ์เพื่อทำการปรับปรุงงานวิจัยของตน มากกว่าค่าตัวเลขเพื่อนำมาคำนวณเท่านั้น แต่นิสิตคาดว่า ที่เ่ราพบปัญหา ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่แท้จริง หรือไม่ใส่ใจในรายละเอียดงาน นิสิตที่ไม่ปรับปรุงงานของตนแม้ได้รับคำวิจารณ์นั้น อาจจะมาจากเงื่อนไขเวลาในการส่งงานที่กระชั้นชิด ความไม่เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงของทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้วิจัย ทำให้ต่อให้ได้รับคำติชม ก็อาจไม่รู้จะพัฒนาแบบการสอนไปในทิศทางไหน การปรับผู้ใหญ่ หรือบรรดาผู้เชี่ยวชาญนั้นอาจจะปรับได้ยาก แต่การปลูกฝังนิสิตให้มีใจรักงานวิจัยที่ตนทำ เพื่อประโยชน์ชองการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อวุฒิการศึกษาที่ได้มาหลังเรียนจบเท่านั้น จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ยังสามารถทำได้ หากผู้วิจัยมีความมุ่งหวังให้งานของตนเป็นงานที่มีประสิทธิภาพ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ย่อมต้องทุ่มเทกำลังของตน เลือกผู้เชี่ยวชาญที่ดี น้อมรับคำติชม และเผื่อเวลาแก้ไขผลงาน น่าจะทำให้ ปัญหาผู้เชี่ยวชาญไม่แท้จริงนี้หมดไปได้ค่ะทั้งนี้นิสิตขอบคุณอาจารย์ที่สร้างกระทู้นี้ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อจะได้พัฒนาปรับปรุงงานวิจัยของตนให้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมในความเป็นแบบอย่างของผู้วิจัยที่ดีของอาจารย์เป็นอย่างมาก เพราะนิสิตคาดว่า ถ้าไม่ใช่ผู้วิจัยที่ดีและมีความปรารถนาที่อยากจะพัฒนางานวิจัยที่ดีไปสู่สังคมอย่างแท้จริง แล้ว คงไม่มีใครให้ความสำคัญเรื่องนี้ แบบผู้วิจัยที่อาจารย์ได้พบเจอ

คำว่า ผู้เชี่ยวชาญ นั้นสำหรับนิสิตแล้ว เมื่อส่งงานวิจับให้ผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจพิจรณา นิสิตย่อมอยากได้คำวิพากษ์วิจารณ์เพื่อทำการปรับปรุงงานวิจัยของตน มากกว่าค่าตัวเลขเพื่อนำมาคำนวณเท่านั้น แต่นิสิตคาดว่า ที่เ่ราพบปัญหา ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่แท้จริง หรือไม่ใส่ใจในรายละเอียดงาน นิสิตที่ไม่ปรับปรุงงานของตนแม้ได้รับคำวิจารณ์นั้น อาจจะมาจากเงื่อนไขเวลาในการส่งงานที่กระชั้นชิด ความไม่เชี่ยวชาญอย่างแท้จริงของทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้วิจัย ทำให้ต่อให้ได้รับคำติชม ก็อาจไม่รู้จะพัฒนาแบบการสอนไปในทิศทางไหน

การปรับผู้ใหญ่ หรือบรรดาผู้เชี่ยวชาญนั้นอาจจะปรับได้ยาก แต่การปลูกฝังนิสิตให้มีใจรักงานวิจัยที่ตนทำ เพื่อประโยชน์ชองการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อวุฒิการศึกษาที่ได้มาหลังเรียนจบเท่านั้น จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ยังสามารถทำได้ หากผู้วิจัยมีความมุ่งหวังให้งานของตนเป็นงานที่มีประสิทธิภาพ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ย่อมต้องทุ่มเทกำลังของตน เลือกผู้เชี่ยวชาญที่ดี น้อมรับคำติชม และเผื่อเวลาแก้ไขผลงาน น่าจะทำให้ ปัญหาผู้เชี่ยวชาญไม่แท้จริงนี้หมดไปได้ค่ะทั้งนี้นิสิตขอบคุณอาจารย์ที่สร้างกระทู้นี้ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคนได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง เพื่อจะได้พัฒนาปรับปรุงงานวิจัยของตนให้ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

ญาณิศา งามสอาด

ดิฉันคงเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากจะตามหาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอความเมตาให้ท่านช่วยแนะนำ วิจารณ์และตรวจสอบงานวิจัยของดิฉันให้มีความถูกต้อง มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถปฏิบัติการวิจัยได้ เพื่อที่จะได้ทำการวิจัยได้อย่างสำเร็จลุล่วง เรียนจบปริญญาโทอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่นอกจากดิฉันจะพิจารณาผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผู้เชี่ยวชาญก็ต้องพิจารณาดิฉันด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญที่นอกจากจะมีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ที่นักวิจัยต้องการแล้ว อาจารย์ยังมีความรับผิดชอบอย่างสูงต่อการลงนามในการรับรองงานวิจัยเพราะถ้างานวิจัยนั้นจัดทำขึ้นมาด้วยการคัดลอกต่อๆ กันมา ไม่ได้จัดทำขึ้นจากความคิดผู้วิจัยเอง การปฏิบัติการทดลองของผู้วิจัยเองและการเขียนรายงานการวิจัยเอง อาจารย์ก็คงไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ดิฉันจะพยายามเป็นนักวิจัยที่ดีนะคะ อาจารย์จะได้เมตตามาเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญให้ดิฉันค่ะ น.ส.ณัฐนิช รัตนสิงห์ รหัส 6214652373 นิสิตปริญญาโทรุ่นที่ 6/2562 สาขาการศึกษาพิเศษ (ภาคพิเศษ)

เรียนอาจารย์ภาวิณีที่เคารพค่ะ ดิฉันเองเกิดความสงสัยไม่ต่างจากคนอื่น ในชื่อบทความที่อาจารย์เขียน แต่พออาจารย์เฉลยในตอนท้ายแล้วรู้สึกเข้าใจอาจารย์มากขึ้น บทความนี้ถึงแม้ว่าจะเขียนขึ้นเมื่อ9ปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระยังคงความเป็นปัจจุบัน ซึ่งดิฉันหมายความว่า ในปัจจุบันยังมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์เขียนไม่มีผิดเพี้ยนค่ะ เมื่อเทียบกับตัวดิฉันเองก็เคยจัดโครงการเพื่อทำตามรูปแบบให้เสร็จทันส่งตามKPI บางครั้งไม่ได้ตรงตามปัญหาบริบทของพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งผลลัพธ์ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และกลับมาคิดทบทวนตัวเองว่าทำไปทำไมกันก็มีค่ะอาจารย์จากบทความอาจารย์ เป็นประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัยระหว่างนิสิตกับผู้เชี่ยวชาญมากค่ะ ทำให้มองภาพรวมตรงกันว่าผู้เชี่ยวชาญและนิสิตต้องการอะไร ในความคิดเห็นของดิฉันคิดว่าการจะทำให้วิจัยออกมามีคุณภาพนั้นทั้งนิสิตและผู้เชี่ยวชาญต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องที่ทำ โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญต้องเป็นผู้รู้ในสาขานั้นสามารถแนะนำนิสิตได้ตรงประเด้น นิสิตเองก็ต้องมีความรู้ในเรื่องการทำวิจัยรูปแบบใด ขั้นตอนที่เป็นระบบ ความรู้ที่ทำบางส่วนบ้าง เพราะเมื่อผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำเพื่อประบปรุงงานเราจะได้ เข้าใจง่ายขึ้น และต่อยอดพัฒนางานให้ดีขึ้นได้ แต่หากนิสิตไม่มีข้อมูลใดเลยหรือมีเพียงน้อยนิด คงต้องหวังความเมตตาจากผู้เชียวชาญแนะนำทางให้กับนิสิตก้าวต่อไปเพื่อฝึกฝนเป็นนักวิจัยที่ดีให้ได้ค่ะ เพราะเชื่อว่าลึกๆแล้วทั้งผู้เชี่ยวชาญและริสิตย่อมหวังว่างานวิจัยที่ทำต้องมีคุณภาพ ไม่เสียพลังแรงกายใจที่ได้ทุ่มเทไป และสามารถเป็นประโยชน์กับผู้อื่นได้ค่ะนางสาวเกศรา เชิงค้า นิสิตปริญญาโท สาขาการศึกษาพิเศษ รุ่นที่6

เรียนอาจารย์ภาวิณีที่เคารพงานวิจัยเป็นงานที่ใช้กระบวนการ การดำเนินการอย้่างมีระบบ มีความละเอียด ซับซ้อน นักวิจัยย่อมหวังพึ่งผู้เชี่ยวชาญ ให้คำแนะนำ รับรองเพื่อเป็นกลักประกันของงานนั้นๆ ว่าเป็นงานที่น่าเชื่อถือ หากครูนักวิจัย ใช้ทักษะ กระบวนการ ประสบการณ์อย่างครูมืออาชีพ ออกแบบการสอนจากการค้นคว้า หาทฤษฎีอ้างอิง แสวงหาความรู้ องค์ความรู้ใหม่ๆมาปรับใช้กับผู้เรียน ให้สอดคล้องกับเนื้อหา วัตถุประสงค์ โดยครูได้ทดลองปฏิบัติจริงกับผู้เรียนนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการสอน มาปรับใช้ลองถูกลองผิด นำไปสู่การทำวิจัยในชั้นเรียน เขียนโครงการวิจัยได้อย่างถูกต้อง ว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร เพื่อให้ผู้เรียนได้อะไร ผู้เชี่ยวชาญจะเข้ามาช่วย ให้คำแนะนำ วิจารณ์ เกิดการเรียนรู้ในการปรับแก้งานของตนเองให้มีคุณภาพต่อไป ซึ่งผู้เชี่ยวชาญน่าจะอยากให้เกิดกรณีครูนักวิจัยแบบนี้มากกว่า ผู้วิจัยเขียนเป็นรูปบบคล้ายๆกัน เช่นเขียนตามแบบที่สถานศึกษากำหนด เขียนตามๆกันมา โดยไม่ได้เกิดจากการสอนที่แท้จริง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญ ที่มาเป็นผู้เชีียวชาญกับงานวิจัยลักษณะนนี่ก็คงไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า”ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ”

เรียนอาจารย์ภาวิณีที่เคารพรักค่ะ นักวิจัยที่ดีต้องหมั่นศึกษาค้นคว้าหาความรู้ อย่างมีระเบียบแบบแผน เพื่อแสวงหาคำตอบสำหรับการวิจัย ในการทำวิจัยนี้ นักวิจัยต้องมีผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคอยให้คำปรึกษา คำแนะนำ และคำรับรอง…จากบทความที่ท่านอาจารย์ได้เขียนไว้ ช่วยทำให้ข้าพเจ้าเกิดความกระจ่างใจ ว่าควรใช้แนวทางใดในการตามหาผู้เชี่ยวชาญ เมื่อก่อนช้าพเจ้าเคยคิดเองว่าการเลือกผู้เชี่ยวชาญนั้น เราสามรถเลือกเองได้ตามความต้องการของเรา ซึ่งแท้จริงแล้ว เราต้องเสนอสิ่งที่ให้ความชัดเจน เพื่อให้ผู้ที่ถูกเชิญมาเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ตัดสินใจ ได้พิจารณาตัวเองว่ามีความเหมาะสมไหม เข้าใจถึงหลักสำคัญของคุณภาพงานวิจัยว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง บทความนี้ได้ให้แนวทางไว้มากมาย ข้าพเจ้าจะนำความรู้และแนวคิดที่ได้รับจาก Blog นี้ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปค่ะ

เรียน อาจารย์ภาวิณีที่เคารพหลังจากได้อ่านบทความเรื่องนี้ทำให้ความคิดเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญกระจ่างขึ้น1.ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆจริงทำให้การพิจารณาเครื่องมือมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ 2.ผู้เชี่ยวชาญมีเวลาในการพิจารณาเครื่องมือมากขึ้น ส่งผลทำให้เกิดข้อดีข้อที่ 1.

งานวิจัยของเรานั้นออกมาดี มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญผู้เชี่ยวชาญก็จะมีเวลาในการพิจารณาเครื่องมือของเราอย่างเต็มที่

เรียนอาจารย์ภาวิณี ค่ะ ดิฉันได้มีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ยังนั่งคิดอยู่เลยค่ะ ว่าโชคดีมากที่อาจารย์ได้กรุณาถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้ อาจารย์พยายามหาวิธีส่งต่อความรู้ให้กับนิสิตและหาวิธีให้นิสิตทุกคนเข้าถึงความรู้นั้นได้ตลอดเวลา โดยไม่เหน็ดเหนื่อย ครูคือครูจริงๆ ครูที่พร้อมจะให้ศิษย์ตลอดเวลา จากบทความข้างต้นที่ได้อ่าน ความรู้คือ เราทำวิจัยเมื่อเราเจอปัญหาและต้องการแก้ปัญหาด้วยวิธีวิจัย เราต้องศึกษาอย่างเป็นระบบ มีระเบียบแบบแผนที่ถูกต้อง และที่สำคัญผู้วิจัยต้องการผู้เชี่ยวชาญในการชี้แนะ ให้คำปรึกษา ที่ถูกต้อง ผู้เชี่ยวชาญจะต้องเป็นผู้มีความรู้ที่ลึกซึ้ง มีปัญญาเฉียบแหลม ผู้วิจัย และ ผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีความเห็นไปในแนวเดียวกัน ร่วมกันวิเคราะห์งานวิจัย เพื่อให้ออกมาเป็นงานวิจัยที่มีคุณภาพ ดิฉันจะตั้งใจเรียนจากความรู้และประสบการณ์ของอาจารย์ค่ะ และตั้งใจจะเป็นครูที่ทำวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อแก้ปัญหาและต่อยอดความรู้ ด้วยผลงานวิจัยของผู้ที่เป็นครูอย่างแท้จริง และที่สำคัญต้องให้สมกับที่เป็นลูกศิษย์ของครูผู้เชี่ยวชาญที่ดิฉันมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างไกล้ชิด นางสาวดวงพร หวังอ้อมกลาง รหัส 6214652381นิสิต ปริญญาโท การศึกษาพิเศษ รุ่นที่ 6

กราบเรียนท่านอาจารย์ขอขอบคุณท่านอาจารย์ ที่ได้เขียนเรื่องนี้ให้กับลูกศิษย์ได้อ่าน จากที่ท่านอาจารย์ได้เขียนเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ดีมากๆ หากผู้เชี่ยวชาญมองแต่ด้านเดียวจนลืมมององค์ประกอบต่างๆที่เป็นส่วนที่จะเติมเต็มให้งานวิจัยที่ทำแต่ละชิ้นออกมาสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญควรมองให้รอบด้าน และรอบรู้สมกับเป็นผู้เชียวชาญ เพราะเมื่อไรที่เราได้มีโอกาสกลับไปดูงานวิจัยที่เราเป็นผู้เชี่ยวชาญเราคงมีความรู้สึกภูมิใจ และดีใจที่มีชื่อในงานวิจัยนั้น 16/08/2562

สวัสดีค่ะอาจารย์ ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบคุณอาจารย์ก่อนนะคะที่มาบอกเล่ากันในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้วนิสิตมักจะมองในมุมที่แคบมาก มักจะเอาเรื่องของความลำบากของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่หลังจากอ่านในสิ่งที่อาจารย์เล่า นิสิตได้เห็นถึงความพยายามของผู้เชี่ยวชาญ ที่พยายามให้เกิดนักวิจัยที่ดีคนหนึ่งขึ้นมา โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างที่อาจารย์เป็นและยังคงเป็นอยู่ตอนนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญในแบบที่นิสิตทุกคนต้องการค่ะ คือพยายามทำความเข้าใจนิสิต เพราะในมุมมองของดิฉันก็ยังต้องการความเมตตาในเรื่องการทำงานควบคู่ไปกับความเมตตาในเรื่องปัญญาตามที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ข้างต้นตอนเกริ่นนำเรื่องค่ะอย่างไรก็ตามดิฉันคิดว่านิสิตทุกคนส่วนได้รับการฝึกฝนการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องค่ะ เพราะถ้าเราไม่ลองผิดลองถูกเลยก็จะทำไม่เป็น ขอขอบคุณกับสิ่งที่อาจารย์พยายามสอดแทรกตลอดการเรียนค่ะจาก ผู้วิจัยที่ยังต้องการการฝึกฝนต่อไปนางสาวสุพิชญา เทพวัลย์ นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ รุ่นที่ 6 (2562)

สวัสดีค่ะอาจารย์ ก่อนอื่นเลยต้องขอขอบคุณอาจารย์ก่อนนะคะที่มาบอกเล่ากันในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ เพราะว่าโดยส่วนตัวแล้วนิสิตมักจะมองในมุมที่แคบมาก มักจะเอาเรื่องของความลำบากของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่หลังจากอ่านในสิ่งที่อาจารย์เล่า นิสิตได้เห็นถึงความพยายามของผู้เชี่ยวชาญ ที่พยายามให้เกิดนักวิจัยที่ดีคนหนึ่งขึ้นมา โดยผู้เชี่ยวชาญอย่างที่อาจารย์เป็นและยังคงเป็นอยู่ตอนนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญในแบบที่นิสิตทุกคนต้องการค่ะ คือพยายามทำความเข้าใจนิสิต เพราะในมุมมองของดิฉันก็ยังต้องการความเมตตาในเรื่องการทำงานควบคู่ไปกับความเมตตาในเรื่องปัญญาตามที่อาจารย์ได้กล่าวไว้ข้างต้นตอนเกริ่นนำเรื่องค่ะอย่างไรก็ตามดิฉันคิดว่านิสิตทุกคนส่วนได้รับการฝึกฝนการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องค่ะ เพราะถ้าเราไม่ลองผิดลองถูกเลยก็จะทำไม่เป็น ขอขอบคุณกับสิ่งที่อาจารย์พยายามสอดแทรกตลอดการเรียนค่ะจาก ผู้วิจัยที่ยังต้องการการฝึกฝนต่อไปนางสาวสุพิชญา เทพวัลย์ นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาการศึกษาพิเศษ รุ่นที่ 6 (2562)

ขอบคุณอาจารย์สำหรับบทความดีดี?

จากการอ่านบทความ “ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ทำให้ตัวนิสิตได้ทราบถึงมุมมองของผู้เชี่ยวชาญว่า มีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการที่ผู้เชี่ยวชาญ ๑ ท่านจะเข้าไปมีส่วนร่วมในงานวิจัย ๑ เรื่อง เช่น ปัจจัยด้านองค์ความรู้ของผู้เชี่ยวชาญในงานวิจัยเรื่องนั้น และ ปัจจัยด้านความสมเหตุสมผล ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของงานวิจัย ที่มาจากความสนใจของผู้วิจัย ปัจจัยในประการแรกที่ทำให้ได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญในงานวิจัย คือ ความเชี่ยวชาญในงานวิจัยนั้น ส่วนประการต่อมา คือ ความเมตตาจากผู้เชี่ยวชาญที่ให้การอนุเคราะห์ในการเติมเต็มในด้านองค์ความรู้ เทคนิควิธีการด้วยการเสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการในงานวิจัยให้มีความถูกต้องและเป็นไปได้ แต่ปัจจัยที่สอง นั้นสำคัญยิ่งกว่า เนื่องจากงานวิจัย ๑ เรื่อง ต้องมีที่มาจากความต้องการของผู้วิจัย และความต้องการนั้นต้องมีความหนักแน่น ชัดเจน ที่ต้องการค้นหาคำตอบเพื่อประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำงานวิจัยชิ้นนั้น ประโยชน์ที่ได้จึงไม่ควรแค่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า ต้องสำเร็จการศึกษาจากการทำงานวิจัย แต่ ประโยชน์ที่กล่าวถึงคือ การได้ช่วยเหลือนักเรียนให้เขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อน ใช้ชีวิตร่วมกับบุคคลอื่นในสังคม ซึ่งในงานวิจัยของตัวนิสิตเองยังมีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น ขอบเขตด้านเนื้อหาในการสอนพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้น ทฤษฎีที่นำมาใช้ในการออกแบบแผนการให้ความช่วยเหลือนักเรียนยังไม่ชัดเจน วิธีการและเทคนิคในการนำแผนไปใช้ให้ความช่วยเหลือนักเรียนด้วย จากที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีหลายอย่างที่ต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมทั้งนี้เพื่อความชัดเจนในงานวิจัยที่ต้องการจะศึกษา ก่อนจะดำเนินการร้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ตรวจสอบความเป็นไปได้ของงานวิจัย แต่ยังมีอีกประการหนึ่งที่ยังคงเป็นความหวังลึกๆคือ หวังว่าจะได้รับโอกาสอันแสนประเสริฐจากผู้เชี่ยวชาญ ที่จะให้การชี้แนะ เติมเต็มงานวิจัยของตัวนิสิตให้มีโอกาสตีพิมพ์เผยแพร่และเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าต่อไป

สวัสดีค่ะอาจารย์ หนูนางสาวปรารถนา ศาลางาม ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อ “ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ตรงนี้จากการที่ได้อ่านข้อคิดเห็นหลายๆข้อคิดเห็น พบว่า ในปัจจุบันคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจะมองว่าตนเองคือผู้ที่เก่งมีความสามารถ เพียงเพราะแค่มีชื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานวิจัยนั้นๆทั้งๆที่แทบไม่ได้อ่านเนื้อหาสาระงานวิจัยใดๆ เลย จึงทำให้ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตว่าในปัจจุบันคนเราต้องการเพียงแค่ภาพลักษณ์และชื่อเสียงมากกว่าความรู้ ความเชีียวชาญที่แท้จริง ทำให้คนที่ความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงยอมแปรเปลี่ยนความคิดไปตามภาพลักษณ์และชื่อเสียงเพราะเป็นสิ่งที่ได้มาได้ง่าย จึงสะท้อนให้เห็นว่าหากในแวดวงการศึกษา หากทุกคนมีทัศนคคติที่แปรเปลี่ยนไป ผลงานวิชาการในอนาคตก็จะเป็นเพียงแค่กองกระดาษที่ไร้ความหมาย

เรียนท่านอาจารย์ที่เคารพค่ะ หนู..สุปราณี มาศวรรณา ค่ะ นิสิต ป.โท การศึกษาพิเศษ โครงการพิเศษ รุ่น 07 หนูได้เข้ามาอ่านหัวข้อนี้เป็นครั้งที่2แล้วค่ะ ซึ่งครั้งแรกไม่ได้เขียน comment แค่สงสัยว่าทำไมอาจารย์ไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ..ซึ่งสำหรับหนูอาจารย์เป็นปรมาจารย์งานวิจัยเลยทีเดียวค่ะ แต่เมื่ออ่านจบแล้วจึงเข้าใจความหมายของหัวข้อนี้ ว่าไม่ต้องการเห็น การเขียนงานวิจัยที่เขียนเลียนแบบกันมาเป็น pattern ที่ว่างานวิจัยต้องมีผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความถูกต้องและเซ็นให้ผ่านเพื่อเรียนจบ แต่ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าของงานวิจัยเรื่องนั้นๆที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง และในฐานศิษย์ของอาจารย์คนหนึ่ง จะนำข้อคิดที่ได้จากการอ่านเรื่องหัวข้อ “ฉันไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ” ไปใช้ในการเขียนงานวิจัยให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนและผู้ที่มีสนใจนำไปต่อยอดได้ และหากต้องให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบงานวิจัยนี้ ต้องอยากอ่านและอยากเป็นผู้เชี่ยวชาญต่อไปค่ะ..ขอบพระคุณค่ะ

ตอนแรกก็ยังไม่เข้าใจกับชื่อหัวข้อ พออ่านจบถึงบางอ้อเลยครับว่าทำไมถึงไม่อยากเป็นผู้เชี่ยวชาญ ขอบคุณความรู้และสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์สำหรับผมมาก ๆ ครับผม ขอบคุณครับ🙏🙏🙏

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท