นปส. 55 (10): ปรับกระบวนทัศน์


"ใครไม่เข้าใจยุคดิจิตอล ก็ไม่สามารถเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือparadigmได้"

๑๐.ปรับกระบวนทัศน์
เข้าสู่สัปดาห์ที่สองของการฝึกอบรมหลักสูตรนักปกครองระดับสูงรุ่นที่ 55 (26-30 เมษายน 2553) เนื้อหาหลักวิชาสว่นใหญ่มุ่งไปที่หมวดวิชาที่ 1 ที่เน้นการปรับกระบวนทัศน์และชุดความคิดของผู้เข้ารับการฝึกอบรม

วันที่ 26 เมษายน 2553 เรียนหัวข้อวิชา "การนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง" กับอาจารย์ธรรมรักษ์ การพิษฐ์ ทั้งวัน ช่วงแรกอาจารย์ให้เราจัดกลุ่มกันออกเป็น 4 กลุ่ม ให้ระดมสมองกันว่า "อยากเห็นข้าราชไทยเป็นอย่างไรในอนาคต ระบบควรเป็นอย่างไร" อาจารย์บอกว่าขอให้ช้วิธีทำกลุ่มโดย " ให้สนทนา (Dialogue) โดยไม่ให้โต้วาที "Debate"กัน" ทางกลุ่มที่ผมสังกัดอยู่ด้วย (แต่ละกลุ่มราว 20-25 คน ค่อนข้างใหญ่) ก็ให้แต่ละคนช่วยกันเสนอความคิดเห็นกันทุกคนแล้วให้ผมเป็นคนจดลงบนกระดาษฟลิบ๊ชาร์ท

เราได้คำตอบว่า ข้าราชการควรมี 4 คุณลักษณะที่สำคัญคือ "เก่ง ดี มีสุข ชีวีพอเพียง (competency, Integrity, Healthy-Happy, sufficiency) ส่วนระบบราชการ เราสรุปเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วข้างในแบ่งออกเป็นรูปสามเหลี่ยม 3 รูปโดยตรงกลางเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับมีฐานเป็นด้านของสี่เหลี่ยมทั้งหมดเป็นบทบาทราชการและด้านข้างเป็นสามเหลี่ยมหัวตั้งมีฐานเป็นด้านของสี่เหลี่ยมคนละครึ่งเป็นบทบาทของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน/เอกชน สรุปคือระบบราชการต้องจิ๋วแต่แจ๋ว (Small but smart)

การนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สามารถสั่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นการระเบิดจากภายใน (Inside out) จึงต้องมองเห็นข้างนอก ยอมรับ และจัดการความเปลี่ยนแปลง (change) ซึ่งต้องรู้ว่าเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนไปไหน เปลี่ยนอย่างไร ส่วนผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องมีวิสัยทัศน์ ไม่ติดอยู่สถานะเดิม(status quo) ทำในสิ่งที่ถูกต้องและมีความฝัน ผู้นำต้องทั้งดีและเก่ง การเปลี่ยนแปลงแบบรวมศูนย์อำนาจสั่งการลงมาไม่ได้แล้ว การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากข้างล่างสู่ข้างบน การใช้ตัวแบบผู้นำ (ข้ามาคนเดียว) หรือElite model ใช้ไม่ได้แล้วในโลกสมัยใหม่ที่สับสนอลหม่านต้องใช้ตัวแบบการมีส่วนร่วม (participatory model)

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่จึง 1)ไม่ใช่แค่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร (know what) แต่ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไร  (know how) ด้วย 2) กระบวนการสำคัญกว่าสาระ 3) ไม่ทำงานในกระดาษ ต้องลงมือทำจริง 4) สรางกระบวนการมีส่วนร่วม 5)สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน 6) ผู้นำต้องนำตัวเองให้ได้ก่อนแล้วมานำพวกเรา

เรามักพบว่า เรารู้ว่าต้องทำอะไร แต่เราไม่รู้จะทำมันอย่างไร ปัญหาจึงไม่ใช่what to do? แต่เป็น How to do? การนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จากคนที่มีภาวะผู้นำ ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งเสมอไป พระพุทธเจ้าlead change ด้วยตัวเอง โลกสมัยใหม่เปลี่ยนเร็วตลอดเวลาเป็นพลวัตหรืออนิจจัง ต้องleading ไม่ใช่ Managing การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดยากถ้าขาดผู้นำ ผู้นำต้องมีผู้ตาม ผู้นำสรางผู้นำต่อเนื่อง ผู้นำที่ดีต้องมีวิธีจูงใจคน ไม่ใช่ว่ากันตามกฎหมายหน้าที่ การเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการ ไม่ใช่การสั่งการแบบเป็นเส้นตรง ต้องมียุทธศาสตร์ มีการเรียนรู้ร่วมกัน ปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ต้องมีการจัดการโดยเน้นเปลี่ยนพฤติกรรมคนไม่ใช่แค่เปลี่ยนเทคนิควิธีการ เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนเครื่องจักร เราเปลี่ยนคนที่มีพฤติกรรม วิธีคิด วิธีทำงาน

หลักการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงคืออย่าควบคุมคนอื่น ต้องให้เขามีส่วนร่วมและช่วยเสริมพลัง ต้องสรางแบบอย่างที่ดี ผู้นำสรางความเชื่อถือศรัทธาเป็นแบบอย่างที่ดี ทำอย่างที่พูด ต้องเข้าถึงคน ถึงลูกถึงคน ต้องขจัดความกลัว ให้อดทนต่อการต่อต้าน สรางชัยชนะระยะสั้นเพื่อเป็นกำลังใจในการขยายผล ต้องส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน และต้องสร้างผู้บุกเบิกสายเลือดใหม่

วันอังคารที่ 27 เมษายน 2553 เป็นการเรียนรู้ในหัวข้อวิชา "ทักษะการคิดอย่างมีประสิทธิภาพ:การคิดเชิงสรางสรรค์" โดยอาจารย์รัศมี ธันยธร ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงในเรื่องการฝึกอบรมความคิดสร้างสรรค์และเป็นลูกศิษย์ของEdward de Brono  เป็นการเรียนรู้ทฤษฏีผ่านการทำกิจกรรมไปตลอดทั้งวัน อาจารย์บอกว่าการทำงานของสมองมักทำตามความคุ้นเคยแบบเดิมๆ อาจารย์ใช้คำว่า "ฝนตกลงมา น้ำไหลเป็นทาง" หากเราจะเปลี่ยนแปลงตนเอง เราต้องเปิดกล่องความคิดใหม่ เพื่อลดความคุ้นเคยแบบเดิมๆ มีกิจกรรมที่พุ่งความสนใจไปที่สิ่งเดียวในเวลาหนึ่งๆ (focus on one thing at a time) และกิจกรรมที่ทำให้เราคิดเชิงบวก ซึ่งเราควรมองสิ่งดีๆในชีวิตที่มีถึง 95% ไม่ใช่มัวไปมองสิ่งไม่ดีซึ่งมีแค่ 5% เท่านั้น

การคิดสร้างสรรค์ เป็นการคิดทำวิธีใหม่ที่ให้ผลเหมือนเดิมหรือดีกว่าเดิมแต่ต้องเป็นกุศลหรือไม่บาป การจะคิดสรางสรรค์ได้ดีคนเราต้องอยู่ในบรรยากาศความคิดสร้างสรรค์คือต้องมีความปลอดภัยทางใจ (Psychological safety and freedom) ต้องรู้สึกสบาย ไม่กลัว ไม่มีการตำหนิ และยอมรับฟังความคิดเห็นกัน

บรรยากาศสร้างสรรค์จะประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลักคือปลอดภัย (ต้องไม่ว่า ไม่วิจารณ์ ยอมรับ พยายามเข้าใจ )และ อิสระ ตัวเราเองก็ต้องสร้างความมั่นใจในตัวเองโดยการนั่งแถวหน้า มองสบตา เดินเร็วขึ้น 25% แสดงความเห็นและยิ้มกว้าง

อาจารย์พูดถึงหลุมพรางความฉลาด (Intelligence trap) ที่เราต้องหลีกเลี่ยงประกอบด้วย โต้,แย้ง (defensive) แน่กว่า,เหนือกว่า (superior) หยิ่ง,ยะโส (arrogent) ลังเล,สงสัย (skeptical) และกล่าวถึงนิวรณ์ 5 หรือทางไปสู๋ความเสื่อมคืออารมณ์เป็นใหญ่ (รักเกิน) ไม่พอใจโกรธหงุดหงิด (ชังเกิน) ขี้เกียจ ง่วงเหงา หาวนอน ซึมหดหู่ท้อแท้ (อ่อนแอเกิน) คิดมาก ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล (ฉลาดเกิน) และสงสัย ลังเล ไม่ฟัง ไม่เชื่อ (โง่เกิน)

การฝึกความคิดเชิงบวกเป็นเรื่องของตัวเรา ใจเราโดยเฉพาะ เมื่อโกรธ อาจารย์แนะให้มีเมตตาโดยให้หยุดโกรธ ให้อภัย...เขา ให้อภัย....ตัวเอง และอวยพร อาจารย์เปรียบเทียบความคิดเชิงลบเป็นเอ๋ 1 และความคิดเชิงบวกเป็นเอ๋ 2

ให้ลดเอ๋ 1 ความคิดเชิงลบ ให้อภัยตนเอง โดยความคิดแบบเอ๋ 1 ได้แก่ ไม่พอใจ ช่างติเตียน/น้อยใจ/สงสารตัวเอง กลัว,วิตกกังวล รู้สึกผิด และแนะนำให้เพิ่มเอ๋ 2 (ความคิดเชิงบวกคือพอใจ, ภูมิใจ ชอบ,ชื่นชม ขอบคุณ,ซึ้งใจ และขอโทษ,ให้อภัย

หลังเรียนจบวิชาก็ได้สรุปบทเรียนออกมาเป็นกลอนง่ายๆ อาจไม่ไพเราะนัก แต่ก็อยากเขียน

"ฝนตกลงมา น้ำไหล เป็นทาง        เป็นตัวอย่าง ความคิด ของสมอง

คิดแบบเก่า เอาแบบคุ้น ไม่กล้าลอง    เราจึงต้อง สร้างบรรยากาศ ไม่ขลาดกลัว

ความคิดสร้างสรรค์ เกิดได้ ไม่ใช่ยาก  แต่ต้องอยาก ปรับเปลี่ยน ไม่เวียนหัว

สร้างอิสระ ปลอดภัย ของใจตัว          ไม่เมามัว กล้าคิด กล้าทดลอง

คนส่วนใหญ่ มุ่งไป ที่คิดลบ              มันจึงกลบ สิ่งดี มีทั้งผอง

ต้องคิดบวก คิดได้ ให้ไตร่ตรอง         จิตไม่หมอง ก้าวข้าวพ้น เจ้าหลุมพราง

ทั้งยะโส ลังเล หยิ่งโต้แย้ง                เหมือนเป็นแรง ผลักสร้างสรรค์ ไว้ข้างหลัง

นิวรณ์ห้า พาใจ เสื่อมพลัง                 ไม่พลาดพลั้ง ดิ้นให้หลุด หยุดให้เป็น

เมื่อทำได้ คิดสร้างสรรค์ ก็ถามหา        เป็นคนกล้า ความมั่นใจ มีให้เห็น

มีเมตตา คิดบวก สิ่งจำเป็น                 มิซ้อนเร้น สร้างสรรค์ได้ ดังใจปอง"

 

พิเชฐ บัญญัติ

26 กรกฎาคม 2553

เวลา 9.36 น. เช้าวันอาสาฬหบูชา

บ้านพักสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก

หมายเลขบันทึก: 378710เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2010 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2019 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีครับ....................

โค้งคำนับนั่งอ่านช่วยสานฝัน

สาระดีมีจุดเด่นเป็นสำคัญ

ชอบสร้างสรรค์เสพหาวิชาการ

                ขยันเขียนเวียนหามาบันทึก


                 เริ่องไม่นึกก็ได้เห็นเป็นแก่นสาร

                 เกิดความคิดติดปัญญาพาเชี่ยวชาญ

                 ประสบการณ์พบเห็นเป็นบทเรียน

                            ธนา นนทพุทธ

                    จักสานอักษรกลอนคิดเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท