ตีตรา..แล้วค่อยว่ากัน


ตีตรา... แล้วค่อยว่ากัน

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่ากิจกรรมที่ทำให้ "จิตตก" มากที่สุด เห็นจะเป็นการอ่านข่าว ฟังข่าว ชมข่าว จากสื่อต่างๆ ทั้งแบบ active ประเภทที่เราเข้าไปสืบ ค้น อ่าน ฟัง เอาเอง และแบบ passive ที่มีคนชงส่งให้มาถึงมือถือบ้าง email บ้าง และเครื่องมือ social network มากมายที่หลวมตัวสมัครเข้าไป บางทีเราก็ได้มองในแง่บวก อืม.. ก็ช่วย update เชื่อมโยงคนที่อยู่ห่างไกล ให้ปรากฏประดุจดั่งมานั่งในห้องเดียวกันได้ ได้ฟัง รับรู้ มุมมองที่แตกต่างมากมาย

แต่ใน package ที่ว่า ไม่เพียงแค่ contents เนื้อหา เรามักจะได้แถม emotion อารมณ์ความรู้สึกของคนสื่อตามติดมาด้วย มากหรือน้อย และด้วย agenda ที่แตกต่างกันไป

สังคมตอนนี้มีประเด็นสำคัญๆที่ปรากฏว่าไม่ได้แก้ไข หรือแก้ไขยากขึ้น เพราะการจะนำมาปูบนโต๊ะ  แผ่บนพื้น ให้ทุกๆคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาช่วยกันมุง มาช่วยกันแก้ปัญหามันยากขึ้น ทั้งนี้และทั้งนั้นมาจากการที่ตัว "ปัญหา" เหล่านี้ สำคัญมาก สำคัญน้อย สำคัญมากที่สุด น้อยที่สุด ถูกนำไป monopoly หรือผูกติดกับอะไรอย่างอื่น นั่นคือการใส่ logo ลงไป

เมื่อวานนี้กับเมื่อวานซืนนี้ ผมได้มีโอกาสไปนั่งในวง dialogue ซึ่งค่อนไปทางการเมืองนิดหน่อย (ฮึ ฮึ ที่จริง ก็น่าสงสัยว่าในยุคปัจจุบันนี้ เราสามารถที่จะพูด "การเมือง" ให้ "นิดหน่อย" ได้จริงหรือไม่) ก็มีอาการและอาการแสดงที่ว่านี้เชิงประจักษ์ให้เราได้ชมเป็นสินค้าตัวอย่างพอสมควร

"เจ้า" แปลว่า "เหลือง"

"ไพร่" แปลว่า "แดง"

"ชั้นกลาง" แปลว่า "เหลือง"

"ปัญหายากจน" แปลว่า "ของแดง"

ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ทำให้ผมไปนึกถึงบทความที่เคยเขียนไว้สองสามที ในเรื่อง Tyrant Route หรือ Inverted-U pathway ของการสนทนา

เดี๋ยวนี้ ไม่รู้เพื่อให้มันง่าย (หรือมันยาก) เราก็มักง่ายที่จะ label สิ่งที่เรากำลังพูดเอาโหมะไว้รวมๆด้วยสัญญลักษณ์อะไรบางประการ เข้าใจว่าคนทั่วๆไปน่าจะรู้และเข้าใจทันที ว่าสัญญลักษณ์นี้หมายถึงอะไรบ้าง สมัยก่อนทางการแพทย์ก็ทำอย่างนี้บ้าง คือเราเรียกเป็น "กลุ่มอาการ" คือ โรคบางโรคมันแสดงออกมาทีนึงได้หลายๆระบบ การวินิจฉััยก็ได้มาเพราะกลุ่มอาการที่ไม่ได้มาระบบเดียว แต่จะมาเป็น package เช่นโรค SLE (systemic lupus erythromatosus) ที่นักร้องดังคุณพุ่่มพวงเป็น ก็จะแสดงออกมาหลากหลายระบบ พอเราจัดหมวดหมู่ปุ๊บ หมอพูดถึงโรคนี้ก็จะเกิดภาพในใจขึ้นมาทันทีว่าคนไข้คนนี้น่าจะมีอาการทางเลือด ทางข้อ ทางไต ทางผิวหนัง ก็ช่วยในการดูแลได้เยอะ ไม่พลาดอะไรไปง่ายๆ

แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที ถ้าเราใช้สัญญลักษณ์แบบเดียวกัน มาตีตราเรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่ได้พิสูจน์ หรือมีหลักฐานว่ามันคือกลุ่มจำเพาะโรคเดียวกัน แต่เราดันมาตีขลุมว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน

เช่น "มะเร็งเต้านมเดี๋ยวนี้ พยากรณ์โรคดีมาก อาจจะอยู่ได้เป็นสิบๆปี"

ซึ่งก็จริง แต่ไม่จริงทั้งหมด เพราะ "มะเร็งเต้านม" ไม่ได้เป็นชื่อจำเพาะของโรคๆเดียว ที่จริงมีหลากหลายเซลล์ต้นแบบ หลากหลายพฤติกรรม รวมทั้งหลากหลายพยากรณ์โรค ตั้งแต่ดีมากไปถึงไม่ค่อยจะดีมาก แต่การให้ "สัญญลักษณ์" แบบตีขลุม จะส่งผลกระทบต่อระบบความคิด การจัดการ การ approach ไปทั้งฝ่ายหมอเอง และฝ่ายคนไข้ด้วย

สมัยก่อน ในทางการเมือง ใครที่ชิง middle ground หรือ "พื้นที่กลางๆ" ได้ จะได้เสียงข้างมาก เพราะคนมักจะไม่ค่อยจะ extreme หรือสุดโต่งกัน ตามทฤษฎีแนวโน้ม ระฆังคว่ำ ที่ 95-97% จะกระจุกตรงกลาง ส่วนน้อยที่จะกระจายไปสุดทางด้านใดด้านหนึ่ง แต่ว่าในยุค tribalism หรือ "เผ่าใคร เผ่ามัน" ตอนนี้จะกลับกลายไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกลไกเป็นไปตาม tyrant route ก็คือ พูดเรื่องอะไร ทำเรื่องอะไรก็ตาม "ของฉัน" มันถูกต้องเสมอ ถูกต้องที่สุด นั่นคือมี One fact / One view มีความจริงเดียว มีมุมมองเดียว (คือของฉัน) ที่ถูกต้อง โดยไม่รู้ตัว เมื่อเราเจอมุมมองที่แตกต่างไป เราก็จะขับไล่ไสส่งออกไปห่างๆตัว ในที่สุด รอบๆตัวเราก็จะเหลือแวดล้อมเฉพาะคนที่เห็นด้วย เห็นเหมือนเราเท่านั้น เรายิ่งก่อเกิด one fact / one view ที่แข็งแกร่งขึ้น ก็ดูสิ "ใครๆ" ก็เห็นเหมือนกับเรา (เพราะเราไล่คนอื่นออกไปหมดแล้วที่เห็นต่าง) เกิดเป็น One Us / One them มีคนแค่สองจำพวกเท่านั้น คือเห็นเหมือนเรา (US) กับเห็นต่างเรา (THEM)

ที่น่าสนใจคือ ถ้าหากเราเดินทางมาถึง stage นี้ ไม่ว่า "เรา" หรือ "เผ่าเรา" พูดอะไร ทำอะไร มันจะพลอยถูก พลอยดีไปหมดทุกอย่าง!! และไม่ว่า"เขา" หรือ "เผ่าเขา" พูดอะไร ทำอะไร มันก็จะพลอยผิด พลอยเลวไปหมดทุกอย่างเช่นกัน  แม้แต่ถ้า "เขา" เกิดทำอะไรที่ดีๆขึ้นมา จะให้เรายอมรับว่าดี ก็ไม่ได้เสียแล้ว จะเกิดความ "คลางแคลงใจ" ขึ้นมาทันที ว่าถึงจะฟังดูดี แต่ไม่น่าจะดี บางทีก็ถึงขนาดยอมรับว่าของเขา "อาจจะถูก" ก็ไม่ได้ เพราะนั้นจะแปลว่า "ของเราท่าจะผิด" ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

สตีเฟน ฮอคิง ผู้ประพันธ์ Brief History of the Universe และ Theory of Everything เคยเขียนไว้ในบทนำของหนังสือเล่มหนึ่งของเขาว่า "บางครั้งที่เขาเสนอความคิดอะไรใหม่ๆ ที่คนส่วนใหญ่อาจจะยังขัดแย้งไม่เห็นด้วยนั้น แทนที่คนเหล่านี้จะมาถกอภิปรายในประเด็นที่ขัดแย้ง กลับไปใช้เวลาถกกันถึงตัวคนพูดแทน ว่าเป็นคนยังไง เสมือนกับว่าเราจะใช้ characters มาทดแทนความถูกผิดหรือเหตุผลได้เลยอย่างไรอย่างนั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ก็เช่นกัน ก่อนที่เราจะอภิปราย พูดคุยกันถึงเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ด้วยเหตุผลบางประการ เราจะต้อง label คนพูดก่อน ว่าอยู่ใน political wing ไหน สีอะไร หลังจากนั้น สิ่งที่จะถูกหรือจะผิด ก็ไม่ได้ขึ้นกับเนื้อหาที่เสนอเท่าไหร่แล้ว คิดอย่างเดียวว่ามันสีเดียวกันเราก็แปลว่าคิดถูก ถ้าคนละสีก็ต้องคิดผิดแน่นอน สังคมเต็มไปด้วยการ stereotyping และ generalization การด่วนสรุป จัดกลุ่มเป็นเผ่า เหล่า หมู่ เราชักจะหมดปัญญาที่จะแยกแยะเรื่องราวเป็นเรื่องๆ เป็นประเด็นๆไป กลับใช้วิธีตีตราก่อนว่าเป็นพวกใคร ถูกหรือผิดก็เป็นไปตามนั้นแทน

"การเหมารวม" ทำให้สะท้อนผิด สะท้อนถูก ทั้งๆที่ทั้งกลุ่มมีคนหลากหลาย ต่างวัตถุประสงค์ ต่าง agenda กัน แต่ถูกเรียกออกมาเหมือนกัน ใครจะบอกว่าเป็นกลาง หรืออยู่ middle ground ก็จะถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพิจารณาแค่ว่า "สีเดียวกันไหม" ถ้าไม่ใช่ แปลได้อย่างเดียวว่าเป็นอีกสีหนึ่ง หมดความสามารถในการไว้วางใจกัน เต็มไปด้วยความหวาดระแวงกัน

เมื่อนำเอาทฤษฎี tyrant route เข้ามาวางดู ปรากฏว่าเป็นสถานการณ์จริงในหลายๆจุดของสังคมตอนนี้ เกิดความกลัวขึ้นมาทันที เพราะในระยะหลังๆของ tyrant route หลังจากเกิด one fact /  one view เกิด one us / one them แล้ว ก็จะเข้าสู่ยุคแห่ง miss-inform, propaganda และ manipulation ขยับไปเรื่อยๆจนถึง extermination คนที่เห็นต่างไปให้หมด

จะแก้ปัญหา หรือขยับบ้านเมืองไปข้างหน้าให้ได้ เราจะต้อง "เลิกตีตรา" และหันเข้าหาประเด็นปัญหาไปให้ถึงรากเหง้าที่มาได้ทุกเรื่อง เพราะเดี๋ยวนี้ พอจะดูข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังรายการอะไร แทนที่จะ focus ไปที่เนื้อหา ก็ต้องตีตราเสียก่อนว่าเป็น "สื่อสีอะไร" ที่เหลือเราก็พร้อมจะเชื่อ จะเกลียด จะฟัง จะด่า ไปโดยอัตโนมัติไปหมด สื่อสีนึงกลายเป็น "ตัวแทนปากเสียง" ของปัญหากลุ่มหนึ่งไปโดยอัตโนมัติ อีกฝ่ายจะไม่มีทางเห็นใจ หรือมองเห็นเข้าใจปัญหาเรื่องนี้ได้ (แต่ "เราเท่านั้น" ที่จะเข้าใจ และเป็นตัวแทนอย่างเต็มภาคภูมิ)

หมายเลขบันทึก: 377470เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2010 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เมื่อก่อนผมชอบดูทีวีแล้วจิตตก (ว่าจะเก็บนะเนี่ย ฮา) ตอนหลังสงสัยว่าทำไมพระป่าห้ามเอาหนังสือพิมพ์เข้าวัด ผมเลยเลิกดูทีวีที่เป็นข่าว เลิกอ่านหนังสือพิมพ์ที่ทำให้จิตตก มีความสุขกับธรรมชาติรอบตัวครับ อาจารย์ การตีตราบ้านเราแก้ไขยาก (ทำให้ผมคิดถึงเรื่องตีตราวัวที่ไร่ ฮา) คนที่ดูข่าวควรดูที่เนื้อหาแบบอาจารย์พูดจริงๆๆด้วยครับ...

ขอบคุณค่ะ..ในวงสนทนาในบรรยากาศแบบนี้.. หลายครั้งจึงขอเป็นฝ่ายนั่งฟังมากกว่าออกความเห็นแบบ " first hand"...บางทีก็ลุกหนีออกไปน่าจะมีความสุขมากกว่ากว่าค่ะ..."วิเวกาปรมาลาภา"..

อ.ขจิตครับ

ปัญหาก็คือ เราสามารถก้มหน้าก้มตาทำงานของเราไป โดยไม่สนใจข่าวสารบ้านเมืองเลยได้หรือไม่ และอย่างไรด้วย

ที่น่าตระหนกตกใจ (บางคนอาจจะเฉยๆ) ก็คือ "ภาษาสื่อ" เดี๋ยวนี้ ที่การ take side เป็นเรื่องปกติไปแล้วนั้น เราก็พลอยเลิกใช้ภาษานำเสนอแบบเป็นกลางๆไปด้วย แต่นิยมใช้ภาษาที่ "กระตุ้นอารมณ์" มากขึ้น และรุนแรงมากขึ้น (นัยว่ารุนแรงเท่าเก่า มันไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นความ "มัน" ได้ เหมือนยาเสพติด ยิ่งเสพ ยิ่งดื้อด้านต้านยา ยิ่งต้องเพิ่ม dose เพิ่มความถี่) แทนที่สัมภาษณ์แล้วคนๆหนึ่ง "พูด" หรือ "แถลงการณ์" ก็จะใช้คำว่า "เย้ย" หรือ "เหิม" หรือ "ก้าบๆ" หรือ "แฉ" ฯลฯ มีแม้กระทั่ง "กระดิกหาง" หรือ "เชลียร์" ฯลฯ

มีการ degrade ความเป็นมนุษย์ลงไปทุกๆวัน ทุกๆชม.

พี่นงนาทครับ

อยากจะลุกแทบทุกครั้ง แต่ในบทบาทฐานะของเรา ก็ต้องนั่งอยู่ ชวนคุยต่อ เพื่อจะเยียวยาบ้าง รับรู้ถึงการรับรู้ของเขาบ้าง ก็เป็นการเจริญสติที่ท้าทายดีเหมือนกันครับ

ปลีกวิเวกมากๆ เดี๋ยวเราจะหลุดไปจากการรับรู้ของคนอื่นๆไปก็ไม่ใคร่ดีเหมือนกัน อาจารย์มหา'ลัยยิ่งถูกกล่าวหาว่าทำงานอยู่บนหอคอยงาช้างอยู่แล้ว ฮึ ฮึ เขาจะหาว่า อะไรกัน แค่นี้ก็ทนฟังไม่ได้แล้ว เห็นสอนห้อยแขวนๆอยู่ปาวๆ อ้าว!!

ขอบคุณค่ะ..มีเสื้อ T-shirt มาฝาก...เผื่อแจกเพื่อนๆด้วยค่ะ..

http://www.okkid.net/activity_motto_annouce.php

ขอบคุณครับ ใส่ได้พอดิบพอดี

อ่านบันทึกของอาจารย์ แล้วคิดถึง คำเหล่านี้ค่ะ

อคติ จริต อุปาทาน และอวิชชา

สรุปกับตัวเองเบื้องต้นว่า ต้อง ฟัง อ่าน คิด อย่างมีสติ ไตร่ตรอง โดยปราศจากอคติ

 

ขอบคุณบันทึกดีนี้ค่ะ

สวัสดีครับคุณภูสุภา

ยากจริง เป็นความท้าทาย และมีแต่จะยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาษาต่างๆที่ใช้ มุ่งไปที่การ provocative ที่อารมณ์ความรู้สึก อารมณ์จะเร็วกว่าการคิดเยอะ และไปง่ายกว่า มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมากกว่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท