เหตุใดการทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของรายวิชาจึงมีความสำคัญยิ่งสำหรับผู้เรียนทีเป็นผู้ใหญ่?


ภาคเรียนที่ผ่านมา ผมได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาหนึ่งในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง หลักสูตรนี้ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่ทำงาน มีครอบครัวแล้ว วิชาที่สอนชื่อวิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน 2 (สปช.2) 

วิชานี้เน้นการพัฒนาชีวิตด้านในหรือคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน เป็นวิชาที่ต่อเนื่องมาจากวิชา สปช.1 ที่เน้นการพัฒนาชีวิตด้านกายภาพ การแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร การวางแผนทางการเงิน การวางแผนใช้หนี้ ที่ดินทำกิน สุขภาพ ฯลฯ

เหตุที่จัดลำดับการเรียนเช่นนี้ก็เพราะเชื่อว่า หากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้รับการจัดการให้เป็นระบบระเบียบ มีแบบมีแผน มีเป้าหมาย มีความหวังได้ในระดับหนึ่งแล้ว การเรียนเรื่องชีวิตด้านในหรือจิตวิญญาณจะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น 

ปีสุดท้ายยังมีวิชา สปช.3 ที่ผู้เรียนจะได้เรียนวิชา สปช.3 ว่าด้วยการพัฒนาอาชีพการงาน ซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของมนุษย์ ที่หากเป็นสัมมาอาชีวะที่ทำด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ก็จะเป็นมงคลแก่ชีวิตและจะประสบแต่ความเจริญทั้งในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว มีความสุขกับการงานที่ทำ

ทั้ง สปช.1 สปช.2 และ สปช.3 ใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมีการทำโครงงานพัฒนาชีวิตตนเองแต่ละด้านเป็นแกนหลัก (Project-based Learning - PBL)

วิชา สปช.2 เป็นวิชาที่ว่าด้วยการรู้จักตนเองและที่เกี่ยวข้องกับการดูแลจิตวิญญาณตนเอง (การรักตนเอง) การอุทิศตน (การรักผู้อื่น) การเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตน (self-esteem) และการพัฒนาตนเองสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (self-actualization) โดยอาศัยทั้งความรู้ทางจิตวิทยาและศาสนามาประกอบการทำกิจกรรมและโครงงาน

ผมได้ให้เวลาในชั้นเรียนครั้งแรกกับการทำความเข้าใจแนวคิดและวัตถุประสงค์ของวิชา โครงสร้างเนื้อหาสาระ วิธีการเรียนรู้ (ผ่านกิจกรรมและโครงงานเป็นหลัก ไม่ใช่บรรยาย) การประเมินผลการเรียน กติกา จรรยา มารยาท และข้อพึงปฏิบัติในการเรียนวิชานี้ ก็ดูเหมือนทุกคนจะเข้าใจ โดยผมใช้วิธีให้นักศึกษาช่วยกันอ่านเค้าโครงการเรียนรู้คนละย่อหน้า หากมีคำถามก็ตอบคำถามหรืออธิบายให้กระจ่าง ซึ่งก็ได้ผลดี นักศึกษาส่วนใหญ่พยายามเปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองตามแนวคิดและแนวปฏิบัติดังกล่าว

ความจริงผมได้ทำอย่างเดียวกันนี้เพื่อช่วยให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเนื้อหาสาระของวิชานี้ด้วย นั่นคือผมขอให้ผู้เรียนช่วยกันอ่านเอกสารประกอบการเรียนและทำความเข้าใจไปพร้อมกันในชั้นเรียน เอกสารประกอบการเรียนวิชานี้มีเพียง 50 หน้า ครอบคลุมแนวคิดสำคัญทั้งทางจิตวิทยาและศาสนา และคำแนะนำในการทำโครงงานพัฒนาบุคลิกภาพตนเองอย่างละเอียดเป็นขั้นเป็นตอน (step-by-step) 

ผมทำเช่นนี้เพราะมีประสบการณ์การสอนนักศึกษาผู้ใหญ่ในไทยมากว่า ๕ ปี พบว่า มีนักศึกษาผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ บางคนไม่อ่านอะไรทั้งสิ้นตั้งแต่เค้าโครงการเรียนรู้ไปจนกระทั่งเอกสารประกอบการเรียน หนังสือเรียน หรือหนังสือที่แนะนำให้อ่านเพื่อเสริมความรู้ แต่สนใจดูวีซีดีที่อาจารย์บรรยาย หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนก็ชอบที่จะถามเอาจากเพื่อนที่อ่านมากกว่าจะอ่านเอง หลายครั้งที่ผมต้องคอยตอบคำถามง่ายๆ ที่เขียนไว้ในเค้าโครงการเรียนรู้แล้ว

สิ่งที่ผมค้นพบระหว่างภาคเรียนและในปลายภาคของภาคเรียนนี้ มีดังนี้ครับ

๑. นักศึกษาส่วนใหญ่เข้าใจในขั้นตอนการทำโครงงานว่าเริ่มต้นจากการคิดหัวข้อโครงงาน (หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมการวิเคราะห์ตนเองแล้ว) เมื่อได้ห้วข้อโครงงานที่สอดคล้องกับแนวคิดของวิชาแล้ว จึงไปพัฒนาเป็นเค้าโครงของโครงงานต่อไป โดยอาจารย์ต้องเห็นชอบหัวข้อก่อนจึงจะไปเขียนเค้าโครงต่อไปได้ มีนักศึกษาจำนวนน้อยที่ไม่เข้าใจ ข้ามไปเขียนเค้าโครงเลย โดยที่อาจารย์ยังไม่ได้ให้เห็นชอบกับหัวข้อที่จะทำ สาเหตุเกิดจากไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนในวันแรก หรือบางคนเข้าเรียนวันแรกแต่มาช่วงที่ผ่านการทำความเข้าใจเรื่องนี้กันไปแล้ว ผมเองก็ไม่ได้ "สอนเสริม" ผู้ที่ไม่ได้มาเรียนหรือมาสายด้วย

ที่ต้องให้อาจารย์ให้ความเห็นชอบก่อนเพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า นักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่างวิชา สปช.1 กับ สปช.2 จึงเสนอหัวข้อประเภทปลูกผักสวนครัว การประหยัด การออม การดูแลสุขภาพ หรือการเลิกอบายมุข แทนที่จะเป็นโครงงานประเภทฝึกการตรงต่อเวลา ฝึกรักษาสัญญา ฝึกนิสัยความซื่อสัตย์-ไม่หลอกลวงตนเองและคนอื่น ฝึกรัก-เมตตา-อภัยตนเองและคนอื่น ฝึกจดจ่อกับการงานตรงหน้า ฝึกทำอะไรให้เสร็จทีละอย่าง-ไม่คิดแต่โครงการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาทั้งที่โครงการเก่ามากมายก็ยังไม่เสร็จ ฝึกลงมือทำทันที-ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ฝึกลดความใจร้อนโดยเดินให้ช้าลง ขับรถให้ช้าลง เคี้ยวอาหารให้ช้าลง ฯลฯ สาเหตุเกิดจากไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนในวันแรก หรือบางคนเข้าเรียนวันแรกแต่มาช่วงที่ผ่านการทำความเข้าใจเรื่องนี้กันไปแล้ว

๒. แม้แต่นักศึกษาที่เข้าใจแนวคิดและวัตถุประสงค์ของวิชา สปช.2 ก็ใช่ว่าจะสามารถเขียนชื่อหัวข้อโครงงานแล้วอาจารย์อ่านเข้าใจทุกคน อันนี้ก็เป็นหน้าที่อาจารย์ช่วยชี้แนะให้ไปแก้ไขมาให้อ่านเข้าใจได้ง่าย

๓. มีนักศึกษาหลายคนที่ผมสัมภาษณ์ในชั้นเรียนพร้อมสังเกตได้ว่า เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมากในชีวิตเขา ตัวอย่างเช่น

- นักศึกษาที่มีของกิจการของตนเองคนหนึ่ง ทำโครงงาน "ลดความใจร้อนด้วยการฟังคนอื่นอย่างสงบ" เขาบอกเหตุที่ทำให้เขาเลือกทำโครงงานนี้โดยเล่าเรื่องสะเทือนใจเรื่องหนึ่งให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนฟังว่า เขาเพิ่งใช้ไม้เบสบอลทุบตีทำร้ายลูกจ้างคนหนึ่งเจ็บสาหัสถึงขั้นต้องส่งโรงพยาบาล เมื่อจับได้ว่าลูกจ้างคนนั้นเป็นผู้ขโมยของไปขายหลายครั้ง เขาเสียใจกับเหตุการณ์นั้น และกับอีกหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน เมื่อทำโครงงานนี้แล้วเขาพบตนเองเปลี่ยนแปลงไป เขาเล่าเรื่องหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นก่อนวันนำเสนอผลของโครงงานว่า ลูกน้องคนหนึ่งขับรถไปเฉี่ยวรถคนอื่นที่จอดอยู่ข้างทาง เจ้าของรถสืบทราบว่ารถใครมาเฉี่ยว โทรศัพท์มาหาเขา เขาบอกว่าหากเป็นเมื่อก่อน ลูกน้องคนนั้นคง "โดนอัด" แต่ครั้งนี้เขาเลือกที่จะเรียกลูกน้องมาสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาให้อภัย และบอกว่าต่อไปให้บอกเขาทันทีที่มีอุบัติเหตุแม้เพียงเล็กน้อย แล้วเขาก็โทรศัพท์ไปบอกเจ้าของรถคันที่ถูกเฉี่ยวว่า "ขอโทษ" เขาพร้อมจะชดใช้ค่าเสียหายให้ทั้งหมด ขอให้แจ้งมาว่าเท่าไร แต่เขาต้องพบกับความแปลกใจเมื่อเจ้าของรถฟังเสียงเขาแล้ว บอกว่า "ไม่เป็นไร" เรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ทำให้เขาตั้งใจที่จะ "ฟัง" เสียง "หัวใจ" ของผู้อื่นมากขึ้น จากที่ไม่ใคร่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ก็สนใจขึ้น ผมบอกเขาขณะสัมภาษณ์ในชั้นเรียนว่า เขากำลังปลดปล่อยความเมตตาและความกรุณาที่หลับไหลอยู่ในส่วนลึกของจิตใจเขาให้ได้แสดงตัวออกมา แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการแสดงความเมตตากรุณาเป็นเรื่องเดียวกับการทำอะไรเพื่อเอาใจผู้อื่น คนที่มีจิตเมตตาไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมเอาอกเอาใจใคร

ผมประทับใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเขามาก จึงไม่แปลกใจที่ได้รับโทรศัพท์จากเขาหลังสิ้นสุดภาคเรียนไปได้เพียงสัปดาห์เดียว เขาโทรมาปรารภกับผมว่า เขาเกรงว่าสิ่งดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในตัวเขาจะมอดไป มีหนังสือหรือกิจกรรมอะไรที่จะทำให้เขาอยู่ใน "กระแส" แห่งการพัฒนาชีวิตด้านในนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมก็แนะนำว่าให้ปฏิบัติโครงงานที่ทำมาตลอดภาคการศึกษาที่ผ่านมานี้ต่อไปเถิด ผมจะแนะนำกิจกรรมฝึกอบรมหรือสัมมนาที่เหมาะกับเขาให้ พร้อมให้หนังสือเขา 2 เล่มที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่การก้าวเดินต่อไป(สู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น)ของเขา 

- คนที่ทำโครงงานตรงต่อเวลาคนหนึ่ง ชื่อโครงงานเขาคือ "ไปถึงที่นัดหมายก่อนเวลา ๑๐ นาที" เขียนไว้ในรายงานผลโครงงานว่า ขณะทำโครงงานนี้ เขารู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ทำท่าว่าจะไปไม่ทันนัดไม่ว่าจะนัดกับภรรยา หรือไปรับส่งลูกที่โรงเรียนผิดเวลา รวมทั้งการมาเรียนของตนเอง แต่ก็มีน้อยครั้งลงเรื่อยๆ ที่เขาไปไม่ทัน ในวิชาผม เขาปรากฏตัวที่ห้องเรียนเป็นคนแรกๆ เสมอ ผมทราบเพราะผมไปถึงห้องเรียนก่อนเวลาเสมอ เขาเองก็บอกว่าเขาเผื่อเวลาไว้เสมอ และเสียใจที่บางครั้งไปไม่ทัน แต่เขาก็ไม่แก้ตัวแล้ว แต่ก่อนเขามีข้ออ้างมีคำแก้ตัวมาอธิบายสารพัด (ทั้งที่ไม่มีใครถาม) แววตาเขาเป็นประกายในวันนำเสนอผลโครงงานขณะที่เล่าว่าลูกและภรรยาได้บอกเขาว่าเขาเปลี่ยนแปลงไป ผมก็บอกเขาว่า คนเราเปลี่ยนได้เพียงเรื่องเดียวก็ยิ่งใหญ่แล้ว ในวิชา สปช.1 นักศึกษาที่ลดละอบายมุขได้เพียงเรื่องเดียว ไม่ว่าจะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกการพนัน เลิกเที่ยว เลิกเจ้าชู้ ล้วนพบกับความสุขบางอย่างในชีวิต ถ้าเปลี่ยนแปลงได้สองอย่างนับเป็นอัศจรรย์ จากการสังเกตของผม การทำดีก็คล้ายการทำชั่ว เมื่อเริ่มออกเดินก้าวแรกได้แล้ว ยากที่จะหยุดได้ ขณะนี้ "บัญชีเครดิตแห่งการเป็นบุคคลน่าเชื่อถือ" ได้เปิดขึ้นแล้ว เขาได้รับความเชื่อถือมากขึ้นจากสมาชิกในครอบครัว ในที่ทำงาน ต่อไปก็จะได้รับความเชื่อถือจากทุกคนที่เขาสัมพันธ์ด้วย และจากเครดิตเรื่องเดียวก็จะพัฒนาไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย 

- อีกคนหนึ่งเป็นสุภาพสตรี ทำโครงงานนับหนึ่งถึงร้อยค่อยพูด เธอเล่าในชั้นเรียนถึงความทุกข์ของเธอที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี นั่นคือเธอต้องอารมณ์เสียขึ้นเสียงกับลูกแทบทุกเช้ากว่าที่จะปลุกลูกอายุไม่ถึง 10 ขวบให้ลุกจากเตียงได้ ลุกขึ้นมาแล้วกว่าจะอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียนได้ก็ยืดยาดแล้วยืดยาดอีก บางครั้งต้องใช้กำลังฉุดกระชากลากตัวให้ทำโน่นทำนี่ บางครั้งที่โมโหมากๆ ก็เผลอตะคอกด้วยเสียงดังหรือแม้กระทั่งทุบทีก็เคย แต่...ทั้งหมดนี้ไม่เคยได้ผล ไม่ทำให้พฤติกรรมของลูกเปลี่ยนแปลงไป นับวันความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกมีแต่เลวลง ผมถามว่า เมื่อเข้าใจว่าวิธีการ "บังคับควบคุม" ไม่ได้ผล แล้วทำอย่างไร เธอบอกว่า ก่อนที่จะหลุดคำพูดตำหนิหรือด่าว่าลูก หากนึกขึ้นมาได้หรือ "รู้สึกตัว" ว่ากำลังทำโครงงานฝึกฝนตนเองอยู่ก็จะนับหนึ่งถึงร้อยในใจ เธอพบว่า บางครั้งเพียงเสี้ยววินาทีที่นับ บางครั้งไม่ต้องถึงร้อย ใจเธอก็สงบลง ซึ่งส่งผลให้วาจาและกายสงบลงด้วย ผมแนะนำให้เธอลองใช้วิธี "บอกอารมณ์ความรู้สึก" ที่กำลังเกิดขึ้นในตัวเธอและเธอสามารถเห็นมันนั้นแก่ลูก แทนการ "แสดงอารมณ์" (หงุดหงิด โมโห โกรธ) ออกไปผ่านวาจาและการกระทำ เพราะการที่เธออยากให้ลูกมีระเบียบวินัยนั้นเกิดจากความรักที่เธอมีต่อลูก และคาดหวังให้เขาเป็นคนที่มีระเบียบวินัยดี (อย่างเธอ?) แต่กลับแสดงออกด้วยการบังคับควบคุม ผมตั้งคำถามว่า ในโลกนี้มีใครบังคับควบคุมใครได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า? แม้แต่ตัวเราเองแต่ละคนยังไม่สามารถบังคับควบคุมตนเองได้เสมอไป

ในวันนำเสนอรายงานผลของโครงงาน เธอเล่าในชั้นเรียนว่า ความสัมพันธ์ของเธอกับลูกดีขึ้นมากหลังจากทำโครงงานนี้เมื่อได้ไปทำตามที่ผมแนะนำ ผมขอให้เธอเล่าว่าทำอย่างไร เธอบอกว่าเมื่อโมโหขึ้นมาก็นึกถึงโครงงานนับหนึ่งถึงร้อย ไม่แสดงอารมณ์โกรธออกไปทันที รอจนเมื่อตั้งหลักได้แล้ว สงบลงแล้ว เธอก็จะกอดลูกด้วยความรัก พร้อมบอกลูกว่า ใจแม่ไม่สงบ มีความทุกข์ แม่กังวลว่าลูกจะไปโรงเรียนสาย แม่ก็จะไปทำงานสายด้วย จึงขอร้องให้ลูกลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัว ผลปรากฏว่าลูกยินดีทำตามคำขอของแม่ แม้บางครั้งจะขอบิดขี้เกียจสักพักหนึ่งก่อน หลังจากนั้น เธอพบปรากฏการณ์ที่สร้างความประหลาดใจอีกหลายเรื่องระหว่างเธอกับลูก เช่นเย็นวันก่อนที่เธอจะมานำเสนอผลของโครงงาน ลูกบอกว่าหลังเลิกเรียนเขาจะขอถ่ายรูปกับแม่ เขารักแม่ ผมเชื่อว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ได้ฟังพร้อมกันในวันนั้นได้ความประทับจากเรื่องเล่าเล็กๆ ดีๆ นี้ของเธอ และได้แรงบันดาลใจบางอย่างที่จะนำไปประยุกต์กับครอบครัวตน

- นักศึกษาสตรีอีกคนหนึ่งทำโครงงานสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ชื่อโครงงานของเธอคือ "ฝึกบอกความต้องการของข้าพเจ้าต่อผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมา" เธอทำงานในสถานประกอบการด้านสุขภาพแห่งหนึ่ง ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีแม้สักครั้งเดียวที่จะถกเถียงกับใครแม้ไม่เห็นด้วย อีกทั้งไม่เคยแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมสังเกตว่าในชั้นเรียนเธอก็ไม่เคยพูดอะไร ผมเคยถามเธอด้วยคำถามเดิมๆ 2 ครั้ง เธอก็ไม่เคยตอบ บางทีอาจเพราะคำถามบางข้อของผมอาจไม่ใช่คำถามที่เธอสามารถตอบได้ในทันทีทันใด เช่น เหตุใดบางคนจึงเชื่อมั่นในคนอื่นได้ มีอยู่คนเดียวที่เราไม่สามารถเชื่อมั่นได้คือตนเอง? หรือ เธอคิดว่าตนเองน่าจะหนักไปทางจริตใดในจริต ๖? ผมมักนำโปสเตอร์ที่พิมพ์ด้วยไวนิลขนาด 80x120 ซ.ม. ไปแขวนที่ผนังห้องเรียนเป็นสื่ออ้างอิงประกอบการสอนด้วยทุกครั้ง โปสเตอร์ที่ผมทำไว้มีหลายแผ่นโดยสรุปแนวคิดสำคัญๆ จากเอกสารประกอบการเรียนเป็นแผนภูมิ เป็นภาพ หรือเป็นข้อความสั้นๆ หนึ่งในนั้นคือ จริต ๖ อันเป็นแนวคิดเรื่องประเภทของคนที่พระเถระในพุทธศาสนาถ่ายทอดมา เธอได้แต่มองโปสเตอร์นั้นแล้วก็เงียบไปนาน ความเงียบทำให้ผมต้องพูดออกมาเองว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องตอบก็ได้ครับ ผมเพียงแต่ถามให้เธอได้คิดเท่านั้นเอง การตอบตนเองได้สำคัญกว่าตอบอาจารย์มาก ได้คำตอบแล้วไม่ต้องบอกผมก็ได้ 

เมื่อสิ้นสุดภาคเรียน ผมได้อ่านบันทึกที่เธอเขียนระหว่างการปฏิบัติโครงงานแล้วจึงได้เข้าใจความรู้สึกในใจเธอ รู้สึกทึ่ง และรู้สึกประทับใจในความบริสุทธิ์ใจ ความใสซื่อ และความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากความกลัวที่ครอบงำเธอมาตลอดชีวิต (35 ปี) เช่น 

  • "13 พฤษภาคม วันนี้ตั้งใจจะฝึกการสร้างมั่นใจด้วยการต่อรองราคากับแม่ค้าในตลาด แต่แม่ค้าไม่ยอมลดราคาให้..." ผมอ่านแล้วจึงได้รู้ว่า สำหรับบางคน แม้แต่การเอ่ยปากต่อรองราคากับแม่ค้าก็ต้องรวบรวมความกล้าหาญเป็นอย่างมาก เรื่องการต่อรองกับแม่ค้านี้ยังปรากฏในบันทึกวันอื่นๆ ด้วย ดังบันทึกของเธอในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา "26 พฤษภาคม วันนี้มีตลาดนัดแถวบ้าน ตั้งใจจะฝึกต่อรองราคากับแม่ค้า รู้สึกสนุกกับการได้พูดคุยและต่อรองราคา มันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ต่อรองแล้วไม่ได้ก็ไม่เห็นจะเป็นไร อย่างน้อยเราก็มีความกล้ามากขึ้น" สำหรับผม เธอประสบความสำเร็จแล้ว นั่นคือ เธอสามารถปลดปล่อยคุณธรรมอันหนึ่งที่หลับไหลอยู่ในจิตใต้สำนึกมากว่า 30 ปีออกมาได้ นั่นคือ ความกล้าหาญ
  • "16 พฤษภาคม วันนี้เรียนวิชาผู้นำนันทนาการ ต้องออกมานำเล่นเกม ร้องเพลงแสดงท่าทาง รู้สึกตื่นเต้นและกังวล...สูดลมหายใจลึกๆ นึกถึงคำขวัญในโครงงาน สังเกตเพื่อนๆ ก็สนุกสนาน หัวเราะ รู้สึกภาคภูมิใจในการกล้าแสดงออกของตนเอง" ผมรู้สึกยินดีที่เธอได้นำเทคนิคการอยู่นิ่งๆ แล้วหายใจลึกๆ ช้าๆ ที่ผมเชิญชวนนักศึกษาให้ร่วมกันฝึกกันบ่อยๆ ทุกครั้งที่พบกันในชั้นเรียนก่อนเริ่มกิจกรรมการเรียนการสอน ผมเรียกกิจกรรมนี้ว่า การฝึกสมาธิสั้น 2 นาที เทคนิคนี้ช่วยให้จิตใจเราสงบลงได้เมื่อเราต้องเผชิญเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ปกติหรือที่เราไม่คุ้นเคย
  • "17 พฤษภาคม วันนี้ที่ทำงานมีประชุมแผนก มีบางประเด็นที่เรามีความคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่น จึงรวบรวมความกล้า ยกมือขออนุญาตพูด ที่ประชุมรับฟังและขอนำไปพิจารณา" สำหรับผมแล้ว นี่คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง นั่นคือการชนะความกลัวของตัวเอง ความกลัวที่ครอบงำจิตใจเธอมาค่อนชีวิต เมื่อกล้าที่จะยกมือแสดงความคิดเห็นเป็นครั้งแรก ก็ย่อมจะมีครั้งต่อๆ ไป การที่คนๆ หนึ่งจะปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากความกลัวบางอย่างที่ครอบงำตนมานานนับแต่เยาว์วัย ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมสามารถจินตนาถึงความสุขของคนที่ได้สัมผัสกับอิสรภาพบางอย่างเป็นครั้งแรกอย่างเธอได้
  • "18 พฤษภาคม หลังเลิกงาน เพื่อนมานั่งรอหน้าบ้าน บอกว่ามีเรื่องจะปรึกษา รู้สึกเป็นเกียรติมากที่เพื่อนไว้วางใจ หลังจากฟังเพื่อนเล่าอย่างสงบ แล้วให้คำแนะนำเท่าที่สามารถทำได้ รู้สึกภูมิใจตนเองที่เพื่อนมองเห็นคุณค่าในตัวเรา" ผมอ่านแล้วถึงกับกลั้นน้ำตาแห่งความยินดีไปกับเธอไว้ไม่อยู่ ข้อความนี้เปิดเผยให้เห็นสิ่งที่ในวิชาการจิตวิทยาเรียกว่า การเห็นคุณค่าตนเอง (self-esteem) ที่เป็นประเด็นปัญหาของนักศึกษาผู้ใหญ่จำนวนมากที่ผมได้พบ

เรื่องราวของนักศึกษาสตรีที่ดูเงียบๆ และขี้กังวลคนนี้ สร้างความประหลาดใจให้ผมมากในปลายภาคเรียน ผมไม่ค่อยได้พบพัฒนาการด้านการเห็นคุณค่าตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง พบกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง ที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้มากนัก ก็หวังว่าประสบการณ์จากการฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนแปลงตนของเธอจากการเรียนรู้ในวิชานี้ จะเป็นก้าวแรกให้เธอได้มีก้าวที่สองต่อไป วางใจในตนเองมากขึ้น กล้าหาญขึ้น มีพลังมากขึ้นในการแสดงความรู้สึก การบอกความต้องการของตนต่อคนอื่นอย่างตรงไปตรงมา ตามชื่อโครงงานของเธอ หวังว่าเธอจะสามารถก้าวเดิน เติบโตต่อไปสู่การกลายเป็น (becoming) มนุษย์ที่รู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ (self-actualization) หรือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น (more fully human) ต่อไป 

นักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมที่สนใจด้านการพัฒนาทางจิตวิญญาณ (คำ จิตวิญญาณ นี้ ผมหมายความอย่างเดียวกับคำ จิตตปัญญา) บางคนเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมจิตที่บริสุทธื์ เราสงบมากขณะอยู่ในครรภ์มารดา เราซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่แท้จริงของเรา เราวางใจในตนเองและคนอื่น เราไม่หลอกลวงใคร เช่นที่เด็กกล้าร้องไห้เสียงดัง ขณะที่ผู้ใหญ่จำนวนมากอายที่จะให้ใครเห็นน้ำตาตน เมื่อเกิดมาใหม่ๆ เราไม่มีความกลัวใดๆ การเติบโตขึ้นมาในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมได้ค่อยๆ ทำให้เรา "กลายเป็น" บางสิ่งบางอย่างที่เป็นเราอยู่ในขณะนี้ โดยเราหลายคนได้หลงลืมความสงบ ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญที่ยังคงดำรงอยู่ในตัวเราไป การพัฒนาตนตามแนวคิดนี้ก็คือการพยายามหาทางเชื่อมโยงกับความดีงามที่อยู่ในจิตใต้สำนึกเราอยู่แล้วนี้ให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เปิดโอกาสให้ความดีงามเหล่านี้ได้เบ่งบานขึ้นมาในจิตสำนึกใหม่ นักจิตวิทยาแนวนี้บางท่านเรียกจิตเดิมแท้นี้ว่า บ้าน (home) การพัฒนาตนเองตามแนวนี้เปรียบเสมือนการหาทาง "กลับบ้าน" ให้พบนั่นเอง มนุษย์ที่พบทางกลับบ้านจะพบกับความสุขทางใจ ซึ่งเป็นความสุขแท้ที่ลึกล้ำมาก ต่างจากความสุขที่เกิดจากการได้รับการสนองตอบต่อความต้องการจากวัตถุหรือปัจจัยภายนอกทั้งมวล ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเรียกจิตเดิมแท้ของมนุษย์น้ว่า จิตประภัสสร ซึ่งหมายถึง จิตที่งดงาม

ผมขออวยพรให้นักศึกษาท่านนี้และท่านอื่นๆ ที่ทุกข์ทรมาณกับความกลัว ความเก็บกด จากการไม่สามารถวางใจในตนเอง(และผู้อื่น ซึ่งในทางจิตวิทยาเชื่อว่าพัฒนาการมาตั้งแต่วัยเด็ก) ได้รับเปลี่ยนแปลงไปจนสามารถกลับถึง "บ้าน" หรือสามารถเชื่อมโยงกับจิตเดิมแท้ที่ดีงามของตนได้ในที่สุด

- มีนักศึกษาสตรีคนหนึ่ง ทำโครงงานเดินให้ช้าลง เนื่องจากพบว่าตนเป็นคนซุ่มซ่าม เดินชนหรือเตะนั่นเตะนี่บ่อย ผมพอใจโครงงานนี้มาก เพราะการปฏิบัติโครงงานเดินช้าลงนี้ จะว่าไปแล้วก็คือการฝึกทำอะไรอย่าง "รู้ตัว" ในชีวิตประจำวันนั่นเอง เป็นการเจริญสติอยู่ในทุกๆ ขณะที่รู้สึกตัวขึ้นมา เป็นการฝึก "อยู่กับปัจจุบันขณะ" โดยไม่ต้องไปฝึกสมถกรรมฐานในสถานปฏิบัติธรรม เธอเล่าว่า ขณะไปซื้อของกับครอบครัว ด้วยความใจร้อนเธอเดินนำทิ้งทุกคนอยู่ข้างหลัง สามีได้เตือนไม่ ทำโครงงานอยู่ไม่ใช่หรือ ทำให้เธอหยุด แล้วเดินช้าๆ ไปพร้อมกับครอบครัว เธอบอกว่า เป็นวันหนึ่งที่เธอมีความสุขมาก คนที่ทำโครงงานเคี้ยวช้า หรือขับรถช้าคนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ล้วนได้ฝึกการมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวตามแนวนี้ และต่างก็ได้พบกับความสุขสงบบางอย่าง

๔. ผมพบว่า นักศึกษาที่พบว่าตนเองมีธาตุไฟสูงที่ทำโครงงานลดความใจร้อนด้วยการเคี้ยวอาหารให้ช้าลงบางคน รายงานว่า สุขภาพเขาดีขึ้น โรคปวดท้อง ท้องอืดหายไป ไม่ต้องกินยา ไม่ต้องไปหาหมออีก ผมพยายามอ่านในรายงานและถามในขณะนำเสนอผลของโครงงานด้วยวาจาแล้ว ก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงความหมายของการทำอะไรช้าลงกับมิติด้านจิตวิญญาณได้ เช่นเดียวกับคนที่ทำโครงงานขับรถช้าลงไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมงบางคนก็รายงานแต่ว่าเขาประหยัดน้ำมันไปได้เท่าไร ตนเอง ครอบครัว และผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ปลอดภัยขึ้นอย่างไรบ้าง แต่ไม่พบอะไรในรายงานเขาที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น เหตุการณ์ที่เขาได้สัมผัสกับความสุขสงบ ความรัก ความเมตตา การให้อภัย หรือการได้ "กลับบ้าน" นักศึกษาที่ทำโครงงานแล้วได้ผลหนักไปในทางวิชา สปช.๑ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับชีวิตทางกายภายหรือปัจจัยภายนอกเช่นนี้ ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของวิชา สปช.2 หรืออาจถือว่าผลที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นเพียง "ผลพลอยได้" ของการทำโครงงานพัฒนาบุคลิกภาพตนเอง หาใช่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของวิชา สปช.2 ไม่ เมื่อได้ตรวจสอบแล้วก็พบว่า นักศึกษาที่ไม่สามารถ "เข้าถึง" วัตถุประสงค์ของวิชานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าเรียนในครั้งแรก และครั้งต่อๆ มาก็มาบ้างไม่มาบ้าง คนที่ตลอดทั้งภาคเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งก็มักจะตกอยู่ในสภาพนี้เช่นเดียวกัน

๕. ปรากฏการณ์หนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้ผมในการสอนภาคการศึกษานี้อีกเรื่องหนึ่งคือ การสอบวัดความรู้จากการอ่านเอกสารประกอบการเรียนในปลายภาค ซึ่งมีคะแนนเพียง 10 คะแนน นักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่ค่อยมาเรียน หรือมาเรียนได้นิดหน่อยก็มาขออนุญาตลาไปทำงาน เพราะเขาทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ อันเป็นวันเรียนของหลักสูตรนี้ เขามาปรากฏตัวในวันสอบแต่ได้ขออนญาตลากลับไปเข้าเวรทำงาน เพราะได้ฝากเพื่อนอยู่เวรแทนไว้ และเพื่อนก็มีธุระจะต้องออกไปจากที่ทำงาน พร้อมบอกว่าจะทำข้อสอบที่บ้านส่งให้ผมทางอีเมล์ ผมก็งงๆ ถามเขากลับไปว่า รู้ได้อย่างไรครับว่าจะเป็นการสอบแบบเปิดหนังสือดูได้ เขาก็ทำท่างงๆ กลับมาเช่นกัน แล้วก็รีบกลับไปทำงาน ความคิดของผมที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้คือ มีนักศึกษาจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจว่าหลักสูตรในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตที่เน้นการเรียนโดย "เรียนมากสอนน้อย" "ไม่เรียนแบบท่องจำความรู้" "เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง" นี้ ไม่ได้หมายความว่า จะเรียนยังไงก็ได้ เรียนอย่างไรก็จบ สถาบันการศึกษาทุกแห่งจำเป็นต้องจัดการศึกษาให้มีคุณภาพตามกรอบตามเกณฑ์มาตรฐานที่แต่ละมหาวิทยาลัยตั้งไว้

คำ "เรียนมากสอนน้อย" ในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต หมายถึง ผู้สอนมีบทบาทเป็น "ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้" มากกว่าเป็น "ผู้บรรยายความรู้" การบรรยายอาจมีบ้างเท่าที่จำเป็น การสอนโดยวิธีจัดกระบวนการเรียนรู้เป็นงานที่ยากและต้องการเวลาและความพยายามมากกว่าการสอนโดยวิธีการบรรยายความรู้มาก และกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งในโครงการนี้ก็คือ "การแลกเปลี่ยนเรียนรู้" ระหว่างนักศึกษาผู้ใหญ่ที่ต่างมีประสบการณ์ นำเอาประสบการณ์จากการการปฏิบัติ การทดลองต่างๆ ของแต่ละคนมาแบ่งปันกัน มาร่วมกันสร้างความรู้ใหม่ นักศึกษาบางคนยังมีมโนทัศน์เกี่ยวกับการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้อย่างเดียวกับการเรียนในมหาวิทยาลัยที่สอนแบบตลาดวิชา คือ เพียงแต่ทำรายงานส่งให้ครบ แล้วอ่านหนังสือไปสอบให้ผ่านโดยไม่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนก็ได้

เรื่องที่ทำให้ผมแปลกใจยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ผมพบว่า นักศึกษาที่มีมโนทัศน์เช่นนี้บางคนเป็นคนเรียนเก่ง มีความสามารถในการฟัง การอ่านจับความสำคัญได้ดี วิเคราะห์ และสรุปได้ดี เขียนรายงานได้ดี สามารถคิดอย่างเป็นระบบ น่าจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยากหากเขาได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยที่จัดระบบการศึกษาแบบไม่ต้องเข้าชั้นเรียนก็ได้ดังกล่าว

แต่...ผู้ที่ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนได้ในวันเสาร์-อาทิตย์ได้ด้วยเหตุเพราะต้องทำงาน ไม่เหมาะที่จะเรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต เพราะเรียนแล้วอาจได้แต่เนื้อหาสาระในเชิงความรู้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้งได้ การเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้งหมายถึง เรียนแล้วชีวิตส่วนตัว ครอบครัว และชุมชนที่ตนอาศัยอยู่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้น หรือที่ในศาสตร์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ (Andragogy) เรียกว่าการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ซึ่งต่างจากการเรียนเพื่อทราบข้อมูลความรู้ (Informative Learning) และการเรียนเพื่อให้เกิดทักษะ (Skill Learning) ทั้งนี้ ผมไม่ได้หมายความว่าการเรียนเพื่อทราบข้อมูลความรู้ หรือการเรียนเพื่อฝึกทักษะต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถไปประกอบอาชีพได้นั้นไม่ดี เพียงแต่ทั้งสองอย่างนั้นต่างจากการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงในชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ชุมชน ตลอดถึงการเปลี่ยนแปลงสังคม (social change) อันเป็นจุดประสงค์ที่สำคัญของโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต

เคยมีผู้สมัครเข้าเรียนในโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตคนหนึ่งถามผมว่า เขามีงานเยอะ จำเป็นต้องทำวันเสาร์-อาทิตย์ด้วย แต่อยากเรียน จะเข้ามาเป็นนักศึกษาโดยแค่ทำรายส่งและอ่านหนังสือ หรือฟังเล็คเชอร์ของอาจารย์ที่ฝากเพื่อนอัดเทป แล้วมาสอบเท่านั้นได้ไหม ผมตอบโดยไม่ลังเลอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ได้ เพราะโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตไม่เน้นการบรรยายความรู้ในตำรา ที่เราไม่แน่ใจว่าสอดคล้องกับท้องถิ่นหรือไม่ อีกทั้งไม่แน่ใจจะล้าสมัยหรือไม่ แต่เน้นการสร้างความรู้ใหม่ผ่านการปฏิบัติ การทดลองในชีวิตจริงในท้องถิ่นเรา แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผมบอกว่า การต้องการศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องดี แต่ขอแนะนำให้ผู้ต้องการเรียนที่มีปัญหาด้านเวลา ไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ได้ ไปสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัยเปิด ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียน 

๖. ความไม่เข้าในในวัตถุประสงค์ของวิชา ยังแสดงออกในรายงานของนักศึกษาที่ลอกรายงานกันมาส่ง ในภาคนี้มีคนไม่ได้เข้าสอบ 3 คน คนหนึ่งคือคนที่ผมกล่าวถึงไปแล้ว อีกสองคน คนหนึ่งติดไปต่างประเทศ อีกคนหนึ่งติดภารกิจบางอย่าง ผมจึงให้แต่ละคนไปอ่านเอกสารประกอบการเรียนวิชานี้ (เพราะที่สอบไปก็เป็นการทดสอบความรู้จากการอ่านแนวคิดสำคัญในเอกสารนั้นนั่นเอง) ปรากฏว่าคนที่มาในวันสอบแล้วแต่ลากลับไปก่อน ส่งมาก่อนทางอีเมล์เป็นคนแรก อีกสัปดาห์ต่อมาอีกสองคนส่งมาทางไปรษณีย์ ปรากฏว่าของทั้งสองคนเหมือนกันทุกคำทุกประโยคทุกย่อหน้า ทำให้ผมทราบว่ารายงานทั้งสองฉบับพิมพ์ออกมาจากไฟล์เดียวกัน ยกเว้นหน้าปกที่มีชื่อผู้ทำรายงานและหน้าคำนำ เมื่อตรวจสอบกับที่ได้รับทางอีเมล์ของคนแรกที่ส่งมาเมื่อสัปดาห์ก่อนก็พบว่าเหมือนกันอีก จึงสรุปได้ว่า ทั้ง 3 คน ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของวิชานี้ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้พัฒนาตนเองในด้านจิตวิญญาณ คุณธรรม จริยธรรม ให้ได้สัมผัสกับคุณงามความดีต่างๆ ที่มีอยู่ในจิตใจแต่ละคนอยู่แล้ว เมื่อตรวจสอบก็พบว่าทั้ง 3 ท่านไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนในวันแรก และเข้าร่วมกิจกรรมในระหว่างภาคเรียนน้อยมาก และผมเองก็บกพร่องที่ไม่ได้ใส่ใจในการช่วยให้เขาเข้าใจในวัตถุประสงค์ของวิชานี้อย่างเพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของรายวิชาจึงมีความสำคัญยิ่ง

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
17 ก.ค.2553 

หมายเลขบันทึก: 376275เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 20:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วิชา สปช.2 เป็นวิชาที่ว่าด้วยการรู้จักตนเองและที่เกี่ยวข้องกับการดูแลจิตวิญญาณตนเอง (การรักตนเอง) การอุทิศตน (การรักผู้อื่น) การเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตน (self-esteem) และการพัฒนาตนเองสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (self-actualization) โดยอาศัยทั้งความรู้ทางจิตวิทยาและศาสนามาประกอบการทำกิจกรรมและโครงงาน

ประสบการณ์จากการฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนแปลงตนของเธอจากการเรียนรู้ในวิชานี้ จะเป็นก้าวแรกให้เธอได้มีก้าวที่สองต่อไป วางใจในตนเองมากขึ้น กล้าหาญขึ้น มีพลังมากขึ้นในการแสดงความรู้สึก การบอกความต้องการของตนต่อคนอื่นอย่างตรงไปตรงมา ตามชื่อโครงงานของเธอ หวังว่าเธอจะสามารถก้าวเดิน เติบโตต่อไปสู่การกลายเป็น (becoming) มนุษย์ที่รู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ (self-actualization) หรือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น (more fully human) ต่อไป 

น่ายินดี  ชื่นใจกับทบาทของโครงการมหาวิทยาลัยชีวิตจังเลย

ขอบคุณกับการบอกเล่าเรื่องราวที่ดีๆครับ

ขอบคุณอาจารย์สุรเชษฐที่ถ่ายทอดเรื่องราวดีๆออกมาตีแผ่ให้เราได้รับชมครับเเละขอบคุณอาจารย์ที่คอยให้โอกาสกับคนที่ด้อยโอกาสครับเป็นเรื่ื่องราวที่ดีครับสมควรแชร์ต่อไปนะครับ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท