สมศักดิ์
พระ สมศักดิ์ ศักดิ์ อินทร์ดี

การทอดกฐิน


การทอดกฐิน  เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงกลางเดือน 12 คำว่า กฐิน แปลว่า กรอบไม้หรือสะดึงสำหรับขึงผ้าเย็บจีวรของภิกษุการทอดกฐิน คือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป แล้วให้พระสงฆ์รูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมายจากคณะสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอกฉันท์ ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น

                การที่มีประเพณีการทอดกฐิน มีเรื่องว่า ในครั้งพุทธกาลภิกษุชาวปาไถยรัฐ (ปาวา) ผู้ถือธุดงค์จำนวน 30 รูป เดินทางไกลไปไม่ทันวันเข้าพรรษา โดยเหลือระยะทางอีก 6 โยชน์จะถึงพระนครสาวัตถี จึงตกลงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอดไตรมาส (สามเดือน) ครั้นออกพรรษาแล้วจึงพากันเดินทางไปเฝ้าสมเด็จพระบรมศาสดา ณ เชตวันมหาวิหาร พระนครสาวัตถี ในระยะทางที่เดินทางไปนั้นฝนกำลังตกชุกอยู่ ภิกษุเหล่านั้นมีจีวรเก่า เปื้อนโคลนและเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ได้รับความลำบากตรากตรำมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือน กรานกฐินได้ และให้ได้รับอานิสงส์ 5 ประการ คือ

                1. เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา

                2. ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ

                3. ฉันคณะโภชน์และปรัมปรโภชน์ได้

                4. ทรงอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา

                5. จีวรอันเกิดขึ้น ณ ที่นั้นจะได้แก่พวกเธอ และได้ขยายเขตอานิสงส์ 5 อีก 4 เดือน นับแต่กรานกฐินแล้วจนวันกฐินเดาะ เรียกว่า มาติกา 8 คือ การกำหนดวันสิ้นสุดที่จะได้จีวร คือ

                (1) กำหนดด้วยหลีกไป                      (2) กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ

                (3) กำหนดด้วยตกลงใจ                     (4) กำหนดด้วยผ้าเสียหาย

                (5) กำหนดด้วยได้ยินข่าว                  (6) กำหนดด้วยสิ้นหวัง

                (7) กำหนดด้วยล่วงเขต                      (8)  กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน

                ฉะนั้น เมื่อครบวันกำหนดกฐินเดาะแล้ว ภิกษุก็หมดสิทธิ์ต้องรักษาวินัยต่อไป พระสงฆ์จึงรับผ้ากฐินหลังออกพรรษาไปแล้ว 1 เดือน ได้ ดังนั้น จึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ การทอดกฐินในปัจจุบัน ถือว่าเป็นทานพิเศษ จัดเป็นกาลทาน กำหนดเวลาปีหนึ่งทอดถวายได้เพียงครั้งเดียว และตามอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ พอกำหนดได้ว่า ชนิดของกฐินมี 2 ลักษณะ คือ

                จุลกฐิน คือ อาศัยความเคร่งครัดรีบด่วนในการทำจีวร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทจะละเลยมิได้ ถือเป็นสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนด วันหนึ่งทำฝ้ายปั่น กรอ ทอ ตัด เย็บ ย้อมทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัย แล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น

                มหากฐิน  คือ อาศัย ปัจจัยไทยธรรมบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน เพื่อจะได้ส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัดเพื่อพัฒนาความเจริญ คือ ทำนวกรรมบ้าง ซ่อมแซมบูรณะของเก่าบ้าง ทุกวันนี้นิยมเรียกว่ากฐินสามัคคี

                การทอดกฐินในเมืองไทย ปัจจุบันแบ่งออกตามประเภทของวัดที่จะไปทอด คือ พระอารามหลวงผ้ากฐินทานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปราชทานด้วยพระองค์เอง หรือ โปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้ จัดด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เรียกว่า กฐินของหลวง และบางทีก็เสด็จไปพระราชทานยังวัดราษฎร์ด้วย นิยมเรียกว่า กฐินต้นและผ้ากฐินทาน

                นอกจากที่ได้รับกฐินของหลวงโดยตรงแล้ว และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศ์ ข้าราชบริพารส่วนราชการ สมาคม หรือเอกชนให้ไปทอด รัฐบาลโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจะจัดผ้าพระกฐินทานและเครื่องกฐินถวายไป ผู้ได้รับพระราชทานอาจถวายจตุปัจจัยหรือเงิน ทำบุญที่วัดนั้นโดยเสด็จในกฐินพระราชทานได้ตามศรัทธา ตามความสามารถ

                ส่วนวัดราษฎร์ทั่วไป พระราชวงศ์ ข้าราชบริพาร ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน หรือคณะบุคคลจะไปทอดหรือรวมกันไปทอด โดยการจองล่วงหน้าไว้ก่อนตั้งแต่ในพรรษา ก่อนจะเข้าเทศกาลกฐิน วัดใดถ้าไม่มีผู้จอง เมื่อ ใกล้เทศกาลกฐิน ประชาชน ทายกทายิกาแห่งวัดนั้นก็จะรวบรวมกันจัดการทอดกฐิน ณ วัดนั้นในเทศกาลกฐิน

 

การทำบุญงานอวมงคล

การทำบุญงานอวมงคล หมายถึง การทำบุญที่เกี่ยวกับเรื่องการตาย นิยมทำกันอยู่ 2 อย่าง คือ

                ทำบุญหน้าศพ  ที่เรียกกันว่า ทำบุญ 7 วัน 50 วัน 100 วัน หรือทำบุญหน้าวันปลงศพ

                ทำบุญอัฐิ หรือทำบุญปรารภการตายของบรรพบุรุษ ในวันคล้ายวันตายของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว

                ประเพณีเกี่ยวกับการตายมีทำแตกต่างกันมากน้อยตามท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ โดยเฉพาะคนไทยพุทธเมื่อถึงแก่กรรม บุตรธิดา ภรรยา หรือสามีและญาติมิตรสหายจะร่วมกันจัดงานศพ มีพิธีทำบุญที่เรียกว่าทำบุญงานอวมงคล คือ งานทำบุญหน้าศพ และงานทำบุญอัฐิ ทั้งนี้เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ถึงแก่กรรมไปแล้วตามคตินิยมของชาวไทยพุทธ ประเพณีเกี่ยวกับการตาย ได้แก่ การจัดการศพ การสวดอภิธรรม การทำบุญ 7 วัน 50 วัน 100 วัน การฌาปนกิจ และการทำบุญอัฐิหรือการทำบุญในวันคล้ายวันตายของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว ประเพณีดังกล่าวนี้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

การจัดการศพ

               การจัดการศพ เริ่มจากการอาบน้ำศพ การตั้งศพ การสวดอภิธรรม พิธีเหล่านี้นิยมทำที่บ้านของผู้ตาย แต่ในปัจจุบันคนในเมืองนิยมทำกันที่วัด วัดใดวัดหนึ่งอาจเป็นวัดใกล้บ้านหรือวัดที่ท่านผู้ตายหรือครอบครัวของท่านผู้ตายสนิทสนมกับเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่แห่งวัดนั้นช่วยเหลือ

การทำบุญ 7 วัน 50 วัน 100 วัน

                พิธีทำบุญ 7 วัน เรียกว่า สัตตมวาร นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 8 รูปเท่านั้น ไม่นิมนต์นอกเหนือไปจากนี้ เพราะถือว่างานศพเป็นงานอวมงคล  การจัดของไทยทานก็จัด 8 ที่ และในที่บางแห่งอาจมีการจัดสังฆทานประเภทมตกภัตด้วย คือ บรรจุสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นของแห้ง เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม กะปิ น้ำปลา ผลไม้ เสื่อ ร่ม ฯลฯ ใส่ลงในชามอ่างกะละมังหรือกระบุง พอพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วจึงถวายคำถวายสังฆทานส่วนมตกภัตมีคำว่า อิมานิ มยํ ภนฺเต มกตภติตานิ สปริวารานิ ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุ โน ภนฺเต ภิกฺขุสงฺโฆ อิมานิ มกตภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากญฺเจว มาตาปิตุอาทีนญฺจ ญาตกานํ กาลกตานํ ทีฆรตฺตํ หิตาย สขาย ฯ

                พิธีทำบุญ 50 วัน เรียกว่า ปัญญาสมวาร 100 วัน เรียกว่า สตวาร หรือวันครบรอบวันตายของท่านผู้ตาย นิยมนิมนต์พระ 10 รูปเป็นส่วนมาก พิธีนี้นิยมทอดผ้าบังสุกุลด้วย จึงควรเตรียมผ้าสำหรับบังสุกุลไว้ด้วยจะเป็นผ้าขาว ผ้าเหลือง สบง จีวร ผ้าผลัดอาบน้ำ  หรือผ้าเช็ดหน้าก็ได้

หมายเลขบันทึก: 375942เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท