สมศักดิ์
พระ สมศักดิ์ ศักดิ์ อินทร์ดี

มรรยาทชาวพุทธ


การประเคนของแด่พระภิกษุ

                การประเคนของแด่พระภิกษุ คือ การถวายของให้พระได้รับถึงมือ ของที่ประเคนนั้นต้องเป็นของที่คนเดียวพอยกได้อย่างธรรมดา ไม่ใช่ของหนักหรือใหญ่โตจนเกินไป ไม่มีวัตถุอนามาส คือ เงินทอง หรือของกะไหล่ด้วยเงินแท้ปนอยู่ด้วย เพราะเป็นของไม่เหมาะแก่ภาวะของพระที่จะรับได้ และถ้าเป็นของเคี้ยวของฉันต้องประเคนได้เฉพาะกาล นอกกาล คือ เวลาวิกาล ตั้งแต่เที่ยงแล้วไปจนถึงย่ำรุ่งวันใหม่ไม่ควรนำมาประเคน

วิธีประเคนนั้นให้พึงปฏิบัติ  ดังนี้

                1. พึงนำมาประเคนเข้าไปให้ใกล้พระผู้รับ ประมาณ 1 ศอก ไม่ถึงศอกหรือไม่เกินศอกคืบก็ได้ จะนั่งหรือยืนแล้วแต่สถานที่ที่พระนั่งอยู่นั้นอำนวย

                2. จับของที่ประเคนด้วยมือทั้งสองก็ได้ มือเดียวก็ได้ ยกให้สูงขึ้นเล็กน้อย แล้วน้อมถวายพระซึ่งท่านจะยื่นมือทั้งสองออกมาจับ ถ้าผู้ถวายเป็นสตรี  พึงวางลงบนผ้ากราบที่พระปูรับอยู่ข้างหน้า เสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี หนหนึ่ง เป็นอันเสร็จการประเคน

                หลักสำคัญของการประเคนนี้ ต้องแสดงออกด้วยความเคารพไม่ใช่เสือกไสให้หรือทิ้งให้โดยไม่เคารพ

 

การประเคนของพระภิกษุ

ขั้นที่ 1

                1. ถือของสองมือ

                2. นั่งคุกเข่า เท้าตั้ง และเดินเขาถือของสองมือ เข้าไปหาพระภิกษุ จนระยะใกล้ประมาณ 1 ศอก

 ขั้นที่ 2   ผู้ประเคนชาย

                1. นั่งคุกเข่าบนส้นเท้า ปลายเท้าตั้งก้มตัวลงเล็กน้อย

                2. ยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสองน้อมสิ่งของนั้นใกล้พระภิกษุผู้รับประเคน ยกพื้นพื้น ส่งประเคนถึงมือพระภิกษุผู้รับประเคน

ผู้ประเคนหญิง

                1. นั่งพับเพียบ หรือนั่งบนส้นเท้า

                2. ยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสองน้อมเข้าไปใกล้พระภิกษุผู้รับประเคนพอสมควร

                3. วางสิ่งของนั้นบนผ้าที่พระภิกษุทอดรับประเคน

ขั้นที่ 3 เมื่อประเคนของเสร็จแล้ว ถอยห่างจากสิ่งของที่ประเคนพอประมาณ แล้วไหว้หรือกราบ   

ข้อควรระวัง สิ่งของที่ประเคนแล้วห้ามจับต้อง หากจับต้อง ถือว่าขาดประเคน ต้องประเคนสิ่งของนั้นใหม่

 

การปฏิบัติตนในขณะฟังธรรม

                ขณะที่พระภิกษุกำลังแสดงธรรม นักเรียนควรปฏิบัติตนในขณะฟังธรรม ดังนี้

                1. ฟังด้วยความเคารพ

                2. ฟังด้วยอาการสงบเรียบร้อย

                3. จิตใจยึดมั่นอยู่เฉพาะหลักธรรมที่ท่านกำลังแสดง

                4. ไม่พูดคุยในขณะกำลังฟังธรรม

                5. ไม่ลุกออกจากที่นั่งโดยไม่จำเป็น

 

 

 

ชาวพุทธตัวอย่าง

พ่อขุนรามคำแหงมหาราช

                พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงมีพระนามเดิมว่า ขุนรามราช เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสืองในสมัยทรงพระเยาว์พระองค์ทรงศึกษาอยู่ในสำนักสุกลทันตฤษี เมืองละโว้ หรือจังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน

                เมื่อพระชนมายุได้ 19 พรรษา ได้ช่วยพระราชบิดาออกสู้รบกับขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดที่ยกทัพมาตีเมืองตาก การรบของทั้งสองฝ่ายได้ทำยุทธหัตถีหรือการรบบนหลังช้าง ในตอนแรกพ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชบิดาของพระองค์เป็นฝ่ายเสียเปรียบช้างที่ทรงประทับ สู้กำลังข้าศึกไม่ได้

                พ่อขุนรามคำแหงมหาราชซึ่งในตอนนั้นดำรงพระยศเป็นรามมาราชได้รีบไสช้างเข้าไปช่วยและสู้รบกับขุนสามชนจนได้ชัยชนะความกล้าหาญในครั้งนี้ ทำให้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระราชทานนามให้เป็น “รามคำแหง” หมายถึง รามผู้กล้าหาญเข้มแข็งในการรบ

                พ่อขุนรามคำแหง ทรงเป็นบุตรที่ดีเชื่อฟังคำสั่งสอนของพระราชบิดา พระราชมารดา และทรงเป็นพระอนุชา (น้องชาย) ที่ให้ความเคารพรักต่อขุนบานเมือง พระเชษฐา (พี่ชาย)

ผลงาน

                พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ทรงริเริ่มประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นใช้เองเมื่อปีพุทธศักราช 1826          ทรงปกครองประชาชนให้ได้รับความสุข ยุติธรรม ด้วยระบบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ทรงส่งเสริมให้มีการค้าโดยเสรี และทรงรับเอาพระพุทธศาสนาจากลังกาเข้ามาเป็นศาสนาประจำชาติไทย

 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส

                สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวาสุกรี  เป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เป็นพระโอรสที่ 28 โดยท่านเจ้าจอมมารดาจุ้ยเป็นพระราชมารดา

                สมเด็จพระเจ้ามหาสมณเจ้า ฯ ทรงศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ขอมและบาลี รวมทั้งพิธีลงเลขลงยันต์ในสำนักสมเด็จพระวันรัตจนพระองค์ทรงมีความรอบรู้เชี่ยวชาญ ต่อมาเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติก็ได้โปรดสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ให้ดำรงตำแหน่งประมุขสงฆ์พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประมุขสงฆ์ อยู่ประมาณ 4 ปีเศษ ๆ พระองค์ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคชราภาพเมื่อวันศุกร์ที่ 9 เดือนธันวาคม พ.ศ. 2396 นับพระชนมายุได้ 63 พรรษากับ 4 วัน

ผลงานของพระองค์

                ในระหว่างที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ยังทรงพระชนม์อยู่นั้น พระองค์ได้ทรงกวีนิพนธ์ไว้หลายเรื่องด้วยกัน คือ

ร้อยแก้วร้อยกรองอันมีเรื่องสำคัญต่าง ๆ เช่น ปฐมสมโพธิ์ ร่ายทำขวัญนาค โคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาชาติ 11 กัณฑ์ ลิลิตตะเลงพ่าย และฉันท์วรรณพฤติ เป็นต้น

                พระองค์ได้รับการยกย่องว่าเป็นรัตนกวีเอกพระองค์หนึ่งของเมืองไทย

 

ศาสนพิธี

               

                การอาราธนาศีล  คือ การเชื้อเชิญพระสงฆ์ในพิธีให้ศีล ให้สวดพระปริตร หรือแสดงธรรม เป็นธรรมเนียมมีมาแต่ดั้งเดิมที่จะต้องอาราธนาก่อน พระสงฆ์จึงจะประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ และการอาราธนาที่ถือเป็นธรรมเนียมกันมามี 3 กรณีนี้เท่านั้น

               

                วิธีอาราธนา นิยมกันว่า ถ้าพระสงฆ์นั่งบนอาสนะยกสูง เจ้าภาพและแขกนั่งเก้าอี้ ผู้อาราธนาเข้าไปยืนระหว่างเจ้าภาพกับแถวพระสงฆ์ตรงกับรูปที่ 3 หรือที่ 4 ห่างแถวพระสงฆ์พอสมควร หันหน้าไปทางโต๊ะที่บูชาประนมมือไหว้พระพุทธรูปก่อน แล้วยืนประนมมือตั้งตัวตรง กล่าวคำอาราธนาตามแบบที่ต้องการ ถ้าพระสงฆ์นั่งบนอาสนะต่ำธรรมดา เจ้าภาพและแขกอื่นก็นั่งกับพื้น  ผู้อาราธนาต้องเข้าไปนั่งคุกเข่าต่อหน้าแถวพระสงฆ์ตรงหัวหน้า กราบพระที่โต๊ะบูชา 3 ครั้งก่อน แล้วประนมมือตั้งตัวตรง กล่าวคำอาราธนาที่ต้องการตามแบบ คือ

                พิธีสวดมนต์เย็น อาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร

                พิธีเลี้ยงพระ อาราธนาศีล

                พิธีถวายทานทุกอย่าง อาราธนาศีล

          พิธีเทศน์ ถ้าเทศน์ต่อจากสวดมนต์ ตอนสวดมนต์ไม่ต้องอาราธนาศีล เริ่มต้นด้วยอาราธนาพระปริตรแล้วอาราธนาศีล ตอนพระขึ้นเทศน์ รับศีลแล้วอาราธนาธรรมต่อ แต่ถ้าสวดมนต์กับเทศน์ไม่ได้ต่อเนื่องกันถือว่าเป็นคนละพิธี ตอนสวดมนต์ก็อาราธนาตามแบบพิธีสวดมนต์เย็นที่กล่าวแล้ว ตอนเทศน์ก็เริ่มต้นด้วยอาราธนาศีลก่อน จบรับศีลแล้วจึงอาราธนาธรรม

 

คำอาราธนาศีล 5

                มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ,ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะสีลานิ ยาจามะฯ

                ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ,ติสะระเณนะ สะหะ,  ปัญจะสีลานิ ยาจามะฯ

                ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต, วิสุง สสุง รักขะณัตถายะ,ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะสีลานิ ยาจามะฯ

                บทนี้ใช้สำหรับการอาราธนารวมกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ถ้าอาราธนาคนเดียวให้อาราธนาด้วยคำขึ้นต้นว่า อะหัง ลงท้ายว่า ยาจามิฯ

 

คำอาราธนาธรรม

                พรัหมา จะ โลกาธิปตี สะหัมปะติ

กัตอัญชลี อันธิวะรัง อะยาจะถะ

สันตีธะ สัตตาปปะระชักขะชาติกา

เทเสตุ ธัมมัง อะนุกัมปิมัง ปะชังฯ

 

คำอาราธนาพระปริตร

          วิปัตติปะฏิพาหายะ,            สัพพะสัมปัตติสิทธิยา,

สัพพะทุกขะวินาสายะ,                      ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

                วิปัตติปะฏิพาหายะ,            สัพพะสัมปัตติสิทธิยา,

สัพพะภะยะวินาสายะ,                      ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

                วิปัตติปะฏิพาหายะ,            สัพพะสัมปัตติสิทธิยา,

สัพพะโรคะวินาสายะ,                       ปะริตตัง พรูถะ มังคะลัง

หมายเลขบันทึก: 375940เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท