สมศักดิ์
พระ สมศักดิ์ ศักดิ์ อินทร์ดี

การทอดผ้าป่า


ผ้าป่า ครั้งพุทธกาลเรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหนทิ้งอยู่ตามป่าดงบ้างตามป่าช้าบ้าง ตามถนนหนทางและห้อยอยู่ตามกิ่งไม้บ้าง ที่สุดจนกระทั่งที่เขาอุทิศวางไว้แทบเท้า รวมเรียกว่า ผ้าป่า ประเพณีการทอดผ้าป่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล คือเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ๆ ยังไม่ได้ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ

                ทรงอนุญาตแต่เพียงให้พระภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุล คือ ผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของทิ้งไว้ หรือผ้าที่เขาห่อศพทิ้งไว้ตามป่าช้า และเศษผ้าที่ทิ้งอยู่ตามถนนหนทาง นำมาซักฟอกตัดเย็บกันเป็นจีวรตามที่ต้องการแล้วใช้นุ่งห่มชาวพุทธในสมัยพุทธกาลเห็นความลำบากของพระภิกษุในเรื่องนี้จึงมีความประสงค์จะบำเพ็ญกุศลเพื่อไม่ให้ขัดต่อพระพุทธบัญญัติ โดยได้จัดหาผ้าที่สมควรแก่พระภิกษุไปทอดทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ป่าช้า เพื่อให้พระภิกษุผู้แสวงหาจะเห็นและนำไปประกอบเป็นผ้าจีวร ด้วยเหตุนี้จึงนิยมเรียกว่า “ผ้าป่า”

                แต่ครั้งนั้นการทอดผ้าป่าไม่ได้นิยมกาล แล้วแต่ใครศรัทธาจะทำเมื่อไร ก็ทอดเมื่อนั้น เมื่อทรงบัญญัติจีวรกาล คือ การแสวงหาและทำจีวรขึ้นจำกัด 1 เดือน นับแต่ออกพรรษาแล้วถ้าได้กรานกฐินด้วยขยายออกไปอีก 4 เดือน จนถึงวันเพ็ญเดือน 4 การทอดผ้าป่าจึงนิยมทำกันในระยะนี้ ส่วนมากทำในฤดูออกพรรษาใหม่ ๆ แม้ทางราชการในประเทศไทยก็เคยปรากฏว่ามีทำในระหว่างเดือน 12 พร้อมกับพระราชพิธีลอยพระประทีป

                การทอดผ้าป่าที่ทำกันในประเทศไทย มีทำกันหลายอย่าง อย่างที่เรียกว่า ผ้าป่าแถมกฐิน คือ ทอดกฐินแล้วเลยทอดผ้าป่าด้วยก็มี ทำกันอย่างสัณฐานประมาร คือ เอาเครื่องไทยธรรมประจุกระถาง กระบุง กระจาด หรือถังสังกะสี แล้วเอากิ่งไม้ปักเอาผ้าห้อย อุทิศตั้งไว้ตามทางที่พระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมา หรือนำไปตั้งไว้ตามพระอารามแล้วให้สัญญาณให้พระรู้ว่ามีผ้าป่ามาถึงก็มีเครื่องผ้าป่านี้อย่างน้อยมีแต่ผ้าผืนหนึ่งห้อยกิ่งไม้ไปปักตามที่กล่าวแล้วก็มี

                ที่ทำกันอย่างขนาดใหญ่ถึงป่าวร้องหรือแจกฎีกาให้ทายกลับไปคนละรูปสองรูปจนครบจำนวนภิกษุสามเณรทั้งวัด แล้วนำมาทอดพร้อมกันตามกำหนด ทำกันครึกครื้นทุกแห่งหนสนุกสนานประกวดประขันกัน พอถึงวัดแล้วก็ประชุมถวายอุทิศต่อหน้าสงฆ์เช่นนี้ก็มี บางแห่งในชนบททำผ้าป่าบรรทุกเรือพ่วงไปทางน้ำ เท่านี้ ก็ได้ชื่อว่าผ้าป่าโยง ผ่านไปถึงวัดไหน ก็ทอดวัดนั้นเรื่อยไปดังนี้ก็มี

                พิธีทอดผ้าป่านี้จะแบบไหนก็ตาม ข้อสำคัญมีอยู่ว่าให้อุทิศเป็นผ้าป่าจริง ๆ อย่าถวายแก่ใครโดยเฉพาะถ้าทอดลับหลัง พระสงฆ์ผู้รับเพียงแต่ตั้งใจขณะทอดว่าขออุทิศผ้าและเครื่องบริวารเหล่านี้แก่ภิกษุผู้ต้องการผ้าบังสุกุลมาถึงเฉพาะหน้า เท่านี้ก็ได้ชื่อว่าทอดผ้าป่าแล้ว แต่ถ้าเป็นการทอดหมู่ต่อหน้าพระสงฆ์ผู้รับ หัวหน้าทายกพึงนำว่าคำอุทิศถวายเป็นคำ ๆ ทั้งคำบาลีและคำแปล

คำถวายผ้าป่า

                คำบาลี อิมานิ มยํ ภนฺเต ,ปํสุกูลจีวรานิ,สปริวารานิ, ภิกขุสํฆสฺส โอโณชยาม,สาธุ โน ภนฺเต,ภิกขุสํโฆ, อิมานิ มยํ ภนฺเต ,ปํสุกูลจีวรานิ,ปฏิคคณฺหาตุ,อมฺหากํ,ทีฆรตฺตํ,หิตาย,สุขาย.

                คำแปล   ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญฯ

                สำหรับภิกษุผู้ชักผ้าป่า ไม่ว่าผ้าป่าแบบไหน พึงยืนสงบตรงหน้าเอื้อมมือขวาจับผ้า ให้จับหงายมือ อย่าจับคว่ำมือ แล้วกล่าววาจาหรือบริกรรมในใจว่า อิมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ ผ้าบังสุกุลผืนนี้เป็นผ้าไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมถึงแก่ข้าพเจ้า ดังนี้ (บางอาจารย์เติมคำชักผ้าป่าในระหว่าง อสฺสามิกํ ... มยฺหํ เป็นคำว่า อมํ ปํสุกูลจีวรํ อสฺสามิกํ โหติ อชฺช มยฺโย ปาปุฌาติ ก็มี) กล่าววาจาหรือบริกรรมในใจจบแล้วชักผ้านั้นมาเป็นอันเสร็จพิธี

                แต่ถ้าเป็นผ้าป่าถวายหมู่เมื่อชักแล้ว พึงอนุโมทนาด้วยบท วิเสสอนุโมทนา ในทานนี้นิยมใช้บท สพฺพพุทธานุภาเวน... หากเป็นผ้าป่าเฉพาะรูป อนุโมทนาด้วยสามัญอนุโมทนาเท่านั้นก็ได้

          ถ้าพระสงฆ์อนุโทนา ทายกพึงกรวดน้ำ ขณะที่พระสงฆ์สวดว่า ยถา.. แล้วประนมมือรับพรไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี

 

หมายเลขบันทึก: 375941เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท