ชีวิตที่พอเพียง : ๑๐๓๒. ชีวิตบนทางด่วน



          เช้าวันที่ ๒ ก.ค. ๕๓ ผมนัดคุณชูชาติ โชเฟอร์ของมหิดล ให้มารับเวลา ๗ น. เพื่อไปประชุมที่สถาบันคลังสมองเวลา ๙ น.

          แต่พอเช้าตรู่ ฝนก็เทลงมา   ผมเตรียมออกจากบ้านเร็วขึ้น   พอคุณชูชาติขับรถตู้มาจอดหน้าบ้าน ผมก็ออกจากบ้านเวลา ๖.๔๕ น.

          เมื่อออกจากถนนสุขาประชาสรรค์ ๓ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนติวานนท์ ผมแนะนำให้คุณชูชาติขับเลยจุดยูเทิรน เพื่อไปเลี้ยวขวาตรงสี่แยกไฟแดงเพื่อเข้าเมืองทองและตัดเข้าถนนแจ้งวัฒนะเพื่อขึ้นทางด่วนเข้าเมือง

          ใกล้ถึงสี่แยกผมก็รู้ว่าผมทำผิดตั้งแต่เช้า เพราะไฟจราจรยังเป็นไฟกระพริบ ทำให้รถติดที่สามแยกอย่างรุนแรง    เวลาตั้งเกือบ ๗ โมงเช้าแล้ว ตำรวจจราจรที่รับผิดชอบจุดนี้ยังไม่มาเปลี๋ยนสัญญาณไฟกระพริบให้เป็นไฟเขียวไฟแดง   แสดงว่าตำรวจคนนี้ทำงานบกพร่อง   ผมตั้งใจจะหาเบอร์โทรศัพท์ของกองบัญชาการตำรวจจราจร แจ้งความบกพร่องของตำรวจคนนี้ ซึ่งเกิดเป็นประจำ   ผมเคยตั้งใจหลายหนแล้วว่าจะหาทางโทรศัพท์ไปแจ้งความไม่รับผิดชอบของตำรวจที่รับผิดชอบไฟสัญญาณจราจรจุดนี้

          เราต้องหนีไปขึ้นทางด่วนที่ด่านศรีสมาน   แล้วรถก็แล่นฉลุยท่ามกลางฝนพรำฟ้าครึ้ม   ไปจนอีกประมาณ ๓ กม. จะถึงด่านเก็บเงิน รถก็ติดเป็นแถวยาว เคลื่อนตัวช้าๆ   ใช้เวลา ๑ ช.ม. พอดีหลังออกจากบ้าน เราก็ผ่านด่านเก็บเงิน   ผมคิดในใจว่าเมื่อผ่านด่านเก็บเงินรถจะแล่นฉลุย   ปรากฏว่าความคิดนั้นผิดครับ   รถยังติดเหมือนเดิม   ไปจนเกือบจะถึงทางลงพระราม ๖ จึงคล่องขึ้นบ้าง   แต่พอลงด่านพระราม ๖ รถเคลื่อนตัวได้ดี   เราถึงตึกมหานครยิปซั่มเวลา ๘.๓๐ น.   ผมบอกกับผู้มาร่วมประชุมว่า วันนี้รถติดบนทางด่วน  แต่ในเมืองรถไม่ติด   อ. ยอดหทัยบอกว่ารถขึ้นไปติดบนทางด่วนกันเสียมาก ทำให้ในเมืองถนนโล่ง 

          ผมได้ข้อสรุปว่าเช้านี้ฝนตกรถติดเฉพาะบนทางด่วน   และบนทางด่วนอุดรรัถยารถติดกว่าถนนในเมืองอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

          บนรถตู้ที่มหาวิทยาลัยมหิดลจัดมาให้บริการ ผมนั่งเอกเขนกอย่างมีความสุขกับการอ่าน eMagazine บน iPad  อ่านนิตยสาร The Smithsonian ฉบับพิเศษประจำเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๕๓  ฉบับนี้เป็นฉบับพิเศษฉลอง ๔๐ ปี   เล่นเรื่องสื่งสำคัญที่จะเกิดในอนาคต ๔๐ เรื่องใน ๔๐ ปีข้างหน้า   การอ่านหนังสือหรือนิตยสารด้วย iPad นี้สดวกสบายเป็นพิเศษสำหรับคนแก่ เพราะขยายขนาดตัวอักษรและภาพได้ง่าย   และจอก็ช่วยให้ภาพและตัวหนังสือสวยและอ่านง่ายเป็นพิเศษ

          การซื้อหนังสือหรือบอกรับนิตยสาร/วารสารก็ทำได้ง่าย เดี๋ยวเดียวก็ได้มาอ่านแล้ว   ราคาก็มีทั้งที่ไม่แพงและที่แพง   อย่างผมบอกรับนิตยสาร The Smithsonian ราคา $12 ต่อ 13 digital issues  และบอกรับวารสาร Science 1 ปี สัปดาห์ละฉบับรวมปีละ 51 ฉบับ เป็นเงิน $ 99  สองฉบับนี้ผมบอกรับที่ Zinio และอ่านด้วย eReader ของเขา   ซึ่งสะดวกมาก

          ส่วน Scientific American ผมบอกรับที่เว็บไซต์ www.SciAmDigital.com ของเขา ราคาปีละ $ 39.95 ได้อ่านฉบับใหม่ 12 ฉบับ และอ่านหรือดาวโหลดฉบับเก่าได้ตั้งแต่ปี 1993 ถึงปัจจุบัน   แต่เขาขี้โกงเล็กน้อย ขยักฉบับที่เป็นยอดนิยมไว้ขายแยกต่างหากเป็นบางฉบับ   

          ผมรู้สึกว่ายิ่งมนุษย์เข้าใจความไม่แน่นอนของอนาคต ก็จะยิ่งมีคนเขียนหนังสือ หรือเสนอความเห็นเกี่่ยวกับอนาคตมากขึ้น

          George Friedman ฟันธงว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๓ ในปี ค.ศ. 2050   โดยมีสหรัฐเป็นตัวการ   แต่สงครามจะเริ่มจากนอกโลก  โดยศัตรูของสหรัฐจะเปิดฉากโจมตีดาวเทียมจารกรรม นำร่อง และสื่อสาร ของสหรัฐ   โดยตอนนั้นสหรัฐจะยังคงเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก  แต่จะสร้างแรงกดดันให้แก่ประเทศคู่แข่งจนเขาทนไม่ไหวและก่อสงคราม  โดยประเทศที่จะก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจคือ ญี่ปุ่น  โปแลนด์  และเตอรกี   โดยเขาทำนายว่าจีนจะแตกเป็นเสี่ยงๆ จากปัจจัยภายในประเทศ

          มีบทความบอกว่า มีแนวโน้มว่าสิ่งมีชีวิตที่จะครองความเป็นจ้าวทะเลคือแมงกะพรุน  ผมบอกตัวเองว่าโชคดีที่ตัดสินใจบอกรับ The Smithsonian  เพราะแค่ฉบับนี้ฉบับเดียวก็คุ้มค่าเงิน ๑๒ เหรียญแล้ว   และคงจะอ่านไปได้อีกหลายวันกว่าจะจบ ๔๐ เรื่องสำคัญแห่งอนาคต 

          สรุปว่าวันนี้รถติดมหาประลัยบนทางด่วน   แต่ผมไม่เดือดร้อนเลย   ผมมีความสุขมากกับการอ่านหนังสือบน iPad  มีหนังสือและนิตยสารประเทืองปัญญาให้อ่าน  แม้อากาศขมุกขมัวก็อ่านได้ชัดเพราะจอของ iPad มีแสงในตัว 

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒ ก.ค. ๕๓
               
         

หมายเลขบันทึก: 373223เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2010 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

ขอบคุณค่ะ..มีจ้าวทะเลมาฝากคุณหมอ...

ได้ติดตามเรื่องราวของอาจารย์ วันนี้มีโอกาสรับการสัมมนาและมีโอกาสได้ฟังอาจารย์เป็นวิทยากรในการสัมมนาแกนนำศูนย์การเรียนรู้ ict ชุมชน เมื่อวันที่ 10 ก.ค.52 ณ มสธ. สามารถที่จะสื่อสารเรื่องราวเข้ากับเรื่องเทคโนโลยี นับว่าเป็นเกียรติและท่านอาจารย์สมกับเป็นวิทยากรมืออาชีพจริงๆ ขอชื่นชมด้วยใจจริงครับ / แกนนำศูนย์การเรียนรู้ ict ชุมชนภาคอีสาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท