การใช้พจนานุกรม.....ยาดำหม้อใหญ่ของคนใช้ภาษาไทย


การใช้พจนานุกรม.....ยาดำหม้อใหญ่ของคนใช้ภาษาไทย ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องหันมาเห็นความสำคัญ

การใช้พจนานุกรม.....ยาดำหม้อใหญ่ของคนไทย

            เราใช้ภาษาไทยมาทุกวัน  เราเรียนเก่งอะไร ๆ ก็รู้ไปหมด  และยิ่งซ้ำร้ายจบปริญญาตรี เอกภาษาไทยแต่ตอบปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้พจนานุกรมภาษาไทยไม่ได้  อะไรเกิดขึ้นกับภาษาไทย   เด็กในปัจจุบันมีจำนวนมากที่อ่านไม่คล่องแถมอ่านไม่ได้อีกต่างหาก ค่อย ๆ ทวีจำนวนสูงขึ้นอย่างน่าใจหาย  เราจะไปโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเราเอง  เพราะเราที่จบระดับความรู้มาชั้นโน้นบ้างชั้นนี้บ้าง   กลับไม่มีความรู้การใช้พจนานุกรมเลยแม้แต่น้อยในบางคน

                มีอยู่คราวหนึ่งประมาณปี  2549-2550  ผมได้รับเชิญให้ไปบรรยายเรื่องคุณธรรมจริยธรรมแก่ครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สงขลา เขต 2  ตามหลักสูตรเตรียมจัดทำผลงานจะปรับเปลี่ยนวิทยฐานะ เป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ  ประมาณ 120 คน  ขณะบรรยายได้มีครูสุภาพสตรีท่านหนึ่งได้ยกมือขึ้น  ผมก็เลยอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นหรือจะช่วยเสริมเติมแต่งก็จะเป็นการดี  ครูสตรีท่านนั้นกล่าวอารัมภบทให้ฟังว่าที่วิทยากรมาพูดนั้นเป็นเรื่องปกติทุกคนรู้อยู่แล้วไม่ควรพูดให้เสียเวลา   ผมก็อธิบายให้ฟังว่าผมต้องบรรยายไปตามเนื้อหาหลักสูตรที่คณะทำงานเขามอบหมายมาให้พูดเรื่องดังกล่าว   ท่านรู้แล้วนั่นเป็นเรื่องดี   แต่บางท่านก็ยังไม่รู้ ก็ต้องว่าไปตามนั้น

                   ผมก็เลยยกตัวอย่างว่าบางเรื่องเราบอกว่าเรารู้แล้ว  แต่พอเอาเข้าจริงเราอาจจะรู้ไม่จริงหรือไม่รู้เลยก็ได้  เหมือนตัวอย่างเช่นภาษาไทย  ครูที่สอนภาษาไทยก็ไม่ใช่จะรู้หมดละเอียด  จำเป็นจะต้องหาความรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ  และถามครูท่านนั้นว่าท่านสอนวิชาอะไร   คุณครูตอบว่าวิชาภาษาไทย ก็เลยถามว่าผมจะถามปัญหาภาษาไทยสักข้อได้หรือไม่  คุณครูท่านนั้นก็ไม่แสดงอาการว่าจะให้ถามได้หรือไม่ได้  แต่ครูผู้ที่ร่วมฟังแสดงอาการเงียบกริบ   ผมเลยตัดบทไปว่า ผมจะถามคำถามง่าย ๆ  ในเมื่อครูสอนภาษาไทยไม่อนุญาตให้ถามคือเฉยอยู่   ผมก็ลองให้ทุกคนในที่ประชุมช่วยตอบผมด้วย โดยให้คิดว่าร่วมเสวนาก็แล้วกัน

                    ผมถามว่า คำ  ผัวะกับ  “ผัวเมื่อเปิดหาในพจนานุกรมจะพบคำไหนก่อน   ครูเอกภาษาไทยไม่ได้ตอบ  แต่ครูอื่น ๆ  ช่วยกันตอบ  แต่ส่วนใหญ่ตอบผิดตอบถูกไม่ถึง 10 คน  นับเฉพาะคนที่กล้าตอบ  หลาย ๆ คนนั่งแสดงท่าทางงงๆอย่างเห็นได้ชัดว่า  เขาไม่เข้าใจเรื่องนี้ก็อาจเป็นได้

            

                      ผมเลยขออีกคำถาม  ว่า นิ่มกับ  “น้ำระหว่าง 2 คำนี้เมื่อเปิดหาในพจนานุกรมภาษาไทยจะพบคำไหนก่อน   ก็พบว่าตอบผิดเช่นเดิมเป็นส่วนใหญ่อีก

                   หลังจากนั้นผมก็เฉลยคำตอบให้ฟังว่า  เราจะต้องพบคำว่า  ผัวก่อนผัวะ   และจะพบคำว่า น้ำก่อนนิ่ม

             ปรากฏว่าพอฟังคำเฉลยเสร็จก็มีเสียงของคณะครูทั้งหมดดังอื้ออึงไปทั้งห้องประชุมเป็นการบ่งบอกให้ผมทราบว่าผมน่าจะเฉลยผิด   วิทยากรอีกหลายท่านที่กำลังมาเตรียมงานบรรยายในชั่วโมงถัดไปซึ่งสนใจฟังอยู่ด้วยก็แสดงอาการไม่ผิดแผกแตกต่างกัน

                     ผมเลยตัดบทไปว่าหลายคนอาจจะมีความสงสัยว่าผมเฉลยผิดพลาด   ไม่ถูกต้องหรือเปล่าและมีประมาณ 10 กว่าท่านเท่านั้นที่เชื่อว่าผมเฉลยถูก  แต่เรื่องที่จะบรรยายในชั่วโมงนี้ไม่ใช่เรื่องภาษาไทย  ผมก็เลยฝากให้เป็นการบ้านไปว่าให้ทุกคนไปค้นหาโดยการไปเปิดดูพจนานุกรม หากพบว่าผมเฉลยผิด   ผมจะรับผิดชอบ  คณะครูที่ประชุมจะตำหนิอย่างไรผมจะยอมรับทุกประการ  และผมก็เริ่มบรรยายตามเนื้อหาที่ได้รับมอบหมายไปจนจบเนื้อหาและตามเวลากำหนด

                 วันเสาร์ถัดมา ผมพบปรากฏการณ์ใหม่ ก่อนเข้าสู่รายการรับฟังการบรรยายหลายคนเข้าทักทายผมและบอกว่าเขาตาสว่างขึ้นในเรื่องที่ไม่เห็นความสำคัญของพจนานุกรมและมีความเข้าใจว่าเขาจะเรียง สระตามลำดับที่เคยเรียน  แต่มันไม่ใช่      พอตกเย็นผมได้รับบันทึกขอบคุณจาก 60 กว่าคน เขียนมาในลักษณะบอกว่าเขาเข้าใจผิดในการเรียงคำในพจนานุกรมมาตลอดตั้งแต่เรียนหนังสือมาแม้กระทั่งเป็นครูแล้วจะเกษียณอีกไม่กี่ปีข้างหน้า   ก็ยังเข้าใจผิด  นับเป็นโชคดีที่ได้รับเสริมเติมความรู้ในเรื่องนี้จากผม

                ท่านผู้อ่านละครับ  ท่านคิดอย่างไร   ท่านมีข้อเสนอแนะอย่างไรเพื่อพัฒนาในเรื่องภาษาไทย  ก็มาร่วมกันเขียนบันทึกให้มวลสมาชิกได้อ่านกันบ้าง ก็น่าจะดีไม่น้อย...หรือว่ายังงงกับคำถามและคำตอบ   พจนานุกรมจะตอบได้ชัดเจนที่สุด  และคำถามฝากในชีวิตของท่าน เคยเปิดพจนานุกรมค้นหาคำหรือความหมายของคำแล้วกี่ครั้ง  ไม่ต้องตอบผมแต่ให้ท่านตอบตัวท่านแล้วท่านจะหายงงไปเองเอง

                         ธนา   นนทพุทธ

                      

หมายเลขบันทึก: 372133เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2010 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท