วิทยฐานะของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา


ระบบวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเฉพาะตำแหน่ง ที่มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพ กำหนดขึ้นตามหลักการของการจำแนกตำแหน่ง ทางวิชาการ (Academic Rank Classification: ARC) กล่าวคือเป็นระบบความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

วิทยฐานะของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

 

๑. ระบบวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเฉพาะตำแหน่งที่มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพ กำหนดขึ้นตามหลักการของการจำแนกตำแหน่งทางวิชาการ (Academic Rank Classification: ARC) กล่าวคือเป็นระบบความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดังนั้นจึงมีการกำหนด            ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ มีวิทยฐานะระดับต่าง ๆ กัน (มาตรา ๓๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗)    ให้กำหนดมาตรฐานวิทยฐานะไว้เป็นบรรทัดฐานทุกวิทยฐานะเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน (มาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗) และการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะใด และการเลื่อนเป็นวิทยฐานะใดต้องเป็นไปตามมาตรฐานวิทยฐานะ ซึ่งผ่านการประเมิน ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความประพฤติด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ ประสบการณ์ คุณภาพการปฏิบัติงาน ความชำนาญ ความเชี่ยวชาญ ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในด้านการเรียนการสอน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนด (มาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗)

 

          ๒. สำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กฎหมายกำหนดให้มีวิทยฐานะ ๒ ระดับ คือ วิทยฐานะเชี่ยวชาญและวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ ((มาตรา ๓๙ ค. (๓) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗) แต่โดยข้อเท็จจริง ณ เวลานี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีระดับวิทยฐานะแตกต่างกันถึง ๔ ระดับ คือ

                   (๑) วิทยฐานะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญพิเศษ มี ๑ คน ก.ค.ศ.อนุมัติแล้วกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการแต่งตั้ง (วิทยฐานะนี้อาจเทียบได้กับระดับ ๑๐ เดิม)

                   (๒) วิทยฐานะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญ มีจำนวนมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับ ๙ ซึ่งเข้าสู่ระบบวิทยฐานะมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ (วิทยฐานะนี้อาจเทียบได้กับระดับ ๙ เดิม)

                   (๓) วิทยฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชำนาญการพิเศษ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเพิ่งเข้าสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใหม่ และมีวิทยฐานะรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชำนาญการพิเศษติดตัวมา (วิทยฐานะติดตัวเป็นไปตามหมายเหตุท้ายบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาท้ายพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗) (วิทยฐานะนี้อาจเทียบได้กับระดับ ๘ เดิมซึ่งมีเงินประจำตำแหน่ง ๕,๖๐๐ บาท)

                   (๔) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเพิ่งเข้าสู่ตำแหน่งใหม่ และยังไม่มีวิทยฐานะ เนื่องจากในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงาน      เขตพื้นที่การศึกษานั้น ยังไม่มีวิทยฐานะ (อาจเทียบได้กับระดับ ๘ เดิมซึ่งไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ๕,๖๐๐ บาท ได้รับเฉพาะค่าตอบแทนเดือนละ ๓,๕๐๐ บาท)

 

          ๓. สาเหตุที่เกิดมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามข้อ ๒. (๓) และ (๔) ขึ้นเนื่องจากมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาว่าต้องดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี หรือดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ การไม่กำหนดให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีวิทยฐานะเชี่ยวชาญก่อนจึงสามารถเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ซึ่งจะมีวิทยฐานะเชี่ยวชาญติดตัวมาเมื่อได้รับการคัดเลือก) เป็นเพราะระบบบริหารงานบุคคลตามระบบวิทยฐานะเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ยังไม่มีรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญหรือมีน้อยมาก หากไม่ให้สิทธิในการเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจนกว่าจะมีวิทยฐานะเชี่ยวชาญเสียก่อน ก็เป็นการไม่เหมาะสมเพราะเป็นตำแหน่งสายตรง และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในระยะ ๑๐ ปีแรกก็จะมาจากผู้อำนวยการสถานศึกษาวิทยฐานะเชี่ยวชาญเกือบทั้งหมด

 

          ๔. การเร่งรัดส่งเสริมให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีวิทยฐานะเชี่ยวชาญเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพราะเป็นเจตนารมณ์ของระบบบริหารงานบุคคลสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องการให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอย่างน้อยต้องมีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ และในฐานะที่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกคนในเขตพื้นที่การศึกษา (มาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗)

 

          ๕. ภายใต้กรอบของกฎหมายปัจจุบัน ค่อนข้างยากและไม่ค่อยมีความเหมาะสมนักที่จะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเฉพาะให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีวิทยฐานะแตกต่างออกไปจากหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งอื่นมีวิทยฐานะ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาความลักลั่น ไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันในโอกาสระหว่างข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งต่างๆ และอาจขัดต่อหลักการตามมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกอบกับหากดำเนินการสำหรับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาบางตำแหน่งได้ก็จะเกิดการเรียกร้องให้ดำเนินการสำหรับตำแหน่งอื่นด้วย แต่หากจะมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ก็ควรกำหนดหลักการกำหนดตำแหน่งของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้เป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง (เทียบได้กับผู้อำนวยการสำนักระดับ ๙ เดิมของข้าราชการพลเรือนสามัญ) โดยเทียบเคียงกับระบบการจำแนกตำแหน่งของข้าราชพลเรือนสามัญ ตามมาตรา ๔๖ (๒) (ข) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และกำหนดให้มี   วิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษได้เพียงระดับเดียวตามหลักการที่กำหนดไว้แต่เดิม

 

          ๖. แนวทางการเร่งรัดส่งเสริมให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามี  วิทยฐานะอย่างน้อยวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ควรพิจารณาดำเนินการใน ๓ ประการ คือ

                   ๖.๑ ยอมรับหลักการสั่งสมความเชี่ยวชาญของวิชาชีพจากสายงานเดียวกันและสายงานที่เกื้อกูลกันให้เป็นความเชี่ยวชาญของวิชาชีพตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้ กล่าวคือกำหนดให้สายงานรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นสายงานเดียวกันกับสายงานผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพราะมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพใบเดียวกัน มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งใกล้เคียงกัน และมีลักษณะงานที่ปฏิบัติเหมือนกัน ดังนั้น แทนที่จะกำหนดให้ต้องดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า ๑ ปี และได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการบริหารและการจัดการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาย้อนหลัง ๑ ปีติดต่อกัน จึงขอวิทยฐานะเชี่ยวชาญได้ ก็ให้ขอได้เลยเมื่อมีความพร้อม เนื่องจากได้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งเป็นสายงานเดียวกันมาก่อน สำหรับสายงานบริหารสถานศึกษาก็ควรถือว่าเป็นสายงานที่เกื้อกูลกันกับสายงานผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เนื่องจากมีคุณสมบัติของการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง และลักษณะงานที่ปฏิบัติใกล้เคียงกันมาก อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการกำหนดคุณสมบัติของการขอวิทยฐานะผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชี่ยวชาญได้ผ่อนคลายเงื่อนไขลงไปมากจนแทบไม่เป็นอุปสรรคอีกแล้ว ปัญหาอยู่ที่การมีผลงานหรือไม่มากกว่า

                   ๖.๒ การกำหนดขอบเขตของผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีความจำเป็นที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน ว่าผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีขอบเขตการปฏิบัติงานใดเพียงใด ปัจจุบันจากผลการประเมินวิทยฐานะของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามีข้อมูลสะท้อนจากคณะกรรมการประเมินว่าผลงานไม่ผ่านเพราะผลงานทางวิชาการที่ทำส่งไม่ใช่งานของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแต่เป็นงานของครู เช่น ส่งผลงานเรื่องแนวทางการสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ได้ เป็นต้น โดยข้อเท็จจริงแล้ว ผู้บริหารทุกระดับควรให้ความสำคัญกับงานด้านวิชาการ หากมีความสามารถที่จะพัฒนานวัตกรรมหรือรูปแบบการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ก็จะเป็นประโยชน์กับการยกระดับคุณภาพการศึกษาได้จริง ประกอบกับนวัตกรรมที่ผู้บังคับบัญชาพัฒนาขึ้นมีโอกาสที่จะลงสู่การปฏิบัติอย่างกว้างขวางและเป็นประโยชน์แก่การจัดการศึกษาโดยรวมมากกว่านวัตกรรม ที่ครูหรือศึกษานิเทศก์พัฒนาขึ้น อีกประการหนึ่งผู้อ่านผลงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ค่อยยอมรับงานที่ทำในรูปคณะทำงานโดยเห็นว่ามิได้เป็นงานที่ผู้ขอทำด้วยตัวเองส่วนใหญ่หรือทั้งหมด ต่างกันมากกับระบบของข้าราชการพลเรือนสามัญที่ผู้อำนวยการสำนักซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาสามารถนำงานที่เคยทำในขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักในรูปคณะทำงานไปขอได้เพราะถือว่าเป็นงานที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง ระบบของข้าราชการพลเรือนสามัญ  จึงมีคนได้มากกว่าตก ในขณะที่ระบบของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีคนตกมากกว่าได้ ทั้ง ๆ ที่ คนอ่านผลงานเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

                   ๖.๓ กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมที่เกี่ยวข้องควรมีโครงการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้พัฒนางานในหน้าที่อย่างจริงจัง เพื่อให้สร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือรูปแบบการปฏิบัติงานในหน้าที่ไปสู่ความมีคุณภาพของผลผลิตหรือบริการได้ ถ้าจะเปรียบเทียบกับกระทรวงสาธารณสุข ในแต่ละปีมีการประชุม อบรม ให้ข้าราชการวิจัยได้ เขียนรายงานการวิจัยได้ นำผลการวิจัยไปเสนอและเผยแพร่ โดยจัดเป็นงานระดับชาติ บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขจึงผ่านการประเมินตำแหน่งประเภทวิชาการกันค่อนข้างมาก

         

      ๗. กรณีที่มีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากลุ่มหนึ่งเสนอให้ปรับปรุงมาตรฐานกำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาโดยกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษารับเงินเดือนในอันดับ คศ.๔ ได้ทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แทนมาตรฐานตำแหน่งเดิมที่กำหนดให้รับในอันดับ คศ.๓ ก่อนเมื่อมีวิทยฐานะเชี่ยวชาญแล้วจึงให้ได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๔ นั้น ในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการได้โดยเป็นอำนาจของ ก.ค.ศ.ตามมาตรา ๔๒ ที่ให้ ก.ค.ศ.จัดทำมาตรฐานตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้เป็นบรรทัดฐานทุกตำแหน่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพ คุณวุฒิการศึกษา การอบรม ประสบการณ์ ระยะเวลาการปฏิบัติงาน คุณภาพการปฏิบัติงาน หรือผลงานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ และมาตรา ๔๔ ที่กำหนดว่าผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใด วิทยฐานะใด จะได้รับเงินเดือนอย่างใดให้เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด แต่การดำเนินการอาจมีปัญหา ๒ ประการ คือ

          (๑) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ยังไม่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญจะได้รับเงินเดือนในอันดับ คศ.๔ ทำให้มีเงินเดือนสูงขึ้น แต่ไม่มีผลต่อการเทียบระดับตำแหน่งว่าเป็นตำแหน่งที่เทียบได้กับระดับ ๙ เดิม เพราะเป็นการรับเงินเดือนมิใช่เป็นการดำรงตำแหน่งที่เทียบระดับ ๙ จึงยังไม่อาจขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ขั้นสายสะพายได้ตามที่กลุ่มผู้ขอคาดหวัง

          (๒) หากจะกำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้รับ อาจต้องกำหนดให้รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด และรองอำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดด้วย เพราะเป็นกลุ่มผู้บริหารการศึกษาด้วยกัน ทั้งอาจต้องดำเนินการสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาด้วยเช่นกัน เพราะอาจเทียบเคียงกันได้ในฐานะที่เป็นผู้บริหาร

วิพล นาคพันธ์

หมายเลขบันทึก: 371504เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 15:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญมีโอกาสสอบเป็นรองผอ. เขต หรือผอ.เขตหรือไม่ ช่วยตอบด้วยขอบคุณมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท