ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

ซดซุป จิบซุป ตักออกหรือตักเข้า


คอลัมน์ Etiquette ใน Gourmet&CUISINE, June 2010

          ลูกทูนหัวของฉันมีสมญาตอนเล็กๆว่า “ซดจัง”  สมญานี้ได้มาตอนสามขวบ  เมื่อครั้งสมาชิกครอบครัวทั้งสิบกว่าชีวิตพากันไปกินสุกี้  

          ฉันสังเกตเห็นว่าสาวน้อยตักกินเฉพาะน้ำซุปในถ้วยเท่านั้น   จึงตักส่วนที่เป็นน้ำให้มากหน่อย พร้อมกับคะยั้นคะยอให้กินอย่างอื่นบ้าง 

          คงเป็นด้วยขนาดของช้อนที่แตกต่างจากของที่บ้าน  ทำให้การตักไม่ถนัดและไม่ทันใจ พอกินไปได้สักพักหนึ่ง  เธอก็แก้ไขปัญหาเองด้วยการยกถ้วยขึ้นซดซะงั้น   สมาชิกครอบครัวเห็นแล้วก็ขำ  เลยพร้อมใจกันมอบสมญา “ซดจัง” ให้ 

          ตั้งแต่นั้นมา  สาวน้อยคงรู้สึกว่าการ “ยกซด” ที่ค้นพบ  คือวิธีการกินน้ำซุปที่ถูกกับจริตของตนเองเป็นที่สุด  เธอจึงเลิกใช้ช้อนที่ฉันจัดไว้ให้เมื่อกินที่บ้านด้วย    ซึ่งฉันก็สนองตอบด้วยการเปลี่ยนถ้วยใส่ซุปทรงเกลี้ยงธรรมดาไปเป็นถ้วยแบบมีหูจับสองข้าง  เพื่อความสะดวกในการซดน้ำซุปของเธอ

          เรื่องนี้ ทำให้ฉันมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า  กลไกกำกับมารยาทในการกินซุปคือ รูปพรรณของภาชนะนี่เอง และได้ข้อสรุปดังนี้

          จานซุป (Soup Plate)

          เวลาเสิร์ฟซุปในจาน   ภาชนะที่ใส่ซุปจะเป็นจานก้นลึกประมาณหนึ่งนิ้ว  ซึ่งรวมอยู่ในชุดอาหารแบบตะวันตกที่มีขาย  เคยสังเกตพบว่า ถ้าคนไทยซื้อชุดพวกนี้มาใช้  มักจะใช้จานซุบนี้เป็นจานข้าว  ส่วนจานใส่อาหารหลักซึ่งใหญ่และแบนก็นำมาใส่กับข้าวแทน   

          ภาชนะแบบนี้จึงใช้ไม่ได้กับมารยาทการกินแบบไทย เพราะคนไทยไม่กินซุปใส่จาน   สำหรับซุปฝรั่งที่เสิร์ฟมาในจานมักเป็นแบบข้น  แต่ซุปแบบใสก็ไม่ผิดกติกาอันใด 

          ช้อนซุปจะเป็นช้อนรูปร่างกลมๆ หรือวงรี   เวลาตักซุปแต่ละช้อน  ให้ตักประมาณ 3 ใน 4 ช้อนเท่านั้น  เวลากินก็ให้ใช้ริมฝีปากจิบกินจากด้านข้างของซ้อนค่ะ จิบเบาๆ โดยไม่ให้มีเสียงดัง   อย่าได้หันหัวช้อนทิ่มหน้าตัวเองเด็ดขาด  รวมทั้งเวลาใช้ช้อนตักซุป ก็ต้องตักออกจากตัว ไม่ใช่ตักกวาดเข้าหาตัว 

          เวลาซุปใกล้จะหมด ประมาณว่าเหลือ 2-3 ช้อน  สามารถยกจานเอียงขึ้นเพื่อตักน้ำซุปได้ค่ะ  แต่ก็อีกเช่นกัน คือ ต้องยกแบบเอียงออกจากตัว  แล้วใช้ช้อนตักออกจากตัวเช่นกัน   ซึ่งตรงกันข้ามกับการใช้ช้อนของไทยที่ตักเข้าหาตัว เฮ้อ! 

          ธรรมเนียมการเสิร์ฟแบบทางการ  จะวางจานซุปซ้อนบนจานเปล่าที่วางอยู่แล้วบนโต๊ะ  เวลากินเสร็จก็ต้องเอาช้อนซุปวางไว้บนจานรองนี่แหละค่ะ  ไม่ทิ้งคาไว้ในจานซุป

          ถ้วยซุป (Soup Bowl) 

          ซุปที่เสิร์ฟในถ้วยหรือชามโคม  สามารถใช้วิธีกินเช่นเดียวกับซุปที่เสิร์ฟในจาน แต่จะยกซดก็ได้  ไม่ผิดกติกา   ซุปญี่ปุ่นที่ไม่มีช้อนมาให้  ย่อมหมายความว่าตั้งใจให้ “ยกซด”  จึงไม่ต้องเรียกหาช้อน ให้คนอื่นหมั่นไส้  แล้วก็อย่าลืมซดดังๆ ด้วยถ้าอยู่ท่ามกลางชาวญี่ปุ่น  แต่ถ้ารอบตัวเป็นคนไทย ให้ลดเสียงลงบ้างก็แล้วกัน  จะได้ไม่ถูกมองแบบตำหนิ

          แก้วซุป (Soup Mug)

          แก้วซุปนี้เป็นคำที่ฉันเรียกรวมๆ ค่ะ  หมายถึงภาชนะที่รูปพรรณคล้ายกับแก้วกาแฟนั่นแหละ แต่ขนาดจะใหญ่กว่ากันเล็กน้อย   อาจทำจากแก้ว กระเบื้อง พลาสติกหรือวัสดุอื่นๆ ก็ได้   ภาชนะแบบนี้ตั้งใจให้ยกซดอยู่แล้ว  มีหูจับให้ด้วย  อาจมีหูเดียวหรือสองหู ซึ่งก็เป็นสัญญาณบอกอย่างชัดเจนว่าตั้งใจให้ซดแน่นอน   แต่ผู้ใดจะใช้ช้อนตักซุปในแก้วก็ย่อมทำได้ ถ้ามีชิ้นส่วนในซุปที่ต้องตักขึ้นมากิน 

          เป็นอันว่า จะปฏิบัติตัวอย่างไรในการกินซุปฝรั่งอย่างซุปเห็ด ซุปผัก หรือซุปไทยอย่างแกงจืด ต้มยำ (ไม่ใช่ซุบหน่อไม้) ก็พิจารณากันจากภาชนะที่เสิร์ฟมานะคะ

 

 

หมายเลขบันทึก: 371099เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2010 13:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

จำได้ว่าตักออกแล้ว กินด้านใน แต่ตอนเพื่อนชาวฝรั่งผมกิน seafood เจอน้ำมะนาวใส่ขันลอยมะลิ เพื่อนนึกว่าน้ำดื่ม ซดเลย ฮ่าๆๆ บอกไม่ทันว่าเขาเอาไว้ล้างมือ สมๆๆ

ฮั่นแน่ะ... อย่างนี้ เค้าเรียกว่า 'เอาคืน' หรือ 'ทีใครทีมัน' ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท