ปัญหาคาใจ (2) Tacit Knowledge เชื่อได้แค่ไหน?


Tacit Knowledge นั้นไม่มีอะไร “ร้อยเปอร์เซ็นต์”
            เมื่อไม่นานมานี้มีผู้ถามคำถามทำนองนี้ โดยที่ท่านได้ยกตัวอย่างว่า . . ถ้าวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้วงนี้กำลังคุยกันเรื่องเทคนิคการทำให้ได้ลูกชาย (ซึ่งก็คือ “หัวปลา” ของวงนี้) มีการแชร์ว่า ต้องใช้ “ท่านั้นท่านี้” เพื่อที่ว่าจะทำให้ได้ลูกชาย (ผู้ที่กำลังแชร์ประเด็นนี้มีลูกชายทั้งหมดห้าคน) แต่ประเด็นสำคัญของคำถามอยู่ตรงที่ว่า “Tacit ที่แชร์ออกมานี้เชื่อได้แค่ไหน มีอะไรการันตีได้ว่า ถ้าทำตามนั้นแล้วจะได้ลูกชายจริงๆ”
 
            สิ่งที่ผมตอบไปทันทีก็คือ “ไม่มีอะไรการันตีหรอกครับ” สำหรับ Tacit Knowledge นั้นไม่มีอะไร “ร้อยเปอร์เซ็นต์” สิ่งที่เป็น “Best Practice” ของคนๆ นี้ ไม่ได้แปลว่าถ้าเราทำแล้วจะได้ผลเหมือนกับเขา อย่าลืมว่าเรากับเขานั้นต่างกัน (เมียเรากับเมียเขาก็เป็นคนละคนกัน) . . พูดได้แค่นั้น ท่านก็เลยถามต่อว่า ถ้าเช่นนั้นการแชร์กันมีประโยชน์อะไร ในเมื่อ Tacit นั้นเชื่อไม่ได้ . . ผมจึงต้องอธิบายต่อว่า “ผมไม่ได้บอกว่าเชื่อไม่ได้” แต่ผมอยากให้รับฟังไว้ก่อน แต่ต้องเป็นการฟังอย่าง Deep Listening คือฟังอย่างที่ต้องการรู้จริงๆ ไม่ใช่สักแต่ฟัง หรือฟังไปงั๊นๆ อยากให้ฟังทุกๆ ท่าน ไม่ใช่ฟังเฉพาะคนที่เราอยากฟัง หรือเลือกฟังเฉพาะเรื่องที่เราอยากฟัง แต่ต้องเป็นการฟังที่ครอบคลุม Case ที่ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ใช่ฟังอย่างต้องการ “คำตอบสุดท้าย” ต้องไม่ใช่การฟังเพียงแค่กรณีแรกเพราะเห็นว่าน่าสนใจ (เนื่องจากผู้ที่แบ่งปันเทคนิคนั้นมีลูกชายตั้งห้าคน) แต่ต้องฟังกรณีอื่นด้วยเช่นกัน เพราะเทคนิคที่ได้ฟังนั้นอาจไม่เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น เรื่องเล่าของท่านอื่นอาจเป็น Tacit ที่อิงเทคนิคทางการแพทย์มากยิ่งขึ้นก็ได้ เช่น พูดเรื่องการดูระยะเวลาที่ไข่ตก หรือการตรวจสอบความเป็นกรดเป็นด่างในช่องคลอดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ อะไรทำนองนั้น . . .
           สรุปว่า การฟัง Tacit ต้องฟังทั้งหมด แล้วนำไป “ลองทำ ลองใช้” จนความรู้ที่ได้นั้นเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในตนเอง หรือที่เราเรียกว่าเป็น “ความรู้มือหนึ่ง” นั่นเองครับ
คำสำคัญ (Tags): #best practice#storytelling#tacit
หมายเลขบันทึก: 370717เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2010 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 00:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อาจารย์ช่างเปรียบเปรยได้เป็นรูปธรรมจริงๆ ..เห็นด้วยค่ะ...

สวัสดีครับพี่ใหญ่ . . ผู้ถามยกตัวอย่างค่อนข้างจะเข้าข่าย Rate R ครับ

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

Tacit Knowledge ที่ผมเคยประสบนั้นเป็นความรู้ในระดับที่จะนำไปใช้กับที่อื่นได้เป็นดุ้น ๆ

หรืออาจจะพูดได้ง่าย ๆ ว่า Tacit knowledge นั้นไม่ใช่ตัวความรู้ หรือแม้กระทั่งไม่ใช่ชุดความรู้

แต่ Tacit knowledge เป็นแก่นของความรู้ที่บุคคลหรือผู้ปฏิบัตินั้นกลั่นกรองแล้วทิ้งไว้จน "ตกผลึก"

ความรู้ที่ตกผลึกนี้เอง ถ้าจะนำไปใช้ที่ใด หรือมีสิ่งใดมากระทบ ผู้ที่มีความรู้ที่ตกผลึกอยู่นั้นก็นำขึ้นมาเป็นก้อน ๆ แผ่น ๆ แล้วนำมาละลายกับ "น้ำ" หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "สิ่งแวดล้อม (บริบท)" ต่าง ๆ ที่ได้ประสบและพบเจอ

จากประสบการณ์ของผมเอง (ซึ่งอาจจะผิด) ผมเข้าใจว่าความรู้ในชีวิตเราจะแบ่งเป็นสองชุด คือ ความรู้แก่น ๆ แบบที่ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใดก็จะเป็นอย่างงั้น ซึ่งในภาษา KM เรียกว่า Tacit Knowledge หรือในภาษาวิจัยผมขอเรียกแบบที่เข้าใจกันทั่วไปว่าเป็น "ตัวแปรต้น Independent Variable"

ส่วนตัวแปรชุดที่สองนั้นเป็นความรู้ทั่ว ๆ ไป ที่ได้ฟังมา อ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประสบการณ์ของอีกคนหนึ่งถ่ายทอดมายังอีกคนหนึ่ง ซึ่งแต่ละคนมีบริบทซึ่งพบเจอกับสิ่งแวดล้อมที่ต่างกัน ความรู้แบบนี้ "ของใครของมัน" เอาไปใช้บางครั้งก็เหมือนกัน บางครั้งก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผมขออนุญาตใช้ภาษา km ว่าเป็น Explicit knowledge ภาษาวิจัยใช้คำว่า "ตัวแปรตาม (Dependent Variable)"

ดังนั้น ถ้าหากจะมองสัดส่วนความรู้ในชีวิตของเราที่ได้บริโภคกันเข้าไปในทุกวันนี้ จึงเห็นได้ว่าเราบริโภค explicit knowledge กันค่อนข้างมาก เมื่อกินเข้าไปแล้วไม่มีแก่นหรือหลักที่จะย่อยก็จะ "ตาม" เขาไปเรื่อย พวกมาก ลากไป เขาว่าอย่างไงก็ไปตามเขาอย่างงั้น

ขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตามความเข้าใจดังข้อความดังกล่าวข้างต้นครับ

 

สวัสดีครับ อาจารย์

         ขออนุญาต ลปรร ด้วยครับ

        tacit  knowledge เชื่อได้แค่ไหน

       ผมว่า tacit knowledge  เชื่อได้ในมุมมองของเขาครับ   เขาเชื่อของเขาแบบนั้น    เราก็ต้องเชื่อตามที่เขาเชื่อครับ    

       ส่วนเราจะเชื่อได้แค่ไหน  ก็คงต้อง "ลองทำ นำไปใช้" อย่างที่อาจารย์ว่าไว้แหละครับ

       ดังนั้นคำถามที่ว่า

       การแชร์กันมีประโยชน์อะไร ในเมื่อ Tacit นั้นเชื่อไม่ได้

      ที่ว่า Tacit นั้นเชื่อไม่ได้  ก็ไม่ตรงเสียทีเดียวครับ  ประมาณว่า "ฟังหู ไว้หู"  ดีกว่านะครับ

      ผมเปรียบเทียบนะครับ  คนสองคน  

     คนแรก  สนใจและรับฟัง Tacit Knowledge 

     คนที่สอง  ไม่สนใจและไม่รับฟัง  Tacit knowledge 

     คนไหนน่าจะพัฒนาตัวเองได้มากกว่ากัน

     สำหรับผม ผมชอบ tacit knowledge ครับ   ตระเวนคุยไปทั่ว  เวลาเสนองาน หรือ แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม  จะไม่ติดไม่ขัดครับ  ใครถามอะไรมาก็ตอบได้หมด   กับคนที่ไม่ออกไปไหน  ไม่คุยกับใคร   เวลาเสนองานในที่ประชุม   จะมองมุมเดียวแคบๆครับ   ถามอะไรมาจะตอบไม่ค่อยได้

                    ขอบคุณครับ

    

ขออนุญาตเพิ่มเติมครับ

 เราก็ต้องเชื่อตามที่เขาเชื่อครับ    

  หมายความว่า  เชื่อตามที่เขาเชื่อในมุมมองของเขา   ไม่ใช่ตามมุมมองของเรา    คือ    ในมุมมองของเรา  เราอาจจะไม่เชื่อ  ก็ได้   แต่ เชื่อตามมุมมองของเขาว่าเขาเชื่อของเขาอย่างนั้น  คือ เชื่อแบบ I  in  you  ครับ

  

ดูจากที่เขียนข้างบน ผมว่า "คำอธิบาย" ในเรื่อง Tacit ของผมกับ รองฯ วิชชา (small man) นั้นออกมาคล้ายๆ กัน . . แต่ของท่านปภังกร ที่อธิบายว่า . .

. . . Tacit knowledge เป็นแก่นของความรู้ที่บุคคลหรือผู้ปฏิบัตินั้นกลั่นกรองแล้วทิ้งไว้จน "ตกผลึก" ความรู้ที่ตกผลึกนี้เอง ถ้าจะนำไปใช้ที่ใด หรือมีสิ่งใดมากระทบ ผู้ที่มีความรู้ที่ตกผลึกอยู่นั้นก็นำขึ้นมาเป็นก้อน ๆ แผ่น ๆ แล้วนำมาละลายกับ "น้ำ" หรือเรียกง่าย ๆ ว่า "สิ่งแวดล้อม (บริบท)" ต่าง ๆ ที่ได้ประสบและพบเจอ . . . ความรู้แก่น ๆ แบบที่ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมใดก็จะเป็นอย่างงั้น ซึ่งในภาษา KM เรียกว่า Tacit Knowledge . . .

ผมว่าเป็นการอธิบายที่ดีมาก หากแต่ว่าเวลาผมใช้คำอธิบายเหล่านี้ ผมกลับบอกว่า "มันเป็น Explicit Knowledge" . . แต่มันเป็นไร เพราะ Dialogue สอนไว้ว่าให้ "แขวนสิ่งที่เห็นต่างไว้ก่อน" เดี๋ยวมันก็คง "ตกตะกอน" เองครับ ขอบคุณทั้งสองท่านกับการต่อยอดความรู้ในบันทึกนี้

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนบ้าง

ก่อนที่จะกลายเป็น semantic exercise หรือวิชาภาษาศาสตร์เกินพื้นที่คุ้นชินของผมไป ขอคิดดังๆว่า "เอ... มันมีสิ่งที่เรีียกว่า "ไร้บริบท" สักกี่มากน้่อยในชีวิตของเราหนอ?"

OK อริยสัจสี่ อาจจะพอตกอยู่ใน category ที่ว่า กระนั้น ทั้งสี่ข้อทำให้ความ "สัมบูรณ์" เกิด คือมีการประคับประคองกันจากสี่ประการ นี่ก็อาจจะเรียก "บริบท" ได้เหมือนกัน (รึเปล่า)

tacit knowledge มีทั้งของปัจเจกบุคคล ครอบครัว องค์กร ชุมชน หรือแม้กระทั่งประเทศนะ ในความคิดของผม เอาตามดิกชันนารีดื้อๆก็คือขอให้ไม่ได้มีการประกาศก้องออกมา เหมือนพระราชกิจจานุเบกษา กฏหมาย หรือ textbook journal อะไรที่มันเลือนๆ แต่ลึกๆ รู้จริงๆแต่ว่ายังไม่ได้เรียบเรียงและ publish (ซึ่งในปัจจุบัน คำนี้ -publish- คงจะไม่ได้หมายถึงแค่ลงกระดาษอีกต่อไปแล้ว) นี่อาจจะเป็น tacit ที่ผมคิดถึงอยู่

แถมเวลาเราเล่า เราเองก็อาจจะเบลอๆว่าเรากำลังพูด tacit ของปัจเจก (คือเราเป็น first-hand carrier) หรือของกลุ่ม กรุ๊ปกันแน่ (เช่นสำหรับผม ก็อาจจะเป็นของหน่วย palliative care หรือของทีม pct patient-care-team ใจและกาย) ซึ่งมีการนำเอามาแลกเปลี่ยน informal ในระดับหนึ่ง ไม่ได้ตีพิมพ์ วิจัย อย่างมีระเบียบที่ไหน แล้วเอาไปเล่า (ที่จริงกรณีเรื่องลูกผู้หญิง ผู้ชายนั่น ผมก็มองเป็น tacit ระดับกลุ่ม คือของสองคน ไม่ใช่ของคนเดียว เพราะมันเป็นของทั้งสามีและภรรยา)

ทำไมผมถึงเอาประเด็นนี้มาพูดซะยาว? (ถ้ายังไม่ยาว เดี๋ยวจะยาว)

ก็เพราะผมเอง โดยส่วนตัวมักจะ "เกร็ง" เวลามีการพูดถึง contextless knowledge คือความรู้สัมบูรณ์ที่ไร่้บริบท เพราะในการเกิดความรู้ชนิดนี้ มันจะข้าม realm แห่งผู้สังเกต (คือมนุษย์เรานี่แหละ) ไปสู่ realm ที่คนสังเกตหรือคนเล่า "หลุด" ออกจาก frame แห่งปรากฏการณ์นั้นๆไปแล้ว ไม่เอาตัวเองเป็น reference แต่เอา "สรรพส่ิง" หลังจากนั้นก็คือพบว่าไม่ว่าเราจะมองจากจุดไหน 360 ํ ใน 3 dimensions สิ่งนี้่ก็ยังจริงอยู่ เราก็จะได้ผลสรุปเดิม ปรากฏการณ์เดิมออกมา ในควอนตัมไดนามิกจะพบว่าคำประกาศเยี่ยงนี้จะท้าทายมาก เพราะยังไงๆเมื่อมีผู้สังเกต มันจะรบกวนระบบที่เราสังเกตเสมอ แต่นั่นแหละ แม้แต่ควอนตัม ก็ยังไม่เท่าจิตมนุษย์ได้เลย

สรุปก็คือ ผมเองมักจะเผื่อ "บริบท" เอาไว้กับความรู้เสมอไว้ก่อน เรียกว่า​ "กั๊ก" ไว้ ว่ามันอิงบริบทเสมอ มิฉะนั้นจะเผอเรอคิดว่าสิ่งที่ผมรู้เป็น "สัจจธรรม" หรือ absolute truth ไป ซึ่งอันตราย สถานเบาก็คือทำให้ตัวเองดู silly สถานหนักขึ้นคือโกรธขึ้งกับคนที่ไม่เห็นด้วย สถานอันตรายกว่าคือถึงขั้นไปทำร้ายคนที่เราเกลี้ยกล่อมไม่สำเร็จ หนักสุดก็คือกลายเป็น One fact, One view เดินทางอยู่บน Tyrant route ไปเลย

my two cents

ผมเคยเห็นประเด็นนี้ใน knowledge board ของฝรั่ง แต่พอมาอ่านของไทยในท้ายบันทึกนี้ ผมว่ามันมีรสชาติกว่าเยอะ

มีประเด็นดีๆ ที่ผมไม่เคยคิดหลายจุดเลย ยิ่งหลังๆ มีกิจกรรมที่ชวนค้นหาคำตอบเรื่องนี้บ่อยมากขึ้น ผมเลยสนใจเข้ามาอ่านครับ

แต่มีประเด็นหนึ่งเรื่อง tacit knowledge ที่ผมตั้งสมมติฐานในระยะหลังที่พบว่า...

สิ่งที่น่าสนใจกว่า "ตัวความรู้" ไม่ว่าตัวมันเองจะเชื่อได้แค่ไหนก็ตาม นั่นคือ การก่อเกิดสิ่งนี้...มันมีความสัมพันธ์ระหว่างแง่มุมของพฤติกรรม อาทิ การสังเกต การตั้งคำถาม การทดลองทำ การสังเกตอีก(แม้จะล้มเหลว) ฯลฯ ของเจ้าของความรู้ ซึ่งเส้นทางกระบวนการได้มาซึ่ง tacit K มักจะมีสิ่งเหล่านี้ปะปนอยู่

การที่คนมีพฤติกรรมเช่นนี้ มันสะท้อนถึง ความใส่ใจในการทำงาน มีนิสัยชอบเรียนรู้ค้นหาสิ่งที่ดีกว่าเดิม ชอบเรียนรู้ด้วยตนเอง และเพื่อเอาไปใช้กับงานตัวเอง ไม่ได้ทำเพื่อเอาไปสอบที่ไหน ผมชอบเรียกมันว่า learning sense ที่สอนกันยาก อาศัยทำบ่อยๆ จนเป็นนิสัย

มีองค์กรใดบ้าง ที่ปฏิเสธคนทำงานที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ ไม่ว่าเขาคนนั้นจะทำงานในตำแหน่งระดับใด

ผมเข้าใจว่า ผมฟังเรื่องเล่า ความรู้มือหนึ่งจากเจ้าของตัวจริงบ่อย เลยเห็นแง่มุมนี้ซ้ำๆ บ่อยๆ จึงตั้งเป็นสมมติฐานว่าน่าจะเกี่ยวพันกัน

อีกแง่มุมหนึ่ง ที่พบเห็น

คนที่มี Tacit K เยอะ มันสะท้อนถึงความเป็น "มืออาชีพ" เป็นความต่างที่ "มือสมัครเล่น" ไม่อาจมีได้ ไม่รู้เพราะอะไร? ใครรู้บ้าง?

คนขายก๋วยเตี๋ยวเรือเจ้าเก่าแก่ คนขายลูกชิ้นเจ้าอร่อย คนขายกล้วยปิ้งที่ขึ้นชื่อ ปราชญชาวบ้าน เกษตรกรดีเด่น ครูคนโปรดของศิษย์ หมอคนโปรด(ของคนไข้) ช่างไม้ฝีมือดี ฯลฯ เวลาเข้าไปคุยทีไร เจอ tacit K เป็นกระบุงจนเก็บไม่หมดทุกที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท