(15 มิ.ย. 49) ได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “สานพลัง สร้างข่าย ขยายผล การบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน” ซึ่งจัดขึ้นระหว่าง 15 – 16 มิถุนายน 2549 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ดังข้อความปรากฏข้อความที่ถอดเทปแล้วขัดเกลาให้เรียบร้อยมากขึ้น ดังนี้ .......
กราบนมัสการพระคุณเจ้า ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน หมู่กัลยาณมิตร ที่รวมพลังกันแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งสร้างความอยู่เย็นเป็นสุข สำหรับประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศ ขอขอบคุณผู้จัดที่ได้เชิญผมมาร่วมงานในวันนี้ เป็นโอกาสอันดียิ่งที่ได้มาร่วมเรียนรู้ รับรู้ ร่วมคิด เพื่อที่จะได้ร่วมทำในเรื่องที่เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อส่วนรวมกับประเทศต่อประชาชน ในจังหวะที่เป็นมงคลยิ่ง คือการฉลองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมๆ กับเป็นการฉลองร้อยปีชาตกาลพระพุทธทาส เพื่อโยงเข้ากับเรื่องพุทธธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงเน้นย้ำในเรื่องของจิตใจ เรื่องของคุณธรรม ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญ ของการพัฒนา ของการใช้ชีวิต ของการอยู่ร่วมกัน ในสังคม
“โครงการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน”ได้ดำเนินการมาด้วยดี
“โครงการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน” ได้ดำเนินมาเป็นเวลาหนึ่งปีเศษ ถือว่า ประสบความสำเร็จก้าวหน้าอย่างดียิ่ง คงได้รับฟัง ได้พบเห็น ได้อ่านเอกสาร และนิทรรรศการต่างๆ เห็นชัดเจนว่า ความริเริ่ม เรื่องของการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เป็นความริเริ่มที่น่าชื่นชม ที่สำคัญกว่านั้นคือความร่วมมือร่วมใจกันของหลายๆ ฝ่าย ทั้งฝ่ายประชาชน ฝ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายราชการส่วนภูมิภาค ฝ่ายราชการส่วนกลาง ฝ่ายหน่วยงานทางวิชาการ หน่วยงานเชิงพัฒนาอีกหลายๆ หน่วยงาน ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามแนวทาง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแนะนำอยู่เสมอ คือ ความร่วมแรง ร่วมใจกัน ความร่วมมือประสานงานกัน ของหลายๆ ฝ่ายดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ได้ทำให้โครงการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจนดำเนินมาด้วยดี เป็นสิ่งที่เราน่าจะพึงพอใจ ชื่นชม และมีกำลังใจร่วมกัน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ได้ดำเนินมาแล้วแม้จะเป็นที่น่าชื่นชม น่าพอใจ ก็คงจะไม่สมบูรณ์เสียทีเดียว เพราะยังมีภารกิจที่ต้องดำเนินต่อไปในภายหน้าอีกเป็นอันมาก ทั้งการทำให้จังหวัดที่ได้ดำเนินการมาแล้วดำเนินงานต่อไปอย่างมีคุณภาพยิ่งขึ้น และขยายขอบข่าย ให้ถ้วนทั่วยิ่งขึ้น ในจังหวัดนั้นๆ นอกจากนั้นยังต้องขยายการดำเนินงาน ไปสู่ จังหวัดอื่นๆ ซึ่งจริงๆ ก็คงจะได้ดำเนินการมามากบ้างน้อยบ้างต่างๆ กันอยู่แล้ว ในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน และการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ที่ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มอีก 30 จังหวัดก็คงจะไม่เพียงพอ เพราะประเทศไทยมีอยู่ 76 จังหวัด ในที่สุดเราคงอยากจะเห็นการแก้ปัญหาความยากจน และการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนดำเนินไปทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ สำหรับประชาชนทุกระดับ และบังเกิดผลที่แน่นหนา ยั่งยืน จึงจะเป็นที่น่าพอใจอย่างแท้จริง
แนวทางดำเนินการต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
ในการดำเนินการไปข้างหน้า ทุกฝ่ายคงจะต้องมีความร่วมแรงร่วมใจกัน ให้ดีขึ้น และมากยิ่งขึ้น เพราะแนวโน้มที่จะเกิดอุปสรรค ปัญหา เกิดความอ่อนด้อยในระบบ กลไก หรือแม้ในความคิด การพูด และการทำของตัวเราเองย่อมเกิดขึ้นเสมอ จึงต้องมีความพยายามอยู่เป็นเนืองนิตย์ที่จะเสริมเติมสิ่งที่เป็นความดี เป็นความสามารถ เป็นการรวมพลังที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอยู่เสมอ จึงจะถ่วงดุลกับแนวโน้มของความไม่ดีของความอ่อนแอได้ และทำให้งานของเราเจริญก้าวหน้าต่อไป เป็นลำดับ
ในการดำเนินการข้างหน้า ผมคิดว่าสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งก็คือ การน้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ซึ่งพระองค์ท่านได้มีพระราชดำริ มีคำแนะนำให้กับประชาชนชาวไทยเป็นอันมากเหลือคณานับ เราเพียงแต่เลือกที่ตรงประเด็นมากๆ มาประยุกต์ใช้น่าจะเพียงพอ เป็นต้นว่า เรื่องของ “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระองค์ท่านมีพระราชดำริและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน โดยเฉพาะในปีนี้ที่มีการถวายรางวัลแด่พระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัวในเรื่องการพัฒนามนุษย์ โดยองค์การสหประชาชาติ และมีการกล่าวถึงในที่ประชุมต่างๆ ว่าเป็นแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมสำหรับโลก ไม่เฉพาะแต่สำหรับประเทศไทยเท่านั้น
พระราชดำรัสว่าด้วยคุณธรรม 4 ประการซึ่งเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี
พระราชดำรัสเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ที่พูดถึงคุณธรรม 4 ประการ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี ที่ประชาชนคนไทยควรยึดถือปฏิบัติ น่าจะเป็นแนวทางที่มีความสด เพราะพระองค์ท่านเพิ่งมีพระราชดำรัสไปไม่กี่วันมานี้ คุณธรรม 4 ประการนั้นได้แก่
1. การที่ทุกคนคิด พูด ทำ ด้วยความเมตตา มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน
2. การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผล ทั้งแก่ตน แก่ผู้อื่น และกับประเทศชาติ
3. การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผน โดยเท่าเทียมเสมอ กัน
4. การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตนให้ถูกต้อง เที่ยงตรง และมั่นคงอยู่ในเหตุในผล
ซึ่งผมคิดว่าข้อสุดท้ายนี้พระองค์ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญของจิตใจ ของจิตสำนึก ที่ลึกๆ อยู่ในตัวของทุกๆ คน และเป็นสิ่งที่กำกับการคิด การพูด การทำ เพราะถ้ามีการพัฒนาทางจิตอยู่เสมอๆ ให้มีความบริสุทธิ์ ถูกต้อง เที่ยงธรรม มีความเมตตา กรุณา รู้รักสามัคคีอยู่เสมอ ก็เชื่อได้ว่าการคิด การพูด การทำร่วมกันของชุมชนทั้งหลายที่มาร่วมกันทำงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน เพื่อสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขจะดำเนินไปได้ด้วยดียิ่ง
“การแก้ปัญหาความยากจน” กับ “ การสร้างความอยู่เย็นเป็นสุข”
การแก้ปัญหาความยากจน เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ ถ้าจะกล่าวว่ามีอีกด้านหนึ่งของเหรียญก็คือ การสร้างความอยู่เย็นเป็นสุข ฉะนั้นการแก้ปัญหาความยากจนกับการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขจึงเป็นเรื่องเดียวกัน อันที่จริงการพัฒนาทั้งหลายของรัฐทั้งหมดน่าจะมุ่งไปสู่เรื่องเดียวกัน คือ ความอยู่เย็นเป็นสุขและปราศจากความยากจนของประชาชนทั้งหมด ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมแปลว่า งานของทุกคนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนกลาง องค์การทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใด ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ล้วนเป็นเรื่องเดียวกัน มีวัตถุประสงค์เป้าหมายเดียวกัน ก็คือความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน ถ้าคิดเช่นนี้เราจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องแก้ปัญหาความยากจนเท่านั้น แต่เรื่องอื่นๆ ไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่อยู่ในที่นี้เท่านั้น แต่หน่วยงานอื่นๆทั้งหมด ล้วนทำในเรื่องเดียวกัน จึงต้องปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ มีความเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน มีความเป็นกัลยาณมิตร ประสานงาน ประสานใจประสานโครงการ ประสานงบประมาณ ประสานทุกอย่างเชื่อมประสานกันเพื่อให้ผสมผสานสอดคล้องเชื่อมโยงรวมพลังมุ่งไปสู่เป้าหมายสุดท้ายก็คือ การสร้างความอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากความยากจนของประชาชน
หลักการสำคัญในการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความยากจนของประชาชน
ผมใคร่ขอถือโอกาสนี้เสนอข้อคิดเห็นบางประการเพื่อประกอบการพิจารณาของพวกเราในการดำเนินงานต่อไปข้างหน้า คงไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เราได้ยึดถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว แต่อยากจะนำมากล่าวซ้ำ เพื่อยกให้เห็นถึงความสำคัญ และเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณให้มีมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งหลายเรื่องเราทำอยู่แล้ว หรือทำได้อยู่แล้ว หรือทำดีอยู่แล้ว แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า “ความเสื่อมจะมีอยู่โดยธรรมชาติ” ฉะนั้นจึงต้องมีความขวนขวายพยายามที่จะพัฒนาคือทำให้ดีขึ้นอยู่เสมอ จึงจะป้องกันความเสื่อมเอาชนะความเสื่อมได้ ความเสื่อมอาจจะเกิดจากตัวเราเอง จากคนอื่น จากธรรมชาติ จากสภาพการณ์ในสังคม รวมทั้งในสังคมโลก ฉะนั้นเราต้องมุ่งสร้างความเข้มแข็ง สร้างความสามารถของเราให้มีมากขึ้นอยู่เสมอ
สิ่งที่ผมจะขอเสนอเป็นข้อประกอบการพิจารณามีอยู่ 5 ข้อ ถือเป็น หลักการสำคัญในสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากความยากจนของประชาชน ดังต่อไปนี้
ต้องให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา
1. หลักการที่ถือว่า “ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” ข้อนี้พูดกันมาตั้งแต่แผนฯ 8 แต่ในทางปฏิบัติ เรายังเพิ่งเริ่มต้น คำว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาก็หมายถึงประชาชน พร้อมทั้งกลไกทั้งหลายของประชาชนไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือเครือข่ายของประชาชนและรวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลไกการปกครองของประชาชนในระดับท้องถิ่น ประชาชนเป็นศูนย์กลางก็หมายถึงประชาชนเป็นผู้คิด เป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้ดำเนินการในส่วนที่ตนเองสามารถดำเนินการได้ ประชาชนควรเป็นผู้จัดการไม่ใช่ถูกจัดการ คำว่า “ประชาชนป็นศูนย์กลาง” บางครั้งบางคนอาจจะเผลอนึกว่าประชาชนเป็นศูนย์กลางในการถูกจัดการหรือหมายถึงให้รัฐไปจัดการประชาชน เหมือนกับคนที่ทำธุรกิจและถือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป้าหมายคือจะเอาประโยชน์จากลูกค้า ขายของให้ลูกค้า จริงอยู่นักธุรกิจถ้าฉลาดจะต้องถือเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างธุรกิจกับลูกค้า แต่สำหรับการทำงานของรัฐบาล ประชาชนไม่ใช่ลูกค้า ประชาชนเป็นเจ้าของ ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องการตอบแทนระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน แต่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นเจ้าของ ประชาชนเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ หน่วยงานทั้งหลายไม่ว่าหน่วยงานท้องถิ่น ภูมิภาค หรือส่วนกลาง ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ให้บริการกับประชาชนตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน ถ้าจะว่าไปแล้วอาจเรียกว่าเป็นผู้รับจ้างประชาชน ไม่ใช่ผู้เป็นนายประชาชน
เรื่องนี้คิดว่าพวกเราทั้งหลายที่ทำงานพัฒนาชุมชนคงจะเข้าใจดีอยู่แล้ว แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่พวกเราต้องเตือนสติพวกเรากันเอง รวมทั้งคนอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอๆ เพื่อให้ประชาชนเป็นเจ้าของที่แท้จริง เป็นผู้จัดการที่แท้จริง เป็นผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในการคิด การพูด การทำ และในการเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ควรคิดและทำจากองค์ประกอบและมุมมองของพื้นที่
2. หลักการซึ่งโครงการบูรณาการนำร่องแก้ไขปัญหาความยากจนได้พูดไว้อย่างชัดเจน นั่นก็คือ “การมีพื้นที่เป็นตัวตั้ง” หลักการนี้ได้รับการกล่าวถึงและปฏิบัติในช่วงเวลาไม่นานนัก ถ้าจะว่าไปความคิดนี้เริ่มตั้งแต่แผนฯ 8 อย่างเป็นกิจลักษณะ แต่กว่าจะปฏิบัติให้เป็นจริงเป็นจังได้ก็ใช้เวลาหลายปี และขณะนี้ได้ทำไปบ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ผมเพียงแต่อยากย้ำว่าการมีพื้นที่เป็นตัวตั้งต้องหมายถึงพื้นที่ในระดับที่เล็กที่สุดขึ้นมา พื้นที่เป็นตัวตั้งไม่ได้หมายความว่าเอาทั้งจังหวัดเป็นตัวตั้ง แล้วไม่คำนึงถึงความเป็นตัวตนของพื้นที่ในระดับตำบล เทศบาล แม้กระทั่งระดับหมู่บ้าน ชุมชนย่อยๆ พื้นที่เป็นตัวตั้งต้องเป็นพื้นที่ตั้งแต่ปฐมภูมิ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติน่าจะหมายถึงพื้นที่ที่มีระบบการปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะเป็นระบบการจัดการที่เป็นของประชาชน และมีกลไกที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย มีงบประมาณ มีกระบวนการต่างๆชัดเจนและบูรณาการ
ฉะนั้นระบบการปกครองระบบการจัดการในระดับปฐมภูมิ น่าจะหมายถึงการจัดการในระดับตำบลและเทศบาล คำว่าพื้นที่เป็นตัวตั้งต้องเน้นว่าเป็นพื้นที่ปฐมภูมิที่มีการจัดการอย่างบูรณาการในพื้นที่นั้นๆ ก่อนที่จะมาคิดบูรณาการในขั้นทุติยภูมิ ซึ่งอาจจะหมายถึงระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด และก่อนที่จะไปบูรณาการในระดับที่สูงขึ้นไป อาจจะเป็นระดับกลุ่มจังหวัดที่เราเรียกว่าคลัสเตอร์ ซึ่งภายใต้รัฐบาลนี้มีการจัดคลัสเตอร์ 19 กลุ่มจังหวัด ตลอดจนไปถึงการบูรณาการทั้งประเทศ คำว่าพื้นที่เป็นตัวตั้งต้องมองทุกอย่างจากพื้นที่ในมิติของประชาชนในพื้นที่ ไม่ได้มองจากส่วนกลาง หรือมองจากจังหวัดลงไปในพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันระดับทุติยภูมิ ตติยภูมิ ก็มีบทบาทสำคัญไม่ใช่ไม่สำคัญ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาเรามักจะมองจากบนลงล่าง ฉะนั้นจึงต้องถ่วงดุลด้วยการสร้างแนวโน้มให้แน่นหนายิ่งขึ้นในระดับปฐมภูมิมากที่สุด ก็คือพื้นที่ระดับตำบลและเทศบาล ภายใต้โครงการนี้จะเห็นว่าเราเริ่มในบางตำบลและเทศบาลเป็นอย่างน้อย และในที่สุดก็กลายเป็นทุกตำบล ทุกเทศบาล จึงจะถือว่าเป็นการมีพื้นที่เป็นตัวตั้งครบถ้วนทุกพื้นที่ เมื่อเป็นเช่นนั้นการบูรณาการทั้งจังหวัดที่จะผสมผสานกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดย่อมเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์
ควรเชื่อมประสานบูรณาการทุกอย่างทุกมิติที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม
3. หลักการทุกอย่างเชื่อมประสานบูรณาการ ภายใต้โครงการนี้ได้มีความพยายามอย่างดียิ่งที่จะบูรณาการ แต่จะสังเกตว่าเป็นการบูรณาการภายใต้เรื่องการแก้ปัญหาความยากจนเป็นหลัก ซึ่งถือว่าดี เพราะคำว่าการแก้ปัญหาความยากจนมีความหมายกว้างขวาง เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หลายมาตรการ หลายองค์กร แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่ประชาชนเกี่ยวข้องมิใช่มีแต่เรื่องการแก้จนเท่านั้น ถ้าพื้นที่เป็นตัวตั้งและประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนจะเป็นผู้บอกได้ดีว่าเขาต้องการทำเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดผลอย่างไร ถ้ามองตรงนี้ก็หมายความว่านอกจากการบูรณาการโครงการ มาตรการ และหน่วยงานที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาความยากจนโดยตรงแล้ว ก็ยังควรต้องบูรราการกิจกรรมภายใต้โครงการอื่นๆ และหน่วยงานอื่นๆ อีกทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ที่จะมีผลโดยอ้อมต่อการแก้ปัญหาความยากจน หรือมีผลต่อการสร้างความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนที่เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญเดียวกันดังได้กล่าวแล้ว
ผมขอย้อนไปที่หลักการประชาชนเป็นศูนย์กลางและพื้นที่เป็นตัวตั้ง นั่นหมายถึงว่า ถ้าพื้นที่เป็นตัวตั้งในระดับ ตำบล เขตเทศบาล และประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนและกลไกทั้งหลายของประชาชน ตลอดจนกลไกที่ไปเกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่ จะบอกได้เองว่าเรื่องที่จะบูรณาการทั้งหมดมีอะไรบ้าง ก็คืองานของกระทรวงอื่นทั้งหมด งานขององค์กรมหาชน แม้กระทั่งงานขององค์กรภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาชน ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ต้องเชื่อมประสานบูรณาการกันทั้งคน องค์กร โครงการ มาตรการ กิจกรรม และงบประมาณ ทั้งในทางกว้าง ทางดิ่ง ทางทะแยง เชื่อมประสานบูรณาการกันทั้งหมด นั่นคือสุดท้ายของความสมบูรณ์ ซึ่งผมคิดว่าเราทำดีแล้ว แต่ยังจะต้องดำเนินต่อไปอีก ผมเองก็เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้และรู้ดีว่า การเชื่อมประสานให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและพื้นที่เป็นตัวตั้งนั้น เราได้เริ่มแล้ว และทำไปมากแล้ว แต่ยังต้องใช้ความพยายามให้มากขึ้นโดยไม่ท้อถอยกับปัญหาอุปสรรคที่ย่อมมีเป็นธรรมดา
ระบบข้อมูลและข้อสนเทศที่ดีคือองค์ประกอบพื้นฐานของการพัฒนาให้บรรลุความสำเร็จ
4. การมีระบบข้อมูลและสารสนเทศที่ดีและมากพอ โครงการนี้ได้ริเริ่มให้มีการใช้ข้อมูล ข้อสนเทศเป็นเครื่องมือสำคัญในการร่วมปฏิบัติ ข้อมูลและข้อสนเทศเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะมีความเป็นกลาง ไม่เกี่ยวกับการเมือง กับพรรคพวก แต่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ซึ่งทุกฝ่ายจะสนใจเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์ร่วมกัน และช่วยให้การทำงานร่วมกันมีทั้งประสิทธิภาพและคุณภาพ อย่างไรก็ดี ระบบข้อมูลที่ว่าดีพอและมากพอนี้ ผมคิดว่าเรายังต้องพัฒนาอีกมาก เพราะขณะนี้เรามีระบบข้อมูลหลายระบบหลายชุดอยู่ด้วยกัน แต่การใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่สะดวกและไม่มี ประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้ด้วยกันได้ เสริมด้วยระบบข้อสนเทศก็คือความรู้ต่างๆที่จะใช้ด้วยกันเพิ่มเติม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ในการจะพัฒนาระบบข้อมูลและข้อสนเทศให้ใช้ร่วมกันได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแยกออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือข้อมูลพื้นฐานที่บ่งบอกถึงภาวะที่พึงปรารถนา หรือภาวะที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา ไม่ว่าเราจะเรียกภาวะนั้นว่าเป็นภาวะความอยู่เย็นเป็นสุข ภาวะการพัฒนาคนและสังคม หรือภาวะความไม่ยากจน ภาวะที่พึงปรารถนาจะต้องมีข้อมูล มีตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่าเราอยู่ในสถานะอย่างไรในปัจจุบัน และเราจะมีเป้าหมายทำให้ดีขึ้นได้อย่างไรในอนาคต
กลุ่มที่สอง คือระบบข้อมูลซึ่งอาจจะรวมถึงข้อสนเทศด้วย เกี่ยวกับปัจจัยที่จะนำไปสู่ภาวะที่พึงปรารถนา เช่นเรื่องทรัพยากร ทุนทางสังคม โครงสร้าง กลไก มาตรการ ตลอดจนงบประมาณต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ภาวะที่พึงปรารถนาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม นั่นคือเราต้องการรู้ภาวะที่แสดงผลของการพัฒนากับภาวะที่แสดงเหตุของการพัฒนา เป็นระบบข้อมูลและข้อสนเทศพื้นฐานที่จะใช้ร่วมกันซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มาก และเรื่องนี้จะเป็นโครงการสำคัญที่หลายหน่วยงานต้องร่วมกันทำรวมทั้งประชาชนในพื้นที่ก็ต้องมีบทบาทร่วมคิดร่วมตัดสินใจด้วย
ระบบจัดการคือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
5. การมีระบบจัดการที่มีคุณภาพ คำว่า “ระบบจัดการที่มีคุณภาพ” เป็นคำกว้างแต่มีความหมายละเอียดซึ่งสามารถแยกแยะได้ดังนี้ ประการแรก คือเรื่องของการมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นการจัดการซึ่งหมายความรวมถึงการดำเนินการทุกอย่างที่ต้องมีคุณธรรมเป็นพื้นฐาน เป็นหลักยึด เป็นเครื่องชี้แนวทาง ซึ่งสอดคล้องอย่างยิ่งกับพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549 ที่พระองค์ท่านทรงเน้นย้ำเรื่อง “การพัฒนาทางจิตใจและความคิด” ก็คือการเจาะลึกลงไปถึงจิตสำนึก โดยเฉพาะจิตสำนึกด้านคุณธรรม จริยธรรม การพัฒนาประเทศไทยที่ผ่านมาเราคงเห็นพ้องต้องกันว่าที่ยังไม่ดี ปัญหาจำนวนมากเกิดขึ้นจากความอ่อนด้อยทางด้านจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ขณะที่เราอาจจะมีความเก่งกล้าสามารถ มีความรู้ความเข้าใจ มีการพัฒนาทางด้านเทคนิควิธีการและเทคโนโลยีต่างๆ แต่เพราะโจทย์ของคุณธรรมและจริยธรรมข้อเดียวทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ฉะนั้นผมจึงคิดว่าการจัดการที่มีคุณภาพต้องเริ่มด้วยคุณธรรม จริยธรรม น่าสังเกตว่าในประเทศภูฏาน น่าสนใจมากคือการมีนโยบายแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาที่มุ่งให้เกิดความสุขมวลรวมประชาชาติ เหมือนที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ได้พูดมาหลายปีแล้ว และประเทศไทยก็ได้เริ่มพยายามมานานเรื่องความอยู่เย็นเป็นสุข หรือความอยู่ดีมีสุข และมีตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้นมาหลายแบบหลายชุด รวมทั้งที่ชาวบ้านภาคอีสานได้ร่วมกับนักวิชาการพัฒนาตัวชี้วัดความสุข 8 หมวดออกมา อันที่จริงเราเองได้ความคิดดีๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ที่ประเทศภูฏานเขาบอกว่าเขาจะต้องพัฒนาไปสู่ความสุขมวลรวมประชาชาติบนพื้นฐานของเสาหลักสี่เสา หนึ่งคือการสร้างความสามารถและความเสมอภาคในการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจและสังคม สองคือเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะภูฏานเป็นประเทศที่มีทรัพยากรดีมากและมีเป้าหมายจะรักษาป่าไว้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ มีการจำกัดการท่องเที่ยวไม่เกินเท่านั้นเท่านี้คนต่อปี เพื่อป้องกันการทำลายทั้งทรัพยากรและวัฒนธรรม เสาหลักที่สามคือ การอนุรักษ์พัฒนาวัฒนธรรมและคุณค่าในสังคม และเสาหลักที่สี่ได้แก่ธรรมาภิบาลคือความซื่อสัตย์สุจริตมีคุณธรรม จริยธรรมในการบริหารและการปกครอง
การจัดการที่มีคุณภาพต้องเน้นคุณธรรมจริยธรรม
กลับมาดูประเทศไทยของเราผมจึงคิดว่าการจัดการที่คุณภาพต้องเน้นที่คุณธรรมจริยธรรมเป็นเบื้องต้น ถึงจะทำอยู่แล้วก็ต้องทำ ต้องทำมากขึ้น เพราะคุณธรรมจริยธรรมมีแนวโน้มที่จะถูกบั่นทอนทำให้อ่อนด้อยได้อย่างง่ายดาย เป็นนิสัยของมนุษย์ ซึ่งมีทั้งความดีและความไม่ดีผสมกันอยู่ในคนทุกคนเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องจุดพลังส่งเสริมความดี พยายามดึงความดีออกมา ความซื่อสัตย์สุจริตความมีคุณธรรมจริยธรรมต้องดึงออกมา ทั้งจากในตัวเองและในตัวคนอื่น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนว่า นอกจากแต่ละคนพึงพัฒนาจิตใจและความคิดให้ถูกต้องเที่ยงธรรมแล้ว ต้องพยายามถ่ายทอดการพัฒนานี้ไปสู่คนอื่นอย่างถ้วนทั่วด้วย
นอกจากคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว อีก 3 ข้อที่ควรคำนึงถึงในการจัดการที่มีคุณภาพคือ หนึ่งเรื่องการใช้ความรู้ และข้อมูล ซึ่งโครงการนี้ให้ความสำคัญอยู่แล้ว สองคือ “การจัดการความรู้” ซึ่งมีความหมายลึกซึ้งและกว้างขวาง และในเรื่องนี้ สกว.และ สสส.ได้ร่วมกันตั้งหน่วยงานชื่อ “สถาบันส่งเสริมจัดการความรู้เพื่อสังคม” (สคส.) ทำให้ “การจัดการความรู้” ได้เป็นที่เข้าใจและนำไปปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางพอสมควร แต่ก็ยังจะต้องพัฒนาต่อไปอีกในเรื่องการจัดการความรู้ ทั้งภายในองค์กร ภายในโครงการ ภายในพื้นที่ และระหว่างองค์กร ระหว่างโครงการ ระหว่างพื้นที่ พร้อมกันนั้นก็ควรเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และควรจัดการความรู้ข้ามเครือข่าย ข้ามพื้นที่ และต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเข้มข้น สามารถพัฒนายกระดับได้ดีขึ้นๆและมากขึ้นๆ อยู่ตลอดเวลา
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
4 มิ.ย. 49
เรียน อาจารย์ ครับ
ข้อมูลรู้สึกว่าอาจารย์ยังใส่ขาดไปหรือเปล่าครับเพราะในบันทึก จบเพียง 2 มีการคิดเชิงระบบ หมาย.............ผมเลยอ่านไม่จบครับ
มีต่อแล้วครับ พอดีผมไม่ทันได้ดูว่ามันขาดไป ขอโทษด้วยครับ
เอกราช (ผู้รับผิดชอบ)