โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

18.ทำงานไม่มีโทษ


เจ้าของกระท่อมเป็นข้าราชการเกษียณ หวังอยากมีชีวิตบั้นปลายอย่างสงบในชนบทเมืองกาญจนบุรี ก้าวออกจากกระท่อมก่อกองไฟเล็กๆ ผิงหาไออุ่นช่วยขับไล่ความหนาวเย็น

ทำงานไม่มีโทษ

โสภณ เปียสนิท

...........................    

            คืนนั้นอากาศหนาวเย็นเกินกว่ากระท่อมหลังเล็กมุงบังด้วยฟากจะให้ความอบอุ่นได้เพียงพอ แม้ผ้าห่มผืนเก่าเมื่อปีก่อนก็ยังช่วยได้ไม่มากนัก เจ้าของกระท่อมเป็นข้าราชการเกษียณ หวังอยากมีชีวิตบั้นปลายอย่างสงบในชนบทเมืองกาญจนบุรี ก้าวออกจากกระท่อมก่อกองไฟเล็กๆ ผิงหาไออุ่นช่วยขับไล่ความหนาวเย็น ชายชราวัยเดียวกันบ้านใกล้เคียง ออกจากบ้านมาร่วมวงนั่งรอบกองไฟด้วย เจ้าของกระท่อมร้องเชิญอย่างเป็นกันเอง “เอ้า เชิญๆ นั่งคุยกันข้างกองไฟดีกว่า หนาวเอาเรื่องเหมือนกันนะปีนี้” “เออ..จริง ปีที่ผ่านมาไม่หนาวเท่านี้” เพื่อนบ้านตอบยิ้มๆ เจ้าของบ้านหยิบเก้าอี้ไม้เตี้ยๆ ส่งให้ เพื่อนบ้านนั่งลงแล้วล้วงมันเทศออกจากย่ามวางไว้ข้างกองไฟ แล้วใช้ไม้เขี่ยขี้เถ้าจากกองไฟกลบ เจ้าของกระท่อมมองแล้วถาม “ปลูกเองหรือ” “ใช่ หลังบ้านมีเยอะ วันหลังอยากกินก็ไปขุดมาได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ” “มีพันธุ์อะไรบ้างล่ะ” “มีหลายพันธุ์ จำไม่ค่อยได้ รู้แต่ว่าจะกินอะไรก็ไปหาเอาที่หลังบ้านนี่แหละ มันเหมือนตู้เย็นของฉัน”

 

                เจ้าของกระท่อมนิ่งคิดเนิ่นนาน ใช่ คนในเมืองต้องมีตู้เย็น ต้องมีร้านสะดวกซื้อ เพื่อไว้สำรองอาหาร แต่ชาวชนบทที่ห่างไกลมีพื้นดินใกล้บ้านทำหน้าที่แทน โดยการปลูกพันธุ์ไม้กินได้ทุกอย่างไว้ เมื่อต้องการกินต้องการใช้ หยิบไปได้ทันที นี่คือภูมิปัญญาชาวบ้านที่เขาชอบที่จะเรียนรู้  “ผมชอบชีวิตอย่างพี่” “ไม่เห็นดีอะไร เป็นราชการอย่างคุณนั้นมีเกียรติดีกว่าอยู่แล้ว” “บางคนอาจชอบแบบนั้น ในที่สุดแล้วก็ต้องเกษียณ บางคนทำใจไม่ได้ ดีหน่อยที่ผมคิดมานานแล้วว่าอยากมาใช้ชีวิตแบบนี้ ผมจึงมีความสุขพอควร” “งั้นบอกหน่อยว่า ชีวิตเงียบเหงาอย่างนี้มีข้อดีอย่างไร” “เป็นการดำรงชีวิตแบบไม่มีโทษ มีประโยชน์ต่อตนเอง และผู้อื่น” “อธิบายหน่อยว่ามีประโยชน์อย่างไร” “ประโยชน์ตนคือดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน”

 

                        เพื่อนบ้านถามต่อ ขณะอังมือกับกองไฟ “แล้วประโยชน์ผู้อื่นเล่า” “พี่ก็ทำอยู่เอง เวลาคนมาเยี่ยมพี่ทำอย่างไร” “ไม่เห็นได้ทำอะไร พาเขาดูสวน ดูต้นไม้ เขาขอพันธุ์ไม้ก็ให้เขาไป” “นี่ไง ประโยชน์ผู้อื่น บอกพวกเขาว่า เป็นต้นอะไร เพาะพันธุ์อย่างไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ถือว่าเป็นวิทยาทาน ให้พันธุ์ไม้ไปเป็นอามิสทาน” “คุณพูดจนผมเริ่มภูมิใจชีวิตตัวเองขึ้นมาบ้าง” “ครับน่าภูมิใจ แบบนี้แหละที่ว่า ทำงานที่ไม่มีโทษ” เจ้าของกระท่อมพูดหลักธรรมลึกซึ้ง เพื่อนบ้านผู้มาเยือนมีสีหน้างง กล่าวถาม “ไม่มีโทษอย่างไร” “ไม่มีโทษ หมายถึงงานที่ไม่มีเวรไม่มีภัย ไม่เบียดเบียน แถมเป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น” “พอเข้าใจ แต่อธิบายเพิ่มเติมได้ไหม” เหมือนว่ายังมีบางอย่างที่ยังคิดไม่ตก “งานไม่มีโทษคือ ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดประเพณี ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม”

 

                       “โอ้ ลึกซึ้งไปถึงไหนนั่น” เพื่อนบ้านคงจะเข้าใจยาก “แค่ทำงานไม่มีโทษมีความสำคัญต่อชีวิตของทุกคน เกี่ยวข้องหลายด้านดั่งที่กล่าวมา” “ไม่ผิดศีลสำคัญมากด้วยหรือ” “สำคัญมากเพราะศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิ สมาธิทำให้เกิดปัญญา ปัญญาเป็นเครื่องบรรลุนิพพาน” “เลยเข้าวัดไปโน่น” “ใช่ เกี่ยวข้องกับหลักสำคัญของศาสนา ซึ่งก็คือหลักของชีวิตนั่นเอง” “หลักของชีวิตอย่างไร” “คนเราจะไม่มีความสุขถ้าขาดศีลสมาธิและปัญญา” “ชักเริ่มงง ต้องอธิบายให้ง่ายหน่อยนะ เรื่องนี้เข้าใจยาก” “ง่ายๆ นะ การฆ่าการรังแกกันทำให้มีสุขหรือทุกข์ การลักทรัพย์ผู้อื่นทำให้คนมีสุขหรือทุกข์ การผิดในกามทำให้คนเรามีสุขหรือทุกข์ การพูดเท็จทำให้เรามีสุขหรือทุกข์ การดื่มสุรายาเมาทำให้คนมีสุขหรือทุกข์กันแน่” ลุงเพื่อนบ้านนั่งคิดนิ่งๆ ใช้ไม้เขี่ยถ่านไฟเกลี่ยไว้บนกองขี้เถ้าที่กลบมันเทศไว้

 

                   “ชาวบ้านบางคนต้องฆ่าสัตว์เพื่อทำอาหารผิดด้วยหรือ” แม้ว่าลุงเพื่อนบ้านเลิกฆ่าสัตว์ไปนานแล้ว แต่ยังคิดเป็นห่วงเพื่อนบ้านทั่วไปที่ดำรงชีวิตเกี่ยวข้องกับการเข้าป่าล่าสัตว์เป็นอาหาร อดีตข้าราชการผู้หันมานิยมเกษตรพอเพียง ตอบอย่างเห็นใจและเข้าใจ “ผิดนั้นผิดแน่ เพราะพระพุทธองค์สอนไว้แล้ว แต่ว่าหากเกี่ยวข้องกับการฆ่ามากเข้า จิตย่อมเศร้าหมองและหนีเคราะห์กรรมอันโหดร้ายไม่พ้นแน่ อีกอย่างดำรงชีวิตอยู่ด้วยการทำลายชีวิตผู้อื่นไม่น่าจะถูกต้อง”

 

                    ลุงเพื่อนบ้านถามเรื่อยๆ “และต้องไม่ผิดธรรมด้วยใช่ไหม” “ใช่ เช่นการผูกโกรธอาฆาตผิดหลักแห่งกุศลกรรม การเกียจคร้าน ผิดหลักอิทธิบาท การเป็นนักเลงการพนันเจ้าชู้ ผิดหลักการละอบายมุขเป็นต้น” ลุงเจ้าของกระท่อมกล่าวเรื่อยๆ พอกัน “พระสอนเรื่องเหล่านี้ไว้มากมายให้คนเรามีหลักยึดในการดำเนินชีวิตไม่ผิดพลาด เช่นท่านสอนว่า “ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงลงมือทำดีกว่า คนโบราณนำมาผูกเป็นคำคมว่า “อย่าดมก่อนเห็น อย่าเซ็นต์ก่อนอ่าน” พระสอนให้ลดความลำพอง คลายความอวดดื้อถือดีมีมานะ อย่างนี้เป็นต้น” ลุงเพื่อนบ้านพยักหน้าเห็นด้วย

 

                   หลังนิ่งคิดสักครู่ เพื่อนบ้านเปลี่ยนเรื่องตั้งคำถามอื่น “แสดงว่าอาชีพบางอย่างอาจมีโทษได้” “แน่นอน พระสอนให้งดเว้นอาชีพที่ต้องห้าม” “มีด้วยหรืออาชีพต้องห้าม” “มีอาชีพ 5 อย่างพระห้ามไว้ คือ ค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ ค้ายาพิษ ค้ายาเสพย์ติด ค้าสัตว์เพื่อนไปฆ่า” “คิดดูก็ควรแล้วที่พระท่านห้าม แต่ยังเห็นมีค้าขายอยู่บ้างเหมือนกัน” “นั่นถือว่าผิดหลักธรรม การงานมีโทษ ไม่ถูกไม่ควร” “งานไม่มีโทษทำอย่างไร” “เริ่มจากการ รักษาอุโบสถศีล” “รักษาศีล 8 หรือ” “ใช่ครับ เริ่มง่ายจากแค่นี้แหละ ค่อยๆ ทำไป”

 

                   “แสดงว่ายังมีอีก” “มีอีกมาก เช่น การทำงานช่วยเหลือกันในทางที่ชอบ การสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมเช่น วัด เจดีย์” “เรียกว่าทำสาธารณะประโยชน์ถือว่าได้บุญ” “ใช่ครับ แม้การปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงาแก่คนเดินทาง การสร้างสะพาน เพื่อให้คนสัญจรไปมาได้สะดวกก็เป็นบุญด้วย” “ข้อนี้ถือว่าทำได้ง่ายที่สุด เคยได้ข่าวว่าทางอีสานมีนายดาบตำรวจคนหนึ่งชอบปลูกต้นไม้” “ปลูกหลายต้นหรือ” “กว่าสองล้านต้น ที่สำคัญแกปลูกในที่สาธารณะเพื่อเอาบุญ คนนี้คงได้บุญมาก” “ใช่เลยครับได้บุญมากแบบง่ายๆ” “เพราะอะไร” ลุงเพื่อนบ้านถามแบบอยากรู้ “เพราะต้นไม้ปลูกง่าย และให้ประโยชน์หลายอย่าง ให้ความร่มเย็นแก่คนเดินทาง ให้ความร่มเย็นแก่โลก บางต้นใช้ทำยา ใบไม้ ผลไม้ใช้เป็นอาหาร ใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้บำรุงดิน รักษาความชื้น ใช้ประโยชน์มากเท่าไร ได้บุญเท่านั้น ทั้งกลางวันกลางคืน”

 

                    ลุงเพื่อนบ้านใช้ไม้เขี่ยมันเทศคลุกขี้เถ้าออกจากกองไฟวางเรียงไว้ข้างกองไฟ รอให้เย็นลงอีกหน่อย ปากก็กล่าวเบาๆ “บางครั้งการดำรงชีวิตที่ยากลำบาก ทำให้คนเห็นแก่ตัว มองว่าการดำรงชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่นทำได้ยาก” “ใช่ การดำรงชีวิตแบบชาวบ้านมีค่ากว่า ทำบุญได้ง่ายกว่าชีวิตคนเมือง” “อาจเป็นอย่างนั้น แต่บุญใครทำใครได้” “ก็จริงอย่างว่า บางคนสร้างประปา สร้างแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำสะดวก การตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ไว้หน้าบ้าน นี่ก็ได้บุญ” “สังเกตว่า เมื่อวัตถุเจริญขึ้น จิตใจของประชาชนเสื่อมลง สวนทางกัน” “คนเราเห็นแก่ตัวกันมากขึ้นทุกวัน การคิดถึงบุญกุศลน้อยลง พระท่านสอนให้ลดความเห็นแก่ตัวลง” “แต่ชาวบ้านไม่ค่อยได้ยินเท่าไร” “ครับ ไม่ค่อยฟังพระกันเท่าไร”

 

                    เพื่อนบ้านเขี่ยมันเทศสุกให้เจ้าของบ้านแล้วพยักหน้าให้ทดลองชิม “การทำบุญนี่เหมือนทำง่ายๆ นะ” “ใช่ครับถ้าเรารู้และฉลาดพอ” อดีตข้าราชการใช้มือหยิบมันเทศทดสอบความร้อน แล้วกล่าวต่อ “การให้ที่อยู่อาศัยแก่บุคคลต่างๆ ก็ได้บุญมาก” “คนสมัยเก่าจึงมักสร้างศาลาริมทางเพื่อให้คนเดินทางได้พักผ่อน” “เพื่อเอาบุญ” “ใช่ครับเพื่อเอาบุญ”  “สมัยนี้มันหายไปแล้ว แต่ว่ามีโรงแรมมาแทน” “เปลี่ยนจากเอาบุญ หันมาเอาเงินแทน เงินจึงเป็นตัวตั้ง สังคมให้ความสำคัญแก่เงินเป็นอันดับแรก”

 

                      เจ้าของกระท่อมผู้หันมาเห็นชอบกับวิถีชีวิตแบบชนบทหยิบมันเทศอุ่นๆ ขึ้นบิออก มองควันกรุ่นลอยตามแรงลมหนาวแผ่วเบา ขยับผ้าขาวม้าพันคอให้กระชับ พร้อมกล่าวว่า “ชีวิตหากดำรงอยู่อย่างสงบอาชีพไม่มีโทษถือว่าเป็นกำไร” “กำไรอย่างไรบ้างเล่า” “พระสรรเสริญว่า ยศย่อมเจริญแก่ผู้มีความหมั่น มีสติ มีการงานสะอาด ใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ สำรวมแล้ว เป็นอยู่โดยธรรมไม่ประมาท”

 

                    ชายชราสองคนต่างหยิบมันเทศสุกค่อยๆ ปลอกเปลือกออกกินเล่นเป็นอาหารค่ำหน้ากองไฟ มีสุขกับชีวิตวันนี้ของทั้งคู่ในวัยชรา คนหนึ่งดำรงชีวิตแบบไม่มีโทษมาแต่ต้นตามวิถีแห่งชนบทอันห่างไกล ส่วนอีกคนเพิ่งมีโอกาสได้ลิ้มลองชีวิตใหม่ที่ใฝ่ฝันมาเนิ่นนาน ก่อนแยกย้ายกันกลับสู่กระท่อมหลังสุดท้ายของตน

หมายเลขบันทึก: 370006เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2010 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

มาชม

...เป็นเรื่องเล่าเร้าอารมณ์ให้ทำดีนะครับผม...

  • ครบ 38 ประการหรือยังครับ
  • จำอาจารย์ ดร.อุทัยได้หรือยังครับ

มงคล38 ใกล้จบแล้วครับ ผมส่งลงพิมพ์เป็นตอนๆที่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หัวหินสาร-เกาะหลัก กะว่าจะส่งไปพิมพ์แถวๆ สำนักพิมพ์สุขภาพใจ อะไรเทือกนั้น

กำลังรวบรวมเรื่องอื่นด้วยครับ จะได้มีผลงานเป็นของตัวเองบ้าง

เก็บไว้เป็นความภูมิใจสำหรับตัวเอง

ส่วนท่านดร. อุทัย เป็นรุ่นพี่ผมแน่ๆ จำท่านได้ สมัยนั้นเหมือนว่าจะเป็นประธานนักศึกษา

ไม่ทราบท่านอาจารย์ ขจิต เดินสายสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่ไหนขอรับ

 เรียนท่านอาจารย์ที่นับถือ

     อ่านแล้วต้องบอกว่า "ขอบคุณมากๆค่ะ"ที่นำเรื่องดีๆมาแบ่งปัน

เรียนคุณยาย

ชายชราสองคนแยกทางกันเดินแต่วัยหนุ่ม แต่กลับมารวมกันในวัยชรา ไม่ว่าคนเราจะดำเนินชีวิตอย่างไร แต่กลับมาเดินทางเดียวกันจนได้

  • บันทึกนี้มีญาติธรรมเข้ามารอตั้งนาน
  • แต่วันนี้ ✿อุ้มบุญ✿ เข้ามาอ่านเป็นคนที่ 99 พอดี
  • คนต่อไป ที่ 100 จะเป็นใครน๊า

เรียนคุณอุ้มบุญครับ

เอ...วันนี้ดูเหมือนว่าจะโด๊ปกระทิงแดงหรือเครื่องดื่มชูกำลังชนิดใดชนิดหนึ่งแน่ ลุยอ่านเป็นสนุกไปเสียแล้ว ขนาดห้ามยังไม่อยู่เลยนะนี่

สวัสดีค่ะ

คล้ายกับอาจารย์เลยนะคะ  ทราบว่าอาจารย์กำลังทำตู้เย็นไว้รอตอนเกษียณเหมือนกันใช่ไหมคะ

คบหรือสนทนากับคนดีทำให้มีพลังเชิงบวก หรือแรงบันดาลใจนะคะ

Ico48เรียนคุณยายคิมครับ

ตามมาอ่านถึงที่นี่

ตรงนี้ค่อนข้างยาว

อ่านยากหน่อย

ใครไม่ใช่นักอ่านจริง

อย่าได้หมายว่าจะสนใจ อิอิ

ขอยกนิ้วโป้งให้คุณยายคิมครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท