ปฏิรูปประเทศไทย ทางด้านการศึกษา


ทักษะด้านวิจารณญาณ และทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้จากการเรียนรู้ในชีวิตจริง เชื่อมโยงกับสภาพจริง ไม่ใช่เน้นวิชาเพียงอย่างเดียว การเรียนรู้ที่เน้นเฉพาะวิชาหรือสาระ เน้นการท่องจำสาระ และทดสอบการจำสาระ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะด้านวิจารณญาณ และทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต


          ทีวีช่อง ๑๑ รายการ “เจาะ...ประเด็น”  ขอมาบันทึกเทปเพื่อนำไปออกอากาศ ในวันเสาร์ที่ ๑๒ และอาทิตย์ที่ ๑๓ มิ.ย. ๕๓   ในหัวข้อ “ปฏิรูปประเทศไทย ทางด้านการศึกษา”   โดยคุณอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ   โดยเขามาบันทึกเทปเมื่อวันที่ ๑๐ มิ.ย.

          ผมเตรียมให้ความเห็นใน ๓ มิติ   คือมิติของการศึกษาภาพรวม  มิติการศึกษาขั้นพื้นฐาน  และมิติอุดมศึกษา

          โดยอารมณ์ของการให้ความเห็นอยู่บนพื้นฐานว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน   หรือวิกฤตยิ่งยวด จากการแตกแยกร้าวลึกในสังคมไทย    กลไกยึดเหนี่ยวสังคมไทยเข้าด้วยกัน ที่เคยทำงานได้ผลนั้น บัดนี้อ่อนแรง ต้องการกลไกใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่   ถ้าเราหากลไกนี้ไม่พบ หรือใช้ไม่เป็น สังคมไทยจะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ   เรากำลังช่วยกันมองว่า การศึกษาในกระบวนทัศน์ใหม่ จะช่วยทำหน้าที่ได้ไหม ต้องใช้กระบวนทัศน์อะไร ทำอย่างไร ใครทำ

          การศึกษาในภาพรวม ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทยเคยสัมภาษณ์ผมเอาไปลงเว็บไซต์อ่านได้ที่นี่  และผมเคยวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ไว้เมื่อเกือบปีครึ่งมาแล้วที่นี่   และได้ให้ความเห็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษารอบสองไว้ที่นี่

          การสัมภาษณ์ครั้งนี้ มีอารมณ์ของเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๕๓ เป็นฉาก   ซึ่งมีผลให้ผู้คนในสังคมรวมทั้งผมมองหาเครื่องมือเยียวยาสังคม   ไม่ให้แตกแยกกันมากกว่านี้   และให้ค่อยๆ ประสานสามัคคีกัน   เป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข แม้จะมีความแตกต่างหลากหลายอยู่ในสังคม   และผมมองว่าการศึกษาเป็นกลไกสำคัญยิ่ง

          แต่ ๑๐ ปีที่ผ่านมา การศึกษาเป็นตัวปัญหาเสียเอง   คือกิจกรรมต่างๆ ในระบบการศึกษา น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความแตกร้าวของสังคมไทย   ตัวสาเหตุที่เป็น root cause ที่สุดน่าจะอยู่ที่ตัวระบบการศึกษาไม่เป็น Learning Systems    แต่เป็น Mechanical & Top-down System    ระบบการศึกษาไม่เปิดกว้างให้ส่วนต่างๆ ของสังคมเข้าไปมีบทบาท    ไม่อยู่ในสภาพ All for Education และ Education for All    แต่กลับอยู่ในสภาพ Education for Educators    ลองตั้งโจทย์วิจัยและเก็บข้อมูลเอามาวิเคราะห์อย่างแม่นยำดูเถิดครับ จะเห็นจริง

          การศึกษาไทย ไม่ได้สร้างวิจารณญาณให้แก่คนไทยอย่างเพียงพอ    ผมพบจากการสังเกตด้วยตนเองว่า ตัวครูเอง ส่วนใหญ่ก็ขาดทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ    ข้อย่อหย่อนนี้ ทำให้คนไทยเชื่อง่าย   ในสภาพที่เทคโนโลยีข่าวสารและสารสนเทศมีพลังทลุทลวงมาก   คนไทยจึงถูกหลอกมากไปด้วย 

          การคิดอย่างมีวิจารณญาณคู่กับการมีทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต    ผมพบด้วยการสังเกตเช่นเดียวกัน (ไม่ทราบว่าผมมีอคติหรือเปล่า) ว่าครูส่วนใหญ่ขาดทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต   ดังนั้น ผมจึงสงสัยว่า วิธีการจัดการศึกษาเพื่อผลิตครูที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน น่าจะผิด

           ทักษะด้านวิจารณญาณ และทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้จากการเรียนรู้ในชีวิตจริง เชื่อมโยงกับสภาพจริง   ไม่ใช่เน้นวิชาเพียงอย่างเดียว   การเรียนรู้ที่เน้นเฉพาะวิชาหรือสาระ เน้นการท่องจำสาระ และทดสอบการจำสาระ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะด้านวิจารณญาณ และทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

          ผมเขียนบันทึกนี้ด้วยความจำ ไม่ได้จดหรือบันทึกเสียงไว้ ว่าตอนบันทึกเทปโทรทัศน์นั้น เราคุยกันว่าอย่างไรบ้าง    และตอนเขียนบันทึกนี้ เป็นช่วงที่มีข่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้ครูมัธยมต้องจบปริญญาโท   เป็นนโยบายที่อยู่บนฐานคิดว่า จะให้คุณภาพของผลสัมฤทธิ์ด้านการศึกษาดีขึ้น ต้องเน้นที่คุณวุฒิของครู   และผมตีความว่า เป็นนโยบายที่แฝงเป้าหมายเพื่อเอาใจครู    ทำให้ผลกลับไปค้นหนังสือ Visible Learning : A Synthesis of Over 800 Meta-Analysis Relating to Achievement โดย John Hattie     ในบทที่ ๗ เรื่อง The Contributions fron the Teachers   สรุปไว้อย่างชัดเจน ว่าการศึกษาของครูมีผลน้อยต่อผลสัมฤทธิ์ของเด็ก เมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น

          ข้อสรุปว่าดังนี้ “The most critical aspects contributed by the teacher are the quality of the teacher, and the nature of the teacher – student relationships. Medium effects related to teacher expectations particularly when lower expectations are held for all their students, and to teacher professional development effects on achievement. Low effects come from teacher education programs. ….”   ผมลอกมาทุกตัวอักษร รวมทั้งตัวเอนด้วย   ส่วนสีเหลืองที่เน้นให้เด่นนั้นผมจัดการเอง   แต่จริงๆ แล้ว จะให้เข้าใจข้อสรุปนี้อย่างลึกจริงๆ ต้องอ่านหนังสือนี้ทั้งเล่ม หรืออย่างน้อยทั้งบทที่ ๗

          ทำให้ผมนึกออก ว่าจะปฏิรูปประเทศไทยให้ได้ผล   ต้องปฏิรูปกระบวนการจัดทำนโยบายด้านการศึกษา    ไม่ให้ออกนโยบายผิดๆ จากความเข้าใจตื้นๆ ออกมาทำลายประเทศ    อย่างที่เป็นมาแล้ว ๑ ทศวรรษของการปฏิรูปการศึกษา
ผมภาวนาให้ข้อสรุปของผมผิด  

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ มิ.ย. ๕๓

หมายเลขบันทึก: 368866เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2010 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

http://www.thailandforum2010.com/magazine/magazine_5/index.html#/2

อ่านเพื่อเป็นแนวทางการสร้างแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท