เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์


เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์

  เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์เป็นเรือที่มีความงดงาม  นับเป็นศิลปกรรมอันเยี่ยมยอด  แสดงถึงอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยโบราณ  เป็นเรือที่แกะสลักโขนเรือเป็นรูปหงส์  องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรจึงได้ทูลเกล้าฯถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลก   ประจำปี ค.ศ. 1992  (พ.ศ. 2535)  เป็นการยกย่องเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์

  สำหรับเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ลำปัจจุบันนี้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ  ให้สร้างขึ้นใหม่แทนลำเดิม  ที่สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  แต่แท้ที่จริงนั้นเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว  ดังปรากฏในบทกาพย์ห่อโคลงของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร  และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ปรากฏบทกาพย์ห่อโคลงของกวีอีกหลายท่าน

  

กาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศ

๏ สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

 

กาพย์เห่เรือพระนิพนธ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงนิพนธ์งานพระบรมราชาภิเษกสมโภช  2454

สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย     งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์ บินแต่ฟ้ามาสู่บุญ

 

การประชุมเอเปค พ.ศ. 2546

๏ สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

อวดโฉมโสมโสภิน        ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 

๏ สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

นารายณ์ทรงสุบรรณบิน ลินลาศฟ้าอ่าอวดองค์

 

กาพย์เห่เรือฉลอง 25  พุทธศตวรรษแห่กระบวนเรือพุทธพยุหยาตรา  ประพันธ์โดย นายหรีด  เรืองฤทธิ์ 

สุพรรณหงส์เพียงหงส์พรหม     บินลอยลมลงนที

เป็นอาสน์พระพุทธมี              สิริล่องท้องชลธาร


กาพย์เห่เรือสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์  200  ปี

สวยสง่านาวาทรง          สุพรรณหงส์เหินทะยาน

เหนือชลล้นตระการ        ปานเหมหงส์ทรงพรหมินทร์


กาพย์เห่เรือฉลอง 25  พุทธศตวรรษ  พระพิธีพุทธประทีปบูชาและพุทธพยุหยาตรา ชลมารค  นายฉันท์  ขำวิไล  ผู้ประพันธ์

สุพรรณหงส์ทรงพระพุทธ   บริสุทธิ์สดสุกใส

พู่ห้อยร้อยมาลัย               ผ่องอำไพพิสดาร      

 

  เรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์ลำปัจจุบันนี้ได้มีการประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่  13  พฤศจิกายน  2454  เป็นเรือพื้นดำ  น้ำหนัก 15.1 ตัน  กว้าง  3.14   เมตร  ยาว  44.70  เมตร  ลึก  0.90  เมตร  กินน้ำลึก  0.41  เมตร  ฝีพาย  50  นาย  นายท้าย  2  นาย  นายเรือ  2  นาย  พายที่ใช้เป็นพายทอง  พลพายจะพายในท่านกบิน

กาพย์เห่เรือ

ฉลอง  25  พุทธศตวรรษแห่กระบวนเรือพุทธพยุหยาตรา

นายหรีด เรืองฤทธิ์  ผู้ประพันธ์

โคลง

          ศตวรรษยี่สิบห้า              พุทธกาล  ล่วงเอย

เรือแห่ไตรรัตน์ขนาน                 แข่งน้ำ

สุพรรณหงส์เปรียบหงส์พิมาน     พรหมระเห็จ

ฉลองแล่นชลาจ้ำ                      จ่อมจ้วงฝีพาย

กาพย์

        ศตวรรษยี่สิบห้า           ล่องเลยมาหลายฉนำกาล

นับแต่พระนิพพาน               ได้สองพันห้าร้อยปี

       ยังแต่พระศาสนา          คู่สุริยาส่องธาตรี

ฉลององค์พระผู้มี                พระภาคโปรดประชากร

      รัศมีส่องสี่ทวีป              ดังประทีปส่องทางจร

แพร่ธรรมล้วนคำสอน          ปลอบใจสุขปลุกใจบาล

     คาบนี้มีมาโนช              ไทยสมโถชรอบพุทธกาล

สองพันห้าร้อยงาน              ทางบกน้ำฉ่ำวารี

      ชลมารคงามหลากเหลือ ขบวนเรือพระราชพิธี

เป็นพยุหนาวี                      แห่ไตรรัตน์จรัสสาคร

      ฤกษ์รุ่งรุ่งสากล            จากเมืองนนท์ล่องลอยสลอน

มุ่งสู่พระนคร                     พลพายชื่นรื่นเริงบุญ

      เสื้อแดงสวมแดงดาด    สดสะอาดแข่งแสงอรุณ

โบกพายพายเนืองหนุน      เป็นคู่มาเตือนตายล

     เรือเสือคำรณสินธุ์         แหวกวารินคำรามรณ

เรือเสือทะยานชล              วิ่งแข่งหน้าท่าผยอง

     เรือดั้งตั้งซ้ายขวา         คลาเคลื่อนมาร่าเริงคะนอง

แข่งคู่ดูลำพอง                   เป็นแถวท่องล่องสาคร

      สุครีพถีบชโลธาร         พาลีทะยานถีบชโลธร

เรือแซงแข่งคู่จร                แซงสามคู่วิ่งดูดี

      สุพรรณหงส์เพียงหงส์พรหม  บินลอยลมลงนัที

เป็นอาสน์พระพุทธมี           สิริล่องท้องชลาลัย

     อนัตนาคราช                อาสน์พระธรรมเอี่ยมอำไพ

อเนกชาติภุชงค์ชัย            อาสน์พระสงฆ์ทรงสิกขา

      สามลำล้ำเรือทรง         เรืองระหงทรงตรูตา

แล่นกลางหว่างนาวา           ปีกซ้ายขวาพาแห่โหม

     เรือตำรวจตรวจวิ่งไว     เรือกลองในนอกประโคม

สาครครั่นครืนโครม           พลแห่โหมโรมฝีพาย

     สองฝากฝั่งคงคา         หมู่คนมาอยู่มองมาย

ดูแห่ไตรรัตน์กราย            กระบวนเรือบ่เบื่อตา ฯ

จากหนังสือเรือพระราชพิธีพยุหยาตราชลมารค 

โดย  ศาสตราจารย์  น.อ.  สมภพ  ภิรมย์  ร.น.  ราชบัณฑิต

บันทึกที่เชื่อมโยงกัน  "สะดุดใจที่ปลายฟ้าชายคาโลก" 

 

หมายเลขบันทึก: 368864เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2010 10:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะ P  เจ้าหญิงแห่งท้องทะเลบัวแดง

    ยินดีต้อนรับเข้าสู่การเรียนรู้ภาษาไทยให้สนุก กับครูแป๊ว กัลยาณี ค่ะ

ที่น่าสนใจคือเคยชินแต่ชื่อ "สุพรรณหงส์" ไม่ค่อยชินชื่อ "สุวรรณหงส์" ในขบวนเรือพระราชพิธี เมื่อครั้ง APEC (ตอนกลางคืน) หรือในงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี (ตอนเย็น) ก็ใช้ชื่อ "เรือพระนี่นั่งสุพรรณหงส์ " รวมทั้งในกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ก็คงใช้ชื่อ "เรือพระนี่นั่งสุพรรณหงส์ " เช่นกัน จึงขอรบกวนถามที่มาของชื่อ "สุวรรณหงส์" ว่าเคยมีการใช้เรียกในช่วงใด

สวัสดีค่ะ  คุณ P  Kittiphong_t
  จากข้อสังเกตที่กล่าวมานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วค่ะ  ส่วนการที่ดิฉันใช้คำว่าเรือพระที่นั่งสุวรรณหงส์นั้น  ใช้ตามที่สอนในบทเรียนเพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดความไขว้เขวค่ะ

ขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้นะคะ

คำว่าสุวรรณและสุพรรณนั้นมีความหมายดุจเดียวกัน  ว และ พ  สามารถแผลงใช้กันได้   เช่น  วิทยา – พิทยา   วนิดา – พนิดา  วานิช – พานิช  เป็นต้น

     วรรณคดีมักใช้คำว่าสุวรรณ  เช่น  ในกาพย์เห่เรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์

                สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย                           งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์

เพียงหงส์ทรงพรหมมินทร์                                    ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม

  ในวรรณคดีเรื่องปุณโณวาทคำฉันท์ ของ พระมหานาควัดท่าทราย  ได้ชมมณฑปพระพุทธบาทว่า

                ใบโพสุวรรณห้อย                                   ระยาบย้อยบรุงรัง

ลมพัดกระดึงดัง                                                      เสนาะศัพทอลเวง

บทละครนอกในสมัยพระเจ้าบรมโกศก็ปรากฏนามเรื่อง  พระสุวรรณศิลป์  พระสุวรรณหงส์

ส่วนชื่อเรือพระราชพิธีนั้น  ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  มีชื่อเรียกดังนี้

รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  -  เรือพระที่นั่งไชยสุวรรณหงส์

รัชกาลพระนเรศวรมหาราช  -  เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

รัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ  - เรือวรสุพรรณหงส์พยุหยาตรา

รัชกาลพระนารายณ์มหาราช  -  เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

รัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  -  เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์

รัชกาลสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  -  เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์  (เรือสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน)

(จากหนังสือปกิณกะคดีหมายเลข  13  ว่าด้วย เรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค  ของ  ศาสตราจารย์ น.อ. สมภพ  ภิรมย์  ราชบัณฑิต)

ขอบพระคุณมากครับ ละเอียดมากเลย

สนใจอยากได้กาพย์เห่เรือฉลอง 25 พุทธศตวรรษแห่กระบวนเรือพุทธพยุหยาตรา ประพันธ์โดย นายหรีด เรืองฤทธิ์ ฉบับเต็ม ไม่ทราบว่าพอมีไหมครับ

ถ้าไม่รบกวนเกินไปผมอยากขอให้ช่วยส่งให้หน่อยอะครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณเต้

  ต้องขออภัยที่ตอบช้าไปนิด  แต่ค้นมาให้แล้วค่ะ  ขอเพิ่มเติมให้ในท้ายบันทึกเพื่อประโยชน์ในวงกว้างนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท