ATPAC


ATPAC


          สมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา หรือ ATPAC จะฉลองครบรอบการก่อตั้งครบ ๒๐ ปี ในวันที่ ๗ ก.ค. ๕๓   ผมจึงนำข้อเขียนที่เขียนขึ้นจากความทรงจำ เพื่อสดุดีองค์กรนี้และผู้เกี่ยวข้อง มาลงไว้ ดังต่อไปนี้

 

ATPAC กับการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการวิจัยไทย
ข้อสังเกตจากผู้สังเกตการณ์


วิจารณ์ พานิช
ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล
ประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก  สกว.

 

          ผมโชคดี ได้รู้จัก ATPAC หลังการก่อตั้งไม่นาน   เนื่องจากผมได้มาทำงานที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งอยู่ในช่วงก่อตั้ง ต้องขวนขวายเรียนรู้มาก   เพื่อหาทางพัฒนาวิธีการทำงานสนับสนุนการวิจัยในรูปแบบที่จะก่อผลดีต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง 

          ATPAC ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔   ดังอ่านประวัติได้ที่ http://ostc.thaiembdc.org/news_us/Jun53_3.html    แล้วหลังจากนั้น สกว. ก็เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๓๖   ผมจำได้ว่านายกสมาคมท่านแรกคือ ศ. นพ. สิน อนุราษฎร์ ซึ่งตอนนั้นเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส ที่เมือง ลับบ็อก และเป็นเพื่อนเรียนหนังสือห้องเดียวกันกับผมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา   และท่านต่อมา คือ ศ. ดร. เมธี เวชารัตนา ศาสตราจารย์แห่งสถาบันเทคโนโลยี นิวเจอร์ซีย์ ซึ่งได้ทำงานร่วมกันกับผมมาก   และผมบอกท่านว่า คนเกิดปีม้าก็ย่อมเป็นอย่างนี้แหละ ควบไม่หยุด และมีพลังล้นเหลือ   ท่านได้ชักนำให้ สกว. ได้รู้จักกับ NSF ของสหรัฐอเมริกา   และได้ทำงานร่วมมือกันมาจนบัดนี้   และได้แนะนำให้เรารู้จักวิธีสนับสนุนการวิจัยในอุตสาหกรรมโดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ที่เรียกว่า I–U CRC (Industry – University Collaborative Research Center) ซึ่ง สกว. ได้นำมาดัดแปลงใช้ในการสนับสนุนการวิจัยในอุตสาหกรรมไทย    และได้ให้คำแนะนำอื่นๆ อีกมาก ให้ผมได้จดจำมาใช้จนปัจจุบัน

          ในช่วงนั้น ATPAC ดังมาก ในชื่อของโครงการสมองไหลกลับ   มีข่าวครึกโครมในสื่อมวลชน ว่าจะเกิดโครงการความร่วมมือ รัฐบาลไทยจะลงทุนจำนวนมาก   เพื่อดึงนักวิชาการไทยในต่างแดน ทั้งในอเมริกาเหนือ ยุโรป และญี่ปุ่น กลับมาทำประโยชน์แก่ประเทศไทย   ซึ่งเมื่อเวลาผ่านมา ๒๐ ปี   เราพบว่าการให้ข่าวครึกโครมโดยทางรัฐบาลไทยนั้น   ไม่มีกลไกให้เกิดเนื้องานได้จริง   ผมเข้าใจว่าเนื้องานที่เกิดขึ้นจริงและมีคุณูปการต่อสังคมไทยมากนั้นมักไม่ค่อยได้ประโคมข่าว   และน่าจะมีมากพอสมควร แต่ผมไม่ทราบว่าจะค้นได้ที่ไหน  

          โครงการความร่วมมือวิจัยที่ก่อผลดีมหาศาลทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจ คือโครงการวิจัยเถ้าลอยจากการเผาลิกไนต์ ซึ่งได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นในปีแรกที่มีการมอบรางวัลนี้คือ พ.ศ. ๒๕๔๕   ดังมีรายละเอียดของรางวัลอ่านได้ที่  http://th.wikipedia.org/wiki/รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น    และอ่านรายละเอียดของผลการวิจัยได้ที่  http://www.environnet.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=471&catid=18&Itemid=16

          อีกโครงการหนึ่งที่มีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล คือโครงการพยากรณ์คลื่นในทะเล   ที่มี ดร. ธวัช วิรัตติพงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ดังในบทคัดย่อรายงานผลการวิจัย http://www.trf.or.th/research/abstract/Thai/RDG4030003.txt    ซึ่งเป็นการพัฒนาโมเดลโดยใช้โมเดลของต่างประเทศมาปรับใช้กับสภาพของประเทศไทย   ผมได้รับทราบเรื่องของโครงการนี้มากหน่อย   จึงรู้ว่าเป็นทั้งโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี และโครงการพัฒนานักวิจัยให้แก่ราชนาวีไทย กรมอุตุนิยมวิทยา และมหาวิทยาลัย    และเกิดผลต่อเนื่องด้านการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัย ที่เป็นพัฒนาการเชิงระบบหรือเชิงวัฒนธรรม ในหลายหน่วยงานของราชการไทย

          น่าจะมีผลงานเด่นในระดับใกล้เคียงกันอีกหลายโครงการ แต่ผมไม่ทราบและไม่มีโอกาสค้นคว้ามาเขียนไว้ให้ครบถ้วน   และจริงๆ แล้วผมไม่ได้มีความตั้งใจจะเขียนรวบรวมผลงานเด่นของ ATPAC   แต่ที่นำเอาเรื่องราวของความสำเร็จของทั้ง ๒ เรื่องมาเป็นตัวอย่างก็เพื่อจะเสนอความเห็นว่า   ผลงานที่แท้จริงของ ATPAC คือตัวผลงานของนักวิชาการไทยในต่างแดน ที่มาลงมือร่วมดำเนินการกับฝ่ายไทย   ที่เป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย   ดังนั้นปัจจัยสำคัญก็คือคนที่มีความสามารถและเอาจริงเอาจังของทั้งสองฝ่าย   ที่มีงานที่สำคัญสามารถยืนยันต่อแหล่งทุนสนับสนุนได้ว่าสมควรสนับสนุน   และเมื่อสนับสนุนแล้ว ก็มีการจัดการอย่างต่อเนื่องให้บรรลุความสำเร็จ

          ขอย้ำว่า คุณค่าที่แท้จริงอยู่ที่การลงมือทำงานร่วมกัน    โดยที่ฝ่ายไทยต้องลงแรงมากหน่อย ทำงานอย่างมีเป้าหมายชัดเจน ทำต่อเนื่องอย่างอดทน และอย่างมีหลักวิชาการ   ผมมอง (ไม่ทราบว่ามองถูกหรือมองผิด) ว่าคุณค่าที่แท้จริงไม่ใช่อยู่ที่ตัวผลงานวิจัย   แต่อยู่ที่การเรียนรู้ระหว่างทำงานวิจัย   เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานที่ถูกต้อง สำหรับการทำงานวิจัยที่มีคุณค่าต่อสังคมอย่างแท้จริง   เพื่อนำมาใช้สร้างสรรค์วงการวิชาการไทย     

          ผมมองว่า ATPAC เป็นสมาคม   ซึ่งโดยธรรมชาติมีหน้าที่ให้คนได้มาพบปะทำความรู้จักกัน   นำไปสู่ความร่วมมือกัน   ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายนักวิชาการหรือนักปฏิบัติ และฝ่ายสนับสนุน   คล้ายๆ ATPAC เป็นกลไกจัด “พื้นที่” (meeting space) ให้คนมาพบปะกัน   นำไปสู่ความร่วมมือทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย   โดยมองประโยชน์ได้หลากหลายด้าน   ได้แก่ (๑) การวิจัย  (๒) การศึกษาต่อของอาจารย์ นักวิชาการ หรือนักศึกษา  (๓) การถ่ายทอดเทคโนโลยี  (๔) การฝึกอบรมระยะสั้น  (๕) การจัดทีมประเมินโครงการวิชาการหรือวิจัยใหญ่ๆ  เป็นต้น  

          การจัดพื้นที่หรือเวทีให้คนมาพบกันเพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อประโยชน์ของประเทศไทยนี้ย่อมมีค่าใช้จ่าย   และหากจัดได้ไม่ดีก็จะมีค่าใช้จ่ายมาก ได้ผลงานน้อย   ผลงานที่ไม่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ เวลาจัดงานมีคนมาร่วมมาก จบการประชุมก็ไม่ค่อยเกิดตัวชิ้นงานจริงๆ    หรือจัดงานแล้วมีแต่คนที่ไม่เอาถ่านมาประชุม   คนที่เอางานเอาการไม่ได้รับเชิญหรือไม่ทราบข่าว   เวทีนี้จะดีหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับทั้งฝ่าย ATPAC และฝ่ายไทย ซึ่งเข้าใจว่าเจ้าภาพใหญ่คือกระทรวงวิทยาศาสตร์ กับ สกอ.   ว่าจะทำให้เป็นเวทีพบปะของคนเอางานเอาการ และมีวิธีจัดการให้ในที่สุดแล้วได้เนื้องานที่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยจริงๆ

          ที่จริงหน่วยสนับสนุนฝ่ายไทยมีหลายหน่วย   ตอนที่ผมอยู่ สกว. ก็ได้รับประโยชน์จากการประชุมของ ATPAC มาก   โดยการประชุมช่วยให้ได้รู้จักคน   แล้วเกิดการพูดคุยเจรจาจนเกิดโครงการใหญ่ๆ ที่นักวิจัยภายในประเทศไม่สามารถทำได้   ดังตัวอย่าง ๒ โครงการที่กล่าวถึงข้างต้น  

          นั่นคือ หากจะใช้ ATPAC ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง   ฝ่ายไทยต้องรวมตัวกันตั้งโจทย์ใหญ่ๆ ที่มีความสำคัญจริงๆ ต่อประเทศ   รวบรวมนักวิชาการ/วิจัยฝ่ายไทยที่จะทำงานร่วมกัน   รวบรวมฝ่าย “ผู้ใช้” ผลงานวิจัยมาบอกความต้องการ   แล้วจึงเจรจาให้ฝ่าย ATPAC จัดทีมเข้ามาร่วมมือกันทำงาน   โดยน่าจะต้องแบ่งงานออกเป็นชิ้นย่อยหลายๆ ชิ้น   มีหน่วยงานและบุคคลรับผิดชอบการจัดการติดตามผล   และมีคณะกรรมการ steering ของโครงการที่ประชุมเป็นระยะๆ อย่างสม่ำเสมอ

          โดยต้องตระหนักว่า งานวิจัยเช่นนี้ ฝ่าย “ผู้ใช้” ในประเทศไทยจะต้องลงขันเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของโครงการด้วย   และเข้ามาร่วมอยู่ในคณะกรรมการ steering ด้วย

          ที่ผ่านมา หน่วยงานสนับสนุนการวิจัยไทยรวมตัวกันไม่ค่อยได้   อยู่ในลักษณะต่างหน่วยต่างทำ หรือมีท่าทีลึกๆ เชิงแข่งขันกันมากกว่าร่วมมือ   แต่เวลานี้หน่วยงานเหล่านี้พยายามประชุมพบปะกันอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆ ๒ เดือน   เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ มีการประชุมครั้งที่ ๔ โดย วช. เป็นเจ้าภาพ   จึงมีความหวังว่า ต่อไปฝ่ายไทยอาจรวมตัวกันคิดโจทย์ใหญ่ ที่จะท้าทายให้ ATPAC จัดทีมมาร่วมมือ   ทั้งนี้ ย่อมต้องตระหนักว่า สมาชิกของ ATPAC ทุกคนต่างก็มีงานประจำของตนที่จะต้องรับผิดชอบ   การออกแบบเนื้องาน และการจัดการโครงการจึงต้องคำนึงถึงความจริงข้อนี้ให้จงหนัก

          ข้างบนนั้น คือข้อเสนอแนะข้อที่ ๑  การจัดการความร่วมมือของฝ่ายไทย

   ต่อไปนี้จะเป็นข้อเสนอแนะข้อที่ ๒ คือการประเมินผลงานของ ATPAC   ที่ใช้การประเมินแนวใหม่   คือประเมินเพื่อใช้ปรับปรุงการทำงานให้โฟกัสมากขึ้น ทำงานน้อยลง แต่ได้ผลมากขึ้น   นั่นคือ ให้ประเมินหาเรื่องราวความสำเร็จ และศึกษาว่าทำไมจึงเกิดผลงานความสำเร็จนั้น  เพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นแนวทางการทำงานทั้งของฝ่าย ATPAC และฝ่ายประเทศไทย  

          ข้อเสนอแนะข้อที่ ๓ และเป็นข้อสุดท้าย   คือการจัด “พื้นที่” พบปะแบบใหม่ โดยใช้ social media เป็นเครื่องมือ   ดังกล่าวแล้วว่า ATPAC เป็นสมาคม   ซึ่งทำหน้าที่สำคัญคือ สร้าง “พื้นที่” เพื่อทำความรู้จักกัน   ให้ได้รู้จักกันลึกซึ้งมากหน่อยว่าจะคบค้าหรือร่วมมือกันทำอะไร อย่างไร มีจุดแข็งและข้อจำกัดอย่างไร    และที่ผ่านมา ใช้ “พื้นที่” จริง ในการพบปะ    คือใช้การประชุมในต่างประเทศ และในประเทศไทย   การประชุมแบบที่ใช้กันอยู่ ๒๐ กว่าปีแล้ว ก็ยังมีความจำเป็น   และควรทำต่อไป โดยปรับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น    แต่ควรสร้าง “พื้นที่เสมือน” สำหรับการพบปะ หรือค้นหาตัวคนที่ต้องการ    คือใช้ social media ซึ่งในขณะนี้ที่เด่นที่สุดคือ Facebook    ตามประสบการณ์เล็กน้อยของผม คิดว่ากลไกนี้นอกจากจะช่วยสร้าง ATPAC Community หรือเครือข่ายเพื่อน ATPAC บน cyber space แล้ว   ยังจะทำหน้าที่เป็น community memory   ที่จะบันทึกเรื่องราวความสำเร็จและกลไกหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จนั้น    โดยจะต้องมีการวางแผนและจัดการเครือข่ายเพื่อชักชวนและสร้างความคึกคักในการลงบันทึกเรื่องราวใน Facebook ของสมาชิกแต่ละคน   เรื่องนี้มีรายละเอียดมากและไม่มีสูตรตายตัว ต้องคุยกันจึงจะได้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน 

          ผมเขียนข้อความนี้จากความทรงจำ   โดยที่ความทรงจำของผมไม่ดีนัก   จึงอาจมีข้อผิดพลาดที่ต้องขออภัย    และขอบันทึกไว้ว่า    ATPAC ได้ให้ความทรงจำดีๆ แก่ผมมาก   ในท่ามกลางการทำงานที่มีทั้งความสำเร็จและไม่สำเร็จ   ผมเชื่อว่าการก่อตั้ง ATPAC ขึ้นมา ได้ก่อคุณูปการแก่สังคมไทยอย่างใหญ่หลวง    เป็นที่น่าชื่นชมและแสดงความยินดีต่อคณะผู้ก่อตั้ง และผู้ร่วมกันดำเนินการตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน    ในส่วนตัวของผม การมี ATPAC ทำให้ผมได้รู้จักคุ้นเคยและเรียนรู้ตัวอย่างความดี ความรักชาติบ้านเมือง รักสถาบันเก่า และความสามารถของสมาชิก ATPAC หลายท่าน   ทั้งที่กล่าวนามไปแล้ว และที่ผมอยากเอ่ยนามอีก ๓ ท่าน    ท่านแรกคือ ศ. ดร. วีระ จันทร์คง แห่ง Case Western Reserve University เป็นผู้ที่ผมประทับใจในน้ำใจอย่างยิ่ง    ท่านที่ ๒ คือ ศ. ดร. นงนุช อินปันบุตร แห่ง Ohio State University เป็นสตรีที่มีพลังล้นเหลือในการทำงาน    และท่านสุดท้าย อยู่ฝ่ายเมืองไทย ทีเราจะไม่เอ่ยนามไม่ได้ คือ รศ. ดร. กำจัด มงคลกุล ที่ทำงานแบบอยู่เบื้องหลังเสมอ   แต่เอาใจใส่ยุทธศาสตร์ให้เกิดเนื้องานแท้จริงอยู่ตลอดเวลา    ผมขอเทิดทูนท่านเหล่านี้ด้วยความรักและเคารพในคุณงามความดีของท่าน   โดยผมขออภัยผู้คุ้นเคยอีกหลายท่านที่ไม่ได้เอ่ยนาม เพราะจะทำให้ข้อเขียนนี้ยาวเกินไป

          ในสายตาของผม ๒๐ ปี ของ ATPAC ได้ก่อคุณูปการต่อ social learning ในการทำงานวิชาการที่มีคุณภาพ และก่อผลดีต่อประเทศไทยอย่างมากมายน่าภาคภูมิใจ   หวังว่า ๒๐ ปีข้างหน้า ATPAC จะมีวิธีทำงานที่มีผลกระทบต่อสังคมมากกว่า ๒ เท่าของ ๒๐ ปีแรก   โดยใช้วิธีทำงานแบบใหม่ๆ ที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีและพัฒนาการทางสังคมเอื้อโอกาส



 

วิจารณ์ พานิช
๙ มิ.ย. ๕๓
        

คำสำคัญ (Tags): #atpac#530621
หมายเลขบันทึก: 368316เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2012 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท