คนต่างด้าวในประเทศไทย : กรณีศึกษากลุ่มผู้มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย


ก่อนจะกล่าวถึงเหตุผลข้อนี้นั้นอยากชวนให้กลับไปพิจารณาว่า “ความมั่นคงของประเทศจะเกิดไม่ได้หากไม่เกิดความมั่นคงของมนุษย์” เป็นคำกล่าวที่จริงแท้หรือไม่ และทั้งนี้ผู้เขียนเอง ขอทำความเข้าใจว่า มิได้มีความหมายว่าจะให้ขอแต่สิทธิตามสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น เพราะแม้ความมั่นคงของมนุษย์จะเกิดขึ้นก็ตามแต่หากมนุษย์ทุกคนนั้นรู้แต่สิทธิแต่ไม่รู้จักหน้าที่ ที่จะต้องกระทำต่อประเทศชาติการมีแต่ความมั่นคงของมนุษย์ก็หาทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศชาติได้เลย เพราะฉะนั้นแล้วกระบวนการดำเนินการตามสิทธิของเขาตามกฎหมาย ก็จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการให้เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตนเองนั้นมีหน้าที่อย่างไรต่อประเทศไทยบ้าง เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “มีสิทธิและมีหน้าที่”

คนต่างด้าวในประเทศไทย : กรณีศึกษากลุ่มผู้มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย

 

แนวคิดเบื้องต้น

 

คนหนึ่งคนเมื่อเกิดหรือ อยู่อาศัยในรัฐใด ย่อมต้องมีสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมายภายในของรัฐนั้น แนวคิดนี้ต้องยอมรับกันว่าเป็นแนวคิดที่เป็น “มนุษย์นิยม” นั่นก็คือการมองเห็นความสำคัญของตัวมนุษย์ที่เท่ากันกับความสำคัญของประเทศชาติ

            ทั้งนี้เราไม่อาจกล่าวเป็นอย่างอื่นได้ว่าความมั่นคงของประเทศนั้นก็ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของมนุษย์อันเป็นประชากรของประเทศด้วย และการสรรสร้างความมั่นคงของประชากรนั้น ก็มีประเด็นปัญหาหนึ่งที่รวมอยู่ในนั้นก็คือ “ปัญหาเรื่องสถานะบุคคล” เพราะการมีสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย จะทำให้ประชากรสามารถดำรงชีวิตอยู่ในประเทศได้อย่างไม่ต้องกังวลกับเรื่องใดๆ เพราะจะได้รับสิทธิจากประเทศที่ตนอาศัยอยู่ และก็มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อประเทศที่ตนได้อาศัยอยู่ด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นการต่างตอบแทนที่ดี

            ซึ่งสถานะบุคคลนั้นมีหลากหลาย ยกตัวอย่าง เช่น การเป็นคนสัญชาติของประเทศนั้น หรือการเป็นคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศนั้น หรือ เป็นต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศนั้น

            ทั้งนี้ในบทความนี้ก็จะขอเน้นย้ำในการศึกษาลงไปที่ กลุ่มสถานะบุคคล “คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยอยู่ถาวร” และได้อาศัยอยู่แบมีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศมานานกว่า 5 ปีแล้ว อาจจะมีคำถามที่ว่าทำไมถึงต้องเฉพาะกลุ่มบุคคลกลุ่มนี้ด้วย แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับความมั่นคงของมนุษย์ด้วย

            ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ที่มีอำเภอชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อาจจะเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดก็เป็นไปได้ นั่นก็คือ ติดต่อกับประเทศพม่า และ ประเทศลาว มีสถานที่ท่องเที่ยวอยู่ติดกับชายแดนอันป็นสถานที่ที่ต้องไปเมื่อมาเชียงราย ก็คือด่านการค้าชายแดน อำเภอแม่สาย หรือจะเป็นด่านการค้าที่อำเภอเชียงแสนที่สามารถพาคุณไปยังบ่อนคาสิโนทั้งในประเทศพม่าและประเทศลาวได้ หรือจะเป็นด่านการค้าในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่คุณสามารถเดินทางต่อไปยัง ดินแดน 12 ปันนา ประเทศจีน หรือ หลวงพระบาง ประเทศลาวได้

            จากที่ได้กล่าวมาเห็นได้เลยว่า ปัญหาด้านสถานะบุคคล ของพื้นที่จังหวัดเชียงรายจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆอย่างที่คนอื่นเข้าใจ เพราะในเมื่อยังไม่มีกระบวนการจัดการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ.๒๕๔๘ เรื่องการป้องกันและสกัดกั้นการเข้ามาเชิงสร้างสรรค์ ก็ยังคงเป็นจุดที่มีการทะลักเข้ามาของกลุ่มต่างด้าวที่อพยพเข้ามาอยู่ตลอด และปัญหานี้ก็เกิดขึ้นสม่ำเสมอและคงหาทางแก้ไขมิได้  

            และทั้งนี้ก็จำเป็นที่ต้องเข้าใจว่าและยอมรับว่า การเคลื่อนย้ายตัวของคนต่างด้าวนั้นก็เกิดขึ้นในทุกประเทศของโลก สาเหตุก็เพราะปัญหาด้านสงคราม ที่เมื่อประเทศหนึ่งมีการเกิดสงครามขึ้นก็จะเกิดการอพยพหลีกหนีภัยความตายเข้ามาอาศัยประเทศที่ไม่มีสงครามเกิดขึ้น และเมื่อสงครามสงบคนกลุ่มนี้บางส่วนก็เดินทางกลับบ้านเกิดของตนเอง แต่ก็มีหลายคนที่ไม่ขอกลับไปยังประเทศบ้านเกิด เพราะหากกลับไปก็ตาย หรือไม่ก็ไม่มีญาติพี่น้องหรืออยู่ที่นั่นแล้ว และไม่รู้ว่ากลับไปแล้วจะทำมาหากินดำรงชีพอย่างไร หรือ ปัญหาด้านเศรษฐ์กิจ ที่เมื่อประเทศเพื่อนบ้านมีเศรษฐ์กิจดี กลุ่มคนที่อยู่ตามชายแดนก็ย่อมทะลักเข้ามาเพื่อทำมาหากิน เพื่อการดำรงชีพต่อไป ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้การจะแก้ไขโดยสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายของคนกลุ่มนี้คงจะลำบาก แต่หากมุ่งไปเพื่อพัฒนาประเทศของเขาให้มีเศรษฐ์กิจที่ดี ก็ย่อมทำให้คนกลุ่มนี้ไม่อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน

            ในส่วนกลุ่มคนที่ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยนานแล้วนั้น ทางประเทศไทยเองก็มีกระบวนการการจัดการกับปัญหานี้อย่างชัดเจน  นั่นคือการมีมติคณะรัฐมนตรี[1] ออกมาเพื่อให้ต่างด้าวที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทย ซึ่งมีหลายมติมาก เพราะเป็นการมีมติที่ออกมา เป็นแบ่งประเภทกลุ่ม ซึ่งแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาจุดนี้ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มประเภทปัญหา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ หลักเกณฑ์การมสิทธิอาศัยถาวรของกลุ่มบุคคลที่ถือบัตรลาวอพยพ

            แต่ทั้งนี้แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลจากการเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองไม่ชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิอาศัยชั่วคราว เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว เป็นสถานะคนต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทยก็ตาม แต่การที่จะพัฒนาสถานะบุคคลของเขาเหล่านั้นเป็นคนสัญชาติไทย ตามหลักกฎหมายสัญชาติได้วางหลักในการพัฒนาสถานะบุคคลของเขา ในเรื่องของการขอถือสัญชาติตามสามีหรือภรรยาที่มีสัญชาติไทย หรือการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ ได้ส่งผลทำให้ปัญหาด้านการพัฒนาสถานะบุคคลของกลุ่มบุคคลนี้ไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงสถานะคนสัญชาติไทย เป็นเหตุที่ทำให้แม้กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะได้สถานะเป็นคนเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทย(อาศัยอยู่ในประเทศไทยและไม่มีความคิดที่จะเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางที่เขามาก็ตาม) และในข้อเท็จจริงยังปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นได้กลมกลืนเข้ากับสังคมประเพณีและวัฒนธรรมของประเทศไทย แล้วก็ตาม หรือในบางกลุ่มนั้นมีความเกี่ยวพันธ์ที่แนบแน่กับประเทศไทยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การมีสามีหรือภรรยาเป็นคนสัญชาติไทยหรือมีบุตรเป็นคนสัญชาติไทย ฯลฯ

            และแม้ทุกอย่างทั้งในข้อเท็จจริงที่ปรับเข้ากับข้อกฎหมายได้ครบหมด แต่บุคคลกลุ่มนี้ก็ไม่อาจแปลงสัญชาติเป็นไทยได้เพราะเหตุที่ติดเงื่อนไขของการพิจารณาการแปลงสัญชาติเป็นไทยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในเรื่องของรายได้ของต่างด้าวที่จะขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ที่ต่างด้าวต้องมีรายได้สูงถึงเป็นหลักหมื่น และแม้ในส่วนของหลักเกณฑ์นี้ในปัจจุบันได้มีการแก้ไขและออกมาใหม่เพื่อแบ่ง ระหว่างต่างด้าวทั่วไปกับต่างด้าวที่เป็นชนกลุ่มน้อยก็ตาม แต่กระบวนการในการพิจารณาในเรื่องของต่างด้าวที่เป็นชนกลุ่มน้อยนั้น ก็ยังได้ใช้แนวความคิดเดียวกันกับต่างด้าวทั่วไป โดยหากว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้วนั้นทั้ง 2 กลุ่มนั้นมีความต่างกันหลากหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของอัตราเงินเดือน และเจตนาการเข้ามาอยู่ในประเทศไทยของเขา และกระบวนการดำเนินชีวิตของเขาก็มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน

            ด้วยเหตุนี้จึงไม่อาจที่จะนำหลักเกณฑ์นี้มาใช้เหมือนกันทั้งต่างด้าวทั่วไปและต่างด้าวที่เป็นชนกลุ่มน้อย และนี่คือการก้าวเดินในขั้นต้นของกระบวนการเพื่อให้ได้มาของการแก้ไขปัญหาให้กับคนกลุ่มนี้ที่ยังรอที่จะพัฒนาสถานะบุคคลของตนเองตามสิทธิตามกฎหมายสัญชาติที่ได้วางไว้ และก็เพื่อการที่เขาเหล่านั้นจะได้เป็นคนสัญชาติไทยอย่างแท้จริง

 

---------------------------------------------------------------------------------------------

คำถาม ก็คือ ในเมื่อคนกลุ่มนี้มีสิทธิในการเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายและมีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรในประเทศไทยแล้ว ทำไม? ถึงต้องเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสถานะบุคลเป็นคนสัญชาติไทยด้วย  

---------------------------------------------------------------------------------

          การที่บุคคลหนึ่งคนจะมีสถานะบุคคลอย่างไรให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงของเขาประกอบกับข้อกฎหมายภายในของรัฐที่เขาอาศัยอยู่จะมีออกมาว่าอย่างไร ซึ่งในกลุ่มบุคคลผู้เป็นคนต่างด้าวอพยพเข้ามานั้น ต้องเข้าใจเบื้องต้นที่ว่า เขาเหล่านั้นส่วนมากจะไม่มีรัฐที่รับรองตัวเขาหรือไม่มีสัญชาติใดในโลกนี้ที่รับรองตัวเขาเลย ซึ่งนั่นก็หมายความว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเป็น “คนต่างด้าวไร้สัญชาติ[2] ซึ่งโดยหลักการของการแปลงสัญชาตินั้นจะต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีสัญชาติ หรือมีประเทศหนึ่งประเทศใดรับรองการมีสัญชาติของคนต่างด้าวคนนั้น เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงการแปลงจากสัญชาติหนึ่งมายังอีกสัญชาติหนึ่ง ว่าเขาเหล่านั้นก่อนที่จะแปลงสัญชาติมาเป็นสัญชาติไทยนั้นเขาเหล่านั้นเคยถือสัญชาติใดมาก่อน เพื่อที่จะพิจารณาต่อไปว่าเขาจะต้องสละสัญชาติของประเทศเขาหรือไม่

            เมื่อพวกเขาเหล่านั้นไม่มีสัญชาติ(ไร้สัญชาติ) พวกเขาเหล่านั้นจะขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้อย่างไร ในเมื่อเขาไม่มีสัญชาติ

            ก็ด้วยเหตุที่เขาไร้สัญชาติ และเขาได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนานแล้วจนตัดขาดซึ่งจุดเกาะเกี่ยวของเขากับประเทศต้นทางไปแล้ว และเขาก็ไม่อาจที่จะไปอ้างตนว่าเขามีสัญชาติของประเทศนั้น ก็เป็นหน้าที่ของประเทศไทยที่จะให้เขามีตัวตนและรับรองเขาเป็นคนสัญชาติไทย เพื่อที่จะได้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับเขาแล้วการที่จะให้ร้องขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่4) พ.ศ.2551 หรือขอลงรายการสัญชาติตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ฉบับที่4 พ.ศ.2551 หรือ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการลงรายการสัญชาติไทยแก่บุคคลบนพื้นที่สง พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นการลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน(ทร.14) โดยตามกฎหมายให้เขาได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามหลักสืบสายโลหิตซึ่งมีผลย้อนไปตั้งแต่เกิด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนั้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้สำหรับกลุ่มคนที่อพยพเข้ามา เพราะเขาเหล่านั้นเป็นคนที่เกิดนอกประเทศไทย และไม่มีบิดาหรือมารดาเป็นคนสัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นในการมีสัญชาติไทยโดยการเกิด[3]   

            การที่จะให้คนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยนั้นได้สัญชาติไทยโดยกระบวนการวิธีดังกล่าวก็คงไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายสัญชาติของประเทศไทย ด้วยเหตุนี้การที่จะทำให้คนต่างด้าวกลุ่มนี้ที่เป็นคนไร้สัญชาติ นั้นได้มีสัญชาติไทยก็จำเป็นที่จะต้องอาศัยหลักในการแปลงสัญชาติเป็นไทย ซึ่งถือว่าเป็นการได้สัญชาติไทยภายหลังการเกิด ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการพัฒนาสถานะบุคคลของเขาให้เป็นคนสัญชาติไทยต่อไป ตามกระบวนการแปลงสัญชาติต่อไป[4]  

---------------------------------------------------------------      

แล้วทำไมปัญหานี้จึงสำคัญและไม่ควรมองข้าม

---------------------------------------------------------------

            ก่อนจะกล่าวถึงเหตุผลข้อนี้นั้นอยากชวนให้กลับไปพิจารณาว่า “ความมั่นคงของประเทศจะเกิดไม่ได้หากไม่เกิดความมั่นคงของมนุษย์” เป็นคำกล่าวที่จริงแท้หรือไม่ และทั้งนี้ผู้เขียนเอง ขอทำความเข้าใจว่า มิได้มีความหมายว่าจะให้ขอแต่สิทธิตามสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น เพราะแม้ความมั่นคงของมนุษย์จะเกิดขึ้นก็ตามแต่หากมนุษย์ทุกคนนั้นรู้แต่สิทธิแต่ไม่รู้จักหน้าที่ ที่จะต้องกระทำต่อประเทศชาติการมีแต่ความมั่นคงของมนุษย์ก็หาทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศชาติได้เลย เพราะฉะนั้นแล้วกระบวนการดำเนินการตามสิทธิของเขาตามกฎหมาย  ก็จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการให้เขาเหล่านั้นเข้าใจว่าตนเองนั้นมีหน้าที่อย่างไรต่อประเทศไทยบ้าง เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “มีสิทธิและมีหน้าที่”  

            เพราะฉะนั้นแล้วหาก เรามองถึงความมั่นคงของประเทศก็ไม่ควรที่จะมองข้ามเรื่องความมั่นคงของมนุษย์ ไปด้วยประการใดๆ อาจจะมองเห็นได้ชัดเจนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตอนนี้การแก้ไขปัญหาเรื่องนั้นอาจจะมองเพียงเรื่องที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้นไม่ได้เสียแล้ว เพราะสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมันได้ก้าวข้ามจุดนี้

            ด้วยเหตุนี้จึงอยากชวนกลับมาคิดว่าหากเราๆท่านๆยังคงทิ้งปัญหานี้ไว้เบื้องหลังไม่หันกลับมาแก้ไขอย่างแท้จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคใต้ก็อาจจะเกิดขึ้นในภาคเหนือด้วยเช่นกัน คำตอบนี้อาจจะทำให้ผู้อ่านคิดว่าผู้เขียนเป็นหัวรุนแรง แต่ในข้อเท็จจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่เพียงแต่ผู้เขียนมองเห็นสภาพปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นหากยังคงทิ้งปัญหาด้านสถานะบุคคลและไม่ทำให้เกิดความมั่นคงของมนุษย์ขึ้นในพื้นที่ที่มีปัญหาอย่างแท้จริง ผู้เขียนก็ได้แต่ภาวนาว่าปัญหาอย่างใน 3 จังหวัดชายแดนใต้คงไม่เกิดในภาคเหนือหรือภาคอื่นใดในประเทศไทยเลย 

            ส่วนการตอบว่าปัญหาการพัฒนาสถานะบุคคลเป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาตินั้นมีความสำคัญ อย่างไร คงต้องเริ่มต้นที่ว่าบุคคลหนึ่งนั้นย่อมต้องมีสถานะบุคคลอย่างหนึ่งอย่างใดในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่ และสถานะบุคคลนั้นย่อมต้องได้รับการพัฒนาให้ได้รับสถานะที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขาตามสิทธิที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าสัญชาติของประเทศนั้น

            ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นกระบวนการของกลุ่มผู้มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย ที่ในข้อเท็จจริงได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยลักษณะถาวรมาแล้วนานกว่า 5 ปี ก็สามารถที่จะพัฒนาสถานะบุคคลของตนเองต่อไปให้เป็นคนสัญชาติไทย โดยการแปลงสัญชาติได้ โดยสิทธิที่วางไว้ในกฎหมายสัญชาติของประเทศไทย

            และการที่ทำให้เขาได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลของเขาให้เป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาตินั้นก็ถือได้ว่าเป็นสถานะบุคคลที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มผู้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานานแล้ว(คำถามที่จะตามมา ก็คือ กลุ่มคนเหล่านี้จะรวมไปถึงแรงงานต่างด้าวหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ผู้เขียนจะขอกล่าวในเรื่องของปัญหาแรงงานต่างด้าวอพยพต่อไป)

            ความสำคัญของปัญหานี้ก็คือ หากเราปิดกั้นการพัฒนาสถานะบุคคลของกลุ่มผู้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่นานแล้ว หรือการตั้งหลักเกณฑ์ให้การเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยนั้นยากขึ้นมากเพียงใด ก็เท่ากับเราได้ทำร้ายต่อตัวความมั่นคงทั้งของชาติและของมนุษย์ ไปพร้อมๆกัน เพราะเราไม่ยอมให้บุคคลนั้นได้รับการพัฒนาสถานะให้ได้สถานะบุคคลที่ดีที่สุดที่เขาควรจะได้รับ แล้วการพัฒนาหรือป้องกันประเทศของเราจะมั่นคงเพียงไหน อันนี้ต้องฝากไปเป็นคำถามยังส่วนกลางในการตอบ

            ด้วยเหตุนี้โดยหลักแล้วในการที่เราจะอพยพเข้าไปอยู่อาศัยในประเทศไหนและไม่มีความคิดที่จะเดินทางกลับมายังประเทศบ้านเกิดแล้วก็ย่อมหวังที่จะได้แปลงสัญชาติเป็นคนในอาณัติของประเทศที่ตนเองไปอาศัยอยู่ ซึ่งก็จะตอบคำถามที่ว่าผู้ที่อพยพเข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยเองนั้นก็หวังไว้ว่าจะได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลเป็นคนสัญชาติไทยในอนาคตเช่นกัน

            และอย่าลืมว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นกลุ่มบุคลที่ไร้สัญชาติ เพราะฉะนั้นจะให้เขาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลานาน และเขาเองก็ไม่อาจพัฒนาสถานะของเขาต่อไปได้เพียงแต่พัฒนาสถานะบุคคลขึ้นมาให้เขาเป็นคนเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายและสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยถาวร ก็ตามแต่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังขาดตกไปซึ่งสิทธิไปบางเรื่อง เช่น สิทธิในการถือครองที่ดิน สิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิด้านการเมือง ฯลฯ

            ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหากกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้เข้าสู่กระบวนการพัฒนาสถานะบุคคลของเขาแล้วนั้นก็จะทำให้เขาสามารถเข้าถึงซึ่งสิทธิที่ขาดหายไปรวมทั้งทำให้เขาสามารถมีหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติในฐานะคนสัญชาติไทยเพิ่มขึ้น และสำคัญที่สุดก็คือการทำให้พวกเขาเหล่านั้นไม่เป็นคนไร้สัญชาติ ต่อไป (แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วนั้นการแปลงสัญชาติย่อมต้อง ยึดตามหลักของการมีสัญชาติของผู้ขอแปลงสัญชาติก็ตาม)

            เพราะฉะนั้นการที่เราจะพัฒนาสถานะบุคคลของกลุ่มคนผู้ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ให้สามมารถร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้นั้น ก็จะเป็นการขจัดความ “ไร้สัญชาติ” ให้กลับกลุ่มคนเหล่านี้และเป็นการสร้างคนสัญชาติไทยที่มีคุณภาพเพื่อช่วยพัฒนาสังคมไทยต่อไป

 


[1] แบ่งประเภทกลุ่มได้ดังนี้ กลุ่มผู้ถือบัตรอดีตทหารจีนคณะชาติ มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2521, กลุ่มผู้ถือบัตรจีนฮ่ออพยพพลเรือน มีมติครม. วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2527, กลุ่มผู้ถือบัตรผู้อพยพเชื้อสายไทยเกาะกง มีมติครม.วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2526, มติครม.วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2527, มติครม.วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2534 และมติ     ครม.วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2547, กลุ่มผู้ถือบัตรผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย(อดีตโจรคอมมิวนิสต์ มลายา) มีมติครม. วันที่ 30 ตุลาคม 2533, กลุ่มผู้ถือบัตรญวณอพยพ มีมติครม.วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2540, กลุ่มผู้ถือบัตร ไทลื้อ มีมติครม. วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2535, กลุ่มชาวเขา 9 เผ่าที่อพยพมาจากต่างประเทศ มีมติครม. วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2528,กลุ่มผู้ถือบัตรผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ให้แปลงสัญชาติได้ ตามมติครม. วันที่27 พฤษภาคม พ.ศ.2540, กลุ่มผู้ถือบัตรบุคคลบนพื้นที่สูง ไมลื้อ จีน พม่า ลาว(ที่ถือบัตรดังกล่าว) รวมผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เนปาลอพยพ จีนฮ่ออิสระ มีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวร ตามมาติครม. วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2543 และมติครม. วันที่28 สิงหาคม พ.ศ.2544.          

 

[2] ในหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวจะระบุไว้ในช่องของสัญชาติว่า “ไร้สัญชาติ” และในหนังสือสำคัญฉบับดังกล่าวจะระบุว่าเป็นต่างด้าวชอบด้วยกฎหมายนอกโควตา ที่อาศัย มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองในการประกาศให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

[3] การมีสัญชาติไทยโดยการเกิด แบ่งออกได้ 2 หลัก คือ 1.หลักสืบสายโลหิต มาตรา 7(1)  2.หลักดินแดน มาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551   

[4] ในส่วนนี้หมายถึงกลุ่มคนผู้ถือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 368310เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2010 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ มีประโยชน์มาก

ถ้าอยากฝึกงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากรบกวนขอคำแนะนำหน่อยได้มั้ยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท