แก่นปรัชญาว่าด้วยกรรมของศาสนาพุทธและฮินดู


ปรัชญาว่าด้วยหลักกรรม

 

ภควัทคีตา : บทเพลงของพระผู้เป็นเจ้า

คัมภีร์ภควัทคีตาเริ่มต้นด้วยการสนทนาระหว่างท้าวอรชุนและพระกฤษณะ  ณ  ท่ามกลางสมรภูมิก่อนที่สงครามอันยิ่งใหญ่จะได้เปิดฉากขึ้น  อรชุนรู้สึกกระวนกระวายไม่สบายใจด้วยความสำนึกที่ว่า ตนจะต้องทำสงครามอันจะนำมาซึ่งการนองเลือดอย่างขนานใหญ่  ซึ่งหมายถึงการประหัตประการญาติพี่น้องและมิตรสหาย  "การกระทำอันโหดเหี้ยมเช่นนี้มีวัตถุประสงค์อันใดหรือ ?  ผลดีอะไรจะบังเกิดขึ้นที่จะมีนำหนักมากไปกว่าความเสียหายและบาปกรรมอันมหันต์เช่นนี้ ?" 

กฎเกณฑ์ตลอดจนความสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษนานาประการที่อรชุนเคยมีอยู่  ไม่สามารถจะให้แสงสว่างแก่จิตใจของเขาได้เสียแล้ว  อรชุนได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตใจอันปั่นป่วนของมนุษย์  ซึ่งในยุคแล้วยุคเล่า ปรากฎว่าต้องถูกแบ่งแยกฉุดดึงด้วยพันธกรณีและหลักศีลธรรมที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอ

จากบทสนทนาอันเป็นเรื่องโต้ตอบกันส่วนตัวระหว่างอรชุนกับพระกฤษณะนี้  เราจะค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่อาณาบริเวณอันสูงส่งและที่ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว  หากเป็นเรื่องหน้าที่ของบุคคลและความประพฤติของสังคม  แล้วค่อย ๆ เขยิบสูงขึ้น ๆ จนถึงเรื่องหลักการใช้จริยธรรมในชีวิตมนุษย์  และท้ายที่สุดถึงเรื่องทัศนะด้านมโนธรรม  ซึ่งควรควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง

โดยเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญคัมภีร์ภควัทคีตาว่าด้วยเรื่องพื้นฐานทางจิตใจในการดำรงชีวิตของมนุษย์  ซึ่งการดำรงชีวิตนี้เองเป็นแหล่งกำเนิดของปัญหานานาประการในภาคปฏิบัติที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน  คัมภีร์ภควัทคีตาเรียกร้องให้มนุษย์ลุกขึ้นสู่การกระทำ  เพื่อปฏิบัติพันธกรณีและหน้าที่ของชีวิตให้ลุล่วงไปด้วยดี  

แต่ในขณะเดียวกันก็สอนให้มนุษย์คำนึงอยู่เสมอถึงภูมิพลังทางจิตใจ  และความมุ่งประสงค์อันกว้างไกลแห่งเอกภพ  การเมินเฉยไม่กระทำอะไรได้รับการตำหนิอย่างหนัก  แต่การกระทำและการดำเนินชีวิตต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับอุดมการณ์อันสูงสุดด้วย

 

โอวาทของท่านเหลี่ยวฝาน

พระอวิ๋นกุเถระกล่าวว่า  อันคนธรรมดานั้น จิตใจยากจะสงบได้และความฟุ้งซ่านทำให้คนเราถูกผูกมัดด้วยอำนาจพลังบวกและพลังลบตามธรรมชาติ  ทำให้ชีวิตต้องขึ้นต่อดวงชะตาราศี  แต่คนที่ทำคุณงามความดีมาก ๆ  เท่านั้นที่ชะตาราศีทำอะไรไม่ได้  โหราศาสตร์นั้นหยั่งไม่ถึงกรรมดีกรรมชั่วของคนเราหรอก จึงใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้

เพราะคนดีนั้นถึงแม้ชะตาชีวิตจะบ่งว่าไม่ดีอย่างไร  แต่พลังแห่งกุศลกรรมนั้นแรงนักสามารถพลิกชะตาที่เลวร้ายให้กลับดีได้  คนจนก็สามารถกลับรวยได้  คนอายุสั้นก็กลับอายุยืนได้  ในทางตรงกันข้ามคนที่สร้างอกุศลกรรมอย่างหนักไว้ ชะตาชีวิตก็ไม่สามารถผูกมัดเขาไว้ได้เช่นกัน  แม้จะถูกลิขิตว่าจะได้ดีมีสุขอย่างไร  แต่พลังแห่งอกุศลกรรมนั้นใหญ่หลวงนัก  ย่อมสามารถเปลี่ยนความสุขเป็นความทุกข์ความมีลาภยศเป็นหมดลาภยศ  ความอายุยืนก็กลายเป็นอายุสั้นได้เช่นกัน

พระอวิ๋นกุเถระกล่าวต่อไปอีกว่า  ชะตาชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน  อนาคตเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นเอง  เมื่อต้องการอนาคตดีก็ต้องทำดี  ในพระพุทธศาสนาท่านกล่าวไว้ว่า  ผู้ใดต้องการลาภยศ  ย่อมได้ลาภยศ  ผู้ใดต้องการบุตรธิดา ย่อมได้บุตรธิดา  ผู้ใดต้องการอายุยืน ย่อมอายุยืน  หากประกอบกรรมดี ย่อมสมปราถนาแล  พระผู้มีพระภาคทรงตรัสไว้เช่นนี้

ความสุขความเจริญทั้งมวล  เกิดขึ้นที่ใจก่อนทั้งสิ้น  การแสวงหาใด ๆ ก็ตามต้องเริ่มต้นที่ใจก่อน  ไม่เพียงแต่จะได้คุณธรรมความดีงามทางธรรมเท่านั้น  ความสุขความเจริญ ลาภยศ  ชื่อเสียงเงินทองอันเป็นความดีงามทางโลก  ก็จะติดตามมาเอง  เพราะฉะนั้น  การแสวงหาแต่สิ่งที่ดีงามนั้น  ย่อมได้สิ่งที่ดีงามตามปราถนา  ในทำนองเดียวกันหากไม่สำรวจตัวเอง  ไม่เริ่มต้นทำความดีจากตัวเราเองกลับดิ้นรนคิดแสวงหาจากภายนอก  แม้จะแสวงหามาได้  ก็เป็นเพียงได้ตามชะตากำหนดไว้เท่านั้น  ไม่ใช่ได้เพราะความดีของเรา  เพราะการแสวงหาจากภายนอกนั้น  อาจจะต้องใช้ความพยายามในทางที่ถูกบ้างผิดบ้าง  ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล  แสวงหาด้วยแรงขับของกิเลสตัณหา  จึงไม่ทันได้คำนึงถึงศีลธรรม  เป็นการสูญเปล่าทั้งสองทาง  ทางธรรมก็เสียหายทางโลกก็เสียหาย  การแสวงหาจากภายนอกนั้นจึงไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

**************************

บทแรกผมคัดมาจากหนังสือ Discovery  of India  ของท่านบิณฑิต เยาวหลาล  เนห์รู  รัฐบุรุษของโลกและนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย  เป็นการวิเคราะห์แก่นคำสอนว่าด้วยเรื่องกรรมที่แฝงอยู่ในคัมภีร์ภควัทคีตา  อันเป็นส่วนหนึ่งของมหากาพย์ มหาภารตยุทธ  เป็นการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายธรรมะและอธรรม  ความสับสนที่เกิดขึ้นในจิตใจของอรชุนที่ต้องเลือกในระหว่างการทำสงครามกับญาติพี่น้องของตัวเอง  ทำให้อรชุนเกิดความท้อถอยไม่อยากทำอะไร  เพราะผลคือความวิบัติของทั้งสองฝ่าย 

แต่พระกฤษณะได้กล่าวแก่นปรัชญาว่าด้วยกรรมของศาสนาฮินดูว่า  มนุษย์จะต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด  การปฏิเสธหลบเลี่ยงที่จะไม่ทำหน้าที่เป็นความชั่วช้า  และเมื่อปฏิบัติหน้าที่แล้วผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องไปสนใจ  เพราะเมื่อเรามั่นใจในการทำหน้าที่ด้วยความถูกต้องและบริสุทธิ์ใจ  ผลที่เกิดขึ้นก็ต้องถูกต้องดีงาม

ส่วนบทที่สองผมคัดมาจากหนังสือ "โอวาทสี่ของท่านเหลี่ยวฝาน" แปลโดย คุณ เจือจันทร์  อัชพรรณ  เป็นการกล่าวถึงหลักคำสอนว่าด้วยกรรมของพระพุทธศาสนา  ที่ต้องการชี้ให้เห็นว่า โชคชะตาราศีนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของมนุษย์  หาใช่เทพบันดาล  ฟ้าลิขิต หรือ ดวงดาวกำหนดไม่  พระพุทธศาสนาปฏิเสธความงมงายในโหราศาสตร์  แต่สอนให้คนเชื่อกฏแห่งกรรม  และกฎแห่งกรรมนี้เองเป็นพื้นฐานของจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา 

ชีวิตมนุษย์ถูกกำหนดให้ต้องตัดสินใจที่จะต้องทำกรรม  ถ้าตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของกุศลจิตก็จัดเป็นกรรมดี  ถ้าตัดสินใจบนพื้นฐานของอกุศลจิตก็จัดเป็นกรรมชั่ว  การอยู่เฉย ๆ ไม่ตัดสินใจทำหน้าที่ก็เป็นโมหจิตจัดเป็นกรรมชั่ว  ดังที่ฌอง ปอล ซาร์ต  นักปรัชญาอัตถิภาวนิยม ชาวฝรั่งเศสกล่าวไว้ว่า มนุษย์ถูกสาปให้มีเสรีภาพ  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มนุษย์ถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจตลอดเวลา  เพราะฉะนั้นมนุษย์จึงเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตของตัวเอง

หมายเลขบันทึก: 367849เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2010 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หลักปรัชญาในศาสนาทุกศาสนาของอินเดียต่างพูดถึงเรื่องกฏแห่งกรรม แต่ความแตกต่างอยู่ที่พื้นฐานทางความเชื่อ กฏแห่งกรรมของพุทธศาสนาตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฏปฏิจจสมุปปบาท หรืออิทัปปัจจยตา ซึ่งเป็นกระบวนการแห่งธรรม ไม่มีพลังอำนาจหนือธรรมชาติใด ๆ แฝงเร้นอยู่ ผู้รู้ท่านจึงสรุปเป็นคำพูดง่าย ๆ ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท