ระหว่างวันที่ ๒๘-๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๙ ที่ผ่านมา สมาคมนักกำหนดอาหารร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถีได้จัดการประชุมวิชาการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในหัวข้อเรื่อง "การจัดการความรู้สู่การเป็นนักกำหนดอาหารพันธุ์ใหม่" ณ ห้องประชุมอาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น ๑๒ รพ.ราชวิถี
ก่อนการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ ทีมงานเครือข่ายของเราได้รับการติดต่อจาก ดร.สุนาฏ เตชางาม นายกสมาคมนักกำหนดอาหาร และ ดร.ชนิดา ปโชติการ อุปนายก ว่าประสงค์จะให้มีเรื่องของการจัดการความรู้และการจัด workshop ด้วย ดิฉันจึงได้นำเรื่องนี้ไปเรียนปรึกษา ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ผอ.สคส. ซึ่งได้กรุณาให้คำแนะนำทั้งผู้ที่จะมาเป็นวิทยากรบรรยายนำและลักษณะของกิจกรรมกลุ่มย่อย (อ่านที่นี่) ตกลงช่วงเช้าเราจัดให้มีการบรรยายเรื่องการจัดการความรู้ โดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ส่วนช่วงบ่ายจะมีกิจกรรม knowledge sharing โดยมีการกำหนดหัวข้อไว้ล่วงหน้า
ดิฉันเป็นห่วงเรื่องกิจกรรมกลุ่มย่อย เกรงจะดำเนินการได้ลำบากเนื่องจากผู้เข้าประชุมมีจำนวนมาก แต่ทั้งนายกฯ อุปนายก ตลอดจนกรรมการสมาคมนักกำหนดอาหาร มีความตั้งใจจริง อยากให้สมาชิกที่เข้าประชุมทุกคนได้เรียนรู้เรื่อง KM กันทุกคน ได้ไปจัดหา “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” ประจำกลุ่มย่อย และกำหนดหัวข้อสำหรับกลุ่มต่างๆ ไว้ถึง ๒๐ กลุ่ม ดิฉัน คุณอาฬสา หุตะเจริญ และคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน จึงเตรียมการสำหรับกิจกรรม orientation เราเตรียมเอกสารแนะนำบทบาทของ “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” โดยรวบรวมมาจากการศึกษาข้อแนะนำต่างๆ ที่หาได้จาก gotoknow.org และจากประสบการณ์ที่ได้จากการจัดตลาดนัดความรู้ จริงๆ งานนี้ดิฉันขอความช่วยเหลือจากทีม สคส. ผ่านคุณธวัช หมัดเต๊ะ แต่ทุกคนติดภารกิจกันถ้วนหน้า ทีมงานเครือข่ายจึงต้องใจกล้ารับดำเนินการกันเอง
วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๙ เวลา ๑๔.๐๐ น. เราได้ต้อนรับทีม “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ของสมาคมนักกำหนดอาหาร เกือบ ๕๐ คน ที่ห้องประชุมชั้น ๑๐ รพ.เทพธารินทร์ นับเป็นการ orientation ครั้งใหญ่ที่สุดของเรา กิจกรรมเริ่มด้วยดิฉันแนะนำให้รู้จัก KM ตามแนวทางของ สคส. บอกให้รู้ถึงภาพของกิจกรรม knowledge sharing ว่า “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” “คุณกิจ” เป็นใคร แต่ละคนมีบทบาทอย่างไร เน้นเรื่องการเล่าเรื่อง การฟังอย่างลึก และการตีความสกัดขุมความรู้ เสนอตัวอย่างเรื่องเล่าที่เรามีรวบรวมไว้ ตลอดจนยกตัวอย่างปัญหาในกลุ่มย่อยที่อาจจะพบเจอและแนวทางการแก้ไข เปิดโอกาสให้ซักถาม และเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น เราได้สาธิตกิจกรรมในกลุ่มย่อยโดยมีคุณอาฬสาทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” คุณสุภาพรรณ ทำหน้าที่เป็น “คุณลิขิต” มีนักศึกษาอีก ๓ คนเป็น “คุณกิจ” (คุณอาฬสาต้องการให้มีกิจกรรมส่วนนี้อยู่แล้ว)
กิจกรรมสาธิตนี้ทำให้เราได้รู้ว่าการ orientation โดยการพูดอธิบายและบอกเล่าเท่านั้นไม่เพียงพอ เพราะผู้ฟังอาจจะยังนึกภาพไม่ออก แม้แต่การเล่าเรื่องความสำเร็จที่ภาคภูมิใจ บางคนจะเล่าแต่ความรู้สึกภาคภูมิใจ ภูมิใจเพราะคนไข้เขาพูดอย่างนั้นอย่างนี้ express ความรู้สึกอยู่นั่นแหละ เราจับจุดได้ว่าควรเริ่มด้วยการถามว่าเรื่องที่จะเล่านั้น “ความสำเร็จคืออะไร” แล้วให้บอกรายละเอียดของการปฏิบัติ ความคิด ความเชื่อของเขาที่ทำอย่างนั้น ในขณะที่การตีความนักศึกษาหรือนักวิชาการก็ถนัดการนำหลักทฤษฎีมาใช้ ให้เหตุผลเสร็จสรรพ พยายามหาข้อสรุปเหมือน group discussion
เราสาธิตกันอย่างเอาจริงเอาจังแต่ก็มีความสนุกสนาน จากเวลาที่คาดไว้ว่าจะใช้เพียง ๑ ชม.ผ่านไปถึง ๓ ชม.แบบไม่รู้ตัว ดิฉันเชื่อว่าทั้งทีมงานเครือข่ายและทีมงานของสมาคมนักกำหนดอาหารต่างก็ได้ประโยชน์จากกิจกรรมในครั้งนี้ การจัดตลาดนัดความรู้ของเครือข่ายในครั้งต่อๆ ไป เราจะเตรียม “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ให้เข้มข้นกว่าเดิม
วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๔๙
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วัลลา ตันตโยทัย ใน DM KM Facilitator
คำสำคัญ (Tags)#นักกำหนดอาหาร#knowledge sharing
หมายเลขบันทึก: 36755, เขียน: 03 Jul 2006 @ 14:48 (), แก้ไข: 23 Jul 2012 @ 15:57 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ความเห็น: 28, อ่าน: คลิก
ลองเอาสิ่งที่ได้จากการอ่านบล็อก ของอาจารย์ไปใช้ต่อ ทำ AAR ทุกครั้งที่มีโอกาส แต่ทำเองแบบครูพักลักจำ ฟังมา อ่านมาและลองทำ โดยไม่เคยเห็น ด้วยความกระตือรือร้น และสนุกที่ได้ทำ พอใจทุกครั้งหลังจากทำ
รู้สึกถึงความมีชิวิต ของที่ประชุม ที่มีความเห็น มีความรู้สึก มีประเด็นความคิดที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาก แต่ยังไม่สามารถ เพิ่มคุณ ลิขิต และเสริมความสามารถ คุณอำนวยได้ดีเท่าที่อยากให้เป็น
อยากสร้างทีมงาน คุณ อำนวย คุณลิขิต ที่รพ ให้เก่ง ให้มีหลายๆ คน ขอความรู้จากอาจารย์ด้วยค่ะว่าขณะเริ่ม เหมือนอาจารย์ตั้งใจสร้างและเสริมความสามารถของคน
ขอช่วยให้รายละเอียดว่าขณะที่อาจารย์อธิบาย “คุณอำนวย” “คุณลิขิต” “คุณกิจ” เป็นใคร แต่ละคนมีบทบาทอย่างไรนั้น อาจารย์บอกด้วยคำพูดอย่างไรคะ
การยกตัวอย่างปัญหาในกลุ่มย่อยที่อาจจะพบเจอและแนวทางการแก้ไขขอความกรุณาให้รายละเอียดเพิ่ม
การสาธิตน่าสนใจมากค่ะตั้ง 3 ชม มีบันทึกหรือถอดเทปไว้ไหมคะ ติดตามได้ที่ไหน
อ่านเรื่องเล่าของอาจารย์ทีไร ก็อยากรู้เพิ่ม อยากลองเกิดความรู้สึกมีพลังทำงาน บุก และลุย ต่อ มีกำลังใจดีค่ะ
แนะนำให้คนที่รู้จักอ่านgotoknow หลายคนแล้วโดยเฉพาะทีมเบาหวาน เชียงราย
ด้วยความสนใจ และนับถือในผลงานค่ะ
รวิวรรณ