AAR สัมมนา 30มิ.ย.-2ก.ค.ที่สงขลา(1)


หน่วยงานต้องมองทะลุเพื่อเข้ามาเอี่ยว แต่ถ้าหน่วยงานยึดถือภารกิจของตนเป็นหลักก็จะพยายามมองหางานที่ตอบสนองตรงเป้ากับที่หน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ควรปรับปรุง

ผมเล่าแนวคิดที่ใช้ในการออกแบบการสัมมนาที่สงขลาไว้แล้ว เข้าใจว่าแต่ละคนคงมีวัตถุประสงค์ในการเข้าร่วมสัมมนาของตนเอง ของใครก็ของคนนั้น สำหรับAARของผม สรุปได้ดังนี้ครับ

วัตถุประสงค์หลักคือ นำเสนอกระบวนการและผลของงานวิจัย5พื้นที่โดยใช้ตัวอย่างลงลึกที่สงขลา เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ผู้ใช้งานให้ข้อเสนอแนะและนำไปใช้ประโยชน์

ผู้เกี่ยวข้องที่ผมเล็งไว้มาจาก4ภาคส่วนคือ 1)ส่วนราชการระดับนโยบาย 2)ส่วนราชการระดับปฏิบัติการ 3)ภาควิชาการ 4)ส่วนสนับสนุนด้านเงินทุนวิจัยและพัฒนา ซึ่งในงานสัมมนาก็เข้าร่วมครบทั้ง4องค์ประกอบ

กระบวนการที่ผมออกแบบไว้ ต้องการนำเสนอกระบวนการและผลของงานวิจัยของทีมงาน5พื้นที่จากนิทรรศการและเอกสาร การนำเสนอสรุปผลหน้าเวที การจำลองการเรียนรู้กลุ่มย่อยด้วยเรื่องเล่าที่ภูมิใจในห้อง การดูงานในพื้นที่ตำบลน้ำขาว การเรียนรู้ตามอัธยาศัยผ่านการพูดคุย การท่องเที่ยว งานเลี้ยงและชมการแสดง การกระตุ้นคุณค่าในความเป็นมนุษย์และเป้าหมายของชีวิตโดยผู้นำที่มีบารมี เพื่อสร้างพลังจินตนาการและสำนึกร่วมในการขับเคลื่อนขบวนองค์กรการเงินภาคประชาชน นั่นคือเรื่องราวทั้งหมดที่ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นข้อมูลในการให้ข้อเสนอแนะกระบวนการวิจัยจัดการความรู้และพิจารณานำไปใช้ประโยชน์

ผลที่ปรากฏตามกระบวนการที่ออกแบบไว้แม้ว่าจะขลุกขลักในเรื่องของเวลาค่อนข้างมาก แต่ก็ประเมินว่าครอบคลุมเรื่องราวที่ตั้งใจจะสื่อมากกว่า70% ซึ่งหลายเรื่องก็นำเสนอได้ดีกว่าที่ตั้งใจไว้ โดยช่วงสุดท้ายของเช้าวันที่ 2 ที่ผมเป็นผู้ดำเนินรายการต้องการให้userให้ข้อเสนอแนะซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของงานครั้งนี้
ได้เชิญ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ในฐานะแหล่งทุนวิจัยและคุณสันติ อุทัยพันธ์ ผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯในฐานะผู้ใช้งานหลักเป็นผู้นำเสวนา

(1) ผลตามวัตถุประสงค์หลักที่ไม่ได้ตามเป้าหมายหลัก คือ

1.ผู้เกี่ยวข้องไม่เข้าใจหรือให้ความสนใจกระบวนการนำเสนองานวิจัยในครั้งนี้ค่อนข้างน้อย(แม้คำว่า"วิจัย" จะยังขลังอยู่ก็ตาม ผมเห็นว่างานวิจัยจะเป็นความขลังที่ผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงตัวตนของมัน เหมือนกับเป็นไสยศาสตร์ยังไงยังงั้น) เช่น ในระดับนโยบายที่ควรสนใจฟังข้อสรุปจากงานวิจัยกลับไปสนใจ/ให้ความสำคัญกับกิจกรรมในพื้นที่ของกลุ่มซึ่งเป็นเพียงข้อมูลหนึ่งที่ใช้ในการสรุปวิเคราะห์ออกมาเป็นผลงานวิจัยที่จะทำให้เข้าใจเรื่องราวต่างๆได้อย่างครอบคลุม ในกรณีผู้บริหารของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นต้น
ข้อควรปรับปรุง (มองจากภายใน) คือ 1)ต้องทำความเข้าใจกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการนำเสนองานวิจัย 2)ต้องมีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะกับภาคส่วนที่เข้าร่วม ไม่ตั้งวัตถุประสงค์ครอบคลุมทุกภาคส่วนซึ่งมีความต้องการเรียนรู้ที่ต่างกัน 3)ต้องเตรียมการนำเสนออย่างชัดเจน เป็นระบบ ทำการบ้านมาอย่างครบถ้วนและมีเวลานำเสนอมากกว่านี้ รวมทั้งส่งงานให้ผู้เกี่ยวข้องได้อ่านก่อน

2. จากข้อ1 ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องนี้ค่อนข้างจำกัด โดยที่ผู้เกี่ยวข้องได้ใช้เนื้อหาเพียงน้อยนิด แต่สำคัญ คือการนำเสนอของพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ครูชบ ยอดแก้ว และผญ.เทพพิทักษ์ ทนทาน มาเป็นประเด็นในการพูดคุย ซึ่งเป็นส่วนที่พูดถึง วิถีพลังขององค์กรการเงินชุมชนและสถานะภาพโดยรวมของขบวน

และโดยที่ขบวนกองทุนหมู่บ้านกำลังจัดระบบดำเนินงานเชิงรุก การนำเสนอของคุณสันติจึงเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดและแนวทางในการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนการจัดการความรู้ในพื้นที่
ในกรณีของดร.สีลาภรณ์ นอกจากตั้งข้อสังเกตต่อสถานะและ บทบาทของขบวนองค์กรการเงินชุมชนแล้ว ยังเสนอแนวทางในการสนับสนุนงานวิจัยในประเด็นนี้ด้วย

กรณีของหน่วยงานนโยบาย ในส่วนของกระทรวงพัฒนาสังคมฯนั้น รองปลัดได้ลงพื้นที่ดูงานตำบล น้ำขาวด้วย แต่ไม่ได้สนใจกระบวนการนำเสนองานวิจัยครั้งนี้ เช่นเดียวกับพมจ.ซึ่งสะท้อนความรู้สึกในเวทีว่า มีความสับสนในการทำงานเพื่อชุมชนกับสถานะที่เป็นข้าราชการระดับสูงในจังหวัด ซึ่งน่าประหลาดใจมาก คือ ท่านพูดเหมือนกับว่าความต้องการทำงานเพื่อชุมชนไม่เอื้อต่อการทำงานตามหน้าที่อย่างดีที่สุดของท่าน ซึ่งในมุมมองของผมสามารถไปด้วยกันได้อย่างดี เพราะพมจ. เป็นหน่วยงานหลักที่มีอำนาจหน้าที่ตามพรบ.ที่เกี่ยวกับสวัสดิการสังคมหลายฉบับ โดยที่ท่านอยากทำงานเพื่อชุมชนเป็นทุนอยู่แล้ว ก็น่าจะทำได้อย่างง่ายดาย ถ้าได้เข้าใจสถานะของงานวิจัยที่จะทำความเข้าใจกับข้อขัดข้องต่างๆเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับความต้องการก็จะช่วยให้ความสับสนนั้นผ่อนคลายลง เพราะพมจ.เป็นผู้ใช้ประโยชน์หลักตามแบบจำลองกระแสน้ำ ที่จะทำให้งานวิจัยนี้เป็นตัวคูณที่คุ้มค่า ก็ขอฝากทีมวิจัยสงขลาช่วยพิจารณาในประเด็นนี้ด้วย

สำหรับสำนักงานเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังที่ดูแล2เรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ ระบบการออมกับกองทุนชราภาพ และแผนแม่บทการเงินฐานรากและสำนักงานประกันสังคมนั้น เข้าใจว่างานวิจัยไม่ตรงกับเรื่องที่หน่วยงานดูแลทีเดียว เพราะงานวิจัยนี้ตั้งต้นโดยใช้ชุมชนโดยขบวนองค์กรการเงินภาคประชาชนเป็นฐาน ซึ่งหน่วยงานต้องมองทะลุเพื่อเข้ามาเอี่ยว แต่ถ้าหน่วยงานยึดถือภารกิจของตนเป็นหลักก็จะพยายามมองหางานที่ตอบสนองตรงเป้ากับที่หน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่ควรปรับปรุง สิ่งนี้แหละเป็นที่มาของแนวคิดบูรณาการในแผนแม่บทการเงินฐานรากที่น่าจะมีสถานะเป็นเพียงแผนที่ในจินตนาการร่วมซึ่งจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก การเปลี่ยนแปลงน่าจะอยู่ที่แม่ทัพกองทุนหมู่บ้านซึ่งกุมกำลังขบวนองค์กรการเงินชุมชนมากที่สุด

(2)สำหรับวัตถุประสงค์ให้เกิดการเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ของuserที่เป็นหน่วยสนับสนุนปฏิบัติการนั้น ผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานต่างๆคงได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทั้งหลายตามสมควรโดยเฉพาะทีมงานกศน.เมืองนครศรีธรรมราชที่กำลังดำเนินโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร ที่บอกว่าได้รับประโยชน์ค่อนข้างมาก ทีมจากราชบุรี(NGI) ระนอง(ปศุสัตว์) สมุทรปราการ(สธ.) และตราด(พี่อาคม) ทีมบางกอกฟอรั่ม (พี่ตู่ กุ๊กและมะเหมี่ยว) ยังไม่ได้สอบถามความเห็น รวมทั้งพัชณี จนท.จากพอช. เป็นต้น อยากให้สื่อสารสะท้อนความคิดเห็นให้ทราบด้วย

(3)ถัดมาคือการเรียนรู้ของผู้นำชุมชนที่กำลังดำเนินกิจกรรมคล้ายคลึงกันซึ่งสนับสนุนโดยพอช. ที่จ.นครศรีธรรมราช ทีมงานโครงการ3ตำบลของนครศรีธรรมราช รวมทั้งเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนจาก 5พื้นที่ เท่าที่สอบถามก็พอใจกับการเรียนรู้ค่อนข้างมาก

(4)สำหรับปีกวิชาการ นอกจากนักวิจัยจาก5พื้นที่แล้ว ขอขอบคุณรศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ จากมธ.และ ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์จากมก.กำแพงแสน กัลยาณมิตรที่ร่วมเรียนรู้ให้ข้อเสนอแนะอย่างตั้งใจ เป็นที่ประทับใจของหนูเคเอ็มมาก

คำสำคัญ (Tags): #มหกรรม30มิ.ย.-2ก.ค.
หมายเลขบันทึก: 36748เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 14:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรียน อ.ภีม

ผมคิดว่า อ.ภีมได้ตามเป้าหมายกว่าร้อยละ 70 ก็นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากแล้ว (ไม่น่าให้คะแนนเพียงเท่านี้ น่าจะให้มากกว่านี้) ผมว่าทุกผู้คนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้สึกว่าดีและเป็นบวกกันหมดเลย ทำไม อาจารย์ให้เท่านี้ แต่แหม......อาจารย์...เวลากับกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบไว้มากมายมันไม่พอดีกันเท่านั้นเอง ถ้าจะให้ได้ดี ต้องจัดสัก 2 ประชุม หรือเพิ่มหรือลดตัวใดตัวหนึ่งให้มันพอดีกันครับ สำหรับผมแล้ว ผมได้ทั้งเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ที่ผมจะนำมาปรับใช้ได้มากกว่าที่ตั้งไว้ครับ มากกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์ ครับ ผมต้องขอบคุณอาจารย์ แหม่ม แป้น และทีมงานอาจารย์ทุกคนครับที่ให้พื้นที่สำหรับชาว กศน.เมืองนครศรีฯได้มีพื้นที่ในเวทีแห่งนี้ ขอบคุณครับ

 

วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ

     ขอให้กำลังใจคุณภีมและให้คะแนนเต็ม 100 เลยค่ะ (ฮิ! ฮิ!)   สำหรับการจัดงานในครั้งนี้อ้อมเห็นคล้ายๆอ.จำนงค่ะ  คือ  กิจกรรมมากแต่เวลาน้อย  บางกิจกรรมให้เวลาน้อยเกินไป  ในขณะที่บางกิจกรรมใช้เวลามาก (แต่ประโยชน์ที่ได้ไม่ค่อยมาก)  ส่วนที่บอกว่าหน่วยงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ค่อยสนใจงานวิจัยอ้อมคิดว่าเราต้องมอง 2 ส่วน  คือ งานในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับงานวิจัยมากแค่ไหน (ทั้งในแง่ของเนื้อหาสาระ  เวลาในการนำเสนอ  การเปิดโอกาสในแง่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้)  อีกส่วนหนึ่ง  คือ  งานวิจัย (ครั้งนี้และงานวิจัยทั่วๆไป) ทำให้หน่วยงานหรือผู้ใช้เห็นคุณค่าและความสำคัญแค่ไหน

     อ้อ! เกือบลืมค่ะ  ยังไม่ได้ทำ AAR เลย  ยังไงจะรีบทำแล้วคอยอ่านใน Blog นะคะ

ขอบคุณอาจารย์จำนงและอาจารย์อ้อมมากครับ จะรออ่านAARของทั้ง2ท่านครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท