เรื่องเล่าจากการเรียน : ครู คือ เอนไซม์


เอนไซม์มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต เพราะว่าเป็นส่วนที่ช่วยในการทำปฏิกิริยาเคมีในเซลล์ ถ้าไม่มีเอนไซม์อาจทำให้ผลผลิตจากปฏิกิริยาล่าช้า หรือไม่สมบูรณ์ ครูก็เช่นเดียวกัน ครูทำหน้าที่กระตุ้นผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ จนสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้

สวัสดีครับ

วันนี้ขอนำเสนอเรื่อง เอนไซม์ ที่ผมได้ไปทบทวนความรู้จากการเรียน

 

เอนไซม์ โดยส่วนใหญ่เป็น โปรตีน

 

เอนไซม์ มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต เพราะว่าเป็นส่วนร่วมในปฏิกิริยาเคมีส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในเซลล์ ในขบวนการเมแทบอลิซึมของร่างกาย ถ้าไม่มี เอนไซม์ อาจทำให้ผลผลิตจากปฏิกิริยาดังกล่าวล่าช้า หรือไม่สมบูรณ์ จะทำระบบการทำงานของเซลล์ ของร่างกายจะผิดปกติ

  

ครู ครูคนแรก โดยส่วนใหญ่ คือ พ่อ และ/หรือ แม่ของเรา

 

ครู มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพ เพราะว่า มีส่วนช่วยสอนให้เราเกิดการเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปใช้ประโยชน์ในชีวิต ถ้าไม่มี ครู อาจทำให้การเรียนรู้เกิดความล่าช้า หรือไม่เข้าใจองค์ความรู้ที่ชัดเจน หรือเป็นคนที่ไม่ปกติ ไม่สมบูรณ์

 

 

 

 การทำงานของเอนไซม์

เริ่มต้นจากสารตั้งต้น ทางชีวเคมี เรียกว่า สับสเตรต (Substrate) เข้าจับกับ เอนไซม์ และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจนปฏิกิริยาสิ้นสุดจนได้ ผลผลิต (Product) และ เอนไซม์ กลับคืนมา 

 

 การทำงานของครู  

เริ่มต้นจากคนที่มีความรู้ มาถ่ายทอดความรู้ เรียกว่า ครู ทำหน้าที่เข้ามาจัดการองค์ความรู้ของตนเอง เรียบเรียง วางแผนการสอน และถ่ายทอดความรู้ ออกไปสู่ผู้เรียน จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจ และ เมื่อผู้เรียนเข้าใจ สำเร็จการศึกษาไป ครูก็สอนผู้เรียนรุ่นต่อๆไป คนแล้ว คนเล่า จนใครๆหลายคนเปรียบเทียบ ครูเหมือนเรือจ้าง

 

 

 

 หน้าที่ของเอนไซม์  คือ การเปลี่ยนวิถีทางของการเกิดปฏิกิริยา เพื่อลดระดับพลังงานของสภาวะแทรนซิชัน (transition state) โดยการจับยึดกับสับสเตรตและตัวทำปฏิกิริยาอื่น ๆ ให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม ทำให้เกิดการลดพลังงานของปฏิกิริยาลง ซึ่งมีผลทำให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น เมื่อสับสเตรตเปลี่ยนไปเป็นผลิตภัณฑ์แล้วก็จะไม่สามารถจับยึดกับเอนไซม์ได้อีกต่อไป และจะหลุดออกจากบริเวณรับ ปลดปล่อยเอนไซม์ให้เป็นอิสระ  

บาง เอนไซม์ ที่หน้าที่จำเพาะ และ มีบาง เอนไซม์ ทำหน้าที่หลายอย่าง ทำปฏิกิริยาได้กับหลายสับสเตรท ทำปฏิกิริยาไปข้างหน้าหรือย้อนกลับได้

 

 

 

 หน้าที่ของครู  คือ การเปลี่ยนวิถีทางชีวิตของผู้เรียน จากคนที่ยังไม่มีความรู้ ไปสู่คนที่มีความรู้ จากคนที่ความรู้ยังไม่ชัดเจน คลุมเครือ ไปสู่คนที่หู ตาสว่าง เกิดความรู้ เข้าใจ สามารถทำเองได้ในองค์ความรู้นั้น โดยการจับผู้เรียนให้อยู่แนบแน่นกับขบวนการเรียน การสอน การฝึกทักษะ ด้วยเทคนิคต่างๆที่มีอยู่มากมาย ที่หลากหลาย ทำให้ผู้เรียนลดความเบื่อหน่าย ลดความไม่อยากเรียนลงไป เปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ไม่ดีออกไป ซึ่งมีผลทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ สำเร็จในการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนด มีความสามารถไปประกอบอาชีพ ดูแลตนเองและผู้อื่นๆได้  ไปรับใช้สังคม และประเทศชาติ แล้วผู้เรียนและครูก็เป็นอิสระจากกัน แต่ยังมีความรัก ความผูกพัน ระลึกถึงกันและกันตลอดเวลา   

ครู บางทานทำหน้าที่สอนเฉพาะวิชาเดียว บางท่านทำหน้าที่ได้หลากหลาย สอน ให้คำปรึกษา ชี้แนะ ตักเตือน ดูแล ฯลฯ... 

 

 

 ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์  

1. ค่า pH หรือ ความเป็น กรด หรือ ด่างที่เกิดขึ้น

2. อุณหภูมิ

3. ระยะเวลา

4. ความเข้มข้นของสับสเตรท

5. ความเข้มข้นของเอนไซม์

6. อื่นๆ 

 

 ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานของครู  

1. ทัศนคติ ที่ดี หรือ ไม่ดีของผู้เรียน หรือ ความชอบหรือ ไม่ชอบของรายวิชาที่เรียน หากผู้เรียนมีทัศนคติที่ไม่ดี ไม่ชอบรายวิชานั้น ก็อาจทำให้ผู้เรียนไม่สนใจ การเรียนการสอนยากที่จะประสบความสำเร็จได้

ความท้าทายของ ครู คือ การทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลง จาก ไม่ดี ไปสู่ ดี จากไม่ชอบ ไปสู่ชอบ ในการเรียน

2. อุณหภูมิ ของห้องเรียน ร้อนไป หนาวไป รวมถึงสิ่งแวดล้อมในการเรียนที่ไม่เหมาะสม เช่น มีเสียงดังรบกวน มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ อุปกรณ์ สื่อการเรียน การสอนบกพร่อง ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไข 

3. ระยะเวลา เวลาที่ใช้ในการเรียน การสอน ที่มากเกิน ยาวเกินไป อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความอ่อนล้า ช่วงเวลาประมาณ 10-15 นาที แรกของการเรียน เป็นช่วงเวลาทอง ที่ผู้สอนจะต้องใช้ความสามารถในการเรียกความสนใจกับผู้เรียนในระหว่างการเรียน และเว้นช่วงเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตามเวลาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง

4. ความเข้มข้นของตัวผู้เรียน ว่ามีความสนใจ ตั้งใจ ใส่ใจ ความอยาก ความพร้อมที่มากน้อยเพียงใด? สิ่งเหล่านี้ย่อมมีผลต่อการเรียนของผู้เรียนเอง

5. ความเข้มข้นของตัวผู้สอน ก็ทำนองเดียวกับผู้เรียน ว่าผู้สอน มีสิ่งเหล่านั้นมากน้อยเพียงใด? รวมถึงทัศนคติที่มีต่อความเป็นครูของตนเอง เพียงใด?   

6. อื่นๆ ได้แก่ เทคนิคการสอน

- การพูดที่เร็ว พูดเสียงโทนเดียว การพูดแบบ วกไป วนมา ทำให้ผู้เรียนเบื่อ และไม่เข้าใจในเนื้อหา

- การทำความเข้าใจในผู้เรียน การรับรู้ว่าผู้เรียนมีข้อจำกัดอย่างไร? มีความต้องการอะไร? ดังนั้นการปรับเนื้อหา การเลือกใช้วิธีการสอนให้สอดคล้องกับระดับของผู้เรียนจะมีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จในการสอนได้

- ความพร้อมในการทำหน้าที่ สุขภาพของผู้สอนว่ามีอยู่เป็นอย่างไร?

  

ท่านทั้งหลาย เห็นด้วยกับผมหรือไม่?

ครู คือ เอนไซม์ ที่มีคุณค่าต่อการเรียน การสอน

  

เปิดเทอมแล้ว วันไหว้ครู ก็มาถึงแล้ว

ผมขอระลึกขึ้นพระคุณของคุณครู อาจารย์ทุกท่าน ที่ช่วยสอน อบรม ให้ความรู้ ประสิทธิ์ ประสาทวิชาความรู้ให้แก่พวกเรา

ขอกราบขอบพระคุณ ของคุณครูทุกท่าน ด้วยรักและเคารพอย่างสูง   

หมายเลขบันทึก: 365740เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2010 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ก็เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งนะคะเพราะชอบไปโรงเรียนเพราะชอบครูสอนเลยไม่เบื่อที่จะเรียนแม้จะต้องไปเรียนด้วยความยากลำบากแม้เสาอาทิตย์ก็ชอบไปทำกิจกรรมปลูกผักสวนครัวที่รรด้วยจึงเป็นคนชอบเรียนหนังสือ เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ แต่ไม่ค่อยมีสารฉลาดมากมายในตัวเท่าไรนะคะ สดุดีคุณครูด้วยคนนะคะ

เรียน คุณ children's nurse

การเรียน ด้วยความตั้งใจ ใส่ใจ ก็เกิดความรู้ได้ ไม่ต้องฉลาดนัก แต่ขอให้เป็นคนดี สุดยอดกว่า ครับ

เปรียบเทียบได้ดีมากเลย....ครูกับเอนไซม์

แล้วยังวิเคราะห์ออกมาได้ตรงเป้าถึงที่มาที่ไปว่า...ทำไมถึงเปรียบเทียบเช่นนี้

อ่านแล้วไม่ซับซ้อนเข้าใจตรงตามจุดประสงค์

แต่....ถ้าเอนไซม์เกิดทำปฏิกิริยาผิดปกติขึ้นมา

ครู.....จะทำหน้าที่ผิดปกติไปด้วยไหมหนอ???

มีความสุขกับวันหยุดนะคะ

เรียน คุณ ราชิต และ อ.kruqui

เอนไซม์ บกพร่องต่อหน้าที่ เกิดการจากหลายปัจจัย เช่น กลายพันธุ์ การเกิดบาดเจ็บ การติดเชื้อของอวัยวะที่ผลิตเอนไซม์ จึงส่งผลต่อการทำงาน การที่ครู อาจารย์ ผู้สอน ทำหน้าที่ผิดพลาด บกพร่อง เกิดได้หลายปัจจัย เช่น การหลงผิด ยึดมั่นถือมั่น การปิดกลั้นไม่รับฟังผลการประเมินการเรียน การสอน ดังตัวอย่างที่เคยพบเห็นในข่าว การลงโทษนักเรียนแบบรุนแรงที่เกิดกว่าเหตุ การหาผลประโยชน์เข้าตนเองเรื่องการให้คะแนน การตัดเกรด เป็นต้น

ครู หากได้ทบทวนตนเอง ทบทวนความรู้ พัฒนาตนเอง รับฟังเสียงสะท้อนของผู้เรียน เปิดใจรับฟัง ใจกว้าง แล้วนำข้อแนะนำ มาปรับปรุง แก้ไข พัฒนาการเรียนการสอน ย่อมเกิดประโยชน์หลายอย่าง

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม ครับ

สวัสดีค่ะท่านเป็นการเปรียบเทียบที่เห็นชัดเจนค่ะ ขอนำไปเรียนรู้ต่อนะคะ น่าเอาไปดัดแปลงเป็นสื่อการสอนให้เด็กได้รู้จักการคิดแบบนี้บ้างจัง..แต่ต้องเรื่องง่ายๆนะคะ

ได้เสบียงไปเลี้ยงเด็กเยอะเลยค่ะ

ขอบคุณนะคะ

เรียน คุณครู Rinda และ คุณครูอิ๊ด

การเรียน การสอนที่สร้างให้เด็กได้ฝึกการคิด วิเคราะห์ เปรียบเทียบ ช่วยให้ได้ข้อมูลอีกหลายรูปแบบ

ที่ผมนำเสนอเป็นหนึ่งในนั้น และยินดีอย่างยิ่งหากสิ่งที่ทำเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม ครับ

อ่านนานมากค่ะ

เพราะอ่านไปคิดไป

ไม่ได้คิดเรื่องที่นำครูไปเปรียบเทียบกับเอ็นไซด์หรอกนะคะ

แต่คิดว่าหากครูรู้จักนำเรื่องใกล้ตัว เรื่องง่ายๆมาสอน มาบอก มาเล่า

ให้นักเรียนได้คิดได้เปรียบเทียบ จนเกิดความรู้ความเข้าใจ

สามารถวิเคราะห์สังเคราะห์ และตัดสินใจเลือกอย่างมีปัญญา

และสามารถต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ได้เหมือนดั่งบันทึกที่กำลังอ่านอยู่นี้

นี่แหละค่ะ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในวงการศึกษาที่เหมือนจะหายไปนานแล้วค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เรียน คุณ Krutoiting

การจัดการเรียนการสอนที่เข้าถึงผู้เรียนเป็นรายบุคคล มองให้เห็นจุดอ่อน จุดแข็ง แล้วนำมาพัฒนาผู้เรียน เป็นความท้าทายจริงๆ ครับ เพราะผู้สอนต้องวางแผน หาแนวทางที่จัดทำให้สอดคล้องกับเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ ไม่ใช่สำเร็จได้ในเวลาอันสั้น แต่ทำได้ ทำอย่างต่อเนื่อง สอนกลุ่มหนึ่งแล้วส่งต่อผู้สอนอีกกลุ่ม ให้เน้นการคิดได้ ได้คิด ที่ละนิด ทีละหน่อย เด็กคงได้สะสมประสบการณ์ เพื่อพัฒนาต่อไป ครับ

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม ครับ

สวัสดีค่ะ

มีความภูมิใจมากค่ะที่ได้ทำหน้าที่ของ "ครูคนหนึ่ง"  ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท