มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
Mrs. Maleephan มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช Pooma

ศาสนาพุทธ


ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

                                          พระพุทธศาสนา

       พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย  หลังศาสนาพราหมณ์-ฮินดูประมาณ 1000  ปีเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม  มีคำสอนเน้นหนักไปทางญาณหรือปัญญา  ศาสดาคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้ซึ่งตรัสรู้ด้วยพระปัญญาอันสูงยิ่งด้วยพระองค์เอง       ในบรรดาศาสนาต่างๆทั้งที่เกิดขึ้นก่อนพระพุทธศาสนาและที่เกิดขึ้นภายหลังต่างก็มีคำสอนร่วมกันคือ  ให้ละความชั่ว  และให้ทำความดี  ส่วนพระพุทธศาสนานั้นนอกจากจะสอนให้ละความชั่วและให้ทำความดีแล้ว  ยังสอนเรื่องการทำจิตใจของตนให้ผ่องใส  อีกขั้นหนึ่งด้วย   คำสอนเรื่องการทำจิตของตนให้ผ่องใส  จึงถือเป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนาที่ไม่มีในศาสนาอื่น

       อนึ่งคำว่า  พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลนั้น  พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า “พรหมจรรย์” แปลว่า  การประพฤติอันประเสริฐ  หมายถึง  แบบแห่งการประพฤติปฏิบัติหรือหลักแห่งการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ  เพื่อความเป็นผู้ประเสริฐ  ดังพระดำรัสที่ตรัสแก่พระอรหันตสาวกทั้ง 60 รูป  ก่อนจะส่งไปประกาศศาสนาโดยทรงใช้คำว่า “ประกาศพรหมจรรย์”ซึ่งหมายถึง  การประกาศพระพุทธศาสนานั่นเอง

พุทธประวัติ

                พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของพระพุทธศาสนาทรงมีพระนามเดิมว่าเจ้าชายสิทธัตถะ  ทรงเป็นโอรสกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์  พระบิดาทรงพระนามว่าพระเจ้าสุทโทธนะ  พระมารดาทรงพระนามว่าพระนางมหามายา  พระองค์ประสูติเมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ(เดือน6) ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

                ในวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูตินั้นได้มีคณะพราหมณ์ 8 คนมาถวายคำทำนายในจำนวนพราหมณ์คณะนี้มีพราหมณ์ที่หนุ่มที่สุดนามว่าโกณทัญญะ  ได้ถวายคำทำนายเป็นสถานเดียวขณะที่พราหมณ์ทั้ง 7 คนได้ทำนายไว้ 2 สถานคือถ้าดำรงเพศเป็นฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ  แต่ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก  ส่วนพราหมณ์โกณทัญญะนั้นทำนายว่าพระองค์จะต้องออกบวชและเป็นศาสดาเอกของโลก

                เจ้าชายสัทธัตถะเคยเสด็จประพาสตามชนบทที่ใกล้พระนคร 4 ครั้งโดยมีนายฉันนะเป็นผู้ตามเสด็จ  ครั้งแรกทรงพบคนแก่มีสังขารอันร่วงโรย  ครั้งที่ 2 ทรงพบคนเจ็บซึ่งมีร่างกายพุพองเน่าเปื่อย  ครั้งที่ 3  ทรงพบคนตาย  เหตุการณ์ทั้ง 3 ครั้งนี้ยังพระทัยให้หม่นหมองอาดูร  และเห็นทุกข์ของชีวิต  ทั้งทรงพิจารณาว่าทรัพย์สมบัติและความสุขทางโลกนั้นมิอาจทำให้พ้นสภาวะทั้ง 3 ได้  ต่อเมื่อพระองค์เสด็จครั้งที่ 4 ทรงได้พบบรรพชิต  จึงทรงเห็นอุบายเครื่องพ้นทุกข์ด้วยการถือเพศเป็นบรรพชิต  และยังความพอพระทัยในการบรรพชาให้เกิดขึ้น

เสด็จออกบรรพชา

                ขณะที่ทรงบรรพชาพระองค์ได้ปฏิบัติตามคตินิยมของคนสมัยนั้นด้วยการบำเพ็ญทุกรกิริยา  คือการทรมานร่างกายด้วยวิธีการต่างๆเช่น

          ก. ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์  และกดพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้แน่นจนพระเสโทไหลจากพระกัจฉะ  เมื่อทรงเห็นว่าไม่เป็นหนทางที่ถูกจึงเปลี่ยนมาเป็นวาระที่ 2 คือ

          ข. ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ  ครั้งเดินได้ไม่สะดวกทางช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์  ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณทั้งสอง  ทำให้ปวดพระเศียร  เสียดพระอุทร  ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง  แม้กระนั้นก็ยังไม่เป็นผล  จึงทรงเปลี่ยนเป็นวาระที่ 3

          ค. ทรงอดพระกระยาหาร  ผ่อนเสวยแต่วันละน้อยจนไม่เสวย  ทำให้พระวรกายเหี่ยวแห้ง  พระฉวีเศร้าหมอง  พระอัฐิปรากฎทั่วพระวรกาย  เส้นพระโลมามีรากอันเน่าหลุดร่วงออกมา  พระกำลังน้อยถอยลง จะเสด็จไปทางไหนก็ซวนล้ม

บำเพ็ญทุกรกิริยา

    ในขณะที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาในวาระหนึ่งๆนั้น  ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัส  แม้พระกายกระวนกระวายไม่สงบระงับลงเลย  แต่ทุกขเวทนานั้นก็ไม่อาจครอบงำพระหฤทัยให้กระสับกระส่ายได้  ทรงมีสติตั้งมั่นไม่ฟั่นเฟือน  ปรารภความเพียรโดยมิท้อถอยจนเกือบสิ้นพระชนม์

    การบำเพ็ญทุกรกิริยาเช่นนี้คนอินเดียสมัยนั้นเชื่อกันว่าจะสามารถเผาผลาญกิเลสให้เหือดแห้งไป  และเข้าสู่ความหลุดพ้นในที่สุด

ตรัสรู้

    พระองค์ทรงตรัสรู้เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ(ขึ้น15 ค่ำเดือน 6 )หลังจากที่ทรงรับข้าวมธุปายาสจากนางสุชาดาแล้ว  ทรงลอยถาดทองที่บรรจุอาหารนั้นลงไปในลำน้ำเนรัญชราพร้อมตั้งจิตอธิษฐานว่าแม้เลือดเนื้อของพระองค์จะแห้งเหือดไปเหลือแต่หนัง  เอ็นและกระดูกก็ดี  หากยังไม่บรรลุความหลุดพ้นก็จะไม่ลุกจากที่นั่งใต้ต้นอัสสัตถพฤกษ์นั้น  นับว่าพระองค์ทรงมีพระทัยเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวแน่วแน่เกินกว่าคนธรรมดาสามัญ  เพราะหากพระองค์ไม่ตรัสรู้ในวันนั้น  พระพุทธศาสนาก็คงไม่อุบัติขึ้นมาในโลก  เนื่องจากพระองค์สิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน

   ตกกลางคืนพระองค์ได้บำเพ็ญเพียรภาวนาทางจิต  โดยเริ่มเข้ารูปฌาณตั้งแต่ปฐมญาณไปถึงจตุตถฌาน  กามราคาก็ดับไป  จากนั้นทรงออกจากฌาณและใช้ปัญญาพิจารณาจนกระทั่งพบกับความสำเร็จอันเป็นไปตามขั้นตอนคือ

   ยามต้นหรือปฐมยาม  ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสสติญาณ   แปลว่า  ความรู้ที่ทำให้ระลึกชาติหนหลัง  คือระลึกชาติถอยหลังได้ตั้งแต่ชาติที่หนึ่ง  สองชาติจนหลายๆกัปป์ว่าในชาติที่เท่านั้นได้มีชื่อ  มีโตคร  มีผิวพรรณ  มีอาหารเป็นอย่างนั้น  เสวยสุข  เสวยทุกข์เป็นอย่างนั้น  มีอายุเท่านั้น  จุติจากชาตินั้นไปอุบัติในชาติโน้น  เป็นอย่างนั้นๆแล้วจึงมาเกิดในชาตินี้

   ยามกลางหรือมัชฌิมยาม  ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ  คือรู้ในจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย  ได้ทิพยจักขุอันบริสุทธิ์กว่าจักขุสามัญ  เห็นปวงสัตว์ที่กำลังอุบัติ  เลว  ดี  มีผิวพรรณงาม  มีผิวพรรณไม่งาม  ได้ดี        หรือตกยาก  รู้ชัดว่าปวงสัตว์ที่เป็นไปเช่นนั้นตามกรรมของตน

   ยามปลายหรือปัจฉิมยาม  ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ  แปลว่า  ความรู้ที่ทำให้กิเลสหมดสิ้นไป  คือรู้อริยสัจ 4  รู้ชัดตามจริงว่านี้ทุกข์  นี้ทุกขสมุทัย  นี้ทุกขนิโรธ  นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา  เหล่านี้อาสวะ  นี้เหตุเกิดอาสวะ  นี้ความดับอาสวะ  นี้ทางไปหรือทางดับอาสวะ  เมื่อรู้เห็นอย่างนี้  จิตหลุดพ้นจากกามาสวะ  ภวาสวะ  อวิชชาสวะ  รู้ชัดว่าชาตินี้สิ้นแล้ว  พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว  กิจที่ต้องทำเสร็จแล้ว  กิจอื่นอันที่จะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก

   การรู้แจ้งในญาณ 3 คือปุพเพนิวาสานุสสติญาณ  จุตูปปาตญาณ  และอาสวักขยญาณนี้ทำให้พระโคดมได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ทรงบรรลุความหลุดพ้นได้ในที่สุด  หลังจากที่ทรงใช้ความเพียรพยายามมาเป็นเวลา 6  ปี  การตรัสรู้ทำให้พระองค์ได้พบกับความสุขที่แท้จริง  และเป็นความสุขระดับสูงสุด  เรียกว่านิพพานสุข

ปฐมเทศนา

                เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงประทับเสวยวิมุตติสุข(สุขเกิดจากความหลุดพ้น)เป็นเวลา 7 สัปดาห์  ทรงพิจารณาความลุ่มลึกของธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้  ว่ามีความละเอียดลึกซึ้งนัก  ยากแก่ปัญญาของสัตว์ทั้งหลายจะหยั่งรู้ได้  ทำให้ทรงท้อพระทัยที่จะสั่งสอน  ต่อเมื่อทรงพิจารณาว่า        บรรดาสัตว์โลกทั้งหลายย่อมมีปัญญาแตกต่างกัน  บ้างมีปัญญามาก  บ้างมีปัญญาปานกลาง  บ้างมีปัญญาน้อย  และบ้างก็อับปัญญา  เปรียบได้กับบุคคล 4 ประเภท

                1. อุคฆฏิตัญญู  คือผู้รู้เข้าใจได้ฉับพลัน  เพียงท่านยกหัวข้อขึ้นแสดงก็ 

                   สามารถเข้าใจได้  เปรียบได้กับดอกบัวที่ผุดพ้นขึ้นพ้นผิวน้ำ  แล้ว

                   คอยสัมผัสรัศมีพระอาทิตย์  จักบานในวันนี้

                2. วิปจิตัญญู  คือผู้รู้ต่อเมื่อท่านขยายความอธิบายพิสดารออกไป  จึงรู้ 

                   และเข้าใจได้  เปรียบได้กับดอกบัวที่ปิ่มเสมอน้ำ  จักบานในวันรุ่งขึ้น

                3. เนยยะ  คือผู้ที่คอยจะชี้แจงแนะนำให้เข้าใจด้วยวิธีการฝึกอบรมต่อไป

                    เปรียบได้กับดอกบัวที่อยู่ในน้ำ  สามารถที่จะผุดขึ้นพ้นน้ำ  แล้ว

                   บานในวันต่อไป

                4. ปทมรมะ  คือผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง  ผู้อับปัญญา  สอนให้รู้ได้แต่เพียงตัว

                   บท  คือพยัญชนะหรือถ้อยคำไม่อาจเข้าใจอรรถหรือความหมาย

                  เปรียบได้กับดอกบัวที่ติดอยู่กับโคลนตม  รังแต่เป็นอาหารของปลา

                 และเต่า  ไม่อาจผุดขึ้นพ้นน้ำและบานได้

                บุคคล 3 ประเภทต้นจัดอยู่ในพวกเวไนยสัตว์  คือสัตว์ที่สั่งสอนให้รู้ได้  ส่วนประเภทหลังสุดจัดอยู่ในพวกอเวไนยสัตว์  ไม่สามารถสั่งสอนให้รู้ได้  ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกรรมของตน

                วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาโปรดคณะปัญจวัคคีย์นั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนอาสาฬห(เดือน 8 ) จึงได้ชื่อว่าวัน อาสาฬหบูชา  ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  กล่าวคือเป็นวันที่มีพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ครบองค์สาม  เรียกว่ารัตนตรัย  อันเป็นสัญญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา  และถือเป็นสรณะของชาวพุทธ  ซึ่งประกอบด้วยพุทธคุณ 9  ธรรมคุณ 6  และสังฆคุณ 9 ดังนี้

 

พุทธคุณ 9

อิติปิ  โส  ภควา  เพราะเหตุอย่างนี้ๆ  พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

                1. อรหํ  เป็นพระอรหันต์ คือ  ผู้ไกลจากกิเลส  ทำลายกำแห่งสังสารวัฎ

                   ได้แล้ว  เป็นผู้ควรสั่งสอนแนะนำผู้อื่นควรได้รับความเคารพบูชา  เป็นต้น

                2. สมฺมา สมฺพุทโธ               เป็นผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง

                3. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน        เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะคือ ถึง

                   พร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ

                4. สุคโต  เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี คือทรงดำเนินพระพุทธจริยาให้เป็นไปโดย

                   สำเร็จผลด้วยดี พระองค์เองก็ได้ตรัสรู้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ทรง

                   บำเพ็ญพุทธกิจก็สำเร็จประโยชน์ยิ่งใหญ่แก่ชนทั้งหลายที่เสด็จไป

                  และแม้จะปรินิพพานแล้วก็ได้ประดิษฐานพระศาสนาไว้เป็นประโยชน์แก่

                 มหาชนสืบมา

                5. โลกวิทู   เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง คือทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรม

                 แห่งโลกคือสังขารทั้งหลาย ทรงหยั่ง ทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตว์โลก

                 ทั้งปวง  ผู้เป็นไป ตามอำนาจแห่งคติธรรมนั้น  และทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์

                ทั้งหลาย      ผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลกได้

                6. อนุตฺตโร  ปุริสทมฺมสารถิ  เป็นผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่

                มีใครยิ่งกว่า คือทรงเป็นผู้ฝึกคนได้ดีเยี่ยม  ไม่มีผู้ใดเทียบเท่า

                7. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ  เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

               คือเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์

                8. พุทฺโธ  เป็นผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบานด้วยธรรม คือทรงตื่นเองจากความเชื่อ

                ถือ  และข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาผิดๆด้วย  ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจาก

                ความหลงงมงายด้วย  อนึ่งเพราะไม่หลง  ไม่ติด  ไม่ห่วงกังวลในสิ่งใดๆ

                ด้วย    มีการคำนึงประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น  จึงมีพระทัยเบิกบาน การ

               บำเพ็ญพุทธกิจ  ได้ถูกต้องบริบูรณ์เช่นนี้  ย่อมอาศัยเหตุหรือความเป็น

               ผู้ตื่นและย่อมให้เกิดผลคือทำให้ทรงเบิกบานด้วย

                9. ภควา  เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์

ธรรมคุณ 6

 

1. สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม

    พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว  คือตรัสไว้เป็นความจริงแท้  อีกทั้งงามในเบื้องต้น  ท่ามกลาง  งามในที่สุด  พร้อมทั้งอรรถ  พร้อมทั้งพยัญชนะ ประกาศหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์  บริบูรณ์สิ้นเชิง

2.  สฺนทิฏฐิโก

    เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง  คือผู้ใดปฏิบัติ  ผู้ใดบรรลุ  ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ด้วยตนเอง  ไม่ต้องเชื่อตามคำของผู้อื่น  ผู้ใดไม่ปฏิบัติ  ไม่บรรลุ  ผู้อื่นจะบอกก็เห็นไม่ได้

3.  อกาลิโก        

    เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้  ไม่จำกัดกาล  คือไม่ขึ้นกับกาลเวลาพร้อมเมื่อใดบรรลุได้ทันที  บรรลุเมื่อใดเห็นผลได้ทันที  อีกอย่างว่าเป็นจริงอยู่อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น  ไม่จำกัดด้วยกาล

4. เอหิปสฺสิโก                  

    เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด  คือ  ชักชวนให้มาดูมาพิสูจน์  หรือท้าทายต่อการตรวจสอบเพราะเป็นของจริงและดีจริง

5.  โอปนยิโก

   เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว  คือควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ  หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น  หมายความว่าเป็นจริงอยู่อย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น  หมายความว่าเชิญชวนให้ทดลองปฏิบัติดู  อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่นำผู้ปฏิบัติให้เข้าไปถึงที่หมายคือนิพพาน

6. ปจฺจตฺตํ  เวทิตพฺโพ  วิญฺญูหิ

   เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน  คือเป็นวิสัยของผู้รู้จะพึงรู้ได้เป็นของจำเพาะตน  ต้องทำจึงเสวยได้เฉพาะตัว  ทำให้กันไม่ได้  เอาจากกันไม่ได้  และรู้ประจักษ์ที่ในใจของตนนี่เอง คุณของพระธรรมข้อที่ 1    มีความหมายกว้างรวมทั้งปริยัติธรรมคือคำสั่งสอนด้วย คุณของพระธรรมข้อที่ 2-6 มุ่งให้เป็นคุณของโลกุตตรธรรม

 สังฆคุณ 9

 1. สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติดี

2. อุชุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติตรง

3. ญายปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม  เป็นเครื่องออกจากทุกข์

4. สามีจิปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า  เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

5. อาหุเนยฺโย เป็นผู้ควรแก่การสักการะที่เขานำมาบูชา  คือ  ควรรับของที่เขานำมาถวาย

6. ปาหุเนยฺโย  เป็นผู้ควรแก่การต้อนรับ

7. ทกฺขิเณยฺโย เป็นผู้ควรแก่การทักษิณา ควรแก่ของทำบุญ

8. อญฺชลีกรณีโย เป็นผู้ควรแก่การทำอัญชลี

9. อนุตฺตรํ  ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โลกสฺส เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก      เป็นแหล่งปลูกฝังและเผยแพร่ความดีที่ยอดเยี่ยมของโลก ประกาศศาสนา

                เมื่อสาวกมากพอที่จะส่งไปประกาศศาสนา  พระองค์จึงตรัสเรียกสาวกทั้ง 60 รูปมาพร้อมกันตรัสว่า

                “ ภิกษุทั้งหลาย  เราได้พ้นจากบ่วงที่เป็นของทิพย์ของมนุษย์ทั้งหมดแล้ว  แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน  จงเที่ยวไปในชนบทเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนเป็นอันมากแต่ต้องอย่ารวมกัน  ไปโดยทางเดียวกันถึง 2 รูป  จงแสดงธรรมมีคุณในเบื้องต้น  ท่ามกลาง  และที่สุด  พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ  จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง  ประชาชนผู้มีธุลีคือกิเลส  บังจักษุคือ  ปัญญาเพียงเล็กน้อยก็มีอยู่  แต่เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรมจึงต้องเสื่อมจากคุณอันควรได้ควรถึง  ผู้รู้ทั่วถึงจักมีอยู่  แม้เราเองก็จะไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเพื่อแสดงธรรม”

                จากพระดำรัสข้างต้นเท่ากับเป็นการประกาศว่าพระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้นแล้วในโลก 

พุทธอุปัฏฐาก

                ในปลายปีแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น  พระองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาและพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์  พระประยูรญาติต่างพากันเลื่อมใสให้โอรสของตนออกบวชในสำนักของพระพุทธองค์เป็นอันมาก  ในบรรดาโอรสเหล่านี้มีพระอานนท์  โอรสของเจ้าชายสุกโกทนะ  ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าสุทโธทนะรวมอยู่ด้วย  พระอานนท์เป็นผู้ที่สงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพุทธอุปัฏฐาก  คือผู้รับใช้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า  เมื่อพระองค์มีพระชนมายุ 55 พรรษา  คือหลังจากตรัสรู้  20 ปีก่อนที่จะรับหน้าที่นี้พระอานนท์ได้ขอพรจากพระพุทธเจ้า 8 ประการคือ

  1. ขอพระพุทธเจ้าอย่าได้ประทานจีวรอันประณีตที่ได้แล้วแก่ท่าน
  2. ขอพระพุทธเจ้าอย่าได้ประทานบิณฑบาต(คืออาหาร)อันประณีตที่ได้แล้วแก่ท่าน
  3. ขอพระพุทธเจ้าอย่าให้ท่านอยู้ในที่ประทับของพระองค์
  4. ขอพระพุทะเจ้าอย่าได้พาท่านไปในที่นิมนต์
  5. ขอพระพุทธเจ้าเสด็จไปสู่ที่นิมนต์ที่ท่านรับไว้
  6. ขอให้ท่านได้นำบริษัทซึ่งมาเฝ้าพระพุทธเจ้าจากที่ไกลให้เข้าเฝ้าได้ในขณะที่มาแล้ว
  7. หากท่านเกิดความสงสัยขึ้นเมื่อใด  ขอให้ได้เฝ้าทูลถามเมื่อนั้น
  8. หากพระพุทธเจ้าแสดงธรรมอันใดในที่ลับหลังท่าน  เมื่อเสด็จมาแล้วขอให้แสดงธรรมนั้นแก่ท่าน

พุทธกิจ

                สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ทรงพระกรุณาอย่างหาที่เปรียบมิได้  ทรงสั่งสอนหมู่ชนทุกชั้นวรรณะโดยไม่จำกัดเพศ  ฐานะ  และชาติตระกูล  เมื่อทรงพิจารณาว่าบุคคลเหล่าใดมีจิตควรแก่การรับธรรมะระดับใด  ก็ทรงสั่งสอนธรรมระดับนั้นแก่บุคคลเหล่านั้น  ตลอด 45 พรรษานับแต่ตรัสรู้  จวบจนกระทั่งเสด็จดับขันธปรินิพพาน  ทรงปฏิบัติพุทธกิจโดยกำหนดเป็นเวลาและหน้าที่ประจำวัน  ซึ่งแบ่งเป็น  5  เวลา ดังนี้

1. ปุพฺพณฺเห  ปิณฺฑปาตญฺจ

เวลาเช้าเสด็จออกรับบิณฑบาต (โปรดสัตว์)โดยพระบาทเปล่าตามลำดับแห่งตรอก  ระหว่างเสด็จ หากจะทรงช่วยเหลือผู้ใดให้ได้รับความสุขทางธรรมได้  ก็ทรงช่วยเหลือมิได้เว้น  เสด็จกลับมาเสวยพระกระยาหารก่อนเวลาเที่ยงวัน  เสด็จออกรับผู้เข้าฟังธรรม  ผู้ใดมีจริตควรแก่ธรรมชั้นใด  ทรงประทานธรรมตามควรแก่จริตนั้นด้วย  การยังบุคคลทั้งหลายให้มีพระรัตนตรัย  เป็นที่พึ่งที่ระลึก

2.  สายณฺเห  ธมฺมเทสนํ

    เวลาเย็นทรงแสดงธรรม ก่อนถึงเวลาแสดงธรรมทรงพักผ่อนพระอิริยาบถหาเวลาสงบสงัด แห่งพระทัยอยู่โดยลำพังในพระคันธกุฎี  พอควรแก่อัธยาศัยแล้ว  เสด็จออกทรงแสดงธรรมแก่มหาชนที่มาเฝ้าเป็นประจำทุกวัน

3. ปโทเส  ภิกฺขุโอวาทํ

   เวลาค่ำประทานโอวาทแก่เหล่าภิกษุผู้มาเฝ้า  จากถิ่นไกลบ้าง  ใกล้บ้าง

4. อฑฺฒรตฺเต  เทวปญฺหนํ

   เที่ยงคืนทรงตอบปัญหา  เทวดาทรงแสดงธรรมแก้ปัญหาซึ่งเหล่าเทวดาและเหล่าทิพยบุคคลผู้อัน บุคคลธรรมดา  ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า  ตามตำนานพุทธจริยาอธิบายว่า  ทรงโปรดให้ผู้เป็นเทวดาเข้าเฝ้าได้ในเวลาดังกล่าว      

5. ปจฺจุสฺเสว คเต  กาเล  ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ 

    จวนสว่าง  ทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถและยังไม่สามารถบรรลุธรรม  อันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่

                พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติพุทธกิจประจำวันอยู่จนตลอดพระชนมาชีพ  ด้วยอาการดังนี้จะได้เวลาประทับเพื่อพักผ่อนพระอิริยาบถนั้นน้อยนัก  ทรงสั่งสอนสรรพสัตว์โดยทั่วหน้าด้วยพระเมตตา  ทรงยังพระชนมาชีพอยู่ด้วยอาหารอันมีผู้ศรัทธานำมาถวายสมตามภิกขุภาวะผู้ละความสุขแบบฆราวาสแล้ว  ทรงมีพระชนมาชีพเป็นอยู่อย่างนี้  เสด็จจากคามหนึ่งไปสู่คามหนึ่งมิได้หยุดอยู่กับที่เว้นแต่กาลเข้าพรรษา  ทรงปฏิบัติเช่นนี้ตลอดพระชนมาชีพจวบจนพระชนมายุครบ 80 พรรษาจึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

 

ที่มา : 1.  ศาสนาเปรียบเทียบ  รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา  อ่อนค้อม

          2.  ศาสนาเบื้องต้น  ศาสตราจารย์กีรติ  บุญเจือ

          3.  สิบเอ็ดศาสนาของโลก  พล.อ.ต.ประทีป  สาวาโย

          4.  จริยศาสตร์  วศิน  อินทสระ

 

แบบทดสอบหลังเรียนเรื่อง พระพุทธศาสนา

คำชี้แจง  ให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้ลงในสมุดราย วิชาศาสนศึกษา   รหัสวิชา ส 31101

1.  จากการที่นักเรียนได้ศึกษาเรื่ององค์ประกอบของพระพุทธศาสนามาแล้ว  ขอให้นักเรียนตอบคำถามต่อไปนี้

                หัวใจของพระพุทธศาสนาได้สอนให้พุทธศาสนิกชน ทำความดี  ละเว้นความชั่ว  และทำจิตใจให้ผ่องใส  ขอให้นักเรียนบอกถึงการแสดงออกที่บ่งบอกถึงหลักธรรมนั้นๆ

ทำความดี

ละเว้นความชั่ว

ทำจิตใจให้ผ่องใส

1

1

1

2

2

2

3

3

3

4

4

4

5

5

5

 

 2.  ให้นักเรียนบอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันจากประสบการณ์ที่ผ่านมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในเรื่องของ “ทุกข์” และ “สุข”

สุข

ทุกข์

1

1

2

2

3

3

4

4

5

5

3.  ในฐานะที่นักเรียนได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์  ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนที่รวมคนเก่งจากทั่วสารทิศมาไว้ที่เดียวกัน  นักเรียนก็เป็นคนหนึ่งที่จัดว่าเป็นคนเก่ง  อยากทราบว่า

มีวิธีการจัดการกับการดำเนินชีวิตอย่างไร

……………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………

………………………………………………………………………

ขอขอบคุณ อ.จริยา พรจำเริญ อาจารย์จากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม ซึ่งได้ให้เอกสารมาเพื่อเผยแพร่ให้นักเรียนที่เรียนในรายวิชา ศาสนศึกษา ส 31101 ของกล่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยทั้ง 12 แห่งให้ไว้เพื่อนักเรียนได้ศึกษา

หมายเลขบันทึก: 365420เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2010 08:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท