กฎหมายอุ้มบุญกับการทำประกันชีวิต


กฎหมายอุ้มบุญกับการทำประกันชีวิต

 

ครม.คลอดกฎหมายอุ้มบุญ ตั้งเงื่อนไขทำได้ในคู่ผัวเมียที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น  

 

มื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่าน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ. ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ..... หรือ "กฎหมายอุ้มบุญ" ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอมา หลังจากนี้ให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายคือ

1.กำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัว มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความเป็นบิดามารดาของผู้ที่เกิดโดยอาศัยการอุ้มบุญ และกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว หรือศาลยุติธรรมอื่น

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีนายกแพทยสภาเป็นรองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งมี 6 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีก 5 คน

3. กำหนดให้การผสมเทียมต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น และต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการใช้อสุจิจากผู้บริจาค

4. กำหนดวิธีการดำเนินการตั้งครรภ์แทนไว้ 2 กรณีคือ

 

1. การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน

 

2. การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิหรือไข่ของสามี หรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน กับอสุจิหรือไข่ของผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าต่อไปหญิงที่รับอุ้มบุญไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองผสมกับอสุจิของพ่อโดยกฎหมายได้ เพื่อป้องกันความรู้สึกผูกพัน
 
5. กำหนดความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไว้เป็นการเฉพาะ และให้ผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ปกครองได้ กรณีที่สามีและภริยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด

6. ห้ามใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่หรือตัวอ่อนที่ฝากไว้ในกรณีที่เจ้าของอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนดังกล่าวตายลง ยกเว้นเจ้าของให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ก่อนตาย และต้องใช้อสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน เพื่อบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยากของสามีหรือภริยาที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น

ต้องออกตัวไว้ก่อนว่าผมไม่ได้เรียนทางด้านกฏหมายมา จึงอาจไม่สามารถตีความเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาระของกฏหมายได้ดีเท่าผู้ที่จบกฏหมายและคุ้นเคยกับการตีความด้านกฏหมายมาโดยตรง แต่เมื่อพิจารณาจากสาระของกฏหมายแล้วโดยความเห็นส่วนตัวคิดว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อสังคมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียในวงกว้าง ในฐานะของคนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันชีวิต ก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ร่างกฏหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบอะไรบ้างต่อการทำประกันชีวิตหลักของการทำประกันชีวิตนั้นมีอยู่ว่าผู้เอาประกันจะต้องมีส่วนได้เสียในการเอาประกันชีวิต ดังนั้นแม้ไม่ใช่ชีวิตของเราเอง แต่หากเรามีส่วนได้เสียต่อผู้อื่น ตามที่กฏหมายได้กำหนดและยอมรับให้เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สามารถเอาประกันชีวิตได้ ซึ่งได้แก่

 1.ชีวิตตนเอง

 2.คู่สมรสของตนเอง

 3.บิดา มารดาและบุตร (รวมทั้งกรณีบิดามารดาและบุตรบุญธรรมที่ถูกต้องตามกฏหมาย)

 4.ญาติ ได้แก่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่น้อง (อาจรวมถึงลุง ป้า น้า อา หลาน หากพิสูจน์ถึงการมีส่วนได้เสียได้)

 5.คู่หมั้น

 6.หุ้นส่วนธุรกิจ บุคคลที่มีความสำคัญต่อธุรกิจ นายจ้างกับลูกจ้าง

 7.ผู้อุปการะและผู้ที่อยู่ในการอุปการะ

 8.เจ้าหนี้ (ลูกหนี้ไม่สามารถเอาประกันชีวิตเจ้าหนี้ได้เพราะไม่มีส่วนได้เสีย)

 บุคคลตามตัวอย่างที่ยกมานั้นถือว่ามีส่วนได้เสียที่สามารถเอาประกันชีวิตซึ่งกันและกันได้ แต่ในกรณีการอุ้มบุญตามร่างกฏหมายดังกล่าวน่าคิดว่า หญิงที่รับเป็นผู้อุ้มบุญให้นั้น มีส่วนได้เสียต่อชีวิตของเด็กที่เกิดมาหรือไม่

 กรณีการอุ้มบุญนั้นที่ผ่านมาใช่ว่าจะไม่เคยเกิดเลยในสังคมบ้านเรา เพราะเชื่อว่ามีคู่สมรสหลายคู่ที่มีปัญหาการมีบุตรยากได้ขอให้ผู้อื่นอุ้มบุญให้โดยอาจใช้ไข่ของหญิงอุ้มบุญหรือภรรยาตนเองกับอสุจิของสามีหรือผู้อื่น แม้ที่ผ่านมาจะยังไม่มีกฏหมายรองรับก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น กรณีดาราสาว ธัญญาเรศ รามณรงค์ ที่ขอให้พี่สาวเป็นฝ่ายอุ้มบุญให้ เนื่องจากมดลูกของตนเองไม่แข็งแรง ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ โดยใช้ไข่ของเธอเองผสมกับเชื้ออสุจิของสามีคือสัญชัย เองตระกูล  จนได้ลูกสาวชื่อน้องลียามาหนึ่งคน โดยธัญญาเรศกล่าวถึงเรื่องความผูกพันระหว่างหญิงที่อุ้มบุญให้กับเด็ก ว่า เธอไม่กังวลเรื่องนี้เนื่องจากพี่สาวเธอที่อุ้มบุญให้ก็มีลูกแล้วถึงสามคน อีกทั้งคนที่เลี้ยงดูเด็กหลังคลอดคือเธอและสามี หญิงอุ้มบุญไม่ได้ให้นมและไม่ได้เลี้ยงดู ความรู้สึกของความผูกพันของคนเป็นแม่คงจะไม่มี 

 สาระของกฏหมายระบุว่าห้ามใช้ไข่ของผู้หญิงที่อุ้มบุญเองผสมกับอสุจิ เพื่อป้องกันความผูกพัน แต่การที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะอุ้มท้องและคอยประคบประหงมทารกที่อยู่ในครรภ์นานถึงกว่า 9 เดือนนั้นย่อมต้องมีความผูกพันเกิดขึ้นเป็นธรรมดาอีกทั้งถึงแม้ท้ายที่สุดกฏหมายจะระบุให้ บิดามารดาที่ชอบตามกฏหมายคือใคร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่หญิงที่อุ้มบุญให้ แต่ก็น่าคิดว่าแม้หญิงอุ้มบุญจะไม่ได้เป็นมารดาตามกฏหมาย รวมทั้งไม่มีโอกาสในการเลี้ยงดูหลังเด็กคลอดออกมาเพราะหน้าที่เลี้ยงดูหลังเด็กคลอดออกมาก็คงเป็นของบิดามารดาที่ร้องขอให้อุ้มบุญ (ซึ่งคือบิดามารดาที่ชอบด้วยกฏหมาย) ทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กที่เกิดมาให้เจริญเติบโตต่อไป แต่จะถือได้ว่าหญิงที่อุ้มบุญจะมีส่วนได้เสียกับเด็กที่เกิดมาหรือไม่ เพราะหากมองว่ามีส่วนได้เสีย นั่นหมายความว่า หญิงอุ้มบุญก็สามารถเอาประกันชีวิตเด็กที่เกิดมาได้เช่นกัน ในทำนองเดียวกันหากมองได้ว่าเด็กที่เกิดมามีส่วนได้เสียต่อชีวิตหญิงที่อุ้มบุญ ก็หมายความว่าเด็กก็สามารถเอาประกันชีวิตหญิงที่อุ้มบุญตนเองมาได้เช่นกัน ประเด็นเรื่องการมีส่วนได้เสียในการทำประกันชีวิตยังต้องมาพิจารณากันต่อว่า และพ่อแม่ของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฏหมายซึ่งก็คือปู่ย่าตายายของเด็กจะมีส่วนได้เสียกับเด็กและสามารถเอาประกันชีวิตเด็กได้หรือไม่ นอกจากนี้หากต่อมาในภายหลังบิดามารดาของเด็กเสียชีวิตลงก่อนเด็กคลอดใครจะมีสิทธิ์ในการดูแลเด็ก หรือหากสุดท้าย ญาติทุกคนของเด็กเสียชีวิตลงในภายหลังหญิงอุ้มบุญจะสามารถร้องขอเป็นผู้อุปการะเด็กหรือรับเด็กมาเป็นบุตรบุญธรรมได้หรือไม่ อีกประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ เนื่องจากเด็กที่เกิดมาเกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจน และยังไม่มีหลักฐานที่เพียงพอที่จะบอกได้ว่าเด็กที่เกิดจากวิธีดังกล่าวจะมีความแตกต่างจากเด็กที่เกิดโดยธรรมชาติหรือไม่ ทั้งในเรื่องของความแข็งแรง สุขภาพ การเจริญเติบโต รวมถึงอัตราการเสียชีวิต ซึ่งประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ประกันชีวิต ที่จะมีผลต่อการพิจารณารับประกันในเด็กลุ่มนี้เช่นกัน จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าการพิจารณารับประกันเด็กที่เกิดมาโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ จะแตกต่างจากการพิจารณารับประกันเด็กที่เกิดโดยทั่วไปหรือไม่อย่างไร  ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่เป็นผลประทบต่อการทำประกันชีวิต หากร่างกฏหมายนี้มีการประกาศใช้  ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการรองรับเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

หมายเลขบันทึก: 364889เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2010 11:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท