BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ฟื้นฟู “บ่อยาง” เสริมสร้างตำนานชื่อเมืองสงขลา โครงการ ๒


ฟื้นฟู “บ่อยาง” เสริมสร้างตำนานชื่อเมืองสงขลา โครงการ ๒

ปี ๒๕๕๒ วัดยางทองได้ร่วมกับสโมสรโรตารีสงขลาและชุมชนเมืองเก่าสงขลา เริ่มต้นฟื้นฟู “บ่อยาง” ขึ้นมาอีกครั้ง โดยการขุดบ่อลูกใหม่ที่วัดยางทองซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของบ่อยางเดิมพร้อมทั้งได้ปลูกต้นยางซึ่งเป็นสัญลักษณ์คู่กับบ่อตามตำนาน และเริ่มบูรณะวัดยางทองขึ้นอีกครั้งโดยการปฎิสังขรณ์กำแพงวัดและจัดภูมิทรรศน์บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถเพื่อจะได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและทัศนศึกษาเชิงอนุรักษ์ในอนาคต ซึ่งโครงการนี้ก็ได้สำเร็จเรียบร้อยดังที่ปรากฏอยู่

เพื่อให้การฟื้นฟูบ่อยางสัญลักษณ์เมืองสงขลาพัฒนาต่อไป ดังนั้น วัดยางทอง สโมสรโรตารีสงขลา และชุมชนเมืองเก่าสงขลา จึงได้ดำเนินโครงการสองสืบต่อไป โดยจะจัดสร้างวิหารเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดยางทอง ซึ่งวิหารที่จะจัดสร้างนั้น มีขนาด ๘*๑๕ เมตร มีรูปทรงสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีนโดยเลียนแบบอาคารเก่าของเมืองสงขลา เพื่อจะได้เป็นที่สักการบูชาคู่กับพระประธานในโบสถ์หรือ “หลวงพ่อบ่อยาง”

พระประธานในโบสถ์ของวัดยางทอง เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๑.๕๐ เมตร สันนิษฐานว่าสร้างพร้อมกับโบสถ์หลังเก่า มีอายุสองร้อยกว่าปี ซึ่งปัจจุบันโบสถ์หลังเก่าได้ถูกรื้อไปแล้ว คงอยู่แต่พระประธานที่ได้อัญเชิญมาไว้ในโบสถ์หลังใหม่ อนึ่ง เนื่องจากธรรมเนียมเดิมปักษ์ใต้นั้น ไม่นิยมตั้งชื่อพระพุทธรูป ดังนั้น ในการประชุมเพื่อฟื้นฟูบ่อยางครั้งแรกนั้น คณะกรรมการจึงได้ตั้งชื่อพระประธานในโบสถ์ว่า “หลวงพ่อบ่อยาง” จัดว่าเป็นมงคลนามตามสถานที่ตั้ง

เพื่อให้การฟื้นฟูบ่อยางโครงการสองสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น วัดยางทองและกรรมการหลายฝ่ายจึงจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อบ่อยางและพระพิฆเนศปางทรงอักษรขึ้นมา จะได้เป็นกองทุนสนับสนุนการสร้างวิหารต่อไป

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อบ่อยางนั้น ฟังว่าตอนสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกสงขลา โดยใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดปูพรมทั้งเมือง แต่บริเวณวัดยางทองและโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบ่อยางแคล้วคลาดปลอดภัยจากระเบิด ทำให้เล่าลือกันในครั้งนั้นว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก และความแคล้วคลาดปลอดภัยในครั้งนั้น นอกจากบารมีของหลวงพ่อบ่อยางแล้ว มีผู้ขยายความว่า เพราะอุโบสถหลังเก่ามีประตูหน้าเพียงประตูเดียวส่วนประตูหลังไม่มี เรียกกันว่าโบสถ์มหาอุด ซึ่งเชื่อกันว่าขลังยิ่งนักและมีดีทางทางด้านอยู่ยงคงกระพันแคล้วคลาดปลอดภัย

สำหรับพระพิฆเนศ แม้กำเนิดจะเป็นเทพเจ้าของศาสนาฮินดู แต่ประชาชนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไทย ยกย่องให้เป็นเทพบิดรแห่งศิลปะ จึงเป็นที่นับถือของศิลปินทุกแขนง ซึ่งพระพิฆเนศนี้จะมีรูปทรงหรือปางต่างๆ ตามแต่ศิลปินแขนงนั้นๆ จะจินตนาการได้ ส่วนวัดยางทองได้จัดสร้าง “ปางทรงอักษร” โดยมุ่งหมายว่าการงานหรือศิลปะทุกแขนงเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้เป็นเบื้องต้น และเมื่อเรียนรู้แล้วนำไปฝึกหัดปฏิบัติก็จะเกิดความสำเร็จทุกอย่าง

อนึ่ง มวลสารของหลวงพ่อบ่อยางและพระพิฆเนศปางทรงอักษรนั้น จะใช้ส่วนประกอบของไม้ใหญ่ทุกชนิดภายในวัดยางทอง เช่น เปลือกไม้มะขามหน้าศาลาการเปรียญอายุหลายร้อยปี เปลือกไม้จันทน์ในวัดซึ่งกำลังรอการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ดอกของต้นลีลาวดีซึ่งสูงสิบกว่าเมตร เนื้อผลสาเกซึ่งอยู่คู่กับวัดยางทอง เป็นต้น

นอกจากไม้ใหญ่ประจำวัดแล้ว มวลสารอื่นในวัดก็มีผูกเทศน์ใบลานเก่า หนังสือบุดดำบุดขาวโบราณ ผงอิฐจากพระอุโบสถหลังเก่า และไม้มงคล ๙ อย่างที่ใช้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถหลังใหม่ ได้แก่ ชัยพฤกษ์  ราชพฤกษ์ สักทอง ศรีสุข กันเกรา ทรงบาดาล ขนุน พยุง และทองหลาง เป็นต้น รวมทั้งมวลสารอื่นๆ ตามตำราการสร้างพระทั่วไป

การจัดสร้างพระเครื่องหลวงพ่อบ่อยางและพระพิฆเนศปางทรงอักษรในครั้งนี้ จะเริ่มงานกดพิมพ์นำฤกษ์ในวันที่ ๑๙ -๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๓ ต่อจากสร้างจนครบอย่างละ ๑๐,๐๐๐ องค์ โดยพระเครื่องทุกองค์จะกดพิมพ์ภายในพระอุโบสถหลังใหม่ แล้วจะกำหนดฤกษ์เพื่อทำพิธีพุทธาภิเศกและเทวาภิเศกในปี ๒๕๕๔ ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 363685เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้า

ตำนานเมืองสงขลา เรื่องเล่าต่างๆ ฟังมาแล้วอยากให้มีการเล่าต่อสบทอด โดยเฉพาะ หนู กับแมว และลูกแก้ววิเศษ บางตำนานบอกว่าเกี่ยวข้องกับ บังหวัง ขี้แตก เป็นอีกตำนานหนึ่ง (ฟังมาจาก อาจารย์ สดใส มรภ สงขลาครับ)

ระลึกถึงครับ

 

 

 ลับคล้ายคลับคลาว่าเคยฟังมาบ้างเหมือนกัน แต่จับต้นชนปลายไม่ถูก มีโอกาสจะลองถามให้นักเล่านิทานทบทวนให้ฟัง แล้วค่อยนำมาเล่าไว้ที่นี้ (ก็แล้วกัน...) 

เจริญพร

  • นมัสการพระอาจารย์ครับ
  • งานย้อนรอยเมืองเก่าสงขลา หากไม่มีเรื่องวัดยางทอง ก็คงไม่ครบถ้วนนะครับ
  • กราบ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท