ชื่อเรื่อง: ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุโรงพยาบาลมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท


ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ

ชื่อเรื่อง:  ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุโรงพยาบาลมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท       

              การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอัตราและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่มารับบริการที่คลินิกโรคเบาหวาน หน่วยงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมโนรมย์  โดยใช้วิธีการสุ่มตัวแบบง่าย  จำนวน  83  คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย  ได้แก่  แบบสัมภาษณ์  ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล  7 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป  ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน  พฤติกรรมการรับประทานอาหาร  การรับประทานยา  การออกกำลังกาย  ความสม่ำเสมอในการตรวจตามนัด  และการสนับสนุนทางครอบครัว  ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ    และทดสอบความเชื่อมั่น อัลฟาครอนบาค  ได้ค่าความเชื่อมั่นของความรู้  0.795 ด้านพฤติกรรม  0.620 ด้านการสนับสนุนทางครอบครัว  0.885  เก็บรวบรวมข้อมูลโดยสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่  5  มกราคม  2552 - 28  กุมภาพันธ์  2552 แล้วนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาได้แก่  ร้อยละ ค่าเฉลี่ย  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ สถิติวิเคราะห์ได้แก่ Chi  -  square  test 

             ผลการวิจัย พบว่าผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุเพศหญิงมากสุดร้อยละ  71.1  ส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องโรคเบาหวาน อยู่ในระดับปานกลางและสูง  ร้อยละ  37.3 และร้อยละ36.1 ตามลำดับ ความรู้อยู่ในระดับสูง ได้แก่ เรื่องการนำยา  ลูกอม หรือน้ำตาลก้อนติดตัวไปเมื่อเดินทางไกล  การออกกำลังกายนาน  30  นาที  อย่างสม่ำเสมอทุกวันช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้  ความเครียดมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และความรู้อยู่ในระดับต่ำ  ได้แก่ เรื่องสาเหตุ  ความหมายของโรคเบาหวาน  อาการของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ  สาเหตุของการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ส่วนเรื่องการควบคมระดับน้ำตาลผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุสามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ร้อยละ 65.1 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.01 ได้แก่พฤติกรรมการออกกำลังกาย แต่พบว่าปัจจัยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการควบควบคุมระดับน้ำตาลได้แก่ เพศ อายุ อาชีพ การศึกษา ระยะเวลาป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน พฤติกรรมการควบคุมอาหาร การรับประทานยา   ความสม่ำเสมอในการมาตรวจตามนัด การสนับสนุนทางครอบครัว นอกจากนั้นยังพบว่าการสนับสนุนทางครอบครัวในเรื่อง การดูแลเกี่ยวกับการรับประทานยา  และการออกกำลังกายอยู่ในระดับน้อย

           จากปัจจัยที่พบ สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพระบบการบริการดูแลผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ ดังนั้นบุคลากรที่รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยเบาหวาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องควรคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าว และพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโดยการสนับสนุนให้ผู้ป่วยที่มีความรู้ในระดับสูง ยังคงมีความรู้และความสามารถในการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง และเน้นการให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวานแก่ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่อยู่ในระดับต่ำอย่างครอบคลุม พร้อมส่งเสริมพฤติกรรมการออกกำลังกายและสนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ  ให้กำลังใจ รวมทั้งเป็นแหล่งพึ่งพากับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม  ดำรงไว้ซึ่งพฤติกรรมสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 พยง  พุ่มสุข

หัวหน้าหน่วยงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมโนรมย์

หมายเลขบันทึก: 363447เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2010 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผลจาการศึกษาวิจัยได้ถูกนำมาใช้พัฒนาทักษะการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวานในคลินิกเบาหวานเดือนละ 1 ครั้ง

นานๆ โผล่มาที แต่แหร่ม/By Jan

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท