นโยบาย Medical Hub กับการประกันสุขภาพ (Medical Hub Policy and Health Insurance)


Medical Hubจะมีผลต่อธุรกิจประกันอย่างไรบ้าง

 

การวางนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติหรือ Medical Hub ให้ได้ภายในปี 2553-2557 นับเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยยกระดับให้การแพทย์ของประเทศไทยให้พัฒนาขึ้น เพราะการที่ประเทศไทยจะเป็น Medical Hub ได้จะต้องสร้างมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาลและพัฒนาความก้าวหน้าทางการแพทย์ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศด้วย ซึ่งในเรื่องมาตรฐานการรักษาพยาบาลนั้นการแพทย์ไทยนับว่าไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นๆเลย ที่สำคัญข้อได้เปรียบของการให้บริการทางการแพทย์ในบ้านเราที่จะช่วยผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub ได้นั่นคือความมีน้ำใจและการมีใจรักการให้บริการของคนไทยนั่นเอง นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเมื่อเทียบกับมาตรฐานทางการให้บริการของไทยยังถูกกว่าประเทศอื่นๆอีกด้วย ดูเหมือนว่าโรงพยาบาลเอกชนจะตื่นตัวเกี่ยวกับนโยบายเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เห็นได้จากโรงพยาบาลเอกชนใหญ่ๆต่างพัฒนาองค์กรของตนเองให้มีมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาลที่น่าเชื่อถือ ทั้งการนำเอาอุปกรณ์สำหรับการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัยทัดเทียมประเทศที่พัฒนาแล้วรวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาอีกด้วย นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมของบุคคลากรในโรงพยาบาลในเรื่องของภาษาที่จำเป็นในการสื่อสารเพราะนอกจากคนไทยแล้ว ชาวต่างชาติจากหลากหลายประเทศทั้งแถบตะวันออกกลาง อเมริกา ยุโรปหรือแม้แต่ในเอเชียด้วยกันเองยังเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลในเมืองไทย บางที่จึงมีล่ามแต่ละภาษาประจำโรงพยาบาลด้วย และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต้องพูดได้อย่างน้อยสองภาษา หากมีความสามารถด้านภาษาที่สามก็ยิ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการของโรงพยาบาลเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งยังมีการดึงเอาแพทย์หรืออาจารย์แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคเฉพาะทางต่างๆมาให้การรักษาที่โรงพยาบาลของตน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและการไว้วางใจของคนไข้นั่นเอง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงย่อมได้รับค่าตอบแทนที่สูงกว่าหมอทั่วไป รวมทั้งการนำอุปกรณ์การรักษาและตัวยาที่มีประสิทธิภาพดีๆมาใช้ในการรักษาของโรงพยาบาลก็ย่อมทำให้ต้นทุนของโรงพยาบาลสูงขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อต้นทุนการให้บริการในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น คนที่เข้ามารับบริการก็ย่อมต้องได้รับผลกระทบจากค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายแพงขึ้นด้วยเช่นกันเพื่อแลกกับการได้รับบริการที่ดีกว่า คนไข้ที่พอมีกำลังทรัพย์จึงมักพึ่งพาการใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนมากกว่าเพื่อแลกกับความสะดวกสบายไม่ต้องไปรอต่อคิวที่โรงพยาบาลของรัฐ และยังได้รับการรักษาอย่างดีจากบุคลากรการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญอีกด้วย นอกจากนี้คนไข้ยังเชื่อมั่นของความแม่นยำในอุกรณ์การรักษาที่ทันสมัยที่โรงพยาบาลนำมาให้บริการด้วย แม้โรงพยาบาลรัฐบางแห่งจะมีหมอที่เชี่ยวชาญและมีอุปกรณ์ในการตรวจวินิจฉัยที่ทันสมัยเช่นกัน แต่ก็จำกัดเฉพาะโรงพยาบาลใหญ่ๆ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเฉพาะด้านหรือโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์เท่านั้น ซึ่งการไปรักษาที่โรงพยาบาลเหล่านี้ต้องเสียเวลาในการรอคอยนานและไม่ค่อยสะดวกสบาย บางคนที่ไม่อยากรอและต้องการความสะดวกสบายจึงนิยมไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชนแทน คนไข้เหล่านี้บางส่วนได้ทำประกันสุขภาพไว้กับบริษัทประกัน เพราะเป็นการลดภาระด้านการรักษาพยาบาลและลดความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาซึ่งไม่สามารถประมาณได้ว่าจะต้องจ่ายเมื่อไหร เท่าไร เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าตัวเองจะป่วยเมื่อไหร่และหนักแค่ไหน การทำประกันสุขภาพไว้จึงช่วยลดภาระและความกังวลส่วนนี้ลงได้เพราะเมื่อจ่ายเบี้ยประกันด้วยจำนวนเงินที่แน่นอนจำนวนหนึ่งให้บริษัทตามความคุ้มครองที่ซื้อแล้ว เวลาเจ็บป่วยบริษัทประกันก็จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายแทนตามวงเงินเอาประกันที่ซื้อความคุ้มครองไว้นั่นเอง ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนเริ่มตระหนักในเรื่องของสุขภาพและค่าใช้จ่ายมากขึ้น บริษัทรับประกันจึงได้รับอานิสงค์จากการสนใจในการดูแลสุขภาพของประชาชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 พบว่ามีการทำประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นสูงมาก ในทางตรงกันข้ามบริษัทประกันก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มของโรงพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการคำนวณเบี้ยประกันต่อความคุ้มครองของบริษัทประกันหากไม่ได้คำนึงถึงแนวโน้มของการเกิดโรคใหม่ๆและการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลกระทบต่อค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ก็อาจทำให้บริษัทรับประกันอาจมีอัตราการจ่ายสินไหมทดแทน (Loss Ratio) ที่ไม่สัมพันธ์กับเบี้ยประกันที่คำนวณไว้ในตอนแรก เพราะการคำนวณเบี้ยประกันในอดีต นำเอาค่าใช้จ่ายที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตเป็นฐานในการคำนวณเบี้ย แต่ในอดีตเครื่องมือต่างๆในการรักษาไม่ได้ทันสมัย ต้นทุนจึงไม่แพง ค่ารักษาโรคเมื่อก่อนจึงถูกกว่า ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 5 ปีก่อน ลูกค้าคนหนึ่งซื้อประกันค่ารักษาพยาบาลไว้โดยมีความคุ้มครองสูงสุด 50,000 บาทต่อการรักพยาบาลหนึ่งครั้ง หากลูกค้าต้องรับการผ่าตัดรักษาโรคก้อนเนื้อที่เต้านม ซึ่งตอนนั้นอาจมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 2-3 หมื่นบาทต่อคนต่อครั้งและคนไข้ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 4-5 วันซึ่งเท่ากับว่าบริษัทประกันก็จ่ายแทนลูกค้าไปเพียงแค่ 2-3 หมื่นบาทตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง นั่นคือค่าใช้จ่ายเมื่อ 5 ปีก่อน แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการวินิจฉัยที่ทันสมัย และการรักษาที่ก้าวหน้าทำให้คนไข้ที่รับการผ่าตัดก้อนเนื้อที่เต้านมในปัจจุบันอาจพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้น แต่ค่าใช้จ่ายในการักษาในปัจจุบันอาจตกที่ประมาณ 5-6 หมื่นบาทต่อคนเลยทีเดียว เท่ากับว่าบริษัทประกันต้องจ่ายแทนคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคเดียวกันในปัจจุบันเต็มความคุ้มครอง 50,000 บาทเลยทีเดียว จำนวนค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการรวมเอาต้นทุนค่าบริการ ค่าอุปกรณ์วนิจฉัยและการรักษาที่ทันสมัยที่โรงพยาบาลนำมาใช้ในการรักษาในช่วงหลังนั่นเอง แม้เป็นการรักษาโรคเดียวกันแต่ค่าใช้จ่ายกลับสูงขึ้นมากซึ่งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นย่อมเป็นส่วนที่ทำให้อัตราการจ่ายสินไหมสูงขึ้นด้วย ในปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนมักมีการปรับอัตราค่าห้องและค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นปีละ 10 – 15 % ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการจ่ายสินไหมทดแทนที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 5-15 % ดังนั้นลูกค้าที่เคยซื้อความคุ้มครองการรักษาไว้เมื่อ 5-6 ปีก่อนอาจเพียงพอสำหรับค่ารักษาในอดีตแต่ไม่เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบัน ก็อาจจำเป็นต้องซื้อความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน เช่นเดียวกับบริษัทประกันเองก็ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ให้ความคุ้มครองสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการแพทย์รวมถึงต้องคำนวณเบี้ยประกันโดยคำนึงถึงแนวโน้มของโรคที่เกิดขึ้นใหม่ๆและค่าใช้จ่ายตามแนวโน้มของการเกิดเทคโนโลยีการรักษาใหม่ๆด้วยเช่นกัน การแข่งขันกันพัฒนาคุณภาพในการให้บริการและการรักษาของโรงพยาบาลเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเป็น Medical Hub ของไทยจึงนับเป็นโอกาสสำหรับบริษัทประกันที่มีความพร้อมและสามารถปรับตัวทันตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถออกแบบประกันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่กำลังตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพในปัจจุบันและอนาคตด้วย

หมายเลขบันทึก: 363258เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2010 19:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท