เพลงพื้นบ้าน


ค่าว จ้อย ซอ ประกอบการค้นคว้า

คติชาวบ้าน 

ความหมายของคติชาวบ้าน 

                คำว่าคติชาวบ้าน มาจากคำว่า คติ (แปลว่า แนวทาง หรือทาง) + ชาวบ้าน (หมายถึงบุคคลพื้นบ้า

นทั่วไป  ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ)  เป็นคำที่ตั้งขึ้นเพื่อเทียบกับคำว่า Folklore ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิต  แนวทางหรือสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติกันในกลุ่มชนทั่วไป  มิได้จำกัดแวดวงอยู่แต่วิถีชีวิตหรือความเป็นอยู่ของชาวบ้านแต่อย่างเดียว ถ้าหากแปลความหมายไปตามอักษร  จะทำให้เข้าใจไขว้เขวว่า  คติชาวบ้านเป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวบ้านเท่านั้น

                ลักษณะของคติชาวบ้าน  เป็นเรื่องที่เล่าลืบต่อปากคำกันมา  จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง  ส่วนมากเป็นการถ่ายทอดด้วยความทรงจำ  และรับปฏิบัติต่อ ๆ กันมามากกว่าการบันทึกหรือจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และไม่ทราบว่าใครเป็นคนแต่งหรือแต่งขึ้นเมื่อใด  เช่น  เพลงพื้นเมือง  บทกล่อมเด็ก  ความเชื่อ และนิทานต่าง ๆ เป็นต้น

 ประโยชน์ของการเรียนคติชาวบ้าน

                คติชาวบ้านเป็นเรื่องที่กล่าวถึงวิถีชีวิต  และแนวทางปฏิบัติของคนในสังคม การศึกษาเรื่องนี้จึงก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ คือ

                1.ทำให้ตระหนักว่า  คติชาวบ้านเป็นมรดกสำคัญ ในฐานะที่เป็นวัฒนธรรมของชาติอย่างหนึ่งที่มีคุณอย่างใหญ่หลวง  ซึ่งได้ถ่ายทอดและถือปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน  จึงควรที่จะหวงแหน และอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นต่อไป  เพื่อให้รู้จักตัวเองและภูมิใจว่า เราก็เป็นชาติที่เจริญรุ่งเรือง  มีคติชาวบ้านอันเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาหลายพันปีแล้ว  ถ้าไม่ช่วยกันรักษาและหวงแหนไว้ สิ่งเหล่านี้ก็นับวันจะสูญหายหมดไป

                2.การศึกษาคติชาวบ้าน   ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องภาษาถิ่นต่าง ๆ    อันเป็นผลพลอยได้จากการเรียนคติชาวบ้าน  ทำให้เห็นความแตกต่าง  และความคล้ายคลึงของภาษาในท้องถิ่นต่าง ๆ อาทิ ความแผกเพี้ยนของเสียงพูดและคำศัพท์ต่าง ๆ  เช่น อร่อยมาก  ภาษาอีสานว่า  แซบอีหลี  ภาษาพายัพว่า ลำแต้ ภาษาใต้ว่า หลอยจ้าน  ฯลฯ  การสร้างคำซึ่งมีวิธีต่างกัน  เช่น สวมเสื้อ และ ไก่ย่าง ในภาษาอีสานว่า นุ่งเสื้อ  และย่างไก่  ฯลฯ  ในภาษาพายัพมีศัพท์หลายคำที่ออกเสียงคล้ายภาษากลาง  แต่มีความหมายตรงข้ามกลับหน้ามือเป็นหลังมือก็มี  เช่น  ชนะ  แปลว่าแพ้   ครึ  หมายถึง โก้ โอ่อ่า  เอง  หมายถึงฉัน (บุรุษที่ 1)  บางทีภาษาเหนือใช้สลับตำแหน่งกับภาษากลางก็มี  เช่น หม้อน้ำ  เป็น น้ำหม้อ  บ่อน้ำเป็น น้ำบ่อ  ส้มตำ  เป็น  ตำส้ม  ฯลฯ  และภาษาเหนือใช้คำว่า  หน้อย  เรียกลูกสัตว์ต่อท้ายคำตั้ง  เช่น  ช้างหน้อย = ลูกช้าง  ไก่หน้อย = ลูกไก่  ฯลฯ  ส่วนคำว่าเด็กใช้คำ  ลูกอ่อน ประกอบหน้าคำตั้ง  เช่น ลูกอ่อนพ่อชาย  = เด็กชาย  ลูกอ่อนแม่ยิง  = เด็กหญิง  เป็นต้น

                3. คติชาวบ้านเป็นศิลปะในการดำรงชีพอย่างหนึ่ง    เช่น  งานฝีมือและศิลปกรรมพื้นบ้าน  การร้องเพลงชาวบ้าน  และเพลงกล่อมเด็กปลอบเด็ก การละเล่นพื้นเมือง  ฯลฯ  ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ประณีตละเอียดอ่อน  ทำให้เป็นคนเต็มคน มีความสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  ดังพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ว่า

             “ศิลปกรรมนำใจให้สร่างโลก            ช่วยบรรเทาทุกข์ในโลกให้เหือดหาย

            จำเริญตาพาใจให้สบาย                  อีกร่างกายก็พลอยสุขสราญ”

                4. คติชาวบ้านเป็นเครื่องให้ความบันเทิงสนุกสนานเพลิดเพลิน  เช่น การฟังนิทาน  การเล่นซ่อนหา  การเล่นงูกินหาง  การเล่นตี่จับ  ฯลฯ  รวมทั้งการเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ เช่น ละครชาตรี  มโนห์รา  เซิ้งบ้องไฟ  การฟ้อนเล่น  รำโทน  ฯลฯ  คติชาวบ้านเหล่านี้ช่วยให้คนเราพักผ่อนหย่อนใจและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

                5. คติชาวบ้านช่วยก่อให้เกิดความสามัคคี  และความพร้อมเพรียงในหมู่คณะ เช่น การละเล่นต่าง ๆ บางอย่างต้องใช้คนจำนวนมาก ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงกัน จึงจะเล่นได้สนุก และเป็นระเบียบเรียบร้อย  เช่น การเล่นช่วงชัย การแข่งเรือคน การเล่นงูกินหาง และเพลงฉ่อย  เป็นต้น

                6. คติชาวบ้านช่วยเป็นกระจกสะท้อนให้เห็นความคิด ความเชื่อ นิสัยใจคอ และความเป็นอยู่บางอย่างของคนในสังคม คนในสังคมมีความคิดเห็น และมีความเชื่อถือเป็นอย่างไร  เราอาจสังเกตโดยอนุมานจากเรื่องคติชาวบ้านของคนในสังคมนั้น  ซึ่งปั้นคนให้เป็นคนในชาตินั้นหรือถิ่นนั้นโดยเฉพาะ  ตัวอย่าง เช่น เพลงชาวบ้านบทหนึ่ง  ซึ่งเป็นการโต้ตอบระหว่างหญิงกับชาย ได้แสดงให้เห็นนิสัยขี้เล่นและความมีอารมณ์ขันของคนไทยไว้ว่า

                ชาย         “โอ้แม่ฝรั่งข้างรั้ว               แม่สุกคาขั้วจะคอยใคร”

                หญิง       “มีลูกกวนตัวมีผัวกวนใจ       ถึงจะแก่คาบ้านก็ไม่หนักหัวใคร”

แม้ในวรรณคดีก็ได้สะท้อนอารมณ์ขันของคนไทยไว้หลายตอน เช่น ในบทละครเรื่องสังข์ทองตอนหนึ่งว่า

                                “เมื่อนั้น                        ท้าวสามลร้องรับให้ดีพ่อ

ตบมืออือเออชะเง้อคอ                                      เห็นลูกเขยเป็นต่อหัวร่อคัก”

                จากปริศนาคำทายบางตอนสะท้อนให้เห็นความเป็นอยู่ของคนในชนบท  ซึ่งการสาธารณสุขยังไม่เจริญ  เช่น  ภาคเหนือว่า “จ๊อกป๊อกนั่งอยู่กลางนา  หมาเดินมาพาจ๊อกป๊อกไป”  และภาคใต้ว่า “ไอ้ไหรหา นั่งบนขอน หย่อนขาดหย่อนขาด” หรือ “ไอ้ไหรหา พ่อแม่ไม่แช่งไม่ด่า  ไปนั่งชายป่าทำหน้ายู้ยี้”

                จากคติชาวบ้านยังทำให้เราทราบว่า  คนไทย  เชื่อถืออย่างไร เช่น ถ้าแร้งจับหลังคาบ้าน หรือเหี้ยขึ้นบ้านจะเป็นเสนียดจัญไร  การออกจากบ้านเวลาจิ้งจกทักจะเป็นอันตราย ฯลฯ  เหล่านี้เป็นความเชื่อของชาวบ้าน   ซึ่งกล่าวไว้เป็นบทกลอนอย่างพิสดารว่า

                “หนึ่งแร้งแลงูหมู่นกแสก            นกยางแกรกบินวับจับเคหา              

อีกปลวกผึ้งรุ้งกินซึ่งธารา                           พวกหมูห่าเหล่านี้ลงเรือนใคร

                จะร้ายดีต้องห้ามไปตามทิศ       ท่านกล่าวกิจฟังกระแสแก้สงสัย

เบื้องบูรพ์ว่าจะสูญซึ่งโภไค                        โทษจัญไรโทมนัสวิบัติเยียน

                ถ้าจับทิศอาคเนย์ท่านทำนาย    ว่าเพลิงร้ายลามไหม้ที่เสถียร

ถ้าจับทิศทักษิณจะอาเกียรณ์                    เกิดพยาธิเบียดเบียนเจียนชีพปลง

                ถ้าแม้จับประทับทิศหรดี          โจรร้ายจะย่ำยีดังประสงค์

ถ้าจับเบื้องประจิมจะบอกตรง                    ว่านารียุพยงให้ลาภา

                ถ้าจับทิศอุดรและพายัพ         จะได้ทรัพย์สมบัติทั้งวัตถา

จับอีสานเหลือดีเร่งปรีดา                        อิสราจะปูนบำเหน็จตน”

                นอกจากนั้นคติชาวบ้านยังสะท้อนให้เห็นค่านิคมของสังคมไทยสมัยก่อนเอาไว้ด้วย  เช่น ผู้หญิงซึ่งจะเป็นแม่บ้านแม่เรือนต่อไป  ต้องทำงานบ้านการครัวเก่งมิฉะนั้นจะถูกสังคมตำหนิ  ดังเพลงชาวบ้านบทหนึ่งว่า

                “ลูกเอ๋ยลูกสาว                     ลูกของชาวเมืองเหนือ

ทาขมิ้นเป็นเนื้อ                                    ทำอะไรก็ไม่เป็น

หุงข้าวแต่ละหม้อ                                 สิ้นฟืนก่อเป็นเกียนเข็น

บ้างก็สุกบ้างก็ดิบ                                 บ้างก็เป็นท้องเส้น

หุงข้าวก็ไม่เป็น                                   หน้าชเล้นไม่มีอาย เอย”  เป็นต้น

                7. คติชาวบ้านเป็นเครื่องควบคุมสังคมให้อยู่ได้อย่างมีความสุข เช่น อะไรควรเป็นสิ่งประพฤติปฏิบัติ  และอะไรเป็นสิ่งที่ควรงดเว้น  สอนให้คนไม่ประมาท เช่น

-          อย่าถ่มน้ำลายรดฟ้า

-          พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง

-          หวานเป็นลม ขมเป็นยา

-          คืบก็ทะเล  ศอกก็ทะเล

-          อย่าชิงสุกก่อนห่าม

-          ปลาหมอตายเพราะปาก  เป็นต้น

                8. การเรียนคติชาวบ้าน  ทำให้ศึกษาวรรณคดีบางเรื่องกล่าวถึง   ชื่อบ้านนามเมือง  นิทานหรือประเพณีเอาไว้ ถ้าเราได้รู้เรื่องประวัติตำนานชื่อบ้านนามเมือง นิทานหรือประเพณีต่าง ๆ ก็จะเรียนวรรณคดีได้อย่างมีรสชาติ คติชาวบ้านจึงเป็นเสมือนแสงสว่างดวงหนึ่ง ที่ฉายส่องวรรณคดีให้เราเข้า

         นอกจากนั้นวรรณคดีบางเรื่อง  มีคำภาษาถิ่นปะปนมาก ถ้าเราเรียนคติชาวบ้าน  ก็จะเข้าใจความหมายของภาษาถิ่น  แล้วนำไปไขความในวรรณคดีให้คลายสงสัยได้

        เช่น

                “จากแม่เจ็บเสมอจิต พี่บ้าง”  (นิราศนรินทร์)

              บ้าง  เป็นภาษาถิ่นอีสาน        หมายความว่า  แหว่ง  ไม่เต็ม มีรอยพร่อง

                “เคร่ากันไปบ่หึง”  (ลิลิตพระลอ) 

               เคร่า  เป็นภาษาใต้                     หมายความว่า  รอคอย

               บ่อ เป็นภาษาเหนือและอีสาน   หมายความว่า   ไม่ 

               หึง เป็นภาษาอีสาน                    หมายความว่า   นาน  ช้า

               ราก  เป็นภาษาใต้                      หมายความว่า    อาเจียน

                “พระสนมรำเพยพัด  ไกวแกว่งวีนา”  (ลิลิตพระลอ) 

                 วี เป็นภาษาปักษ์ใต้                   หมายความว่า  พัดโบก

                 “เร่งรบเร่งหนนเขา รุมรอบ”  (ลิลิตพระลอ) 

                  หัน  เป็นภาษาเหนือ                หมายความว่า   เห็น 

                สิ่งที่ควรศึกษาคติชาวบ้านอีกอย่างหนึ่งก็คือ  วรรณคดีบางเรื่องได้เค้าเรื่องจากนิทานชาวบ้านหรือวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่น เรื่องพระลอ  พระรถเมรี  และนางมโนห์รา เป็นต้น  ถ้าได้รู้ต้นตอของเรื่องนี้  ย่อมจะเป็นพื้นฐานการเรียนวรรณคดีได้สะดวกยิ่งขึ้น

                9. การเรียนคติชาวบ้านทำให้เป็นคนมีปัญญารู้จักสังเกต  เช่น  การเล่นปริศนาคำทายต่าง ๆ

ดังตัวอย่าง

-          อะไรเอ่ยต้นเท่าครก  ใบปรกดิน  (ต้นตะไคร้)

-          ยิ่งต่อยิ่งสั้น  (บุหรี่)

-          ยิ่งตัดยิ่งยาว  (ถนน)

-          ตีนหนึ่งเหยียบธรณี  สองปีกราวีร้องก้องเวหา (กังหัน)

-          ใบเป็นจักฯ ลูกรักเต็มคอ (มะละกอ)

-          สี่ตีนชี้ฟ้า  อ้าปากกินคน (มุ้ง)  เป็นต้น

นอกจากนั้นการศึกษาคติชาวบ้าน ทำให้เป็นคนรู้จักคิด มีเหตุผล รู้จักพินิจพิเคราะห์ มีความรอบคอบ และไม่ประมาท  เช่น ทำไมชาวบ้านจึงเชื่อว่าถ้าเหี้ยเข้าบ้านหรืออีแร้งมาเกาะหลังคาบ้านจะนำโชคร้ายมาให้  ถ้าคิดอย่างรอบคอบและวิเคราะห์ให้ดี จะเห็นว่าเหี้ยหรืออีแร้ง เป็นสัตว์สกปรก ชอบกินสิ่งโสโครก เช่น อาจมและซากศพ  เป็นต้น  ถ้าสัตว์เหล่านี้เข้าบ้านหรือเกาะบนหลังคา  อาจจะนำเอาเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกติดเข้ามาด้วย  ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคนในบ้าน หรือการที่เชื่อว่าถ้าจิ้งจกทักห้ามออกจากบ้าน  มิใช่สอนให้เชื่ออย่างงมงาย  แต่สอนให้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทมีสติสัมปชัญญะ  ว่าเมื่อเวลาออกจากบ้านให้ระวังตัวเพราะภัยอันตรายอาจเกิดขึ้นได้เสมอ  ไม่จำกัดเวลาและสถานที่ เป็นต้น

                10. ฝึกให้เป็นคนมีนิสัยรู้จักเก็บรวบรวมคติชาวบ้านในท้องถิ่นของตน  โดยใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฯลฯ

 

ประเภทของคติชาวบ้าน

                คติชาวบ้านแบ่งออกเป็น  3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ พวกมุขปาฐะ  พวกอมุขปาฐะ  และพวกผสม

                1.พวกมุขปาฐะ  ได้แก่  คติชาวบ้านที่ต้องใช้ถ้อยคำ  เช่น เพลงชาวบ้าน เพลงกล่อมเด็ก  บทปลอบเด็ก ปริศนาคำทาย  ภาษิต  สำนวนคำพังเพย  ความเชื่อโชคลาง  นิทานและภาษาถิ่น

                2.พวกอมุขปาฐะ  ได้แก่ คติชาวบ้านที่ไม่ต้องใช้ถ้อยคำ เช่น ศิลปกรรมชาวบ้าน งานช่างฝีมือ และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ

                3.พวกผสม  โดยการนำเอาสองพวกแรกมาผสมกัน  เช่น  พวกระบำและการละเล่นต่าง ๆ รายละเอียดต่าง ๆ ของคติชาวบ้านแต่ละประเภท จะได้กล่าวถึงในบทต่อไป

  คติชาวบ้าน 

                คติชาวบ้าน (Folklore)  คือแนวดำเนินชีวิตประจำวันของชาวบ้าน  เป็นพื้นเพดั้งเดิมและกระทำกันอยู่ทั่วไปสืบกันมาหลายชั่วอายุคน    เป็นเครื่องแสดงระดับวัฒนธรรม   ศีลธรรม ความเชื่อถือ  ความต้องการ  แนวความคิด อุดมคติ และสิ่งอื่น ๆ  อีกหลายประการ  ซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า  เป็นเครื่องบอกลักษณะของสภาพชีวิตและสังคมของคนในถิ่นต่าง ๆ ตามกาลเวลาที่ล่วงมา  จึงเป็นที่ประมวลไว้ซึ่งความเป็นชาติอย่างแท้จริงของแต่ละชาติแต่ละภาษา

                ๑.  ประเภทที่ใช้ถ้อยคำ  ในประเภทนี้อาจแบ่งย่อยออกไปได้อีก  ดังนี้ คือ

ก.       เพลงชาวบ้าน

ข.       นิทานชาวบ้าน

ค.       บทภาษิต

ง.       คำทำนาย

จ.       ความเชื่อ  โชคลาง

ฉ.      ภาษาถิ่น

ช.      เพลงเด็ก

 

นิทานชาวบ้าน

นิทานชาวบ้าน (Folktale) คือเรื่องราวที่บุคคลในท้องถิ่นต่าง ๆ แต่งขึ้นและเล่าสืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน มีความมุ่งหมายเพียงเป็นเครื่องบันเทิงใจ และสั่งสอนบุคคลให้กระทำความดี

 การแบ่งนิทานตามแบบของนิทานแล้วก็มีอยู่ ๕ แบบด้วยกัน  คือ

. นิทานปรับปรา  ซึ่งมักเป็นเรื่องค่อนข้างยาว  มีสารัตถะสำคัญ ๆ อยู่ในนิทานมากมาย เป็นเรื่องทีสมมุติว่าเกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่ง  แต่สถานที่เลื่อนลอย  กำหนดให้ชัดเจนลงไปไม่ได้ว่าที่ไหน

. นิทานท้องถิ่น  เป็นนิทานขนาดสั้น  มักเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี  โชคลาง   หรือบางเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของวีรบุรุษ   หรือบางเรื่องเป็นเรื่องเกี่ยวกับนางนาค นางไม้ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ก็ได้

. เทพนิยาย มักเป็นนิทานเกี่ยวกับเทวดา  นางฟ้าหรือกึ่งเทวดา เช่นเรื่อง  เมขลา-รามสูร  นารายณ์สิบปาง เป็นต้น

. นิทานเรื่องสัตว์  อย่างในชาดกต่าง ๆ

. นิทานตลกขบขัน  มักเป็นเรื่องสั้น ๆ   หรือชวนให้ขบขัน     และมักจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้  เช่น เรื่องศรีธนนไชย  เป็นต้น

 

 ตำนานต่าง ๆ

         ตำนาน  คือ  เรื่องแสดงกิจการอันมีมาแล้วแต่ปางหลัง  เรื่องราวนมนานที่ต่อปากกันมาโดยมากใช้แก่โบราณวัตถุ  โบราณสถาน  หรือบ้านเมือง  หรือจะกล่าวอย่างง่าย ๆ ก็คือประวัติ เรื่องราวที่เกี่ยวกับความเป็นมาของโบราณวัตถุ โบราณสถาน และบ้านเมืองต่าง ๆ ชนิดที่เล่าต่อปากกันมานั่นเอง

                ตำนานที่เกี่ยวกับโบราณวัตถุ  เช่น  ตำนานเกี่ยวกับพระแก้วมรกต  หรือตำนานเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์  เป็นต้น

 

 ภาษิตไทย

                ภาษิต  คือ  คำพูดที่ถือเป็นคติ คำกล่าวที่มีคติควรฟัง  หมายถึงคำที่นักปราชญ์ท่านกล่าวหรือเรียบเรียงไว้เป็นข้อความสั้น ๆ กะทัดรัด  บางทีก็มีสัมผัสอักษร    เพื่อเป็นคติสอนใจลูกหลานหรือคนในชาติ และให้กำหนดจดจำได้ง่าย ๆ

                คำประเภท  ภาษิต  หรือ สุภาษิต  นี้ มีอยู่ทั่วไปในทุกชาติทุกภาษา

 สำนวนไทย

                สำนวน  คือ  โวหาร,  ทำนองพูด,  ถ้อยคำที่เรียบเรียง,  ถ้อยคำที่ไม่ถูกไวยากรณ์  แต่รับใช้เป็นภาษาที่ถูกต้อง,  การแสดงถ้อยคำออกมาเป็นภาษาพิเศษเฉพาะภาษาหนึ่ง ๆ  หรือหนังสือแบบหนึ่ง ๆ,  ลักษณะนามใช้เรียกข้อความรายหนึ่ง ๆ

                ในฐานะที่ไทยเราเป็นชาติที่เก่าแก่ที่สุดชาติหนึ่ง  ได้มีวัฒนธรรมของตนเองมาหลายพันปีแล้ว คำพูดที่เป็นสำนวนไทยก็คงมีมานานแล้วเช่นเดียวกัน และสำนวนต่างๆเหล่านี้จะมีแปลก ๆ ใหม่ ๆ เพิ่มเติมเข้ามาเสมอ ๆ  ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการคบหาสมาคมกับชาติต่าง ๆ   สำนวนไทยบางทีก็พูดเป็นทำนองเปรียบเทียบ  เช่น  ขมเหมือนบอระเพ็ด   บาทีก็พูดให้คล้องจองกัน  เช่น    ข้าวยากหมากแพง  บางทีก็เป็นสำนวนซ้ำคำ  เช่น ปากหอยปากปู  หรือเราอาจแปลงรูปคำบางคำในภาษาอื่นให้เป็นเสียงไทย ๆ แล้วใช้เป็นสำนวนที่มีความหมายแบบไทย ๆ เราก็ได้

คำทาย

                คำทาย  คือ  ปัญหาที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้อีกคนหรือหลายคนทายว่าคืออะไร  และนิยมมีคำว่า  “อะไรเอ่ย”  อยู่ข้างหน้าปัญหาเสมอไป

                คนไทยเราเป็นชาติเก่าแก่  มีวัฒนธรรมสูงส่งชาติหนึ่งที่รู้จักหาวิธีที่จะทำให้ลูกหลานเป็นคนช่างคิดช่างสังเกตมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย  และทำให้มีปฏิญาณไหวพริบเฉียบแหลม  แม้จะอ่านหนังสือไม่ออก  เขียนหนังสือไม่ได้  ก็สามารถถ่ายทอดกันสืบ  ๆ มาทางปาก   ได้ทั้งยังก่อให้เกิดความสนุกสนานครื้นเครงตามปรกติวิสัยของคนไทยอีกด้วย  นั่นคือเรื่อง  คำทาย  หรือ  บททาย ที่เรานิยมขึ้นต้นคำทายว่า  อะไรเอ่ย เสมอ  คำทายบางบทก็อาจคิดไปได้สองแง่สองมุม  ดูคล้าย ๆ เป็นเรื่องสัปดน  แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่  ตัวอย่างคำทายที่ทราบกันแพร่หลาย  เช่น

อะไรเอ่ย

-          กลางวันเก็บใส่กระจาด   กลางคืนดาระดาษเต็มท้องฟ้า  (ดาว)

-          กะลาซีกเดียวเดินข้ามทะเลได้  (ดวงจันทร์)

-          กินข้างบน  ขี้ข้างล่าง  (โม่)

-          กินข้างล่าง  ขี้ข้างบน  (กบใสไม้)

-          ขยุก ๆ  เอาน้ำเข้า  เขย่า ๆ  เอาน้ำออก  (บ้วนปาก)

 ความเชื่อโชคลาง

                โชค  คือ   เคราะห์,  คราวดี,  คราวร้าย,  โดยมากใช้ในทางดี

                ลาง  คือ  เครื่องหมายที่ปรากฏให้เห็นอันบอกเหตุร้ายเป็นดี

                เคราะห์  คือ  โชค, คราวดี, คราวร้าย,  โดยมากใช้ในทางร้าย  เช่นฟาดเคราะห์,  คำเรียกดาวเฉพาะเก้าดวงว่า  ดาวนพเคราะห์   คือ  อาทิตย์  จันทร์  อังคาร  พุธ  เสาร์ พฤหัสบดี  ราหู  ศุกร์   เกตุ  ซึ่งตามโหราศาสตร์  ถือว่า  ยึดโชคของคน

                ตามวิสัยของมนุษย์ปุถุชน    (คือคนที่ยังมีกิเลสหนาแน่นอยู่)  คนทั่ว ๆ     ไปที่ยังเข้าไม่ถึงสัจธรรม   คือความจริงแท้ของชีวิต  ย่อมจะตกอยู่ในวิสัยแห่งความงมงายด้วยกันทุกคน ไม่มากก็น้อย  ในทางพระพุทธศาสนา  ถือว่าตราบใดที่เรายังเป็นปุถุชนอยู่  เราก็ยังต้องยึดถือในเรื่องโชคเรื่องลางด้วยกันทั้งนั้น  มากบ้างน้อยบ้าง  ตามแต่ภูมิปัญญาของตน  ถ้ามีความเข้าใจซาบซึ้งในเรื่องลางด้วยกันทั้งนั้น   มากบ้างน้อยบ้าง    ตามแต่ภูมิปัญญาของตน  ถ้ามีความเข้าใจซาบซึ้งในสัจธรรมมาก    ความเชื่อถือโชคลาง    ก็จะน้อยลง    ถ้าไม่เข้าใจซาบซึ้งในสัจธรรมหรือเข้าใจเพียงเล็กน้อย  ความเชื่อถือโชคลางก็ย่อมมีมาก  เป็นเงาตามตัว  ความเชื่อถือโชคลางนี้มีอยู่ด้วยกันทุกชาติในโลก  ไม่ว่าจะเป็นชาติที่ป่าเถื่อน  หรือที่เจริญแล้วก็ตาม  แม้แต่ผู้ที่ได้รับการศึกษาทางโลกมาสูง  แต่ถ้าไม่เข้าใจสัจธรรมแล้ว ก็ยังชื่อว่างมงายอยู่ และคงเชื่อถือโชคลางมากพอ ๆ   กับคนที่ไม่ได้รับการศึกษาเหมือนกัน ผู้ที่จะเลิกเชื่อถือโชคลางได้เด็ดขาดจริง  ๆ   ทางพระพุทธศาสนาถือว่าต้องเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ พระโสดาบันเป็นชื่อพระอริยบุคคลขั้นต้นในพระพุทธศาสนาที่ไม่เชื่อถือโชคลางอีกต่อไปแล้ว

                การตั้งชื่อเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งในชีวิต เพราะในการตั้งชื่อ ถ้าไม่ตรวจดูให้ดีเสียก่อนชื่อนั้นอาจเป็น “กาลกรรณี”  หรือ  “กาลกิณี”  คือเป็นเสนียดหรือนำโชคร้ายมาให้แก่เจ้าของชื่อได้  จึงถือว่าการให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจวาสนาหรือผู้ทรงศีลเป็นผู้ตั้งให้จะเป็นสิริมงคลแก่เด็กต่อไปในชีวิตข้างหน้า     การพิจารณา  วัน  เดือน  ปี ของเด็กในเวลาที่เกิดเป็นเกณฑ์ ถ้าเป็นชายมักนิยมให้ใช้อักษรที่เป็น  “เดช”  เป็นตัวนำหรือตัวออกเสียง    ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีเดชานุภาพเกรียงไกร  มีอำนาจราชศักดิ์  และเกียรติยศยิ่งใหญ่   แล้วใช้อักษรอื่น ๆ  รองลงไปตามความหมายที่ต้องการ ส่วนเด็กผู้หญิงก็นิยมตั้งชื่อด้วยการใช้อักษรที่เป็น  “ศรี”   เพื่อให้เกิดความสง่างามสวยสดสมเพศตน  และใช้เดชและอักษรที่เป็นสิริมงคลอื่น ๆ เป็นตัวประกอบใส่ตามความหมายที่ปรารถนา

 

 

 

 

 

 

 

 

       

หมายเลขบันทึก: 363211เขียนเมื่อ 2 มิถุนายน 2010 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท