ผมคนสุรินทร์ แต่..รู้จักสุรินทร์ "น้อย"


คนสุรินทร์ ภาษาเขมร

 ผม คนสุรินทร์ แต่รู้จักสุรินทร์"น้อย"

              ผมเกิดในเขตเมืองและเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่โรงเรียนสิรินธร จังหวัดสุรินทร์ จากนั้นเข้าเรียนต่อจนจบที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จบแล้วทำงานเป็นครูอยู่กาญจนบุรีสองปีเศษ ก่อนจะเข้ากรุงเทพฯทำงานด้านการพัฒนาเด็กจนถึงปัจจุบัน
              มีเวลาและโอกาสกลับไปเยือนถิ่นเกิดไม่มากนัก ประมาณปีละ 4 ครั้ง
              สามสี่ปีหลังมานี้ ผมมีโอกาสและสนใจกลับไปถิ่นเกิดบ่อยขึ้น เหตุเพราะผมได้คิดว่า แม้ผมจะเป็นคนสุรินทร์ แต่ผมรู้จักสุรินทร์น้อยมาก ซึ่งคงเหมือนคนไทยทั่วไปที่รู้จักสุรินทร์พอๆ กับผม ว่าสุรินทร์เป็น "เมืองช้าง" มี"ผ้าไหมสวย ข้าวมะลิหอม" ก่อนจะรู้จักเพิ่มมากขึ้นเพราะมีเหตุที่ด่านชายแดนไทย-เขมร ทำให้"ด่านช่องจอม"รู้จักกว้างขวางขึ้นว่าเป็นตลาดชายแดนที่ใหญ่มากแห่งหนึ่ง 
              แต่ผมสนใจมากกว่านั้น ผมสนใจความเป็นมา วัฒนธรรม ภาษาดั้งเดิมคือส่วย เขมร ชนชาวจีนในเมือง คนถิ่นเดิม สถาปัตยกรรม(ปราสาทและโบราณวัตถุ) ศาสนา ความเชื่อ การฟ้อน บทเพลง ฯลฯ 
              ดังนั้น การไปในระยะหลังๆ ของผม จึงเริ่มด้วยการเสาะหาหนังสือที่เกี่ยวข้องมาไว้เพื่อศึกษา ได้แก่
              1.ในหลวง-ราชินี เสด็จเยี่ยมสุรินทร์(จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการงานสมโภชศาลเจ้าหลักเมืองและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พ.ศ.2549)ที่รวมเรื่องราวคราวในหลวง-ราชินี เสด็จสุรินทร์ เมื่อปี พ.ศ.2498
              2.วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 31 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2548) ลงรายละเอียดชุมชนชาวจีนในเมืองสุรินทร์ไว้อย่างละเอียด ที่ปลื้มใจมากคือมีภาพ "พ่อของผม"อยู่ในวารสารเล่มนี้ด้วย
              3.ร้อยเรื่อง เมืองสุรินทร์ (มาลัย 2) โดยอัษฎางค์ ชมดี รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ เล่มนี้หลากหลายครับ ทำให้รู้เรื่องเมืองสุรินทร์เพิ่มขึ้นอีกมาก
              4.ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสุรินทร์ โดยรองศาสตราจารย์ศิริพร สุเมธารัตน์ เล่มนี้หนามากครอบคลุมสาระเกี่ยวกับเมืองสุรินทร์ไว้อย่างกว้างขวาง จะไม่หนาและเต็มไปด้วยสาระได้อย่างไร ในเมื่อผู้เขียนเป็นคนสุรินทร์และศึกษาข้อมูลมายาวนาน 34 ปีกว่าเล่มนี้จะสมบูรณ์ได้  เล่มนี้สำคัญอีกประการคือเมื่อผู้เขียนรับรู้ว่าผมสนใจเรื่องนี้ อาจารย์จัดการส่งมอบมาถึงผมในเวลาไม่นาน (ขอบพระคุณมากครับ)
              ผมเขียนเล่าเรื่องนี้ไว้ นอกจากจะเตือนใจตนเองให้สำเหนียกเสมอว่า เรียนรู้อะไรมาก็มากทั้งในและต่างประเทศ แต่เรื่องถิ่นเกิดของตนเองนั้น รู้น้อยนิดเหลือเกิน ผมจึงเสียดายที่ผมพูด-อ่านภาษาเขมรไม่ได้ ไม่เข้าใจวิถีชีวิตคนส่วยคนพื้นถิ่น มีความเข้าใจและลึกซึ้งในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นน้อย
              ทำให้ผมคิดไปไกลว่า จะต้องผลักดันให้เด็กนักเรียนทุกจังหวัดได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งของจังหวัดตนเองและประเทศไทยของเรา (เป็นวิชาบังคับเรียน) เพราะเหล่านี้คือรากเหง้าความเป็นตัวตนของเรา 
              เรียนเรื่องเหล่านี้มากเท่าไหร่ เราจะรักถิ่นเกิด รักชาติบ้านเมืองของเรามากขึ้นเท่านั้น
              คงไม่หนักเกินไปนะครับ สำหรับเรื่องนี้ 

 

 
หมายเลขบันทึก: 362383เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2010 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 01:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

สวัสดีค่ะ

ดิฉันก็รู้เรื่องราวบ้านเกิดตัวเองน้อยมากค่ะ

ขอบคุณที่ช่วยกระตุ้นค่ะ

มีดอกไม้มาฝาก (เพิ่งวาดเสร็จเมื่อวานเองค่ะ)

ตอนครูมาอยู่ที่หมู่บ้านเด็ก ผมยังเล็กอยู่เลย ฮ่าๆๆ แต่ดีใจได้เดินตามรอยครู ที่หมู่บ้านเด็กอบอุ่นมาก ที่สุรินทร์ ผมเคยพาชาวฮ่องกง ไปขี่ช้างที่ท่าตูม มีชาวส่วยที่น่าสนใจมาก นักศึกษาชาวฮ่องกงตื่นเต้นมากๆๆด้วยครับ ตอนนั่งช้าง เพราะบ้านเขาไม่มี

คุณณัฐรดาครับ ขอบคุณสำหรับภาพวาดงดงามของดอกไม้ที่ดูแล้วอ่อนโยน สบายใจ ผมเองเคยเรียนวาดภาพสีน้ำอยู่ระยะหนึ่ง แต่เอาดีไม่ได้โดยเฉพาภาพดอกไม้ที่ครูผู้สอนสั่นศรีษะอยู่เสมอ ที่ครูบอกว่าพอใช้ได้คือภาพสัตว์ต่างๆ ที่ผมพอจะวาดได้ละม้ายคล้ายอยู่บ้าง ว่างๆ จะถ่ายมานำเสนอแบบ "อายบ้าง แต่ขอนำเสนอ"นะครับ

สำหรับขจิต ไม่มีโอกาสได้พบกันเลย แต่ก็ยังดีที่ได้พบกันในช่องทางนี้ หากได้พบครูบาหรืออัยการชาวเกาะ ฝากบอกด้วยว่า ผมคิดถึงเสมอ

  • เพิ่งพบท่านอัยการ
  • เรายังคุยถึงครูกันอยู่เลยครับ
  • Satreephuket school International English Program Training :Project work (1)
  • ส่วนพ่อครูบาเข้าใจว่างานยุ่งๆๆอยู่สวนป่าครับ
  • คุณครูสบายดีนะครับ

เรียนท่านอาจารย์วัลลภ

คนจังหวัดสุรินทร์น่ารักมากค่ะ ประทับใจตรงที่ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน แต่พอหมอ หรือพยาบาลผ่านไปพวกเค๊าจะหยุดเล่นน้ำและยืนนิ่งคล้ายๆกับนักเรียนยืนทำความเคารพครูประมาณนั้นค่ะ ยังจำได้จนทุกวันนี้เลยค่ะ (ดิฉันเคยไปอยู่สุรินทร์ปีกว่าๆ)

ผมไม่ทราบว่า "คุณยาย"(ยายเฉพาะชื่อ) ไปอยู่ช่วงเวลาไหนครับ เพราะเพื่อนที่เรียนร่วมกับผมมาแต่ครั้งมัธยมห้าที่โรงเรียนสิรินธร เข้าเรียนต่อจนจบพยาบาลและทำงานที่สุรินทร์กันเกือบ 10 คน

ชอบผ้าไหมสุรินทร์ค่ะ ผ้าไหมที่นี่ใส่สบาย เบาบาง รีดง่ายด้วยค่ะ

 ไปคราวใดได้ผ้าติดมือมาทุกครั้ง

ข้าวสุรินทร์ก็อร่อยมากๆๆ

การรู้จักบ้านเกิดของตัวเองจะเหมือนกับขนตาของเราเอง ใกล้ตัว แต่มองไม่ค่อยเห็น มีรายการโทรทัศน์อยู่หนึ่งรายการชื่อว่า ทุ่งแสงตะวัน ออกอากาศวันเสาร์ เวลา 0630 ทางช่อง 3 เป็นรายการที่นำเสนอสิ่งต่าง ๆ ในชุมชนเล็ก ๆ แต่น่าสนใจมาก การนำเสนอจะผ่านทางเด็ก ๆ ในชุมชน อยากให้ผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครูหยุย นำไปพิจารณาเป็นต้นแบบสำหรับการเรียนรู้ของแต่ละชุมชน แต่เท่าที่เห็นน่าจะมีคนนำไปใช้เป็นต้นแบบหลายที่แล้ว ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.payai.com  

ว๊าว..เพิ่งทราบว่าอาจารย์เป็นคนสุรินทร์เหมือนกันค่ะ..

วันก่อนเพิ่งได้อ่าน ร้อยเรื่อง เมืองสุรินทร์ หลายๆเรื่องก็เพิ่งทราบค่ะ..และก็ทึ่งในภูมิปัญยาชาวสุรินทร์จริงๆ..

ข้าวหอมมะลิ สุรินทร์ ดังนะคะมีแต่คนฝากซื้อค่ะ เค้าว่าหอมแล้วก็เมล็ดสวย อร่อยค่ะ..

ขอบคุณค่ะ..^^

 

ดีใจเช่นกันครับที่ทราบว่า ครูแอ๊ว เป็นคนสุรินทร์เช่นเดียวกัน สำหรับคุณใยไหมนั้นขอบคุณสำหรับการยกตัวอย่างรายการ "ทุ่งแสงตะวัน" ซึ่งแท้จริงแล้ว"คุณนก"พิธีกรประจำรายการนี้คือเพื่อนรุ่นน้องที่ทำรายการนี้ต่อเนื่องมานานหลายปี เป็นรายการที่สมควรเผยแพร่ให้กว้างขวางไปเรื่อยๆ และน่าจะนำมาเป็นแบบเรียนในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี ดั่งที่คุณใยไหมได้เสนอแนะไว้

กรณีคุณแก้วที่ชอบ "ผ้าไหม"นั้น ผมมีความในใจอยู่เรื่องหนึ่งคือ หลายปีมาแล้วผมพบหญิงสูงอายุคนหนึ่งนั่งพนมมือขอทานอยู่บนสะพานลอยย่านสยาม ผมเห็นคุณยายสวมผ้าถุงเก่าๆ มีรอยขาดบางแห่ง แต่เป็นผ้าถุงไหม ผมเห็นปุ๊บก็ทราบว่าเป็นผ้าถุงเมืองสุรินทร์ จึงย่อตัวลงนั่งยองๆคุยกับคุณยายว่าทำไมมาขอทานที่กรุงเทพฯ ยายบอกว่ายากจน ขอทานได้เงินส่งกลับบ้าน

คุยกับยายหลายเรื่อง ด้วยความสะท้อนใจว่า ยายที่มีฝีมือชั้นยอดในการทอผ้า จนคนรู้จักไปทั่วไทยและทั่วโลก กลับต้องมาใช้ชีวิตเป็นขอทาน ลายเส้นที่ยายทอ หากยายสิ้นไป ลายเส้นนั้นคงสูญหายไปด้วย.........น่าคิดนะครับ

มีคำถาม ถามคนสุรินทร์ ... งานช้างที่ จ.สุรินทร์จัดกันทุกปีนั้น มีจุกเริ่มต้นมาจากอะไร ??

เอาแล้วซิครับ ถูกคุณใยไหมถามเรื่องความเป็นมาของงานสุรินทร์

จำได้ว่า ในปีที่ผมเกิด ปี พ.ศ.2498 มีควาญช้างพากันเฮโลพาช้างมารวมกันเพื่อดูสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนคือ "เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์" พูดร่ำลือกันว่าช้างวมากันเป็นร้อยเชือก เต็มไปหมด

เหตุนี้เองที่ทำให้นายอำเภอ (อำเภอรัตนบุรีหรืออำเภออะไรไม่แน่ชัด)ในจังหวัดสุรินทร์ ได้ความคิดขึ้นมาว่าควรรวมช้างมาแสดง จะเรียกความสนใจจากประชาชน นั่นคือที่มาของงานช้างสุรินทร์ครับ

ถ้าผิดก็ขออภัยแล้วจะค้นคว้าหามาอธิบายใหม่นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท