ข้อบกพร่องของผลงานทางวิชาการที่น่ารู้


ผลงานทางวิชาการ

ข้อบกพร่องของผลงานทางวิชาการที่น่ารู้

                                                โดยยืนยง  ราชวงษ์

                จากการที่ได้มีโอกาสสัมผัส ได้รับรู้ ของการตรวจผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สูงขึ้นนั้น ผลงานส่วนหนึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด มีจุดที่ควรปรับปรุงหรือแก้ไขหลายประการมาก เช่น

๑. ด้านสื่อ นวัตกรรม

ส่วนหนึ่งคัดลอกมาจากตำรา ไปซ้ำกับบุคคลอื่นที่ทำไว้แล้ว ไม่ได้คิดขึ้นเอง ไม่ต่างจากหนังสือเรียน ไม่ต่างจากแบบฝึกหัด ไม่ทันสมัย ไม่ใหม่  ไม่เร้าใจ ไม่เหมาะสม(มีความหมายหลายอย่าง เช่น วัย เนื้อหา ธรรมชาติวิชา เป็นต้น) เนื้อหาน้อยไป (จำนวนที่ใช้ฝึกหรือปฏิบัติไม่กี่ชั่วโมง ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้) เนื้อหาง่ายไป เนื้อหายากไป เรื่องที่เลือกมาเนื้อหาไม่น่าจะเป็นปัญหา นอกจากนี้สื่อ นวัตกรรม ไม่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ เช่น ศึกษานิเทศก์ทำสื่อ นวัตกรรม ให้ผู้สอนนำไปใช้กับผู้เรียน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของศึกษานิเทศก์ เป็นหน้าที่ของผู้สอนที่ผลิตสื่อ นวัตกรรมให้ผู้เรียนใช้  ศึกษานิเทศก์ต้องผลิตสื่อ นวัตกรรมไปใช้กับผู้สอน แล้วทำให้ผู้สอนสามารถไปทำกิจกรรมการเรียนรู้ให้เกิดกับผู้เรียนได้ เช่น นิเทศให้ผู้สอนสามารถสร้างสื่อนวัตกรรมได้ สร้างเครื่องมือวัดผลได้ สร้าง...ได้ไปสร้างเป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ที่ไม่ผ่านที่เป็นเรื่องใหญ่คือ การเขียนรายงานผลงานทางวิชาการ

๒. รายงานผลงานทางวิชาการ

ถ้ากล่าวถึงรายงานผลงานทางวิชาการ มักจะนำเสนอเป็น ๓ ส่วนหลัก ๆ คือ

ส่วนที่ ๑ ส่วนนำของรายงาน ประกอบด้วยปก ใบรองปก บทคัดย่อ กิตติกรรมประกาศ คำนำ สารบัญ

ส่วนที่ ๒ ส่วนเนื้อหา จะนำเสนอเป็นบท ๆ ตั้งแต่ ๔ บท จันถึง ๗ บท จบด้วยบรรณานุกรม

ส่วนที่ ๓ ภาคผนวก เป็นการนำเสนอสื่อ นวัตกรรม แบบประเมินสื่อ นวัตกรรม รายละเอียดข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล หลักฐานการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและหลักฐานที่แสดงถึงการได้ลงมือปฏิบัติหรือกระทำจริง

ตัวอย่างข้อบกพร่องของผลงานทางวิชาการ ขอนำเสนอเป็นส่วน ๆ ดังนี้

ส่วนที่ ๑ ส่วนนำ

๑.ชื่อเรื่องไม่แสดงให้เห็นถึงตัวแปรที่ศึกษา/นวัตกรรมที่ศึกษา  ชื่อเรื่องไม่ตรงกับบทคัดย่อ

๒.บทคัดย่อชื่อเรื่องไม่ตรงกับปก นำเสนอกล่าวอารัมภบทเหมือนบทที่ 1 นำเสนอไม่ระบุ กลุ่มตัวอย่าง ไม่ระบุสื่อ ไม่ระบุ เครื่องมือ ระบุสถิติไม่ครบ ผลการศึกษาไม่ตรงกับที่สรุปในบทที่ ๕ ผลไม่ครบตามวัตถุประสงค์

 ๓.บทคัดย่อยาว มีรายละเอียดมากไป

๔.สารบัญ นำเสนอหัวข้อในสารบัญ ไม่ตรงกับหัวข้อเรื่อง นำเสนอรายละเอียด(หัวข้อย่อย)มากเกินไปโดยเฉาะบทที่ ๒ ระบุหน้าไม่ตรงกับหัวเรื่อง

 ๕.การประเมินโครงการ มีบทคัดย่อเหมือนกับการทำวิจัย

ส่วนที่ ๒ เนื้อหา

บทที่ ๑

๑.ขาดการนำเสนอข้อมูลสารสนเทศว่าที่แสดงให้เห็นปัญหาในระดับโรงเรียน/สถานศึกษา/รายวิชาที่ทำ ว่ามีปัญหาหรือไม่ อย่างไร  

๒.ขาดเหตุผลในการตัดสินใจเลือกใช้สื่อ นวัตกรรมในการศึกษาครั้งนี้

๓.การนำเสนอตัวแปรไม่ครบ ไม่ครอบคลุม ในประเด็นที่ศึกษาและไม่ชัดเจน

๔.การนิยามศัพท์ไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุมตัวแปรที่ศึกษา เขียนเป็นหลักการ ทฤษฎี เขียนกว้างเกินไป ไม่เป็นเชิงปฏิบัติการ

๕.การตั้งสมมติฐานไม่มีทฤษฎีรองรับหรือปรากฏในบทที่ ๒ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ศึกษา บางครั้งตั้งไม่ถูก สมมติฐานต้องเกี่ยวข้องกับตัวแปรที่ศึกษา ไม่ครอบคลุมตัวแปรที่ศึกษา ไม่สอดคล้องกับสถิติที่ใช้

๖.การใช้ภาษาไม่คงที่หรือไม่นิ่ง ในคำ คำเดียวกัน

๗.รูปแบการพิมพ์ตัวหนา ตัวบางขาดการจัดระบบ ตัวใหญ่ ตัวเล็ก พิมพ์คนละรูปแบบตัวอักษร

บทที่ ๒

๑.การนำเสนอหัวข้อเรื่องแต่ละเรื่องขาดการสังเคราะห์จัดกลุ่ม จัดหมวดหมู่ บางเรื่องซ้ำซ้อนกัน บางเรื่องอยู่คนละเรื่องนำมาไว้ด้วยกัน รายละเอียดของแต่ละเรื่องที่นำเสนอไม่สอดคล้องกับหัวข้อเรื่อง และบางเรื่องต้องมีหัวข้อย่อย แต่ไม่มี

๒.การนำเสนอหัวข้อเรื่องและรายละเอียดของแนวคิด หลักการ ทฤษฎี ขาดการการกล่าวนำเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยง การจัดรูปแบบนำเสนอคนละรูปแบบ ไม่ป็นระบบเดียวกัน

๓.การนำเสนอเนื้อหารายละเอียดของหัวข้อย่อย ไม่สัมพันธ์กับหัวข้อเรื่อง 

๔.การนำเนื้อหาทางวิชาการมาต่อ ๆ กัน โดยไม่มีการสังเคราะห์ วิเคราะห์เท่าที่ควรจะเป็น

๕.การการจัดระบบย่อหน้าและการให้รหัสตัวเลขนำหน้าข้อความ ไม่เป็นระบบเดียวกัน

๖.การอ้างอิงแนวคิด ทฤษฎี หลักการ ขาดการระบุปี หมายเลขหน้า  

๗.การอ้างอิงชื่อภาษาอังกฤษ หลายรูปแบบ มีทั้งเขียนทับคำศัพท์ เขียนภาษาอังกฤษผสมทับศัพท์ เขียนภาษาอังกฤษอย่างเดียว

๘.การเขียนอ้างใน อ้างถึงใน อ้างจาก อ้างอิงมาจาก คนละรูปแบบ

๙.การอ้างอิงในเนื้อหาไม่ถูกต้อง ใช้ชื่อหนังสืออ้างอิง ไม่ใช้ชื่อหน่วยงาน/บุคคล

๑๐.การอ้างอิงในเนื้อหากรณีที่ชื่อบุคคลหรือหน่วยงานอยู่ตามหลังข้อความคนละ      รูปแบบ เช่น  (ชื่อหน่วยงาน/คน,ปี: เลขหน้า) อีกเล่ม (ชื่อหน่วยงาน/คน.ปี: เลขหน้า) บางเล่ม (ชื่อหน่วยงาน/คน  ปี: เลขหน้า)  และในกรณีที่ชื่อหน่วยงานหรือบุคคลอยู่หน้าข้อความคนละรูปแบบ เช่น ชื่อหน่วยงาน/คน.(ปี: เลขหน้า)บางเล่ม ชื่อหน่วยงาน/คน  (ปี: เลขหน้า)

๑๑. ขาดการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อความ

๑๒.รูปแบบการอ้างอิงจากเว็บไซด์ คนละรูปแบบ

๑๓.เอกสารที่อ้างอิง ไม่ปรากฏในบรรณานุกรม

๑๔.เอกสารที่นำมาอ้างอิงไม่ทันสมัย(เก่า) ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบันมารนำเสนอไว้มากมายไม่นำมาอ้างอิง

๑๕.เอกสารที่นำมาอ้างอิง ที่เป็นหน่วยงานเดียวกันหรือบุคคลคนเดียวกัน พิมพ์ปีเดียวกันหลายเล่ม เขียนอ้างอิงไม่ถูกต้อง

๑๖.ขาดการสังเคราะห์ สรุปแนวคิด ทฤษฎี ในบางเรื่องที่เชื่อมโยงสู่เรื่องที่ทำการศึกษา

๑๗.การสังเคราะห์และสรุป  ไม่สอดคล้องกับหัวข้อเรื่องหรือไปคนละเรื่อง

๑๘.การสรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  ไม่เชื่อมโยงถึงตัวแปรที่ศึกษา

๑๙.เอกสารที่นำมาอ้างอิง ชื่อ ชื่อสกุล ชื่อหน่วยงาน ไม่ปรากฏในบรรณานุกรม

๒๐.เอกสารที่นำมาอ้างอิง ชื่อ ชื่อสกุล ชื่อหน่วยงาน ปี ไม่ตรงกันกับที่ปรากฏในบรรณานุกรม

๒๑.แนวคิด ทฤษฎี หลักการ ไม่ครอบคลุมตัวแปรที่ศึกษา และการนำเสนอไม่สมดุล หัวข้อบางเรื่อง มี ๑๐ คน/หน่วยงาน หัวข้อบางหัวข้อ/เรื่อง มีเพียงคนเดียว/หน่วยงานเดียว

๒๒.การใช้ภาษาอังกฤษ  มีทั้งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก ปะปนกันไม่เป็นระบบเดียวกัน

๒๓.ไม่อ้างอิงที่มาของภาพ

บทที่ ๓

๑.ประชากรและกลุ่มตัวอย่างไม่สัมพันธ์กัน เช่น ประชากรเป็นโรงเรียน แต่กลุ่มตัวอย่างเป็นคน

๒. การหาค่า IOC ผิด ต้องนำเสนอคุณภาพเป็นรายการ ไปนำเสนอในภาพรวม การตรวจสอบความตรง(validity) เป็นความตรงด้านไหน เช่น ด้านเนื้อหา

๓.ขาดเหตุผลในการเลือก/สุ่มกลุ่มตัวอย่าง ต้องเลือกวิธีที่ถูกและเหมาะสมกับขนาดกลุ่มตัวอย่าง

๔.ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน ไม่กว้างขวาง ไม่หลากหลาย ไม่ตรงกับสาขาวิชาที่ศึกษา

๕..การใช้สัญลักษณ์ค่าเฉลี่ยและค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แทนประชากรหรือกลุ่มตัวอย่างผิด

๖.การใช้สัญลักษณ์ S หรือ S.D หรือ S.D. คนละตัว

๗.เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะแบบสอบถาม รายการที่ให้ผู้เรียนตอบ ผู้เรียนตอบไม่ได้เพราะไม่ได้รู้มาก่อน หรือใช้ภาษาไม่เหมาะสมกับวัย

๘.เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล แบบวัด...แบบสอบถาม ไม่นำเสนอคุณภาพรายข้อที่แสดงถึงอำนาจจำแนก และคุณภาพทั้งฉบับค่า Reliability ค่าที่วิเคราะห์ไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด บางครั้งวิเคราะห์หา Reliability ก่อนการวิเคราะห์หาค่าอำนาจจำแนก ค่าความยากง่าย (เรียงลำดับผิด)

๙.เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเฉพาะแบบทดสอบ ไม่นำเสนอคุณภาพรายข้อที่แสดงถึงความยากง่าย อำนาจจำแนก และคุณภาพทั้งฉบับค่า Reliability แบบทดสอบที่สร้างมีจำนวนข้อ เท่ากับจำนวนที่ต้องการใช้ ผลการวิเคราะห์หา ค่าความยากง่าย กระจุกไม่กระจาย (กระจุกไปทางยากหรือกระจุกไปทางง่าย) ค่าอำนาจจำแนก กระจุก (จำนวนข้อมาก) ไปทางค่อนข้างต่ำหรือใกล้ .๒๐ มาก

๑๐.การสร้างแบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้ มี ๒ ฉบับ คือ ฉบับที่ ๑ วัด(ทดสอบ)ก่อน ฉบับที่ ๒ วัด(ทดสอบ)หลัง มีความต่างกัน ฉบับที่ ๒ ไม่มีการ Try out ทำให้คุณภาพไม่แน่ใจว่าเป็นลักษณะคู่ขนานจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่จะนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้

๑๑.การวิเคราะห์หา Reliability ไม่ได้ตัดข้อที่ใช้ไม่ได้ทิ้งก่อน

๑๒.สื่อ นวัตกรรม เครื่องมือที่เก็บรวบรมข้อมูล ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และทดลองใช้

๑๓.กระบวนการการทดลองสื่อ นวัตกรรม และเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ไม่ชัดเจน ว่าทดลองกับใคร เมื่อไร ลักษณะบุคคลเป็นอย่างไร

๑๔.การทดลองแบบทดสอบไปทดลองกับบุคคลกลุ่มเดียวกันกับการทดลองใช้สื่อ นวัตกรรมไม่ถูกต้อง

๑๕.การทดลองแบบทดสอบ ไปทดลองกับนักเรียนที่ยังไม่ได้เรียนเนื้อหาที่ศึกษา

๑๖.การทดลองแบบทดสอบเกิดขึ้นภายหลังหรือเกิดขึ้นพร้อมกับการทดลองสื่อ นวัตกรรมไม่ถูกต้อง

๑๗.การใช้สูตรผิด การเลือกใช้ค่า KR ๒๐ KR ๒๑ ไม่ถูกต้อง ต้องตรวจสอบเรื่องข้อตกลงของสูตร    ทั้งสอง

๑๘.การเลือกใช้สถิติ ไม่เหมาะสมหรือผิด กับประชากร ไม่เหมาะสมกับกลุ่มตัวอย่าง ไม่เหมาะสมกับขนาดของกลุ่มตัวอย่าง

บทที่ ๔

๑.การนำเสนอผลการวิเคราะห์ ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ศึกษา

๒.การแปลผลไม่ถูกต้อง แปลผลโดยไม่ได้กำหนดเกณฑ์การแปลผลไว้ก่อน  การแปลผลไม่สอดคล้องกับสมมติฐาน(แบบหางเดียว สองหาง)  การแปลผลนำเสนอรายละเอียดทุกรายการไม่ถูกต้องต้องนำเสนอรายการที่เด่น ๆ เท่านั้น

๓.การนำเสนอตารางหนึ่งตาราง แต่แสดงการหาหลายประเด็นเช่นหาทั้งประสิทธิภาพและหาความก้าวหน้า

๔.การนำเสนอ ไม่ลำดับตามวัตถุประสงค์ที่ศึกษา

๕.ข้อมูลเก็บมาแยกกลุ่มแต่การวิเคราะห์ไม่แยกกลุ่ม นำเสนอรวม

๖.มีการตั้งสมมติฐาน แต่ไม่ได้ทดสอบสมมติฐาน

บทที่ ๕

๑.วัตถุประสงค์ที่นำเสนอบทที่ ๕ กับบทที่ ๑ เขียนไม่เหมือนกัน

๒.การสรุปผลไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่กำหนด ไม่ตอบคำถามที่ตั้งไว้ ไม่ครอบคลุมตัวแปรที่ศึกษา สรุปเยิ่นเย้อ ยาวไม่กระชับ

๓.การอภิปรายผลขาดเหตุผลในเชิงแนวคิด ทฤษฎี หลักการและงานวิจัยที่สอดคล้องในบทที่ ๒  มาสนับสนุน  แนวคิด ทฤษฎี หลักการและงานวิจัยที่นำมาอภิปรายไม่ได้ศึกษาในบทที่ ๒ มาก่อน

                ๔.การเขียนข้อเสนอแนะ ไม่นำข้อที่ค้นพบที่เป็นจุดอ่อน จุดบกพร่องหรือจุดที่เป็นข้อจำกัดมาเสนอแนะ  บางครั้งการเสนอแนะขาดทิศทางว่าเสนอแนะใคร เสนอแนะอะไร เสนอให้ทำอย่างไร ข้อเสนอแนะไม่ใช่เป็นผลที่ศึกษาจากเรื่องนี้

บรรณานุกรม

๑.มีไม่ครบตามที่อ้างอิงในเนื้อหา

๒.เขียนคนละรูปแบบ (ชื่อหน่วยงาน,การวางปี,พิมพ์ครั้งที่ ,กรุงเทพฯ กับกรุงเทพมหานคร,วิทยานิพนธ์,วารสาร)

๓.การสะกดชื่อ นามสกุล ปีไม่ตรงกับที่อ้างอิงในเนื้อหา

๔.พิมพ์ตก (.),

๕.เอกสารที่เป็นหน่วยงานเดียวกันหรือบุคคลคนเดียวกัน พิมพ์ปีเดียวกันหลายเล่ม เขียนไม่ถูกต้อง

๖.เรียงลำดับผิด

๗.บางเล่มชื่อโรงพิมพ์หาย,บางเล่มปีหาย,

ส่วนที่ ๓ ภาคผนวก

๑.ไม่แสดงสื่อ นวัตกรรม

๒.ไม่มีเครื่องมือที่เก็บรวบรวมข้อมูล

๓.วิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปไม่นำเสนอ Printout

๔.ไม่มีหลักฐานการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการ บางครั้งไปเผยแพร่แต่สื่อ นวัตกรรมไม่ได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

 ๕.ผลการวิเคราะห์ข้อมูลในภาคผนวกขัดแย้งกับที่นำเสนอในบทที่ ๔

 ๖.นอกจากนั้น การจัดระบบย่อหน้า พิมพ์ตก พิมพ์ผิด พิมพ์ฉีกคำ/ข้อความ

  ๗.แบบสอบถามครู กับนักเรียนเป็นฉบับเดียวกัน นักเรียนตอบไม่ได้บางรายการ

                ทั้งนี้ที่นำเสนอ เป็นข้อบกพร่องเพียงบางส่วน หรือส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมากมาย ดังนั้นในการจัดทำผลงานทางวิชาการเพื่อเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้น ผู้เสนอขอหรือผู้ถูกประเมินจะต้องมีความละเอียด รอบครอบ ประณีต ไม่รีบร้อน ต้องตรวจสอบและทบทวนหลายครั้งหลายรอบและขอความอนุเคราะห์ ให้คนอื่นที่มีความรู้(Expert) ช่วยตรวจสอบ เช่น ทางด้านบรรณารักษ์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วัดผล วิจัย และทางด้านเนื้อหา (Content) จะทำให้ผลงานมีความบกพร่องน้อยที่สุดหรือไม่บกพร่องเลย

               

หมายเลขบันทึก: 362024เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2010 12:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2012 11:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ

   เป็นประโยชน์ต่อการทำวิทยฐานะเป็นอย่างยิ่งค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ ดีจังเลย จะได้ไปตรวจสอบงานตัวเอง

ขอขอบพระคุณที่เปิดโลกทัศน์ให้กับผู้อื่น

เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพงานครับท่าน ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง

ขอโทษนะคะ

ขออนุญาติรบกวนขอความรู้จากท่านซักนิดนะคะ

คือสงสัยว่า

เวลา Try out จะใช้นักเรียนกลุ่มใดในการ Try out คะ

เช่น ทดลองจริงปี 52 แต่ Try out นร.ปี51ได้มั้ยคะ

หรือต้อง Try out ปี 52 แต่เป็นคนละโรงเรียนกันแต่เขตพท.เดียวกัน

ขอบคุณค่ะ

ขอโทษค่ะพอดีย้ายคำถามไปที่ การ try out เครื่องมือทำอย่างไร แล้วค่ะ

การtry-out มี ๒ กรณี

๑.Try-out สื่อ นวัตกรรม ต้อง Try-out กับนักเรียนในระดับชั้นเดียวกัน มีลักษณะเหมือนกลุ่มตัวอย่าง และจะต้องยังไม่เคยเรียนเนื้อหาที่ใช้ประกอบสื่อ นวัตกรรมนี้มาก่อน ปีไหนก็ได้ ขอให้ดำเนินการก่อนที่จะไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ถ้าจะให้ดีควร try-out กับนักเรียนโรงเรียนของเรา ก่อน ๑ ปี(ในกรณีมีห้องเดียวในชั้นนั้น) ถ้ามีมากกว่า ๑ ห้อง ก็ try-out ห้องหนึ่งและนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างอีกห้อง ก็ได้

๒.การTry-out เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ต้องดำเนินให้แล้วเสร็จก่อนนำสื่อ นวัตกรรมไปใช้ ในกรณีที่เป็นแบบทดสอบ มีข้อแม้ว่าเด็กนักเรียนต้องเรียนเนื้อหาที่ใช้ในสื่อ นวัตกรรมนั้นมาแล้วจึงจะtry-out ได้ คำว่าเรียนมาแล้วมี ๒ กรณี เด็กชั้นเดียวกันหลังจากเรียนแล้วก็ Try-out ในกรณีที่ชั้นเหนือขึ้นไป ๑ ระดับ ต้อง Try-out ภาคเรียนที่ ๑ เพื่อจะได้ไม่มีความรู้เพิ่มขึ้นจากเดิม คือมีความรู้เท่าชั้นเดิมอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบสอบถามหรือแบบวัดคุณลักษณะที่มีต่อสื่อ นวัตกรรม สามารถนำไป try-out กับกลุ่มที่ใช้ try-out สื่อ นวัตกรรมได้

ไม่ทราบตอบตรงคำถามหรือไม่ครับ

เป็นวิทยาทานแก่ครูทุกท่านที่มีใจสู้ ถ้ามีข้อสงสัยขออนุญาตเรียนถามท่าน

สัวัสดีคะ

ดีมากเลยที่มาพบเรื่องนี้ดิฉันกำลังจัดทำผลงานทางวิชาการอยู่พอดี มีประโยชน์มาก

ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท