พหุปัญญาการเรียนรู้ที่แตกต่าง


พหุปัญญาการเรียนรู้ที่แตกต่าง

                                     พหุปัญญา : การเรียนรู้ที่แตกต่าง       

                                                                                     *  ปฐมาพร  บัวมาศ

             เด็กแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน  นั้นก็เปรียบได้กับสายรุ้งที่อยู่บนท้องฟ้าซึ่งมีหลากหลายสี  บุคคลก็เหมือนกันมีความแตกต่างระหว่างบุคคล  บุคคลจึงมีความหลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นการแตกต่างกันทางด้านความชอบ  รสนิยม  การมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล  ดังนั้นท่านพ่อแม่  ผู้ปกครองทั้งหลายควรที่จะตระหนัก  และมองให้เห็นถึงคุณค่าของความแตกต่างระหว่างบุคคลของเด็กแต่งละคนที่มีอยู่ในตัวของเด็กแต่ละคนนั้น  เพื่อที่จะเป็นการเริ่มค้นหาความแตกต่างของเด็กแต่ละคน  ว่าเด็กคนไหนเก่งด้านใด  เด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการเรียนรู้  ความถนัด  และความสามารถที่แตกต่างกันออกไป  เมื่อค้นพบแล้วว่าเด็กคนใดเก่งทางด้านใด  ก็ควรที่จะดำเนินกิจกรรมการพัฒนาเด็กตามศักยภาพ  และต้องพัฒนาเด็กให้เต็มตามศักยภาพ  และให้เด็กได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่ในตัวเด็กให้ได้แสดงออกมาให้สูงสุด

                ดร.  โฮเวิร์ด  การ์ดเนอร์  (Howard  Gardner)  แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ประเทศสหรัฐอเมริกา  ผู้ก่อตั้งทฤษฎีพหุปัญญา  (Theory  of  Multiple  Intelligences)  ให้คำจำกัดความของคำว่า  “ปัญญา”  ไว้ดังนี้ 

                พหุปัญญา หมายถึง สติปัญญาความสามารถที่หลากหลายของบุคคลที่มี ความสามารถที่มาจากการถูกควบคุมโดยสมองแต่ละส่วน และการพัฒนาสมองต้องได้รับการเลี้ยงดูจากสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม การส่งเสริมความสามารถทางสติปัญญาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีเป้าหมาย คิดอย่างมีเหตุผลและต้องจัดให้เหมาะสมกับความแตกต่างระหว่างบุคคลเพื่อให้พัฒนา ความสามารถทางสติปัญญาของบุคคลในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลักษณะสำคัญของทฤษฎีพหุปัญญา

                1.  เชาว์ปัญญาของบุคคลมิได้มีเพียงความสามารถทางภาษาและทางคณิตศาสตร์  เท่านั้น  แต่มีอยู่อย่างหลากหลายถึง  8  ประการด้วยกัน  ซึ่งเขาบอกว่า  ความจริงอาจจะมีมากกว่านี้  คนแต่ละคนจะมีความสามารถเฉพาะด้านที่แตกต่างไปจากคนอื่น  และมีความสามารถในด้านต่างๆ  ไม่เท่ากัน  ความสามารถที่ผสมผสานกันออกมา  ทำให้บุคคลแต่ละคนมีแบบแผนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน

              2.  เชาว์ปัญญาของแต่ละบุคคลจะไม่คงที่อยู่ที่ระดับที่ตนมีตอนเกิด  แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  หากได้รับการส่งเสริมที่เหมาะสม

        ในความคิดของการ์ดเนอร์  เชาว์ปัญญาของบุคคลประกอบด้วย  ความสามารถ  3  ประการ  คือ 

             1.  ความสามารถในการแก้ปัญหาในสภาพการณ์ต่างๆ  ที่เป็นไปตามธรรมชาติ  และตามบริบททางวัฒนธรรมของบุคคลนั้น

             2.  ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพและสัมพันธ์กับบริบททางวัฒนธรรม

             3.  ความสามารถในการแสวงหาหรือตั้งปัญหาเพื่อหาคำตอบและเพิ่มพูนความรู้

                เชาว์ปัญญา  8  ด้าน  ตามแนวคิดของการ์ดเนอร์  มีดังนี้

                1.  เชาว์ปัญญาด้านภาษา  (linguistic  intelligence)  เชาว์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองส่วนที่เรียกว่า  “broca’ s  area”  สติปัญญาด้านนี้แสดงออกทางความสามรถในการอ่าน  การเขียน  การพูดอภิปราย  การสื่อสารกับผู้อื่น  การใช้คำศัพท์  การแสดงออกของความคิด  การประพันธ์  การแต่งเรื่อง  การเล่าเรื่อง  เป็นต้น

                2.  เชาว์ปัญญาด้านคณิตศาสตร์หรือการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ  (logical  mathematical  intelligence)  ผู้ที่มีอัจฉริยภาพทางการใช้เหตุผลเชิงตรรกะ  มักจะคิดโดยใช้สัญลักษณ์  มีระบบระเบียบในการคิด  ชอบคิดวิเคราะห์  แยกแยะสิ่งต่างๆ  ให้เห็นชัดเจน  ชอบคิดและทำอะไรตามเหตุผล  เข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ง่าย  ชอบและทำคณิตศาสตร์ได้ดี

3.  สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์  (spatial  intelligence)  เชาว์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองซีกขวา  และแสดงออกทางความสามารถด้านศิลปะ  การวาดภาพ  การสร้างภาพ  การคิดเป็นภาพ  การเห็นรายละเอียด  การใช้สี  การสร้างสรรค์งานต่างๆ  และมักจะเป็นผู้มองเห็นวิธีการแก้ปัญหาในมโนภาพ

                4.  เชาว์ปัญญาด้านดนตรี  (musical  intelligence)  เชาว์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองซีกขวา  แต่ยังไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่นอนได้  บุคคลที่มีสติปัญญาทางด้านนี้  จะแสดงออกทางความสามารถในด้านจังหวะ  การร้องเพลง  การฟังเพลงและดนตรี  การแต่งเพลง  การเต้น  และมีความไวต่อการรับรู้เสียงและจังหวะต่างๆ

                5.  เชาว์ปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกายและกล้ามเนื้อ  (bodily – kinesthetic  intelligence)  เชาว์ปัญญาด้านนี้ถูกควบคุมโดยสมองส่วนที่เรียกว่า  คอร์เท็กซ์  โดยด้านซ้ายควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกขวา  และด้านขวาควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายซีกซ้าย  สติปัญญาทางด้านนี้สังเกตได้จากความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกาย  เช่น  ในการเล่นกีฬา  และเกมต่างๆ  การใช้ภาษาท่าทาง  การแสดง  การเต้นรำ  ฯลฯ

                6.  เชาว์ปัญญาด้านการสัมพันธ์กับผู้อื่น  (interpersonal  intelligence)  เชาว์ปัญญาด้านนี้  ถูกควบคุมโดยสมองส่วนหน้า  ความสามารถที่แสดงออกทางด้านนี้  เห็นได้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น  การทำงานกับผู้อื่น  การเข้าใจและเคารพผู้อื่น  การแก้ปัญหาความขัดแย้ง  และการจัดระเบียบ  ผู้มีความสามารถทางด้านนี้  มักเป็นผู้มีความไวต่อความรู้สึก  และความต้องการของผู้อื่น  มีความเป็นมิตร  ชอบช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้อื่น

                7.  เชาว์ปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง  (intrapersonal  intelligence)  บุคคลที่มีความสามารถในการเข้าใจตนเอง  มักเป็นคนที่ชอบคิด  พิจารณา  ไตร่ตรอง  มองตนเอง  และทำความเข้าใจถึงความรู้สึกและพฤติกรรมของตนเอง  มักเป็นคนที่มั่นคงในความคิดความเชื่อต่างๆ  จะทำอะไรมักต้องการเวลาในการคิดไตร่ตรอง  และชอบที่จะคิดคนเดียว  ชอบความเงียบสงบ  สติปัญญาทางด้านนี้  มักเกิดร่วมกับสติปัญญาด้านอื่น  มีลักษณะเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเชาว์ปัญญา  อย่างน้อย  2  ด้านขึ้นไป

                8.  เชาว์ปัญญาด้านความเข้าใจธรรมชาติ  (naturalist  intelligence)  เชาว์ปัญญาด้านนี้เป็นความสามารถในการสังเกตสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  การจำแนกแยกแยะ  จัดหมวดหมู่สิ่งต่างๆ  รอบตัวบุคคลที่มีความสามารถทางนี้  มักเป็นผู้รักธรรมชาติ  เข้าใจธรรมชาติ  ตระหนักในความสำคัญของสิ่งแวดล้อมรอบตัว  และมักจะชอบและสนใจสัตว์  ชอบเลี้ยงสัตว์เลี้ยง  เป็นต้น

การพัฒนาปัญญาหลายด้านเพื่อการเรียนรู้  มีความสำคัญสำหรับนักเรียน  หากมีความเชื่อในเรื่องทฤษฎีพหุปัญญา  ศักยภาพของมนุษย์  และการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางแล้ว  ครูผู้สอนควรตระหนักถึงการพัฒนาคนชองชาติให้มีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพ  ทั้งทางด้านร่างกาย  ด้านอารมณ์ – จิตใจ  ด้านสังคม  และด้านสติปัญญาเพื่อจะเป็นพื้นฐานในการสร้างครอบครัว  ชุมชน  สังคม  และประเทศชาติต่อไป

                ครูผู้สอนสามารถสำรวจความสามารถทางสติปัญญา  หรืออาจจะสำรวจความเก่งตามทฤษฎีพหุปัญญาของนักเรียนเพื่อสนับสนุนข้อมูลการรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลด้านอื่นๆ  และเพื่อค้นหาจุดเด่น  จุดที่ควรปรับปรุงในตัวนักเรียน  และนำข้อมูลไปพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน  เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาได้เต็มตามศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน

เอกสารอ้างอิง

ทิศนา  แขมมณี.  2552. ศาสตร์การสอนองค์ความรู้เพื่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่มี

ประสิทธิภาพ.  กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

อารี สัณหฉวี  และอุษณีย์  อนุรุทธ์วงศ์. 13  พฤษภาคม  2553.  พหุปัญญา (Online). Available URL:

http://www.thaigifted.org

พหุปัญญา  (Online).13  พฤษภาคม  2553.  http://www.maneeya.ac.th/uploads/files/_________2.doc

หมายเลขบันทึก: 361502เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2010 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 17:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทาย และมาเป็นกำลังใจให้กันค่ะ

                       

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท