โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ : สคส. เจอคู่แข่งแล้ว ตอนที่ 1


สคส. เจอคู่แข่งแล้วค่ะ

              อย่างที่เล่าไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วว่า  ผู้เขียนได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ  “ทีมแกนนำนักจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  และสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  กลุ่มเป้าหมายโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้”  รุ่นที่ 3  และในเวทีนี้  เป็นเวทีแรกที่ทีมนักวิจัยของโครงการฯ  ต้องเพิ่มบทบาทของตนเอง  มาเป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้ด้วย  นอกเหนือจากบทบาทการเป็นนักวิจัย   ซึ่งทีมวิทยากรมือใหม่ครั้งนี้มีจำนวน 6  คน  (หัวหน้าทีมวิทยากร  คือ  ผศ. ดร. เลขา  ปิยะอัจฉริยะ   บอกว่า  ใช้วิทยากรเปลืองกว่า  ครั้งที่ สคส.  เป็นวิทยากรให้ในสองครั้งแรกตั้งสามเท่า  อีกทั้งวิทยากรแต่ละคนก็ล้วนเป็นผู้ทรงทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิทั้งสิ้น)
              วิทยากรคนแรก  คือ ผศ.ดร. สุกัญญา  ศรีโพธิ์  คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์  มรภ. สวนสุนันทา  ซึ่งรับผิดชอบช่วงกิจกรรมสานสัมพันธ์  และกิจกรรมกลุ่มย่อย  “การสะท้อนความคิดการจัดการความรู้ในองค์กร”  โดยวัตถุประสงค์ของกระบวนการนี้ คือ  การให้ผู้เข้าร่วมได้ร่วมกันตกผลึกความคิด  ความเข้าใจการจัดการความรู้  จากการรับฟังบรรยายของ  อ.ประพนธ์  ในช่วงเช้า   รวมทั้งร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า  ในโรงเรียนของตนเองมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือไม่  อย่างไร   ซึ่งช่วงการนำเสนอ  แต่ละกลุ่มสะท้อนความคิดการจัดการความรู้ได้อย่างน่าสนใจ  สะท้อนถึงความเข้าใจในแนวคิดหรือ  Concept  ของ  KM  ได้ดี  โดยเฉพาะในครั้งนี้ มีการนำเสนอที่เน้นถึงความรู้ 2  ประเภทค่อนข้างเยอะ  ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า  กิจกรรมการเล่าเรื่อง  ในวันพรุ่งนี้  (23  มิถุนายน)  ผู้เข้าร่วมจะสามารถเล่าเรื่อง  ที่เป็นส่วนของ  Tacit  Knowledge  ได้มากน้อยเพียงใด  
               ส่วนกิจกรรมช่วงกลางคืน  คือ  การชี้แจงบทบาทและฝึกปฏิบัติทักษะการเป็น   “คุณอำนวย”  และ  “คุณลิขิต”  ประจำกลุ่มย่อย  พร้อมทั้งการกำหนดหัวข้อการพูดคุยเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนเรียนรู้    โดยมี  ผอ.วัฒนา  อาทิตย์เที่ยง จากสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษาของ สกศ.  เป็นวิทยากรกระบวนการ  ซึ่งได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น   5    กลุ่ม  คือ  กลุ่มบุคลากร สพท. ทั้ง  3  เขต,  กลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา,  กลุ่มครูผู้สอน  จำนวน  3  กลุ่ม  และให้แต่ละกลุ่มคัดเลือก “คุณอำนวย”  และ “คุณลิขิต”  ประจำกลุ่ม  แล้วให้กลุ่มพูดคุยกันเองว่า  สมาชิกกลุ่มจะเล่าเรื่องในหัวข้ออะไร   โดยวิทยากรบอกว่า  การเลือกหัวข้อการพูดคุยหรือหัวปลาย่อยนั้น  จะต้องเป็นเรื่องที่สมาชิกกลุ่มมีประสบการณ์หรือมีเรื่องเล่าร่วมกัน   กิจกรรมช่วงนี้  น่าสนใจเช่นกันค่ะ   เพราะกลุ่มร่วมกันคิดเองว่า จะเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนในเรื่องใด  ขอบเขตขอบข่ายของเรื่องที่จะเล่าอยู่ที่ตรงไหน   นั่นเท่ากับเป็นการสร้างหัวปลาร่วมกัน  ทำให้สมาชิกของกลุ่มรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของหัวข้อที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกันเป็นอย่างดี  ซึ่งผลการพูดคุยเพื่อการกำหนดหัวปลาย่อยออกมาดังนี้ค่ะ
              กลุ่ม 1  บุคลากร  สพท.   เล่าเรื่อง  “การพัฒนาศักยภาพผู้บริหารและครูให้เป็นบุคคลเรียนรู้”
              กลุ่ม 2  ผู้บริหารสถานศึกษา  เล่าเรื่อง  “การพัฒนาคุณภาพไปสู่มาตรฐานการศึกษา
             กลุ่ม 3  ครูผู้สอน-1   เล่าเรื่อง  “กระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน”
              กลุ่ม 4  ครูผู้สอน-2  เล่าเรื่อง  “การพัฒนาวิชาการอย่างมีคุณภาพในสถานศึกษา”
              กลุ่ม 5  ครูผู้สอน-3  เล่าเรื่อง  “การใช้  ICT  เพื่อพัฒนาโรงเรียน”
              เห็นหัวข้อการพูดคุยของของทั้ง  5  กลุ่ม  ก็รู้สึกว่าน่าสนใจและน่าติดตามแล้วใช่ไหมค่ะ 

หมายเลขบันทึก: 36096เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2006 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท