ขยับ "วิทย์" ให้ใกล้ชีวิตประจำวัน


ขยับ "วิทย์" ให้ใกล้ชีวิตประจำวัน
แนะนักวิจัยออกจากแล็บเข้าหาชาวบ้าน ขยับ "วิทย์" ให้ใกล้ชีวิตประจำวัน
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 มิถุนายน 2549 15:05 น.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
(จากซ้าย)นายรุจาธิตย์ สุชาโต ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรม จ.นครศรีธรรมราช และนายปฐม แหยมเกตุ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

       กระทรวงวิทย์ฯ จัดเสวนาเรื่อง “วิทยาศาสตร์ในสายตาชาวบ้าน” หวังสร้างความตื่นตัวและลดช่องว่างความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ฯ ผู้ร่วมเสวนาเผย นักวิจัยควรออกจากห้องแล็บเพื่อพูดคุยและทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น โดยนำวิทยาศาสตร์มาผสมผสานภูมิปัญญาและเชื่อมโยงกับการดำรงชีพ โดยแปรวัตถุดิบธรรมชาติให้เกิดคุณค่าในเชิงพาณิชย์
       

       วันนี้ (28 มิ.ย.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) จัดเสวนาเรื่อง “วิทยาศาสตร์ในสายตาชาวบ้าน” โดยมี นายปฐม แหยมเกตุ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเปิดการเสวนา และดำเนินการเสวนาโดย นายรุจาธิตย์ สุชาโต ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรม จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนักวิชาการ และนักวิจัย ร่วมฟังการเสวนาครั้งนี้ด้วย
       
       นายปฐม กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตในสังคมเพิ่มมากขึ้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงมีนโยบายในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อการมุ่งให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง
       
       อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างของความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งแนวทางหนึ่งในการที่จะลดช่องว่างดังกล่าว จะต้องเข้าใจลักษณะของประชาชนในสังคมไทยด้วยว่า มีความคิด ความเชื่อ และทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร
       
       นายรุจาธิตย์ กล่าวว่า นักวิจัยและนักวิชาการมีบทบาทสำคัญในการทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวกับชาวบ้าน โดยนำเทคโนโลยีง่ายๆ มาผสมกับภูมิปัญญาชาวบ้าน และแปรวัตถุดิบให้เป็นสิ่งที่มีค่า โดยคำนึงถึงเชิงพาณิชย์เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น น้ำเสียในนากุ้งมีมูลกุ้งก็สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ย การกำจัดผักตบชาแทนที่จะใช้เครื่องจักรบดทำลาย ก็นำมาผสมเกลือและปัสสาวะของวัว หลังจากนั้นนำมาหมักประมาณ 4-5 เดือนก็กลายเป็นปุ๋ย การใช้สะเดาเพื่อยับยั้งการลอกคราบของแมลง หรือการใช้สะเดายับยั้งการลอกคราบของกุ้งเพื่อให้กุ้งเปลือกหนา มีน้ำหนักมากเมื่อจำหน่ายก็จะได้ราคาดี เป็นต้น
       
       “สิ่งสำคัญ คือนักวิจัยต้องรู้จักคิดแบบเข้าใจธรรมชาติ เช่น อย่าคิดว่ากุ้งต้องการอะไร เพราะจะเป็นการใส่ความคิดส่วนตัวเข้าไป ไม่ควรมองความคิดของตนเองเป็นโจทย์ แต่ควรคิดว่า ถ้าเราเป็นกุ้งเราจะต้องการอะไรมากกว่า โดยควรคิดกลับไปมาเพื่อหาสาเหตุของปัญหา ติดตามปัญหา และจัดระเบียบความคิด อย่างไรก็ดี การที่นักวิจัยยังคงทำงานในห้องแล็บมากกว่าการออกไปพบปะชาวบ้าน ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้งานวิจัยออกมาไม่ประสบความสำเร็จหรือเข้าไปไม่ถึงชาวบ้าน”
       
       “ชาวบ้านในปัจจุบันนี้มีหลายระดับบางคนมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้าง ก็สามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปต่อยอดดัดแปลง แต่หากเป็นชาวบ้านที่ยังมองว่าวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเรื่องไกลตัว นักวิจัยก็ต้องมีบทบาทในการเข้าถึงและพูดคุยชาวบ้านให้มากขึ้น เพื่อเรียนรู้ความต้องการของชาวบ้าน โดยนักวิจัยควรผสมผสานระหว่างความรู้และวิถีการประกอบอาชีพของชาวบ้าน เพื่อดึงวิทยาศาสตร์ให้มีความเชื่อมโยงและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง” นายรุจาธิตย์ กล่าว
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจัดเสวนาเรื่อง “วิทยาศาสตร์ในสายตาชาวบ้าน” แต่ก็ไม่มีการเชิญชวนให้ชาวบ้านร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้เสวนาแต่อย่างใด โดยนายปฐม ชี้แจงว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้ เพื่อต้องการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกับนักวิจัย และนักวิชาการ เพื่อสร้างความตระหนักก่อนจะนำความรู้งานวิจัยไปถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านต่อไป อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงฯมีโครงการจะนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเผยแพร่ให้กับชาวบ้านด้วย
source:http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9490000083596
หมายเลขบันทึก: 36024เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2006 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 เมษายน 2012 13:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พุทธทาสภิกขุ

           "หลักวิทยาศาสตร์สนับสนุนหลักใหญ่ของพุทธศาสนา โดยเฉพาะสนับสนุนเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

           กฎของวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเหตุผล เหตุสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี กฎอิทัปปัจจยตามีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์อยู่อย่างเต็มที่

          

 

(ต่อค่ะ มือเผลอไปโดนปุ่มบันทึก แหะ)

       "(แต่) วิทยาศาสตร์ทั้งหลายไม่มองในเรื่องดับทุกข์ในจิตใจของคนเอาเสียเลย มองออกข้างนอก ก้าวหน้าในทางวัตถุเรื่อยไป

       "ทำให้เกิดของใหม่ๆ ออกมาเรื่อย แปลกออกมาเรื่อย แล้วมันก็น่าอัศจรรย์มากยิ่งขึ้นจนคนหลงใหล อย่างปรากฏว่า ได้นาฬิการุ่นใหม่ที่มีวันที่ เขาคำนวณให้มันมีวันที่ตรงในตัวมันเอง ทั้งที่บางเดือนมี 28 วัน บางเดือนมี 31 วัน โดยเราไม่ต้องไปแตะต้อง นี่เสียหัวคิดไปตั้งเท่าไหร่ๆ ถ้ามันเอาหัวเหล่านี้มาใช้ในเรื่องเกี่ยวกับความดับทุกข์ทางจิตใจกันบ้าง

        "ต้องให้เวลากลับตัวอีกสักพัก จึงจะเอาปัญหาเรื่องดับทุกข์เป็นเรื่องใหญ่ และใช้วิธีหรือวิชาความสามารถทางวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือ อย่างว่าจะใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนในการละกิเลส มันอาจจะไปถึงกะว่าใช้ยากินเพื่อบรรเทาโลภะ โทสะ โมหะ แต่เขาจะคิดหรือไม่ก็ไม่รู้

        "คงไม่เหลือวิสัยที่วิทยาศาสตร์จะมียาหรือวัตถุทางเคมี มันอาจจะป้องกันหรือระงับความโกรธได้ แต่ยังไม่จริงจังเหมือนกะที่ไปคิดทำปรมาณู ถ้าใช้ความคิดทั้งหมดมาค้นในเรื่องนี้มันก็คงจะดี ต้องศึกษาเรื่องจิตให้ถึงที่สุด โดยเฉพาะเรื่องปฏิจจสมุปบาท ที่จะมีผลในการดับทุกข์ได้ถาวร"

 

            -สารคดี ฉบับ 100 ปีชาตกาล พุทธทาส ภิกขุ 

คัดลอกมาเพิ่มเติมในอีกมุมมองหนึ่ง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท