ผลการสัมมนาเรื่องภาวะผู้นำ ที่ มวล.


ผลการประชุมปฏิบัติการยืนยันว่าทุกคนมีภาวะผู้นำอยู่ในตัว และมีเรื่องราวของความสำเร็จเล็กๆ ในการแสดงภาวะผู้นำกันทุกคน
         ผมกลับกรุงเทพด้วยความโล่งอก ที่การประชุมปฏิบัติการ เรื่องภาวะผู้นำ ที่ มวล. ได้ผลดีเกินคาด      คือผลการประชุมปฏิบัติการยืนยันว่าทุกคนมีภาวะผู้นำอยู่ในตัว และมีเรื่องราวของความสำเร็จเล็กๆ ในการแสดงภาวะผู้นำกันทุกคน     คุณลิขิตประจำกลุ่มสามารถตีความและจดบันทึก "ขุมความรู้" ที่เป็นความรู้ปฏิบัติ ว่าด้วยภาวะผู้นำมากมาย     ทางหน่วย OD ของ มวล. คงจะได้เอาเผยแพร่ทาง บล็อก ต่อไป

        มีการแบ่งกลุ่มเล่าเรื่องกัน ๔ กลุ่ม     แต่ละกลุ่มมี "เรื่องเล่าเร้าพลัง" ที่แต่ละกลุ่มเลือกให้เจ้าของเรื่องมาเล่าต่อที่ประชุมใหญ่ และท่านอธิการบดี ดร. สุพัฒน์ พู่ผกา ได้มอบรางวัลให้แก่เจ้าของเรื่องเล่าทั้ง ๔ ด้วยความชื่นชม 

        การประชุมกลุ่มนำเรื่องราวของความสำเร็จเล็กๆ ที่ภาคภูมิใจมาเล่าอย่างสบายๆ ในบรรยากาศชื่นชม  มักจะช่วยให้ค้นพบเพชรที่ซ่อนอยู่เงียบๆ ในองค์กร     ในวันนี้ก็เช่นกัน เราได้ฟังเรื่องเล่าเร้าพลังที่แสดงภาวะผู้นำของคนที่มีบุคลิกเงียบๆ และชอบทำงานอยู่เบื้องหลัง     คือคุณนันทา อภิศักดิ์มนตรี     เรื่องเล่านี้เป็นอย่างไรรอให้ทาง มวล. เขาออกมาเล่าเองนะครับ     ยิ่งคุณนันทาออกมาเขียน บล็อก เล่าเอง ก็จะยิ่งดี 

       ผมโล่งใจและดีใจที่วิธีการประชุมปฏิบัติการ (ไม่บรรยาย) นำไปสู่การดำเนินการต่อ    เพื่อส่งเสริมภาวะผู้นำของสมาชิกทุกคนใน มวล.    เท่ากับเราได้หว่านเมล็ดพืชแห่งความเชื่อแนวใหม่ เรื่องภาวะผู้นำ     ว่าภาวะผู้นำเป็นเรื่องของทุกคน     ทุกคนมีภาวะผู้นำ     องค์กรเรียนรู้จะต้องส่งเสริมให้ภาวะผู้นำที่มีอยู่ในทุกคน เจริญงอกงามและทำประโยชน์ให้แก่เจ้าตัว และแก่ มวล.     ที่ประชุมเขาเรียกการดำเนินการต่อนี้ว่า "โรงเรียนผู้นำ" ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับโรงเรียนผู้นำของท่านมหาจำลอง  

       ผมกลับกรุงเทพด้วยความสดชื่น พร้อมกับข้าวสังข์หยด ๔ กก. ที่ ดร. กีร์รัตน์ และคุณกีร์มาศ สงวนไทร สหายเก่าของผมตั้งแต่สมัยอยู่ที่ มอ. เอามาฝาก     ทั้งสองท่านทราบว่าทั้งภรรยาและผมชอบกินข้าวกล้องสังข์หยดนี้     เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่อร่อยมาก

       ผมมานึกขึ้นได้ว่าที่ผมมีความสุขสดชื่นกับเหตุการณ์วันนี้เป็นพิเศษ น่าจะเป็นเพราะผมมีความผูกพันทางใจกับ มวล. มาก     เนื่องจากเคยรักษาการอธิการบดีอยู่ ๔ เดือนเมื่อ ๗ ปีที่แล้ว     และที่จริงเขาอยากได้ผมไปเป็นอธิการบดี โดยท่านนายกสภาในตอนนั้น (ศ. ดร. เกษม สุวรรณกุล) ติดสินบนด้วยเงินเดือนที่สูงกว่าที่ผมเคยได้   แต่ผมไปไม่ได้เพราะติดเป็น ผอ. สกว.    ผมถือหลักว่าตนเองต้องไม่เป็นนักฉวยโอกาสไปเที่ยวรับตำแหน่งที่ให้ผลประโยชน์สูง ในขณะที่มีภารกิจรับผิดชอบอยู่แล้ว     หลักการนี้ทำให้ผมชวดเงินเดือนที่สูงมาก ๒ ตำแหน่ง     แต่ให้ความภูมิใจใน integrity ของตนเอง  

                             

                                 ถ่ายรูปหมู่ไว้เป็นที่ระลึก

                             

บรรยากาศการประชุมกลุ่มท่ามกลางธรรมชาติ ช่วยการเปิดใจ

                           

บรรยากาศการประชุมกลุ่มใต้ร่มไม้ คนที่ ๒ จากซ้ายคือคุณนันทา เจ้าของเรื่องเล่าเร้าพลังของกลุ่มนี้ พิสูจน์ว่า คนเงียบๆ ทำงานอยู่เบื้องหลังก็แสดงภาวะผู้นำได้

                           

การประชุมท่ามกลางธรรมชาติที่งดงามช่วยให้จิตใจเบิกบาน ปล่อยความรู้ฝังลึกออกมาได้ง่ายขึ้น

                           

                           ความงามที่ถ้าไม่สังเกตก็ไม่เห็น

                                 

                                อีกหนึ่งมุมของสิ่งที่งามพิศ

                             

   ผู้บังคับบัญชาของครูนงเมืองคอนเสนอผลการประชุมกลุ่ม

                            

 วิวนี้เห็นอยู่ไม่นาน เตือนสติว่าโลกนี้เต็มไปด้วยมายา   มายาหลายอย่างมองอย่างผิวเผินรู้สึกว่างดงาม

                            

                                     ข้อเสนอให้ดำเนินการต่อ

วิจารณ์ พานิช
๒๗ มิย. ๔๙
บนเครื่องบินกลับกรุงเทพ    

 

หมายเลขบันทึก: 35844เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2006 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ความสุขอีกอย่างหนึ่งคือการได้เห็นอาจารย์รุ่นใหม่ที่เอางานเอาการ     มีความสามารถ และรักมหาวิทยาลัย    ทำงานแบบไม่เห็นแก่ตัว  
จินตนา ศิริวัฒนโชค(พี่ติ๋ม มวล.)

เรียน คุณหมอวิจารณ์ ที่นับถือ
            ได้พยายามทำหน้าที่ "คุณอำนวย"เพื่อให้ "คุณ นันทา"แสดงภาวะผู้นำอีกครั้ง โดยการเข้ามาเล่าเรื่องที่เร้าพลังในบล๊อก ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน "คุณนันทา"ได้รวบรวมพลังแล้วมาบอกว่า ได้เขียนเล่าไว้แล้ว เมื่อ 5กค.49เวลาประมาณ 19.30น. ดีใจมากรีบมาเปิดดู แต่ก็ไม่พบเสียใจมาก ใครตามหาให้ทีว่ามันผิดพลาดที่ไหน? ถ้าหายไปจริงๆ จะขอให้เล่ามาอีกครั้ง ขอบคุณค่ะ  

นันทา อภิศักดิ์มนตรี

       สวัสดีค่ะ ดิฉัน นางนันทา อภิศักดิ์มนตรี เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ส่วนการเงินและบัญชี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

        ดิฉันต้องขอขอบคุณ คุณจินตนา ศิริวัฒนโชค หัวหน้าส่วนพัสดุ (คุณอำนวยของกลุ่มที่ 3)ที่เดินมาบอกให้เปิดบล็อก KM ของท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ไม่เช่นนั้นดิฉันก็จะยังไม่ทราบว่าท่านได้เขียนถึงดิฉัน และจะทำให้ดิฉันเป็นคนเสียมารยาทไปที่ผู้ใหญ่พูดด้วยแล้วทำเป็นเฉยเสีย  ทั้งยังคอยเป็นห่วงเป็นใยที่ดิฉันได้เขียนแล้วบันทึกผิดพลาดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2549ทำให้ข้อความหายไปทั้งหมด ทำให้ดิฉันมีกำลังใจที่จะเขียนขึ้นมาใหม่ และทำให้ได้เรียนรู้ว่าหากจะส่งข้อความยาวๆ แล้วควรจะบันทึกใน Microsoft Word ไว้ก่อน

 

         ในการเข้าร่วมสัมมนาเรื่องภาวะผู้นำที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จัดในวันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2549นั้น ดิฉันลงชื่อเข้าร่วมสัมมนา เพราะเห็นว่าจัดที่ห้องตุมปัง ซึ่งเป็นห้องที่นั่งฟังบรรยาย ด้วยหวังว่าจะได้ฟังบรรยายจากท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช  แต่พอทางหน่วยพัฒนาองค์กร แจ้งว่าเปลี่ยนสถานที่ เป็นบ้านพักรับรอง ริมน้ำ และเปลี่ยนรูปแบบการสัมมนาเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดิฉันก็ลังเลใจว่าจะเข้าร่วมดีหรือไม่ เนื่องจากกลัวที่จะต้องออกไปพูด แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจไป เพราะไม่อยากให้มีประวัติขาดการสัมมนา ซึ่งหน่วยพัฒนาองค์กรจะต้องบันทึกเอาไว้

 

         หน่วยพัฒนาองค์กรได้จัดให้ดิฉันอยู่ในกลุ่มที่ 3 มีสมาชิกที่เข้าร่วม 6 คน คือ

  1. รศ.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร
  2. ผศ.ดร.มนตรี อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์
  3. .ดร.วรนันท์ ศุภพิพัฒน์ อาจารย์สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ฯ
  4. นางดวงพร เดชรัตนวิไชย หัวหน้าส่วนแผนงาน
  5. นางนันทกาญจน์ จิตรมานะศักดิ์ ศูนย์บริการวิชาการ
  6. นางนันทา อภิศักดิ์มนตรี

         และมีนางจินตนา ศิริวัฒนโชค เป็น "คุณอำนวย" นายบรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์ เป็น "คุณลิขิต" เรื่องเล่าของแต่ละท่านล้วนแต่น่าสนใจมาก มีข้อคิด วิธีการแก้ปัญหา วิธีการทำงาน ที่จะนำพางานของแต่ละท่านบรรลุไปสู่ความสำเร็จได้ นับเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดเลยที่มาร่วมการสัมมนาในครั้งนี้  ดิฉันได้รับการคัดเลือกจากกลุ่มให้เป็นผู้เล่าเรื่องของตัวเองต่อที่ประชุม ด้วยความที่ไม่สันทัดในการพูด และในการเข้ามาทำงานที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาเป็นผู้นำแต่อย่างใด จึงได้รับกำลังใจจากสมาชิกในกลุ่มเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณทุกๆท่านนะคะ โดยเฉพาะท่านรองฯบริหารที่ให้กำลังใจ และเอาใจช่วย จนสามารถพูดได้โดยไม่ล่มเสียกลางคัน ขอบคุณมากๆค่ะ

 

         เรื่องเล่าของดิฉันในวันนั้นคือ การเลี้ยงรับรองแขก V I P ของ นปม.นศ. ตอนที่เริ่มงานก่อสร้างมหาวิทยาลัยในปี 2538 มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณงานก่อสร้างอาคาร กับงานภูมิสถาปัตย์และสาธารณูปโภค รวมแล้วเป็นเงินกว่า 3 พันล้านบาท ในครั้งนั้น คณะกรรมาธิการการงบประมาณ ได้มาดูงานก่อสร้างมหาวิทยาลัย ท่านชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส..จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็อยู่ในคณะนี้ด้วย ขณะนั้นมหาวิทยาลัย มีหน่วยประสานงานที่นครศรีธรรมราช เรียกว่า หน่วยประสานงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นครศรีธรรมราช(นปม.นศ.) มีคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช รองอธิการบดี เป็นหัวหน้าหน่วยประสานงาน ดิฉันได้รับมอบหมายจากคุณหมอบัญชาฯ ให้รับผิดชอบในการจัดเลี้ยงอาหารมื้อเที่ยงแก่คณะ ซึ่งมีประมาณ 30-40 คน  ดิฉันมีน้องๆ ที่มาช่วย เช่น น้องบัว นิษฐิดา พัฒนสงค์ (ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่สำนักวิชาการจัดการ มวล.) พวงทิพย์ คงทอง (ปัจจุบันอยู่ที่ส่วนพัสดุ) เป็นต้น

 

           โจทย์ข้อใหญ่ที่จะต้องคิดคือ จะจัดเลี้ยงที่ไหน ??? ก็ปรึกษากันกับน้องๆ คิดกันว่าจะจัดเลี้ยงที่ร้านอาหารที่ท่าศาลา ก็ไม่มีร้านที่มีความเหมาะสม จะเลี้ยงที่ร้านอาหารที่ในเมืองก็คงเทียบไม่ได้กับร้านอาหารที่กรุงเทพ ก็เลยตกลงกันว่าจะใช้สถานที่ในพื้นที่ก่อสร้างเป็นสถานที่จัดเลี้ยง ขณะนั้นในพื้นที่ก่อสร้างมีอาคารชั่วคราวเล็กๆ อยู่เพียง 2 หลัง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆแทบจะไม่มีเลย ถนนทางเข้าก็ยังเป็นดิน(โคลน) ในพื้นที่ก็ยังเป็นป่า อาคารชั่วคราวหลังแรกใช้เป็นสำนักงานของส่วนอาคารสถานที่ ซึ่งคุณหมอบัญชาฯให้เข้าไปอยู่ก่อนเพื่อสะดวกต่อการประสานงานก่อสร้าง หลังที่2 จะใช้เป็นสำนักงานอีกส่วนหนึ่งของหน่วยประสานงานฯ แต่เพิ่งสร้างเสร็จ ยังไม่ได้ใช้งาน ดิฉันสนใจอาคารชั่วคราวหลังนี้ จึงประสานให้ส่วนอาคารสถานที่ดูเรื่องขนาดห้อง ซึ่งต้องการตั้งโต๊ะเลี้ยงประมาณ 6-7 โต๊ะ และจัดล้างทำความสะอาด เมื่อตกลงกันเรื่องสถานที่เรียบร้อยแล้วก็ติดต่อเช่าโต๊ะ เก้าอี้จากร้านที่ท่าศาลา

 

          คราวนี้มาถึงโจทย์อีกข้อที่ใหญ่ไม่แพ้กัน คือเรื่องอาหาร ปรึกษากันและสรุปว่าแขกมาท่าศาลาซึ่งเป็นอำเภออยู่ชายทะเลควรได้รับประทานอาหารทะเล และต้องการคนทำอาหาร  ทีมงานเสนอร้านอาหารที่หาดสระบัว(เมื่อก่อนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของท่าศาลา) ซึ่งทำอาหารมีรสชาติอร่อยพอเลี้ยงแขกได้  จึงชวนน้องๆไปที่ร้าน เพื่อเลือกอาหาร ดูอุปกรณ์ เช่นถ้วยชาม ช้อน แก้วน้ำของร้าน ก็ตกลงกันว่าถ้วยชามที่ใส่อาหารจะใช้ของร้าน ส่วนจานข้าว ช้อน แก้วน้ำ อยากให้ดูเป็นพิเศษอีกนิดหนึ่ง จึงไปหาซื้อใหม่ เพื่อเก็บไว้ใช้ในสำนักงานได้ด้วย จานที่ซื้อก็จะมีลายเรียบๆ ดูสะอาดตา ส่วนแก้วน้ำก็ซื้อแบบที่เขาใช้ในงานเลี้ยงที่โรงแรม ก็ดูดีขึ้น

 

        ในวันเลี้ยงมี ดร.โอภาส ตันติฐากูร อาจารย์สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มาช่วยกำกับการเสิร์ฟอาหารอย่างใกล้ชิดด้วย  และงานในวันนั้นก็ผ่านไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อยดี  เมื่อเสร็จจากการรับประทานอาหารก่อนที่คณะจะเดินทางต่อไป มีกรรมาธิการท่านหนึ่งได้เข้ามาทักทายทีมงาน และกล่าวว่า …"อยู่ในป่ายังมีอาหารดีๆอย่างนี้กินด้วยหรือ"ท่านไม่ได้กล่าวชมว่าอาหารอร่อยหรือจัดเลี้ยงดีอย่างไร แต่เมื่อดิฉันฟังแล้วก็เข้าใจเอาเองว่าท่านพอใจกับงานเลี้ยงครั้งนี้ และเก็บความปลาบปลื้มไว้ในใจ เวลาผ่านไปกว่า 10 ปีแล้วยังไม่เคยลืมเลือน

ปิติกานต์ จันทร์แย้ม

จากเรื่องเล่าของพี่นันทา...ทำให้ตนเองได้ทราบบรรยากาศ ความยากลำบาก...กว่าจะถึงวันนี้ของวลัยลักษณ์...ในฐานะที่เป็นพนักงานรุ่นหลังรู้สึกชื่นชมและภูมิใจกับความทุ่มเทเพื่อมหาวิทยาลัยของพี่รุ่นแรก...และคิดว่าตนเองก็จะตั้งใจ ทุ่มเทและพยายาม เพื่อวลัยลักษณ์อย่างเต็มที่คะ

       เรื่องเล่าของคุณนันทา มีประโยชน์ต่อ มวล. มากครับ    ขอบคุณที่มา post ใน บล็อก นี้

      คุณนันทาน่าจะเปิด บล็อก ของตนเอง     และเล่าเรื่องการริเริ่มงานของตนเอง หรือของหน่วยงาน ที่น่าภาคภูมิใจ    ออกสู่กันฟัง จะเป็นประโยชน์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท