ร่วมเวทีคนรุ่นใหม่ที่มอช้างใหญ่ แม่เปิน นครสวรรค์......เวทีแห่งมิตรไมตรี


ระหว่างวันที่  10 -12 พ.ค. 53 ท่ามกลางห้วงเวลาที่อากาศร้อนแรงที่สุดและอุณหภูมิทางการเมืองก็ร้อนแรงพอๆกัน ผมได้ร่วมกิจกรรมการปฐมนิเทศเจ้าหน้าใหม่ของที่ทำงานครับ

ด้วยช่วงนี้ภารกิจขององค์กรมีการขยายตัว จึงเปิดรับเจ้าหน้าที่ใหม่หลายคน รุ่นนี้รวม 23 คน เยอะมากครับ ผมได้ร่วมทีมออกแบบการเรียนรู้เพื่อการปฐมนิเทศเจ้าหน้าใหม่ในครั้งนี้  ซึ่งมีหลายกระบวนการอยากจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อการ ลปรร.ยินดีน้อมรับคำแนะนำครับ การอกแบบการเรียนรู้ครั้งนี้มีกิจกรรมสำคัญหลายกิจกรรมได้แก่

1. การเรียนรู้ภารกิจและวัฒนธรรมองค์กร เรื่องนี้นำเสนอคณะผู้บริหารขององค์กร ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานในกรุงเทพก่อนการเดินทาง

2. การเรียนรู้งานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนและภาคีการพัฒนา จัดในพื้นที่ครับ ที่อำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ คุณตู่_ตะวันฉาย หงส์วิไล หัวหน้าภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียรพื้นที่นครสวรรค์-กำแพงเพชร รับเป็นแม่งานจัดกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่ในครั้งนีครับ

ขอบคุณคุณตู่_ตะวันฉายและทีมงานเป็นอย่างยิ่ง

                               

                 
                 
  •  การเรียนรู้งานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนกับศูนย์การเรียนรู้หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านเขาแหลม  ร่วมเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการดูแลธรรมชาติด้วยเกษตรอินทรีย์  จากปราชญ์ชาวบ้าน/ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับน้าสุด  ลำภา  น้าสุด บอกเราว่าชาวบ้านที่นี่มีการประกอบอาชีพด้านเกษตรเป็นส่วนใหญ่  มีการปลูกผักสวนครัว  การออมเงิน   การเอื้ออาทรต่อกัน การทำปุ๋ยชีวภาพใช้เอง ในกลุ่ม  การทำผลิตภัณฑ์น้ำยาล้างจาน  ฯลฯ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นหมู่บ้านต้นแบบด้านด้านเศรษฐกิจพอเพียง หากแต่จนท.ใหม่เรากลับสนใจที่ แปลงผักหวานครับ กับอาหารมื้อเย็นที่รออยู่ ก่อนอำลาสวนผักหวานมุ่งสู่การเดินป่าตลอดช่วงบ่าย

                     

                    

                   
                   
  • การเรียนรู้งานพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชนกับเครือข่ายป่าชุมชนผืนป่าตะวันนตก(ห้วยขาแข้ง) เรียนรู้กับ กลุ่มป่าชุมชนในหมู่บ้าน แล้วเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายป่าชุมชนต้นน้ำแม่วงก์ – แม่เปิน จ.นครสวรรค์รวมทั้งเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตกกับ กิจกรรมการดูแลป่า การสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนร่วมดูแลรักษาป่ารอบนอกเพื่อรักษาป่าใหญ่อย่างผืนป่าตะวันตก(ห้วยขาแข้ง _ ทุ่งใหญ่นเรศวร) ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ถึงว่าชุมชนสามารถพึ่งพิงป่า หาอยู่หากิน ภายใต้กฎกติการ่วมกัน แนวทางการจัดการป่าชุมชนไม่ใช่เพียงปลูกป่า ทำแนวกันไฟ หากแต่เป้าหมายสูงสุดของชาวบ้าน คือ คนกับป่า พึ่งพาอาศัยกันได้อย่างเกื้อกูลและยั่งยืน ขณะนี้ขบวนชุมชนมีการเชื่อมโยงขบวนชุมชนขอบป่าจำนวน 135 ชุมชน และชุมชนในผืนป่าตะวันตก 129 ชุมชน ใน 15 อำเภอ 6 จังหวัด มาช่วยกันรักษาผืนป่า ทั้งนี้กิจกรรมการทำงานของเครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตกในการเรียนรู้ครั้งนี้ที่เป็นอาสาสมัครคณะกรรมการป่าชุมชนได้ร่วมเดินป่ากับ จนท.ใหม่ด้วยครับ พวกเขาฝากบอกกับ จนท.เราว่า สถาบันฯเป็นองค์กรสนับสนุนที่ชาวบ้านรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง นี่เป็นการเรียนรู้กับชุมชนท่ามกลางสถานการ์จริงของพื้นที่ป่าชุมชน(ชายขอบป่าห้วยขาแข้งครับ)

               

                

  •  การเรียนรู้งานพัฒนาของภาคีการพัฒนาในพื้นที่ คุณตู่ _ตะวันฉาย  หงส์วิไล หัวหน้าภาคสนามมูลนิธิสืบนาคะเสถียรพื้นที่นครสวรรค์-กำแพงเพชร เป็นให้ข้อมูลการเรียนรู้กับจนท.ใหม่เกี่ยวกับงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเองครับ โดยคุณตู่ได้เล่าถึงการทำงานของภาคีการพัฒนาที่สนับสนุนชาวบ้านว่าภารกิจหลักคือการสนับสนุนเครือข่ายชาวบ้าน คือ เครือข่ายภูมินิเวศฯ ให้มีบทบาทที่สำคัญคือ การทำงานร่วมกันดูแลทรัพยากรระหว่างชาวบ้าน ชุมชนด้วยกัน ที่อาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์ และชาวบ้าน ชุมชน ที่รอบผืนป่า (ป่ากันชน) ซึ่งแต่เดิมเป็นการทำงานที่แยกส่วนกัน ส่วนแรกคือการทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ในผืนป่าภายใต้โครงการจอมป่า 129 ชุมชน อีกส่วนก็คือการทำงานประสานความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาต่างๆให้หนุนเสริมเครือข่ายป่าชุมชน 135 ชุมชน ซึ่งแต่เดิมส่วนใหญ่แล้วทั้งหน่วยงานและชุมชนก็จะทำงานกันแบบตัวใครตัวมัน ไม่ได้มีการมาเชื่อมร้อยกัน

                


“หลังจากทำงานกับชุมชนมา เราคิดว่า การจะรักษาป่าให้ได้ทั้งหมด ควรทำอย่างไร ต้องมีอะไรบ้าง ก็นำมาสู่การคุยเป็นเครือข่าย จากการให้เขาไปพูดคุยกัน แล้วเราก็มองว่าส่วนของชุมชนมันไปเกี่ยวโยงกับท้องถิ่นที่ไหนบ้าง ก็เลยได้รวมเอาชุมชนที่เกี่ยงโยงทั้งหมดมาทำงานร่วมกัน ขึ้นเป็น “เครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตก

ความรู้สึกของภาคีก็เช่นเดียวกับขบวนชุมชนครับ คุณตู่ _ตะวันฉาย ได้บอกกับพวกเราว่า  สถาบันฯเป็นองค์กรภาคีการพัฒนาที่สนับสนุนชาวบ้านร่วมกับมูลนิธิสืบมาอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิสืบเองรู้สึกภาคภูมิใจในความร่วมมือนี้เป็นอย่างยิ่ง

3. การเรียนรู้เพื่อสร้างสัมพันธภาพในหมู่ จนท.ใหม่ด้วยกัน ด้วยการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบผจญภัยครับ

กิจกรรมการปฐมนิเทศเจ้าหน้าใหม่ในครั้งที่แล้วก็ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบผจญภัยนี้เหมือนกันครับ ครั้งนั้นจัดที่ พุเข็ม แก่งกระจาน เพชรบุรี เมื่อวันที่ 20 – 21 ม.ค. 53 ที่พุเข็มบรรยากาศสวยงามดี  แต่ได้การเรียนรู้คนละแบบครับ ผมได้บันทึกการเรียนรู้  เดินป่าพิชิตเขาพุเข็ม...แก่งกระจาน เพชรบุรี  ครั้งนั้นไว้ที่http://gotoknow.org/blog/suthepkm/329860?                     

                      

                      

ครั้งนี้เราเน้นเดินป่าครับ  ไม่ได้ปีนเขาเหมือนที่พุเข็ม ครั้งนี้เดินป่าประมาณสัก 6 ก.ม.เองเป็นป่าชุมชนผืนใหญ่ชายขอบผืนป่าตะวันตก(ห้วยขาแข้ง)หากแต่อากาศร้อนมาก  ใช้เวลาเดินป่าประมาณ 4 ชั่วโมง มีชาวบ้านที่เป็นคณะกรรมการผืนป่ามาร่วมเดินป่าด้วย...ด้วยความร้อนระอุทำเอาหลายคนจะเป็นลม

              

              

4. การเรียนรู้จากการสรุปทบทวนประสบการณ์ (AAR)และสุนทรียสนทนา(Dialogue)

หลังกิจกรรมการเดินป่าเรามีการสรุปบทเรียนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการร่วมกิจกรรมกับชุมชนและกิจกรรมการเดินป่าครับ

         

การกลับมาแล้วได้มีการสะท้อนความรู้สึกและสรุปการเรียนรู้กัน น่าสนใจในมุมมอง ทัศนะของแต่ละคนครับ....เช่นมีบางคนบอกว่า.......

......วันนี้เป็นวันที่ตัวเองรู้สึกทรมานที่สุดในชีวิต..กับวันที่อากาศร้อนที่สุดในประเทศไทย กับความเหน็ดเหนื่อยในการเดินป่าที่ไม่ได้มีความสวยงามอะไรเลย...มีแต่ความแห้งแล้ง

                

แต่ก็มีอีกคนบอกว่า.....เขาได้ยินชาวบ้านที่ร่วมเดินป่าบอกว่าวันนี้เป็นวันที่เขาภาคภูมิใจในชีวิต เขาได้เดินป่าร่วมกัน เจ้าหน้าที่จากองค์กรที่สนับสนุนพวกเราในการเป็นอาสาสมัครรักษาป่า..ก่อนหน้านี้เขาอยากไปกรุงเทพ ไปเยี่ยมสถาบันแต่วันนี้มีเจ้าหน้าที่มาอยู่เดินป่ากับพวกเขา  เขาดีใจและภาคภูมิใจ.....

....ป่าของเขาแม้จะไม่สวย หากแต่เป็นสิ่งที่พวกเขาหวงแหน เป็นแหล่งอาหารแหล่งทรัพยากรที่เขาใช้ประโยชน์ร่วมกัน มันจึงเป็นชีวิตเป็นความภาคภูมิใจของเขา...

....ผืนป่าแต่ละผืนเมื่อเชื่อมโยงกันก็เป็นเครือข่ายผืนป่าผืนใหญ่ของประเทศ เราควรภาคภูมิใจร่วมกับเขา...

 

                

                

                

ผมจึงตั้งข้อสังเกตเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันว่า..มีหลายครั้งในชีวิตเราไหมที่ที่ความยากลำบากในสิ่งหนึ่งแต่ทำให้เกิดความงดงามในอีกมุมหนึ่ง....การทำงานกับชุมชนความสำคัญจึงอยู่ที่ความหมายที่เราให้คุณค่ากับมัน  โดยคืนก่อนอำลาเรามีดนตรีจากมวลมิตรในพื้นที่มาร่วมบรรเลงหลังจากเหน็ดเหนื่อยจากการเดินป่ามาตลอดช่วงบ่าย จบด้วยรายการพิเศษการจุดเทียนอุดมการณ์ครับ

                

                                  

               

ในตอนวันสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ(12 พ.ค.)เป็นรายการนั่งล้อมวง “สุนทรียสนทนา”แบบง่ายๆครับ มีอุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้เพียงแค่ก้อนหินก้อนเดียวครับ กติกามีอยู่ว่าใครถือก้อนหินคนนั้นพูดด้วยความรู้สึกจากข้างในจะพูดอะไรก็ได้ที่กระชับได้ความหมาย ให้คุณค่ากับวงสนทนา เพื่อนๆผมได้เติมพลังจากวง “สุนทรียสนทนา”คนรุ่นใหม่อย่างเต็มเปี่ยมครับ

ขอบคุณวันเวลาที่ดีๆครับ เป็นบุญวาสนาที่ได้พบกับเรื่องราวที่ดีๆจากการเดินทาง ได้สัมผัสชื่นชมบรรยากาศและธรรมชาติของแต่ละถิ่นที่ที่สวยสดงดงามคนละแบบ ได้พบปะกับญาติสนิทมิตรสหาย ได้ชิมลิ้มรสแห่งมิตรไมตรี  เป็นประสบการณ์การทำงานที่มีคุณค่า มีความหมาย ขอบคุณเรื่องราวที่ดีๆที่ได้ไปพานพบ  

ขอบคุณครับ                                                     

หมายเลขบันทึก: 358208เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2010 13:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

ชื่นชมค่ะ... มากๆ  ที่ร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าให้คงอยู่

กิจกรรมนี้คงสร้างความประทับใจให้กับทุกๆ ท่าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน

ขอบคุณบันทึกที่มีคุณค่ามากๆ ค่ะ

วันที่ 11 พค. เดินทางผ่านนครสวรรค์ เห็นฝนตก... หายร้อนบ้างหรือยังคะ???

สุขกายสบายใจนะคะ

 

สวัสดีครับคุณครูใจดีP

  • ที่นครสวรรค์ "ดอยช้างใหญ่"แห่งแม่เปิน
  • เมื่อตอนท้ายได้จัดกระบวนการAARและDialogueแล้วพบว่าแต่ละคนจะรู้สึกประทับใจ มีความรู้สึกดีๆกับประสบการณ์การได้ผ่านพ้นความยากลำบากมาด้วยกัน
  • ที่สำคัญหากเราได้ตระหนักรู้ถึงคณค่ากิจกรรมที่ได้ร่วมฟันฝ่าด้วยกันแล้ว ความยากลำบากก็จะแปรเป็นพลังครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท