การบำบัดด้วยศิลปะ (2)


     “ศิลปะบำบัดในโรงเรียน” นั้น ใช้ในการบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กที่มีความบกพร่องซึ่งตามการแบ่งหมวดของสถาบันในมลรัฐนิวเจอร์ซีย์ ของสหรัฐอเมริกาแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
       
       1. เด็กปัญญาอ่อน
       2. เด็กบกพร่องทางระบบประสาท
       3. เด็กที่บกพร่องทางการรับรู้
       4. เด็กพิการทางกระดูก และกล้ามเนื้อ
       5. เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ และสังคม
       6. เด็กพิการทางสายตา
       7. เด็กพิการทางโสต
       8. เด็กพิการซ้ำซ้อน
       9. เด็กพิการด้านการสื่อความหมาย
       10. เด็กพิการปฐมวัย
       
       วัตถุประสงค์ของศิลปะบำบัดในโรงเรียนนั้น เพื่อพัฒนาความคล่องแคล่วว่องไวของการใช้มือ และพัฒนาการเคลื่อนไหวอย่างมีระบบ พัฒนาด้านสังคมและการสื่อความหมาย เพื่อเรียนรู้การควบคุมสิ่งแวดล้อมผ่านการเรียนรู้และควบคุมการใช้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือทางศิลปะ กระตุ้นและสร้างกำลังใจให้รู้จักสังเกต ให้ผู้เรียนรับรู้ความแตกต่างของสี รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว กระตุ้นหรือเร้าความคิดและจินตนาการ สร้างความมั่นใจและกำลังใจในด้านความคิดสร้างสรรค์การตัดสินใจด้วยตนเอง และเป็นหนทางให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ที่มีความหมายต่อตนเอง
       
       ศิลปะบำบัดนั้น ส่วนมากแล้วจะไม่จัดกิจกรรมที่หลากหลายในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน เหมือนในระบบการเรียนศิลปะธรรมดา มักจะจัดประสบการณ์ตามความสามารถของเด็ก กิจกรรมที่เด็กสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว
       
       กิจกรรมจะแยกย่อยให้ธรรมดาที่สุด น้อยขั้นตอนที่สุด ให้เด็กทำซ้ำๆ กัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถทำได้ดี ซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง ในบางกรณีกิจกรรมจะเน้นความเข้าใจด้านศิลปะเช่น สี เส้น รูปร่าง รูปทรง พื้นผิว ในบางกรณีจะเน้นกระบวนการปฏิบัติงานเป็นหลักซึ่งก็แล้วแต่จุดประสงค์ของการบำบัดนั้นๆ
       
       ตัวอย่างกิจกรรมศิลปะซึ่งใช้ในการบำบัดที่เน้นการเรียนรู้ด้านศิลปะ เช่น การช่วยให้เด็กที่มีความพิการทางการเรียนรู้ ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับปลายนิ้วมือ มีความสามารถรับรู้ความรู้สึก สัมผัสได้น้อยมาก ครูอาจให้เด็กเรียนรู้หรือเข้าใจถึงผิวพื้นความแตกต่างระหว่างหยาบและละเอียดได้โดยใช้กิจกรรม การพิมพ์วัตถุ ผิวหยาบ และละเอียด เพื่อให้เด็กได้เห็นแทนการรู้สึกสัมผัส
       
       ส่วนการบำบัดโดยเน้นความเข้าใจและสามารถในการปฏิบัติงาน เพื่อศึกษาดุผลการบำบัดโดยการวิเคราะห์การทำงานของผู้เรียนนั้น ยกตัวอย่างการสอนกระบวนการทำงานปะติด เด็กจะได้เรียนรู้ความเข้าใจกับงานปะติดว่าจะต้องมีขั้นตอนเป็นลำดับ เช่น ตัดกระดาษเป็นรูปที่ต้องการ กางแผ่นกระดาษที่ใช้เป็นพื้นหลังลงบนโต๊ะ เอาแปรงจุ่มลงในกาว ปาดกาวที่เกินต้องการออกจากปลายแปรง เอากระดาษที่ตัดเป็นรูปร่างวางกลับด้านล่างขึ้นด้านบน เอาแปรงทางกาวลากจากขอบด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งจนทั่ว เอานิ้วรีดกระดาษที่ปะเพื่อไล่ลมออก เช็ดกาวที่ไหลเปื้อนออกมานอกรูปแบบที่ปะ และเช็ดมือและบริเวณที่ทำงานให้สะอาด
       
       กิจกรรมเหล่านี้จะทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าเด็กจะทำได้ดีขึ้น ว่องไวขึ้น เข้าใจวิธีการดีขึ้น จึงย้ายไปทำกิจกรรมอื่น แม้การบอกกล่าวเด็กถึงกิจกรรมที่จะได้ทำก็จะต้องเป็นระบบเช่นเดียวกับกลวิธีของการบำบัดในวิธีการนี้ คือ แทนการระบุให้นักเรียนทำงานปะติดภาพฤดูหนาว
       
       ครูควรต้องระบุว่าให้นักเรียนเอากระดาษกาวและกรรไกรมาทำภาพฤดูหนาว ซึ่งนักเรียนจะปะรูป 10 รูปลงบนกระดาษพื้นหลังโดยไม่ให้เห็นรอบเปื้อนของกาว คือ คำสั่งของครูจะระบุขั้นตอนรายละเอียดวิธีการอย่างกระจ่าง

ดังนั้น ครูที่ทำงานด้านศิลปะบำบัดจึงต้องพร้อมที่จะรับความจริงที่ว่า ผลงานที่เด็กทำขึ้นอาจะไม่มีความสวยงามในลักษณะงานศิลปะ อาจจะซ้ำซากน่าเบื่อเพราะศิลปะในที่นี่มิใช่เป็นวิถีทางแห่งการแสดงออกของเด็กโดยตรง แต่ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการช่วยแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในตัวเด็กเป็นสำคัญ
       
       ครูในหน้าที่นี้จะต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเด็กในระหว่างทำงานอย่างใกล้ชิดต้องเป็นทั้งผู้ให้กำลังใจสนับสนุนให้เด็กทำงานซ้ำอีกรวมทั้งต้องทำหน้าที่ในด้านวินิจฉัยโดยเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กหรือผลของการบำบัดควบคู่ไปอย่างสม่ำเสมอ

คำสำคัญ (Tags): #ชัยภูมิ7
หมายเลขบันทึก: 357626เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2010 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท