สังคมชราภาพ


สังคมกำลังเดินกระย่องกระแย่งไปสู่การเป็น 'สังคมชราภาพ'

อ่านข่าว (1) แล้วฉุกใจว่าสังคมไทยเคลื่อนเข้าสู่ยุคสังคมชราภาพอย่างที่ TDRI เคยฟันธงไว้ว่า "2553 ไทยเข้าสู่สังคมชราภาพ" ตรงตามกำหนดเวลา (2)

ตามสถิติโลก อายุคาดหมายของประชากรกลุ่มอายุยืนเป็นพิเศษ จะเพิ่มขึ้น 3 เดือนต่อปีมาตลอด 160 ปีที่ผ่านมานี้ ["For 160 years, best-performance life expectancy has steadily increased by a quarter of a year per year..."] (3) สอดคล้องกับข้อมูลอีกชุดหนึ่ง (4) ที่ระบุว่าอายุขัยเฉลี่ยประชากรใน 20 ปีที่ผ่านมา มีค่าสูงขึ้น 3.6 เดือนต่อปี

งานวิจัยทั้งสองชุดชี้ว่า ถ้าใครเกิดหลังผม X ปี เขาก็จะตายหลังผมราว 1.25 X ถึง 1.3 X ปี (นี่ว่าโดยค่าเฉลี่ยตามหลักสถิตินะครับ แต่ข้อเท็จจริงรายคนจะเป็นอีกเรื่อง)

คงยังไม่เห็นภาพ เอาอย่างนี้

สมมติคุณผู้อ่านเป็นผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าผม 20 ปี

คนรุ่นผมควร'ล่วงหน้า'ไปก่อนคนรุ่นคุณ 20 x 1.25 + 7 = 32 ปี

คูณ 1.25 เพราะคนรุ่นหลังมีอายุยืนกว่าคนรุ่นก่อน

บวก 7 เพราะผู้ชายมีอายุเฉลี่ยสั้นกว่าผู้หญิงราว 7 ปี (ตัวเลขนี้อาจไม่แม่นยำ เห็นผ่านตาแว๊บ ๆ ตามสื่อ)

ในรายงานชุดหลัง (4) เขาเน้นศึกษาถึงอายุขัยเฉลี่ยของการ'พิการหรือหง่อมจนหมดสภาพ' เพื่อดูเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตคนวัยทอง (ตัวเลขจะน้อยกว่าอายุขัยจริง) ของประชากรประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งคนไทยจะมีอายุเฉลี่ยของการ'หมดสภาพ'ที่ 60 ปีโดยประมาณ ในขณะที่คนญี่ปุ่น (ซึ่งเป็นสถิติที่ดีที่สุด) จะหง่อมหมดสภาพที่อายุ 74 ปี (ซึ่งก็น่าคิดว่าจะเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินหรือเปล่า เขากินปลาดิบของเขาไป ส่วนเราก็กินปลาสุกคลุกฟอร์มาลีนของเราไป ...แฮ่ม...พูดแล้วหิว !)

สังคมที่มีแต่คนชราที่หมดสภาพเพราะไม่เตรียมตัวให้พร้อม คงเป็นสังคมที่น่าสังเวช เพราะเป็นการแก่ตามยถากรรมและไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งที่วัยสูงอายุควรเป็นวัยที่โปร่งโล่งด้วยชีวิตและจิตใจ ไม่ใช่มืดทึบหนักอึ้งด้วยภาระที่สลัดไม่หลุด สิ่งนี้เป็นเรื่องที่เห็นกันทุกวันว่ามันจะเกิดขึ้น และป้องกันได้พอสมควร นี่คงต้องนับเป็นโศกนาฎกรรมหมู่ของสังคมแล้ว

ทำไมผมจึงมองเช่นนั้น ? มีตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ มากมายที่ฉายสะท้อนให้เห็นภาพราง ๆ ของสิ่งที่กำลังเป็นไป

1. คนสูงอายุมักมีปัญหาเรื่องกระดูก เช่น ข้อเข่าเสื่อม เข้าห้องน้ำลำบาก จะเข้าห้องน้ำก็ต้องเลือกห้องน้ำแบบ "โก อินเตอร์" โถแบบนั่งยองประหยัดน้ำใช้ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะหัวสูง แต่เพราะเจ็บเข่า นั่งยองลำบาก

ผมขับรถทางไกลมีผู้สูงอายุที่มีปัญหาข้อเข่านั่งไปด้วย พบปัญหาเรื่องหาห้องน้ำยากมาก ตั้งแต่ชุมพรลงมา ที่ผมเคยเห็นก็มีที่แยกเข้าชุมพรกับที่แยกสวนผัก (ใกล้ทุ่งสง ตรงสามแยกเข้านครศรีธรรมราช)  นอกนั้น แทบจะหาปั๊มน้ำมันที่มีโถนั่งสำหรับคนสูงอายุไม่ได้ (ที่ชุมพรเขาทำดี แล้วยังมีห้องน้ำสำหรับผู้พิการด้วย เห็นแล้วคิดในใจว่า เขาทำเท่ห์จัง) แต่จังหวัดอื่นล่างลงมาจากชุมพรหาปั๊มน้ำมัน 'โก อินเตอร์' ยากมาก แสดงว่าเราไม่ได้คาดหมายว่าจะมีผู้สูงอายุที่ปวดเข่าอยู่ในสังคม หรือรู้ แต่ไม่แยแส (คิดดูดี ๆ ก็น่าตกใจนะ) 

ดูกันใกล้ตัว ผู้หญิงวัยสามสิบขึ้น ที่กินแคลเซียมเสริม ก็มีไม่ทั่วถึง ทั้งที่กลุ่มนี้แหละ จะเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบรุนแรง เพราะจะมีอายุเฉลี่ยยาวกว่าผู้ชายไทยหลายปี

ถ้าป้องกันไม่ดี อีกหลายสิบปีข้างหน้า เราจะมีคนสูงอายุกระดูกผุเดินหลังคู้หลังงอจำนวนมากในสังคม ทั้งที่ถ้ากินอาหารให้ดี ๆ จะช่วยชะลอภาวะเช่นว่าไปได้นาน

แต่ถ้าถามว่ากินแคลเซียมอย่างเดียวพอไหม สมาชิกชมรม'ไหวตัวทัน'ที่หาดใหญ่จะหัวเราะเอา ! ชมรมนี้เขาถือว่า ทั้งอาหาร และการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ล้วนไม่ยิ่งหย่อนกัน ทำเพียงอย่างเดียวไม่พอ เช้า ๆ วันหยุด ก็ไปรำกระบองกัน ที่น่าทึ่งคือคนสูงวัยในชมรมนี้ สภาพร่างกายดีอย่างน่าทึ่ง

ผมมองว่า แวดวงคนที่ผมเคยเห็น มีการตระหนักถึงสุขภาวะทางโครงสร้างสรีระที่ดีน้อยมาก ยกตัวอย่าง ตามที่ทำงาน มีกี่แห่งที่จอคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำเสมอหรือต่ำกว่าระดับสายตา ? (ที่มาของการปวดเอวหรือปวดคอเรื้อรังของคนทำงานนั่งโต๊ะ) หรือเวลาเด็กไปโรงเรียน เด็กตัวเล็กตัวน้อยล้วนลากถูลู่กังกระเป๋าเรียนที่หนักพอ ๆ กับน้ำหนักตัวเองไปกลับโรงเรียนทุกวัน ดูเผิน ๆ เป็นการส่งเสริมเด็กไทยให้เป็นเลิศในกีฬายกน้ำหนัก ('สู้โว้ย !') น่าคิดอยู่ไม่น้อยว่ากลุ่มเหล่านี้จะมีปัญหาตอนแก่เรื่องกระดูกคดงอเพราะแบกน้ำหนักไม่สมวัยหรือเปล่า ?

2. มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่รู้กันมานาน ว่าการควบคุมอาหารในสัตว์ทดลองไม่ให้กินอิ่มนัก (ตัวเลขระดับการกินราว 70 % ของการกินพุงกางตามใจปาก หรือที่เรียกว่า ad libitum) จะทำให้สัตว์ทดลองอายุยืนขึ้นโดยมีสุขภาพเป็นปรกติ (5)

แต่ความตระหนักรู้ทางสังคมตอนนี้ยังเตาะแตะอยู่เพียง "กินอย่างไรไม่ให้อ้วน" หรือ 'อ้วนแล้วจะโกงยังไงไม่ให้อ้วน' ซึ่งยังไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะมาถกเรื่อง'กินอย่างไรให้อายุยืน'

3. คนไทยมีอายุเฉลี่ยราว 70 กว่าปี เริ่มมีปัญหาคุณภาพชีวิตอย่างหนักหลัง 60 ปี เมื่อวัดเป็นหน่วย QALY (4)

หากช่วงมีกำลังวังชาก็ยังต้องเวียนว่ายสู้กับปัญหาสภาพคล่องรายวัน เช่น หมุนหนี้บัตรเครดิตเหมือนเล่นกายกรรมหมุนเวียนโยนรับลูกบอลทีละสิบลูก ซึ่งอาจไม่ได้เกิดจากการมีรายได้น้อยแต่อย่างใด แล้วจะไปคาดหวังว่าแก่ตัวแล้วสบายได้อย่างไร ?

มีรายงานว่า ปี 2532 การออมภาคครัวเรือน 14.4 % ของ GDP และปี 2546 ออมภาคครัวเรือนลดลงเหลือ 3.2 % ของ GDP - จากข่าวกรุงเทพธุรกิจ ราว พฤศจิกายน 2548) ถ้าจะบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวก็มีสวัสดิการสังคมเลี้ยง แต่ลองดูหนี้สาธารณะที่เปิดตัวเลขออกมาเมื่อกลางมิถุนายน 2549 ตัวเลขคือ 3.2 ล้านล้านบาท (41.4 % ของ GDP) เมื่อเดือนมีนาคม 2549  (6) ก็จะเห็นได้ชัดว่าความเชื่อดังกล่าว เป็นเพียงการฝันเฟื่อง ดูแล้วไม่แน่ใจว่าใครเลี้ยงใคร ?


4. ข้อมูลประชากรสำรวจปี 2547 เริ่มเห็นรูปทรงพุ่มทรงดอกบัวชัดเจน (ลองเอาข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติมาทำกราฟดู) ซึ่งบ่งชี้ว่าอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า จะเกิดวิกฤติประชากรศาสตร์เพราะภาระการดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นมากจนไม่สมดุลกับวัยทำงาน

ประชากรประเทศไทย 2547

ลองดูกราฟแล้วจะหนาว

อ่านกรุงเทพธุรกิจฉบับวันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 (7) ที่ใช้ข้อมูลของ ศ.ดร.ปราโมท  ประสาทกุล  ซึ่งผมขอสรุปความเพื่อลง blog ไว้เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

1. ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 6 ล้านกว่าคน คิดเป็น 10% ของประชากร 62.5 ล้านคน ประชากรกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นเร็วมาก อีก 20 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 20% ตอนนั้นประชากรรวมของทั้งประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านคน ยอดรวมจะเพิ่มไม่มาก แต่จำนวนประชากรผู้สูงอายุ สูงถึง 13 ล้าน ขณะที่ประชากรในวัยเด็กจะอยู่ที่ประมาณ 11.2 ล้าน

2. ผลการสำรวจทัศนคติที่มีต่อการช่วยเหลือญาติมิตรที่ชราและยากไร้ ในโครงการวิจัยนโยบายสาธารณะเรื่อง ‘การออม การจัดสวัสดิการและการเกื้อกูลกันโดยภาคประชาชน’ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม แม้คำตอบน่าเบาใจ แต่เมื่อพิจารณาจากศักยภาพทางการเงินแล้ว คนเหล่านี้ส่วนใหญ่นอกจากจะไม่มีเงินออมแล้ว ยังแบกภาระหนี้สินไว้รุงรัง

3. คำถามก็คือ สังคมไทยพร้อมหรือยังสำหรับการโอบอุ้มผู้สูงอายุที่กำลังจะกลายเป็นประชากรหนึ่งในสี่ของประเทศ ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็กซะอีก ในอีกประมาณยี่สิบปีข้างหน้า ประชากรผู้สูงอายุเมื่อรวมกับเด็กซึ่งอยู่ในวัยพึ่งพิง จะทำให้คนในวัยทำงานต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นมาก

4. นอกจากนี้คนเราเมื่ออายุมากขึ้น ก็ต้องประสบปัญหาเรื่องสุขภาพ เจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะกระทบต่อระบบประกันสุขภาพได้ สิงคโปร์ มีการรณรงค์ให้หนุ่มสาวมีบุตรเพิ่มขึ้น ญี่ปุ่นสนับสนุนให้คนชราไปใช้ชีวิตในบั้นปลายยังประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำ แม้กระนั้น ประเทศเหล่านี้ก็เริ่มมีปัญหาการเงินเมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

5. ระบบประกันสังคมของเรามีไม่มาก และไม่ได้ครอบคลุมมากนัก จากจุบันมีแรงงานอยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 8 ล้านคน ได้รับสวัสดิการในด้านต่างๆ รวมทั้งกรณีชราภาพ ด้วยเงินหน้าตักของกองทุนฯ กว่า 200,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขที่มากกว่ากลับอยู่นอกระบบ ในจำนวนนี้มีแรงงานถึง 15 ล้านคนที่ไม่ได้รับการดูแล และแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะขยายให้ครอบคลุมมากขึ้น ก็ยังไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าคนที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยชราในอีก 20-30 ปีจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง ประกันสังคมครอบคลุมแค่ 20% คนในภาคเกษตรหรือรับจ้างไม่อยู่ในโครงการนี้อีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อประชากรส่วนนี้เข้าสู่วัยชรามากขึ้นคงลำบาก ถ้าเขาไม่มีรายได้เกื้อหนุน

6. สำหรับประเทศไทยสิ่งที่น่าหวั่นเกรง คือเรื่องคุณภาพชีวิตของคนชรา โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยและไม่มีเงินออม

7. ภาครัฐต้องเตรียมระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมให้มากที่สุด ระบบประกันสุขภาพจะต้องรองรับคนจำนวนมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันต้องพยายามให้การศึกษา ประชาสัมพันธ์ ให้คนรู้ถึงปัญหาว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นในอนาคต

ในระดับปัจเจก คนแต่ละคนต้องเตรียมตัวว่าตัวเองจะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ทั้งด้านรายได้ หาทางเก็บออม ใช้จ่ายอย่างพอเพียง เก็บไว้ใช้จ่ายในยามแก่เฒ่า

ในด้านสุขภาพ รักษาสุขภาพตัวเอง อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัว เพื่อให้สุขภาพดี ไม่เป็นคนแก่ที่พิการ ช่วยตัวเองไม่ได้ รวมไปถึงส่งเสริมทัศนคติของคนทั่วๆ ไปให้รู้ถึงการกตัญญูรู้คุณ ให้คนรุ่นหลังช่วยดูแลคนชรา ส่งเสริมองค์กรท้องถิ่นชุมชนให้ดูแลคนแก่ คนอ่อนกว่าดูแลคนแก่กว่า

 

โชติช่วง นาดอน แปลกวีจีนไว้บทหนึ่ง บอกถึงความรู้สึกสะทกสะท้อนของการผ่านกาลเวลาที่รวดเร็วกระไรปานนั้น

"ท่านไม่เห็น แม่น้ำเหลือง ไหลลงฟ้า  

เชี่ยวธารา สู่ทะเล ไม่เหกลับ

ท่านไม่เห็น คันฉ่อง ส่องเงารับ 

วัยดรุณ ผมดำขลับ แก่ขาวพราย"

คนที่ไม่ได้แก่เอง หรือคนที่ไม่เคยดูแลคนแก่เลย ยากที่จะเห็นว่าความแก่มาประชิดตัวเร็วถึงเพียงไหน มารู้ตัวอีกที ก็ตอนถึงรอบตัวเองแล้ว

 

ปัจฉิมบท


"นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าการคุมกำเนิดของคนไทยในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา ถือว่าดีเกินคาดและกำลังกลายเป็นปัญหาขาดแคลนบุคลากรในการพัฒนาประเทศปัจจุบ ัน อัตราการเกิดของทารกในประเทศไทยต่ำกว่าอัตราทดแทนที่กำหนดไว้ 2% คือมีลูกครัวเรือนละ 2 คน
 
อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 อัตราเกิดอยู่ที่ 1.5% และคาดว่าอีก 17 ปีข้างหน้าหรือในปี 2568 อัตราการเกิดจะเหลือเพียง 1.45% เมื่อเทียบกับเมื่อปี 2508 อยู่ที่ 6.8% อัตราการเกิดต่ำจะกระทบต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม เพราะประเทศไทยจะขาดแคลนบุคลากร
 
อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า อัตราการเกิดลดต่ำลงเช่นนี้ เนื่องจากประเทศไทยประสบความสำเร็จด้านการคุมกำเนิดเกินไป คือ อัตราการคุมกำเนิดของผู้หญิงที่สมรสในปี 2521 อยู่ที่ 53.4% เพิ่มเป็น 81% ในปี 2551 โดยการคุมกำเนิดของกลุ่มคนมีฐานะ มีการศึกษาสูงกว่ากลุ่มมีฐานะยากจน"

-ข่าวกรุงเทพธุรกิจ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551-

ข่าวนี้ เทียบเท่าการประกาศเปิดตัว "สังคมชราภาพ" อย่างเป็นทางการ

เร็วกว่าที่คาดไว้ 2 ปี

 

อ้างอิง

1. ข่าวมติชนวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10335

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01lif01270649&day=2006/06/27

2. ข่าวกรุงเทพธุรกิจ 29 พฤศจิกายน 2547

3. Jim Oeppen and James W. Vaupel. Broken Limits to Life Expectancy. Science 10 May 2002 296: 1029-1031

4. Colin D Mathers, Ritu Sadana, Joshua A Salomon, Christopher JL Murray, Alan D Lopez.  World Health Report 2000: Healthy life expectancy in 191 countries, 1999. Lancet 2001; 357: 1685–91.

5. James W. Vaupel, James R. Carey and Kaare Christensen. AGING: It's Never Too Late. Science 19 September 2003: Vol. 301. no. 5640, pp. 1679 - 1681.

6. เอกสารของกลุ่มการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค สำนักนโยบายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคและระหว่างประเทศ download จาก http://www.mof.go.th/eco/thaieconmay2006.pdf

7.  กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 คอลัมน์จุดประกาย เรื่อง "โลก ชรา" (Download ที่ http://www.bangkokbiznews.com/2006/07/26/w006_123059.php?news_id=123059)

หมายเลขบันทึก: 35736เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2006 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท