ตำนานมีชีวิตริมคลองบางหลวง


ก่อนที่อนาคตของคนในยุคเรานั้นจะกลายเป็นอดีต ทุกคนควรช่วยกันดูแลปัจจุบันที่ยังคงเหลืออยู่

ตำนานมีชีวิตริมคลองบางหลวง

                                    โดย ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ

      สายลมเย็นปะทะใบหน้าพร้อมละอองน้ำจาง ๆ เมื่อได้อ่าน “แม้นเวลามากั้นรัก” จบลง เกิดความรู้สึกอินไปกับบรรยากาศกรุงเทพฯสมัย 50-70 ปีที่ก่อน ยังวนเวียนอยู่ไม่สร่าง หากเป็นไปได้อยากใช้เครื่องย้อนเวลาอย่างในหนังสือก้าวข้ามเวลาไปสู่อดีตเช่นกัน

      ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซ. 3 ผ่านร้านสะดวกซื้อก็เจอกับเครื่องข้ามเวลาสู่อดีตได้แก่  สะพานปูนเก่าแก่สร้างขึ้นในปี 2579  เมื่อก้าวข้ามสะพานสภาพความวุ่นวายภายนอกแตกต่างกันมาก น้ำในคลองยังใสสะอาด มองเห็นปลาสวายตัวโตฝูงใหญ่ว่ายวนเวียนอย่างสบายอารมณ์ บ้านริมคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ ยังคงเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวที่เก่าพอดู มีคุณยายไกวเปลหลานตัวน้อย วัดวาอารามตั้งอยู่ตลอดสายคลอง เรือหางยาวและเรือเมล์วิ่งอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะทำให้เสียงดังไปบ้างแต่เป็นวิถีชีวิตชุมชน  ตอนเช้า ๆ ผู้คนต่างยืนรอใส่บาตรพระที่แจวเรือผ่านมาริมคลอง ดูเป็นภาพที่สวยงามในแสงแดดยามเช้า แต่คนในท้องถิ่นมองเป็นเรื่องธรรมดา เป็นวิถีที่ดำเนินตามพุทธศาสนิกชนที่ดีมาตลอด ยุคก่อนที่นี่เป็นย่านค้าทองคำ มีสิ่งแวดล้อมและผู้คนที่ดี น้ำในคลองใสสะอาดจนสามารถนำไปใช้ได้ ไม่มีเรือเมล์วิ่งผ่านทำให้บ้านเรือนทรุดพังเพราะแรงคลื่น

      ในร่องรอยของอดีตยังมีให้เห็นอยู่ได้แก่ บ้านเรือนอายุ 70 ปีที่หัวถนน ร้านขายกาแฟ และก๋วยเตี๋ยวที่ยังคงใช้เตาถ่านขายชามละไม่กี่สตางค์ในสมัยที่ผ่านมา มีร้านขายยาแผนโบราณ “โชคพานิช” อยู่ในซอยริมหัวถนน ที่ดูเหมือนร้ายโชห่วย ที่มีขายทุกอย่าง แต่เจ้าของร้านต้องไปสอบเป็นเภสัชอนุญาตขายยาแผนโบราณ ข้ามสะพานไปเจอวัดกำแพง ก่อนถึงวัดมีร้านตัดผมชาย เก้าอี้สีแดงอายุราว ๆ 10 ปีวางอยู่ กระจกบานใหญ่มีคราบความเก่าจับอุปกรณ์เดิม ๆ มีลุงช่างตัดผมกำลังตัดให้ลูกค้า วัดกำแพงมีโบสถ์เก่าหลังหนึ่งปูนลอกจนเห็นอิฐสีส้ม ตัวโบสถ์เก่าเป็นรอยดำสวยมากทำให้เกิดความรู้สึกย้อนเวลาหาอดีตจริง ๆ เมื่อเดินไปสุดริมคลองมีบ้านเก่าหลังหนึ่งชื่อว่า “บ้านศิลปิน”  บ้านไม้สองชั้นทรงมะนิลา อายุกว่า 100 ปี ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้เห็นร่องรอยเดิมมาก บ้านหลังนี้สร้างล้อมเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ซึ่งเป็นเขตนอกพื้นที่วัดกำแพง บ้านศิลปินได้รวบรวมของเก่าแก่ไว้มากมาย ส่วนใหญ่เป็นของเดิม ด้านล่างขายกาแฟเล็ก ๆ ริมน้ำ และมีโซนขายโปสการ์ด มีเรือไม้เก่า ๆ ขนาดใหญ่ตกแต่งสายน้ำอยู่ข้างตัวเรือน  บ้านเก่าที่นี่ไม่ใช่เป็นเพียงตลาดย้อนยุคที่นิยมกัน แต่เจตนารมณ์ของคนที่นี่คือ “การชื่นชมตำนานที่ยังคงเหลืออยู่”

      การเดินทางย้อนเวลา... แท้จริงแล้ว เพราะเราเองที่ได้ทำปัจจุบันหล่นหาย เราจึงโหยหาอดีตเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา  แต่ก่อนที่อนาคตของคนในยุคเรานั้นจะกลายเป็นอดีต ทุกคนควรช่วยกันดูแลปัจจุบันที่ยังคงเหลืออยู่ ให้คงกลิ่นอายเดิม ๆ ไว้เท่าที่จะทำได้ และในอีก 100 ปีข้างหน้า อดีตจะได้ไม่เป็นเพียงเรื่องที่น่าจดจำ แต่จะเป็นจริงให้เห็นได้เสมอ ยามที่เราต้องการและโหยหามัน


      ที่มา : ศรัญญา  โรจน์พิทักษ์. Must Go. BE A PRACTICAL CITY MAGAZINE ; ฉ. 11


      ย่อความโดย  อาจารย์สุพจน์  จันทรจิตร  สาขางานภาษาต่างประเทศ

เขียนใน GotoKnow โดย 
 ใน >
คำสำคัญ (Tags): #kmanw
หมายเลขบันทึก: 356939เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท