ทุเรียนบนปากฉลุย


๖ พฤษภา ๕๓ มีโอกาสร่วมเดินทางไปกับพี่คิด เพื่อร่วมอบรมเตรียมความพร้อมเกษตรกรสู่ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP ปี ๕๔ สำหรับอำเภอท่าฉางมีพืช ๒ ชนิดที่เลือกเข้าร่วมโครงการ คือ ข้าว และไม้ผล วันนี้ได้นัดเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลของหมู่ที่ 5 ตำบลปากฉลุยไว้ จึงต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล และชี้แจงโครงการให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฟัง โดยมีบุคคลเป้าหมาย จำนวน ๒๘ ราย เมื่อไปถึงก็ทำหน้าที่รับลงทะเบียนบเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดพร้อมทั้งสัมภาษณ์ข้อมูลบางอย่างที่ต้องการ หลังจากนั้นพี่คิดก็ชี้แจงโครงการ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่องที่ผ่านๆ มาโดยจะนั่งล้อมวงกับพื้นเช่นเดิม ปัญหาที่เกษตรกรประสบขณะนี้คือ ภัยแล้ง ขาดน้ำสำหรับรดต้นไม้ เพราะปีนี้ภาวะแห้งแล้งมากๆ กว่าทุกปี น้ำในลำห้วยที่ใช้อุปโภค บริโภคเกือบจะแห้งขอด ชาวบ้านได้ลองของบสนับสนุนจาก อบต. เพื่อขุดลอกคลองส่งน้ำ อบต.ก็ไม่มีช่างโยธาพอจะดำเนินการได้ อย่างดีก็ต้องรอผ่านการประชาคมประมาณ ๒-๓ ปี

 เราจะทำอย่างไรให้มีน้ำใช้ในช่วงแล้ง เพราะปีหน้าอาจจะแล้งมากไปมากกว่านี้ (นี้คือความต้องการของชาวบ้าน) พอถึงตอนนี้ทุกคนก็ถกปัญหากัน สุดท้าย ก็ลงความเห็นว่าคงต้องพึ่งทางรัฐ ดำเนินการโดยขอสนับสนุนกระสอบทรายเพื่อทำฝายทดน้ำ เพื่อชะลอกันไหลของน้ำให้ช้าลง พี่คิดก็รับไปดำเนินการต่อ

 หลังจากนั้นก็ทานข้าวเที่ยงกัน งานนี้มีการนัดไว้ก่อนมิฉะนั้นอด เพราะกองทัพต้องเดินด้วยท้องเสมอ เมื่อทานข้าวเที่ยงกันเสร็จ ก็เข้าไปดูแปลงไม้ผลของคุณปรีชา นาคกุล ซึ่งในสวนปลูกไม้ผลมีการปลูกแบบผสมผสาน ไม้ผลหลักก็เป็นทุเรียนหมอนทอง รองลงมาก็มี เงาะ ลองกอง สะตอ กาแฟปะปนกันไป ลองถามพี่เค้าว่าปีนี้สะตอเป็นอย่างไรบ้าง ได้คราวมาว่าต้นหนึ่งตกเงิน ประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท (ประมาณ ๓,๐๐๐ ฝัก) ช่วงขาดตลาด แต่ช่วงนี้ราคาถูกลงบ้างแล้ว พอดีมีแม่ค้าที่เป็นเจ้าของสวนติดกับพี่ปรีชามานั่งเก็บสะตออยู่ ปกติพี่เค้าอยู่ที่เกาะสมุย พอผลผลิตออกก็จะขึ้นมาเก็บ ลองถามๆ ดูว่าขายอย่างไรที่เกาะสมุย พี่เค้าก็ว่า ฝักสวยๆ ๕ ฝัก ๕๐ บาท ฝักย่อมๆ ๗ ฝัก ๕๐ บาท

 ลงเดินไปชมสวนหลังบ้านพี่ปรีชาที่ปลูกทุเรียนไว้ประมาณ ๑๐๐ ต้น พี่ปรีชาแนะนำการดูแลสวนทุเรียนว่า จะใส่ปุ๋ยตามหลักวิชาการทุกประการ แต่ผิดตรงที่เวลาใส่จะใส่บริเวณรอบนอกๆ ภายในบริเวณพุ่มโดยหว่านปุ๋ยไปทั่วๆ ต้น หลังจากนั้นก็ตัดหญ้ากลบ จะไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืชเลย บนดินจะมีมูลของไส้เดือนตลอดทั้งแปลง (วิชาการจากการไปดูงานที่จันทบุรี) หน้าแล้งให้วัชพืชคลุมเล็กน้อย แต่เมื่อไรเข้าใกล้หน้าฝน (เดือนพฤษภาคม) ต้องรีบดายหญ้าประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร บริเวณรอบโคนให้เกลี้ยง เพราะเมื่อใดฝนตกโคนทุเรียนจะชื่นเพราะมีหญ้าปกคลุมจะทำให้เกิดโรคราได้ง่าย  ปีนี้ทุเรียนออก ๑๐๐% เฉพาะสวนของพี่ปรีชา ส่วนของเจ้าอื่นๆ ยังไม่แน่ใจว่าจะออกได้เต็ม ๑๐๐% หรือไม่ เพราะไม่ได้ดูแลอย่างทั่วถึง ลูกที่ออกเราต้องเด็ดทิ้งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างลูกทุเรียนเวลาโตกับกิ่งทุเรียนว่ารับน้ำหนักกันได้หรือไม่ ที่เด็ดทิ้งมีมากกว่าที่อยู่บนต้นเสียอีก  ระบบน้ำจะให้น้ำตลอดใช้ระบบสปริ้งเกอร์ ในต้นที่น้ำไม่ถึงจะใช้สายยางลากไปจะขาดน้ำไม่ได้เช่นกัน พี่ปรีชาบอกว่าให้นึกถึงคนท้องหากมีลูกมากทุกคนก็ไม่สมบูรณ์ แต่หากมีลูกน้อย พอเหมาะ พอดี ผลที่ได้จะคุ้มค่ากว่าทั้งลูกและแม่ พี่เค้ามีเข็ดลับอยู่ที่แปลงทุเรียนหมอนทอง ต้องมีทุเรียนชะนีไข่อยู่ 1 ต้น เพื่อจะได้ผสมเกสรกันระหว่างทุเรียนหมอนทองกับชะนี ผลที่ได้เนื้อของทุเรียนหมอนทองจะมีสีสวย เหลืองทอง น่ารับประทานยิ่งขึ้น (ภูมิปัญญาของคนเกาะสมุย)

 เดินต่อไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอต้นที่โคนเน่าเสียพี่เค้าแนะนำหากเจอต้นทุเรียนโคนเน่าให้รีบถากเปลือกที่เน่าออกให้หมด แล้วบั้งต้นผสมปูนแดงกับอาลีเอททาให้ทั่วทิ้งไว้ อาการจะดีขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #ทุเรียน
หมายเลขบันทึก: 356644เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2010 13:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ

  • ผสมพันธุ์ดีๆ น่าจะได้ทุเรียนพันธุ์ใหม่นะ
  • พันธุ์ปากหลุย ก็น่าจะดี
  • ถ้าให้ได้รสชาติดี ต้องไปทานที่ใต้โคนต้นทุเรียน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท